อีนาลาพริล (Enalapril)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

อีนาลาพริล (Enalapril) เป็นยาที่จัดอยู่ในกลุ่มยาต้านการบีบตัวของหลอดเลือดแดง (An giotensin converting enzyme inhibitor) ที่วงการแพทย์นำมาใช้รักษา

  • โรคความดันโลหิตสูง
  • โรคไตที่มีต้นเหตุจากโรคเบาหวาน
  • และโรคหัวใจล้มเหลวชนิดเรื้อรังบางประเภท

องค์การอนามัยโลกกำหนดให้อีนาลาพริลเป็นยาขั้นพื้นฐานที่จำเป็นในระบบสุขภาพขั้นพื้น ฐาน สำหรับประเทศไทยกำหนดให้ยานี้อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ มีใช้ในสถานพยาบาลของรัฐทั่วไป เราจะพบเห็นในรูปแบบของยาเม็ดสำหรับรับประทาน อีกทั้งราคาไม่แพงมากจึงรับกับระบบ สาธารณสุขมูลฐานของประเทศเรา

หลังจากร่างกายได้รับอีนาลาพริล ยาจะเริ่มออกฤทธิ์ภายในเวลาประมาณ 1 ชั่วโมง โดยจะจับกับโปรตีนในเลือด 50 - 60% และถูกส่งไปเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมีที่อวัยวะตับ ระยะเวลาการออกฤทธิ์ในร่างกายอยู่ในช่วงประมาณ 12 - 24 ชั่วโมง ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 11 ชั่วโมง ในการกำจัดยาออกจากกระแสเลือดประมาณ 50% โดยผ่านไปกับปัสสาวะและอุจจาระ

ยาอีนาลาพริลจัดอยู่ในหมวดยาอันตรายต้องมีการบริหารยาที่จำเพาะเจาะจงต่อผู้ป่วยที่ตอบสนองต่อยานี้ แพทย์เท่านั้นที่จะเป็นผู้สั่งจ่ายยาได้อย่างปลอดภัยและเหมาะสม

ยาอีนาลาพริลมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

อีนาลาพริล

ยาอีนาลาพริลมีสรรพคุณดังนี้

  • รักษาโรคความดันโลหิตสูง โดยจะใช้เป็นยาเดี่ยวหรือใช้ร่วมกับยาขับปัสสาวะกลุ่มไทอะ ไซด์ (Thiazide - type diuretics)
  • รักษาโรคหัวใจล้มเหลว แพทย์มักจะใช้ร่วมกับยาขับปัสสาวะ และยาในกลุ่มดิจิตัลลิส (Digitalis: ยาควบคุมการเต้นของหัวใจเช่น Digoxin)

ยาอีนาลาพริลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาอีนาลาพริลมีกลไกการออกฤทธิ์ โดยตัวยาจะยับยั้งการทำงานของ Angiotensincon verting enzyme (เอนไซม์ควบคุมการบีบตัวของหลอดเลือดแดง) ส่งผลให้ร่างกายไม่สามารถเปลี่ยนสารตั้งต้นที่ควบคุมการบีบตัวของหลอดเลือดแดง (Angiotensin I) ไปเป็นสาร Angiotensin II ที่ควบคุมการบีบตัวของหลอดเลือดแดงได้ ด้วยกลไกนี้จึงลดภาวะการหดตัว/บีบตัวของหลอดเลือดแดง และส่งผลให้ลดความดันโลหิตของร่างกายในที่สุด

ยาอีนาลาพริลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาอีนาลาพริลจัดจำหน่ายในรูปแบบยาเม็ดขนาดความแรง 2.5, 5, 10 และ 20 มิลลิกรัม/ เม็ด

ยาอีนาลาพริลมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาอีนาลาพริลมีขนาดรับประทานดังนี้

ก. สำหรับความดันโลหิตสูง

  • ขนาดรับประทานเริ่มต้นที่ 5 มิลลิกรัม วันละครั้ง
  • ขนาดรับประทานทั่วไปอยู่ในช่วง 10 - 40 มิลลิกรัม วันละครั้ง หรือแบ่งรับประทานวันละ 2 ครั้ง
  • หากการควบคุมความดันโลหิตไม่ดีขึ้น อาจใช้ยาขับปัสสาวะร่วมกับอีนาลาพริล

ข. สำหรับโรคหัวใจล้มเหลว

  • ขนาดรับประทานเริ่มต้นที่ 2.5 มิลลิกรัม
  • ขนาดรับประทานทั่วไปอยู่ในช่วง 2.5 - 20 มิลลิกรัม โดยแบ่งรับประทานวันละ 2 ครั้ง
  • ขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 40 มิลลิกรัม/วันโดยแบ่งรับประทาน

อนึ่ง:

  • ยานี้สามารถรับประทานก่อนหรือหลังอาหารก็ได้
  • ขนาดยาในเด็กจะขึ้นกับน้ำหนักตัวและอายุของเด็ก และต้องอยู่ในคำสั่งใช้ยาจากแพทย์เท่านั้น
  • หากผู้ป่วยมีภาวะโรคอื่นแทรกซ้อน เช่น โรคไต แพทย์จะเป็นผู้ปรับขนาดรับประทานที่เหมาะสมและปลอดภัยต่อผู้ป่วย

*****หมายเหตุ: ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษา แพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาอีนาลาพริล ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจ ลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆเช่น โรคหัวใจ โรคไต โรคตับ โรคเบาหวาน รวมทั้งกำลังกินยาอะไรอยู่ เพราะยาอีนาลาพริลอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทรวมถึงอีนาลาพริลสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาอีนาลาพริล สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการ รับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

ยาอีนาลาพริลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาอีนาลาพริลมีผล /อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (อาการข้างเคียง/ผลข้างเคียง) เช่น

  • มีอาการวิงเวียน ขณะนั่งหรือนอนเมื่อใช้ยาในช่วงแรก อาจหลีกเลี่ยงอาการวิงเวียนในระยะเริ่มต้นโดยรับประทานยาในช่วงเวลาก่อนนอน
  • นอกจากนี้ยังพบอาการไอแห้งๆ และมักทำให้ผู้ป่วยเข้าใจผิดคิดว่าเป็นโรคหวัดหรือมีโรคอื่นแทรกซ้อน หากอาการไอไม่ดีขึ้น ควรขอคำแนะนำจากแพทย์ช่วยเปลี่ยนยา
  • นอกจากนี้ อาการข้างเคียงอื่นๆที่อาจพบได้จากยาอีนาลาพริล เช่น
    • อาการผื่นคัน
    • คลื่นไส้
    • ปวดศีรษะ
    • รู้สึกเหนื่อยล้า

*สำหรับอาการข้างเคียงบางอย่าง หากเกิดขึ้นแล้วจะทำให้เกิดความเสี่ยงและมีอันตรายต่อผู้ป่วยอย่างมาก ซึ่งหากพบอาการดังกล่าว ให้รีบนำตัวผู้ป่วยไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลทันที อาการดังกล่าว เช่น

    • มือ ขา หน้า และปากมีอาการบวม
    • หายใจลำบาก
    • เจ็บหน้าอก
    • หัวใจเต้นเร็ว
    • หรือหัวใจเต้นผิดจังหวะ

มีข้อควรระวังการใช้ยาอีนาลาพริลอย่างไร?

ข้อควรระวังการใช้ยาอีนาลาพริล เช่น

  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยแพ้ยาอีนาลาพริล
  • ห้ามใช้ยานี้กับหญิงตั้งครรภ์เพราะยานี้อาจส่งผลให้ทารกเกิดความพิการแต่กำเนิดได้ และกับหญิงที่อยู่ในภาวะให้นมบุตรเพราะยานี้ผ่านเข้าสู่น้ำนมได้
  • หลีกเลี่ยงอาหารเค็มหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ด้วยจะส่งผลให้การออกฤทธิ์ของอีนา ลาพริลลดน้อยลง
  • หากมีอาการวิงเวียนหลังรับประทานยานี้ ควรหลีกเลี่ยงการขับรถยนต์หรืองานที่ต้องปฏิบัติเกี่ยวกับเครื่องจักร เพราะอาการดังกล่าวจะส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมถึงยาอีนาลาพริลด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิดควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ยาอีนาลาพริลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาอีนาลาพริลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยาอีนาลาพริลร่วมกับยาขับปัสสาวะบางตัวอาจก่อให้เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำ โดยอาจพบอาการ หัวใจเต้นช้า วิงเวียน เป็นลม หรือปวดศีรษะ หากมีอาการดังกล่าวควรต้อง ปรับขนาดการรับประทานให้เหมาะสมโดยแพทย์ผู้รักษา ยาขับปัสสาวะดังกล่าว เช่นยา Hydrochlorothiazide
  • การใช้ยาอีนาลาพริลร่วมกับยารักษาโรคเกาต์ อาจเพิ่มความเสี่ยงของอาการแพ้ยาอย่าง รุนแรง หากพบเห็นอาการ หน้า ปาก ลิ้นบวม มีผื่นคัน มีไข้ ปวดกล้ามเนื้อ อ่อนแรง ให้หยุดยา แล้วรีบไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล ยารักษาโรคเกาต์ดังกล่าว เช่นยา Allopurinol
  • การใช้ยาอีนาลาพริลร่วมกับยาแก้ปวดกลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs: Non steroidal antiinflam matory drugs) สามารถส่งผลต่อฤทธิ์ในการลดความดันโลหิตของ อีนาลาพริล อีกทั้งมีความเสี่ยงของการเกิดอันตรายกับไตมากขึ้น จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน ยาแก้ปวดกลุ่ม NSAIDs ดังกล่าว เช่นยา Fenoprofen, Ibuprofen, Naproxen

ควรเก็บรักษายาอีนาลาพริลอย่างไร?

ควรเก็บยาอีนาลาพริล เช่น

  • เก็บยาในที่เย็นหรือในช่วงอุณหภูมิ 15 - 30 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงสวาง แสงแดด และความชื้น
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำ
  • และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ยาอีนาลาพริลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาอีนาลาพริลที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นๆและบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Anapril (เอนาพริล) Berlin Pharm
Enace (อีแนส) Unique
Enam (อีนาม) Dr Reddy’s Lab
Enaril (อีนาริล) Biolab
Envas (เอ็นวาส) Cadila
Iecatec (ไอคาเทก) Meiji
Invoril (อินโวริล) Ranbaxy
Korandil (โคแรนดิล) Remedica
Lapril (ลาพริล) Pharmasant Lab
Myopril (มายโอพริล) Unique
Nalopril (นาโลพริล) Siam Bheasach

บรรณานุกรม

1. http://en.wikipedia.org/wiki/Enalapril [2020,Feb1]
2. http://www.rxlist.com/vasotec-drug/side-effects-interactions.htm [2020,Feb1] 3. http://mims.com/THAILAND/Home/GatewaySubscription/?generic=enalapril [2020,Feb1] 4. http://www.mims.com/Thailand/patientmedicine/generic/Enalapril?mononame=Invoril%20tab&tabrecent=3 [2020,Feb1]