อีทิเลไฟร์น (Etilefrine)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 29 มิถุนายน 2561
- Tweet
- บทนำ
- อีทิเลไฟร์นมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- อีทิเลไฟร์นมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- อีทิเลไฟร์นมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- อีทิเลไฟร์นมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- อีทิเลไฟร์นมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้อีทิเลไฟร์นอย่างไร?
- อีทิเลไฟร์นมีปฏิกิริยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาอีทิเลไฟร์นอย่างไร?
- อีทิเลไฟร์นมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ความดันโลหิตต่ำเมื่อลุกยืน (Orthostatic hypotension)
- ซิมพาโทมิเมติค (Sympathomimetic drug)
- ความดันโลหิตต่ำ (Hypotension)
- ต่อมลูกหมากโต หรือ บีพีเอช (Benign prostatic hypertrophy or BPH)
- เบต้า แอดริเนอร์จิก อะโกนิสท์ (Beta-adrenergic agonist)
- เบต้า 2 แอดริเนอร์จิก อโกนิสท์ (Beta2 - adrenergic agonists)
- แอลฟา-1 อะดรีเนอร์จิก รีเซพเตอร์ อะโกนิสต์ (Alpha-1 adrenergic receptor agonists)
บทนำ
ยาอีทิเลไฟร์น(Etilefrine หรือ Etilefrine hydrochloride หรือ Etilefrine HCl) เป็นยาที่มีฤทธิ์กระตุ้นการทำงานของหัวใจ ทางคลินิกใช้เป็นยารักษาภาวะ/โรคความดันโลหิตต่ำขณะที่เปลี่ยนอิริยาบถ/ความดันโลหิตต่ำเมื่อลุกยืน(Orthostatic hypotension) เช่น จากท่านอนแล้วลุกขึ้นยืนทันที ยาอีทิเลไฟร์นจะออกฤทธิ์ในลักษณะ Alpha-adrenergic receptor agonist รวมถึง Beta1 (Beta1 adrenergic agonist) และ Beta2 agonist(Beta2 adrenergic agonist) การทำงานของยานี้ จะทำให้หัวใจมีการบีบตัวแรงขึ้น ส่งผลให้เพิ่มปริมาตรเลือดที่ออกจากหัวใจต่อการบีบตัวแต่ละครั้งโดยไม่ก่อให้อัตราการเต้นของหัวใจเปลี่ยนไป ตัวยานี้อาจทำให้ความต้านทานการไหลเวียนที่หลอดเลือดแดงลดลงเล็กน้อย ประกอบกับกล้ามเนื้อเรียบในหลอดเลือดมีอาการคลายตัวมากขึ้น กลไกดังกล่าวจะทำให้เนื้อเยื่อต่างๆของร่างกายได้รับปริมาณเลือดอย่างเพียงพอ
ยาอีทิเลไฟร์นมีข้อจำกัดการใช้กับผู้ป่วยบางกลุ่ม เช่น
- ผู้ที่มีประวัติเกิดความดันโลหิตสูงหลังจากได้รับยาอีทิเลไฟร์น
- ผู้ป่วยด้วยโรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ ผู้ป่วยฟีโอโครโมโซโตมา(Pheochromocytoma) ผู้ป่วยโรคต้อหิน ผู้ที่มีภาวะต่อมลูกหมากโตร่วมกับมีอาการปัสสาวะขัด ผู้ที่มีโรคหลอดเลือดหัวใจหรือมีผนังหัวใจหนามากจนเกิดการปิดกั้นการสูบฉีด โลหิตไปเลี้ยงส่วนต่างๆของร่างกาย(Hypertrophic obstructive cardiomyopathy)
- สตรีมีครรภ์ในช่วงไตรมาสแรก และสตรีในภาวะให้นมบุตร
รูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยาอีทิเลไฟร์น มีทั้งแบบยารับประทานและยาฉีด ตามกฎหมาย ยาอีทิเลไฟร์นจัดว่าเป็นยาอันตราย เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย การใช้ยาชนิดนี้/ยานี้จึงต้องอยู่ภายใต้คำสั่งแพทย์แต่เพียงผู้เดียว
อีทิเลไฟร์นมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาอีทิเลไฟร์นมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น
- รักษาภาวะ/โรคความดันโลหิตต่ำที่เกิดขึ้นขณะเปลี่ยนอิริยาบถ/ความดันโลหิตต่ำเมื่อลุกยืน
- ช่วยเพิ่มการไหลเวียนของโลหิตภายในร่างกาย
- ใช้กับผู้ป่วยขณะที่ได้รับยาสลบ
- ใช้ปรับความดันโลหิตหลังการผ่าตัด
อีทิเลไฟร์นมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาอีทิเลไฟร์นมีกลไกการออกฤทธิ์โดย เป็นยาในกลุ่ม Sympathomimetic จะออกฤทธิ์ต่อตัวรับ(Receptor)ชนิด Alpha, Beta1 และBeta2 receptor ตัวรับเหล่านี้พบได้ในกล้ามเนื้อหัวใจ และผนังหลอดเลือด ส่งผลให้หัวใจมีแรงบีบตัวช่วยเพิ่มปริมาตรของเลือดที่ออกจากหัวใจ และยังทำให้หลอดเลือดดำหดตัวมากขึ้น ด้วยกลไกดังกล่าวจะกระตุ้นให้ความดันโลหิตเพิ่มขึ้นได้ตามสรรพคุณ
อีทิเลไฟร์นมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาอีทิเลไฟร์นมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ยาเม็ดชนิดรับประทาน ที่ประกอบด้วยตัวยา Etilefrine ขนาด 5 มิลลิกรัม/เม็ด
- ยาฉีดแบบสารละลายปราศจากเชื้อ ที่ประกอบด้วย Etilefrine HCl 10 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร
อีทิเลไฟร์นมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
อีทิเลไฟร์นมีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา เช่น
ก. กรณียารับประทาน:
- ผู้ใหญ่: รับประทานยาครั้งละ 5 หรือ 10 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง เช้า-กลางวัน-เย็น ก่อนหรือหลังอาหารก็ได้
- เด็ก: ขนาดยาขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์เป็นกรณีๆไป
ข. กรณียาฉีด:
- เด็กอายุต่ำกว่า 1 ปี: ฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำ 5–10 มิลลิกรัม/วัน
- เด็กอายุต่ำกว่า 4 ปี: ฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำได้สูงถึง 15 มิลลิกรัม/วัน
- เด็กอายุต่ำกว่า 8 ปี: ฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำ 10–20 มิลลิกรัม/วัน
- เด็กอายุต่ำกว่า 13 ปี: ฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำ 15–30 มิลลิกรัม/วัน
- อายุตั้งแต่ 13 ปีขึ้นไป: ฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำ 30–60 มิลลิกรัม/วัน
อนึ่ง:
- ก่อนใช้ยาชนิดนี้ ผู้ป่วยต้องรับการตรวจร่างกายจากแพทย์เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง ที่ ทำให้เกิดความดันโลหิตต่ำ
- การเลือกยาชนิดฉีดหรือยารับประทานให้ขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์
- การใช้ยานี้ต้องอาศัยความต่อเนื่องร่วมกับติดตามอาการของผู้ป่วยตามแพทย์แนะนำ
- หลีกเลี่ยงการหยุดใช้ยานี้โดยไม่ได้ขอคำปรึกษาจากแพทย์
- การใช้ยาฉีดสามารถเจือจางตัวยาลงใน 0.9% Sodium chloride หรือ Lactated ringer solution หรือ 5% Glucose แล้วหยดสารละลายยาเตรียมเข้าทางหลอดเลือดดำ
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาอีทิเลไฟร์น ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ เช่น โรคต้อหิน ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ โรคหัวใจ รวมทั้ง กำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาอีทิเลไฟร์นอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้น รุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาอีทิเลไฟร์น สามารถรับประทานยาทันทีที่นึกขึ้นได้ กรณีเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยามื้อถัดไป ห้ามรับประทานยาเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าให้รับประทานยาที่ขนาดปกติ
อีทิเลไฟร์นมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาอีทิเลไฟร์น สามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้ เช่น
- ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น ชีพจรเต้นผิดปกติ หัวใจเต้นเร็ว หัวใจเต้นผิดจังหวะ
- ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น มีอาการวิตกกังวล นอนไม่หลับ
- ผลต่อผิวหนัง: เช่น เหงื่อออกมาก มีภาวะเนื้อตาย
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น มีอาการสั่น ปวดศีรษะ
- ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น น้ำตาลในเลือดสูง โปแตสเซียมในเลือดต่ำ
มีข้อควรระวังการใช้อีทิเลไฟร์นอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้อีทิเลไฟร์น เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยานี้ และ/หรือ แพ้ส่วนประกอบของยานี้
- ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร
- ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
- มาพบแพทย์เพื่อรับการตรวจร่างกายตามนัดหมายทุกครั้ง และไม่ควรหยุด การรักษาไปเฉยๆโดยมิได้ปรึกษาแพทย์
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาอีทิเลไฟร์นด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่องข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
อีทิเลไฟร์นมีปฏิกิริยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาอีทิเลไฟร์นมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาอีทิเลไฟร์นร่วม กับ ยากลุ่ม Mineralocorticoids, Guanethidine, และ Sympathomimetic ด้วยจะทำให้ผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียงจากตัวยาอีทิเลไฟร์นเพิ่มมากยิ่งขึ้น
- ห้ามใช้ยาอีทิเลไฟร์นร่วมกับยากลุ่ม แอลฟา-บล็อกเกอร์(Alpha blocker) หรือเบต้า-บล็อกเกอร์(Beta blocker) เพราะจะทำให้ประสิทธิภาพในการรักษาของยาอีทิเลไฟร์นด้อยลง
- ห้ามใช้ยาอีทิเลไฟร์นร่วมกับยาCarvedilol เพราะจะทำให้การหดตัวของหลอดเลือดลดลง
- ระวังการใช้ยาอีทิเลไฟร์นร่วมกับยาDihydroergotamine ด้วยอาจทำให้เกิดความดันโลหิตสูงมากตามมา
ควรเก็บรักษาอีทิเลไฟร์นอย่างไร?
ควรเก็บรักษายาอีทิเลไฟร์น เช่น
- เก็บยาฉีดและยารับประทานภายใต้อุณหภูมิ 30 องศาเซลเซียส (Celsius)
- ห้ามเก็บยาในช่องแข็งตู้เย็น
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น
- ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- ไม่เก็บยาที่เสื่อมสภาพหรือยาที่หมดอายุแล้ว
- ห้ามทิ้งยาลงในแม่น้ำหรือคูคลองตามธรรมชาติ
อีทิเลไฟร์นมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาอีทิเลไฟร์น มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Buracard (บูราการ์ด) | Burapa osoth |
Effortil (เอฟฟอร์ทิล) | Boehringer |
Effrine (เอฟฟรีน) | T.O. chemical |
Circula (เซอร์คูลา) | T man |
บรรณานุกรม
- http://www.ifet.gr/drugs/ingredients/EFFORTIL_INJ.pdf [2018,June9]
- http://www.mims.com/thailand/drug/info/etilefrine/?type=brief&mtype=generic [2018,June9]
- hhttp://ndi.fda.moph.go.th/drug_info/index?brand=&name=&rctype=&drugno=&per_page=9490 [2018,June9]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Etilefrine [2018,June9]
- https://www.drugbank.ca/drugs/DB08985 [2018,June9]