อีนอกซาซิน (Enoxacin)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 10 มิถุนายน 2560
- Tweet
- บทนำ
- อีนอกซาซินมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- อีนอกซาซินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- อีนอกซาซินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- อีนอกซาซินมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- อีนอกซาซินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้อีนอกซาซินอย่างไร?
- อีนอกซาซินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาอีนอกซาซินอย่างไร?
- อีนอกซาซินมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ฟลูออโรควิโนโลน (Fluoroquinolones)
- ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics)
- แบคทีเรีย: โรคจากแบคทีเรีย (Bacterial infection)
- หนองใน (Gonorrhea)
- โรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ (Urinary tract infection)
บทนำ
ยาอีนอกซาซิน(Enoxacin หรือ Enoxacin sesquihydrate) เป็นยาในกลุ่มฟลูออโรควิโนโลน (Fluoroquinolones) สามารถออกฤทธิ์ต่อต้านเชื้อแบคทีเรีย(ยาปฏิชีวนะ)ได้หลายชนิด ทางคลินิก ใช้รักษาการติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร โรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ และรักษาโกโนเรีย/โรคหนองใน (Gonarrhea) รูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยานี้เป็นยาชนิดรับประทาน
ยาอีนอกซาซิน จะถูกดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารได้อย่างรวดเร็ว และมีปริมาณยาที่เข้าสู่กระแสเลือดได้ประมาณ 90% ตัวยาอีนอกซาซินบางส่วนจะรวมตัวกับพลาสมาโปรตีนได้ประมาณ 40% ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 3–6 ชั่วโมง เพื่อกำจัดยานี้ทิ้งออกจากกระแสเลือด โดยผ่านไปกับปัสสาวะ
ยาอีนอกซาซินมีกลไกการออกฤทธิ์ยับยั้งการสังเคราะห์สารพันธุกรรมใน ตัวแบคทีเรีย ส่งผลให้แบคทีเรียหยุดการเจริญเติบโต ไม่สามารถกระจายพันธุ์ และตายลงในที่สุด สำหรับขนาดและระยะเวลาการรับประทานยานี้จะขึ้นอยู่กับอาการและความรุนแรงของโรค
ข้อควรปฏิบัติเกี่ยวกับการใช้ยาอีนอกซาซินที่ผู้บริโภค/ผู้ป่วยควรทราบมีดังนี้ เช่น
- ยานี้ใช้ต่อต้านเชื้อแบคทีเรีย ห้ามนำไปบำบัดรักษาการติดเชื้อไวรัสหรือเชื้อรา
- ดื่มน้ำพร้อมยานี้มากพอเพียง เพื่อป้องกันการตกตะกอนของยาอีนอกซาซินที่ไต
- ระหว่างการรับประทานยานี้แล้วมีอาการดีขึ้นเหมือนปกติ ผู้ป่วยต้องรับประทานยานี้ต่อเนื่องจนครบเทอมการรักษาตามแพทย์สั่ง ทั้งนี้เพื่อป้องกันการดื้อยา และการกลับมาติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำอีก
- เพื่อให้การออกฤทธิ์ของยานี้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วย รับประทานยานี้ในช่วงท้องว่าง ก่อนอาหารประมาณ 1 ชั่วโมง หรือหลังจากรับประทาน อาหารไปแล้วประมาณ 2 ชั่วโมงเป็นอย่างต่ำ
- ห้ามรับประทานยานี้พร้อมยาลดกรด ชนิดที่มีส่วนประกอบของ Magnesium (เช่น Maxnesium hydroxide) และ Aluminium(เช่น Aluminium hydroxide) หรือยารักษาแผลในกระเพาะอาหาร อย่างเช่น Sucralfate รวมถึงยากลุ่มวิตามินต่างๆ ด้วยจะส่งผลให้ลดประสิทธิผลของยาอีนอกซาซิน
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาอีนอกซาซินกับผู้ป่วยโรคลมชัก ด้วยจะกระตุ้นให้อาการชัก กลับมาเป็นได้ง่ายขึ้น
- ห้ามใช้ยานี้กับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 12 ปี เพราะจะทำให้พัฒนาการของกระดูกเด็กผิดปกติ
- หลีกเลี่ยงการออกแดดจัดขณะที่ได้รับยาอีนอกซาซิน ด้วยตัวยาจะทำให้ร่างกายของผู้ป่วยมีความไวหรือแพ้แสงแดดมากกว่าปกติ
- หากมีอาการวิงเวียนหลังรับประทานยาอีนอกซาซิน ควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยวดยานพาหนะต่างๆรวมถึงการทำงานกับเครื่องจักร ด้วยจะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
- กรณีพบอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)ที่ค่อนข้างรุนแรงจากการใช้ยานี้ เช่น ใบหน้าบวม เกิดอาการชัก ประสาทหลอน ปวดกล้ามเนื้อ ให้รีบนำผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
- มียาอื่นๆหลายประเภทเมื่อใช้ร่วมกับยาอีนอกซาซินแล้ว อาจทำให้เกิดภาวะยาตีกัน(ปฏิกิริยาระหว่างยา) เช่นยา Bismuth subsalicylate, Theophylline, Digoxin, Warfarin, Probenecid, Insulin, Glipizide, Glyburide, NSAIDs, และCyclosporine ผู้ป่วยจะต้องแจ้งให้ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร ทราบทุกครั้งที่เข้ารับการรักษาว่า ตนเองมียาอะไรใช้อยู่ก่อนบ้าง
อนึ่ง หากมีข้อสงสัยการใช้ยาอีนอกซาซินเพิ่มเติม ผู้บริโภคสามารถสอบถามได้จากแพทย์ที่ดูแลรักษาอาการป่วย หรือสอบถามจากเภสัชกรได้ทั่วไป
อีนอกซาซินมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาอีนอกซาซินมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น
- ใช้รักษาอาการติดเชื้อโกโนเรีย(หนองใน)ในระยะที่ไม่รุนแรงมาก
- ใช้รักษาอาการ/โรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ
- ใช้รักษาอาการติดเชื้อที่ต่อมลูกหมาก(ต่อมลูกหมากอักเสบติดเชื้อ)
- ใช้รักษาภาวะกรวยไตอักเสบ
อีนอกซาซินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาอีนอกซาซินมีกลไกการออกฤทธิ์โดย ตัวยาจะยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ที่จำเป็นต่อการจำลองสารพันธุกรรมของแบคทีเรีย หรือที่เรียกว่า DNA gyrase ส่งผลให้แบคทีเรียไม่สามารถขยายพันธุ์ หยุดการเจริญเติบโต และตายลงในที่สุด
อีนอกซาซินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาอีนอกซาซินมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ยาเม็ดชนิดรับประทาน ที่ประกอบด้วยยา Enoxacin 200 และ 400 มิลลิกรัม/เม็ด
อีนอกซาซินมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาอีนอกซาซินมีขนาดรับประทาน เช่น
ก.สำหรับรักษาโรคโกโนเรีย(หนองใน)ที่ไม่ใช่ระดับรุนแรง:
- ผู้ใหญ่อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป: รับประทานยา 400 มิลลิกรัม ครั้งเดียว
ข. สำหรับรักษาโรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ:
- ผู้ใหญ่อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป: รับประทานยา 200 มิลลิกรัม ทุกๆ 12 ชั่วโมง เป็นเวลา 7 วัน, กรณีที่อาการรุนแรงให้รับประทานยา 400 มิลลิกรัม ทุกๆ 12 ชั่วโมง เป็นเวลา 14 วัน
ค.สำหรับรักษาการติดเชื้อที่ต่อมลูกหมาก (ต่อมลูกหมากอักเสบติดเชื้อ):
- ผู้ใหญ่อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป: รับประทานยา 400 มิลลิกรัม ทุกๆ 12 ชั่วโมง เป็นเวลา 14–30 วัน
ง.สำหรับรักษาภาวะกรวยไตอักเสบ:
- ผู้ใหญ่อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป: รับประทานยา 400 มิลลิกรัม ทุกๆ 12 ชั่วโมง เป็นเวลา 14 วัน
อนึ่ง:
- รับประทานยานี้ใน ช่วงท้องว่าง ก่อนอาหารประมาณ 1 ชั่วโมง หรือหลังจากรับประทานอาหารไปแล้วประมาณ 2 ชั่วโมงเป็นอย่างต่ำ
- เด็กและผู้อายุต่ำกว่า 18 ปี: การใช้ยานี้ในผู้ป่วยกลุ่มนี้ แพทย์จะต้องพิจารณาเป็นกรณีไปว่า ผลการรักษาคุ้มค่า/มีมากกว่าผลข้างเคียงที่จะเกิดชึ้น
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียง ตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษา แพทย์หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาอีนอกซาซิน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ เช่น โรคไต โรคตับ โรคลมชัก รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาอีนอกซาซิน อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้นหรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาอีนอกซาซิน สามารถรับประทานยาทันทีเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2เท่า ให้รับประทานยาขนาดปกติ
อีนอกซาซินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาอีนอกซาซินสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้ ปวดท้อง เบื่ออาหาร ท้องเสีย
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น ปวดศีรษะ วิงเวียน อ่อนแรง กระสับกระส่าย นอนไม่หลับ ตลอดจนมีอาการลมชัก
- ผลต่อตับ: เช่น เอนไซม์การทำงานของตับในเลือดสูงขึ้น
- ผลต่อระบบเลือด: เช่น เกิดภาวะ Leukopenia(เม็ดเลือดขาวต่ำ)
- ผลต่อระบบกล้ามเนื้อและกระดูก: เช่น มีอาการปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อ
- ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น หัวใจเต้นเร็ว ใบหน้าแดง
มีข้อควรระวังการใช้อีนอกซาซินอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาอีนอกซาซิน เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยานี้กับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 12 ปีลงมา สตรีในภาวะให้นมบุตร และสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์
- ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
- หากเกิดอาการข้างเคียงที่รบกวนการดำรงชีวิตประจำวัน ให้รีบมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาล เพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
- ระหว่างการใช้ยานี้ ให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสแสงแดดโดยตรง ด้วยอาจเกิด การกระตุ้นผื่นผิวหนังให้แพ้แสงแดดได้ง่าย
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วย โรคตับ โรคไต ผู้ป่วยที่เป็นโรคลมชัก เพราะอาจทำให้อาการของผู้ป่วยรุนแรงมากขึ้น
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาอีนอกซาซินด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่องข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
อีนอกซาซินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาอีนอกซาซินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การรับประทานยาอีนอกซาซินร่วมกับยาลดกรดที่มีเกลืออะลูมิเนียมและแมกนีเซียมเป็นส่วนผสม จะทำให้ลดการดูดซึมของยาอีนอกซาซินเข้าสู่ร่างกาย หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน ควรเว้นระยะเวลาการรับประทานยาให้ห่างกัน 2–4 ชั่วโมงเป็นอย่างต่ำ
- การรับประทานยาอีนอกซาซินร่วมกับยาแก้ปวดกลุ่ม NSAIDs อาจกระตุ้นสมอง จนเกิดภาวะลมชักติดตามมา หากไม่มีความจำเป็นใดๆ ควรเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- การรับประทานยาอีนอกซาซินร่วมกับยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่นยา Warfarin จะทำให้ฤทธิ์ของยา Warfarin เพิ่มมากขึ้นจนอาจก่อให้เกิดภาวะเลือดออกง่ายติดตามมา หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการรับประทานให้เหมาะสมกับผู้ป่วยเป็นราย บุคคลไป
- การรับประทานยาอีนอกซาซินร่วมกับยารักษาโรคหืด เช่นยา Theophyline จะทำให้ร่างกายกำจัดยา Theophyline ออกจากร่างกายได้น้อยลง จนอาจส่งผลต่อการเกิดข้างเคียงจากยา Theophyline เพิ่มมากขึ้น หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
ควรเก็บรักษาอีนอกซาซินอย่างไร?
ควรเก็บยาอีนอกซาซินภายใต้อุณหภูมิห้องที่เย็น ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ และ เก็บในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น
อีนอกซาซินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาอีนอกซาซิน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Enoxor (อีนอกเซอร์) | Pierre Fabre |
Penetrex (เพเนเทร็กซ์) | Aventis Pharmaceuticals |
อนึ่ง ยาชื่อการค้าอื่นของยานี้ เช่น Bacnox, Enobact, Enoxa, Enosaf, Noxibac, Enoxabid, Enoxazan
บรรณานุกรม
- https://www.drugbank.ca/drugs/DB00467[2017,May20]
- https://www.drugs.com/mtm/enoxacin.html[2017,May20]
- https://www.drugs.com/imprints/5140-rpr-2909.html[2017,May20]
- http://www.rxlist.com/penetrex-drug.html[2017,May20]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Enoxacin[2017,May20]
- http://www.mims.com/thailand/drug/info/enoxacin/?type=brief&mtype=generic[2017,May20]
- http://www.onmeda.fr/medicament/enoxor-93308922.html[2017,May20]