อีทาเนอร์เซ็บต์ (Etanercept)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 13 มกราคม 2560
- Tweet
- บทนำ
- อีทาเนอร์เซ็บต์มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- อีทาเนอร์เซ็บต์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- อีทาเนอร์เซ็บต์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- อีทาเนอร์เซ็บต์มีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมฉีดยาควรทำอย่างไร?
- อีทาเนอร์เซ็บต์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้อีทาเนอร์เซ็บต์อย่างไร?
- อีทาเนอร์เซ็บต์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาอีทาเนอร์เซ็บต์อย่างไร?
- อีทาเนอร์เซ็บต์มีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- โรคภูมิแพ้ตนเอง หรือโรคภูมิต้านตนเอง (Autoimmune disease) และโรคภูมิแพ้ (Allergy)
- ยากดภูมิคุ้มกัน(Immunosuppressants or Immunosuppressive agents)
- มะเร็ง (Cancer)
- โรคสะเก็ดเงิน (Psoriasis)
- วัคซีนบีซีจี (BCG vaccine)
- สะตีเวนส์จอห์นสัน (Stevens-Johnson syndrome)
- แองจิโออีดีมา (Angioedema)
บทนำ
ยาอีทาเนอร์เซ็บต์(Etanercept) เป็นยาประเภทชีวเวชภัณฑ์/ชีววัตถุ (Biopharmaceutical) ผลิตโดยการรวมตัวของโปรตีนของสารพันธุกรรมดีเอ็นเอ (Recombinant DNA) โดยใช้เทคนิคพันธุวิศวกรรมจนได้ตัวยาที่มีฤทธิ์กดภูมิต้านทานตนเอง/ภูมิคุ้มกันตนเองที่เรียกว่า Tumor necrosis factor inhibitor หรือย่อว่าTNF inhibitor หรือ TNF blocker ตัวยาอีทาเนอร์เซ็บต์จะออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของโปรตีนที่เป็นสาเหตุของการอักเสบ อย่างเช่นโปรตีนที่เรียกว่า TNF-alpha ทำให้ลดภาวะภูมิต้านทานเล่นงานตนเอง/ภูมิต้านตนเอง
รูปแบบผลิตภัณฑ์ของยาอีทาเนอร์เซ็บต์เป็นยาฉีดเข้าใต้ผิวหนัง โดยตัวยาจะค่อยๆดูดซึมและกระจายตัวในร่างกายได้ประมาณ 58 – 76% มีระยะเวลาอยู่ในร่างกายได้ยาวนานประมาณ 70 – 132 ชั่วโมง ประโยชน์ทางคลินิกของยานี้ล้วนแล้วแต่ใช้บำบัดอาการภูมิต้านทานเล่นงานร่างกายตนเอง /โรคออโตอิมมูนทั้งสิ้น เช่น โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ทั้งในผู้ใหญ่และเด็ก โรคข้ออักเสบสาเหตุจากโรคสะเก็ดเงิน โรคกระดูกสันหลังอักเสบยึดติด (Ankylosing spondylitis) โรคสะเก็ดเงินชนิดเป็นผื่นหนา เป็นต้น ทั้งนี้การใช้ยา อีทาเนอร์เซ็บต์รักษาอาการโรคต่างๆ อาจต้องใช้เวลา 2 – 3 สัปดาห์ขึ้นไปจึงจะเริ่มเห็นประสิทธิผลของยานี้ และโดยทั่วไป ผู้ป่วยต้องมารับการฉีดยาที่สถาน พยาบาล สัปดาห์ละ 1 ครั้งอย่างต่อเนื่องตามที่แพทย์นัดหมาย
ข้อควรระวัง ข้อห้ามต่างๆ สำหรับผู้บริโภค/ผู้ป่วยควรทราบก่อนได้รับยาอีทาเนอร์เซ็บต์มีดังนี้ เช่น
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยานี้ และ/หรือแพ้สารประกอบต่างๆในสูตรตำรับยานี้
- ห้ามใช้กับผู้ป่วยที่มีภาวะติดเชื้ออย่างรุนแรง หรือเกิดการติดเชื้อในกระแสเลือด/ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ
- ห้ามใช้กับผู้ที่ได้รับยาที่มีฤทธิ์กดภูมิต้านทาน/ยากดภูมิคุ้มกันของร่างกายชนิดอื่น อย่างเช่น Corticosteroids หรือ Methotrexate
- ห้ามใช้ร่วมกับยา Abatacept, Anakinra, หรือ Cyclophosphamide
- ยานี้สามารถผ่านรก และเข้าถึงทารกในครรภ์ได้ การใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ รวมถึง สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร ต้องอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์เท่านั้น
- ด้วยยาอีทาเนอร์เซ็บต์เป็นยากดภูมิต้านทานของร่างกาย การใช้กับผู้ที่มีภาวะติดเชื้อ เช่น โรคหวัด หรือผู้ที่มีบาดแผลฉีกขาด จะต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้น ด้วยยาอีทาเนอร์เซ็บต์สามารถทำให้อาการป่วยด้วยภาวะติดเชื้อรวมถึงอาการแผลบาดเจ็บ มีสภาพที่แย่ลงได้
- ผู้ที่มีภาวะไวรัสตับอักเสบ อย่างเช่น ไวรัสตับอักเสบ-บี หรือการทำงานของตับมีปัญหา มีประวัติโรคหัวใจล้มเหลว ป่วยด้วยโรคมะเร็งอย่างเช่น Lymphoma มีเลือดออกบริเวณทวารหนัก มีการติดเชื้อไวรัสอย่าง งูสวัด จะต้องแจ้งให้ แพทย์ พยาบาล เภสัชกรทราบทุกครั้งที่เข้ารับการรักษา
- ผู้ที่ใช้ยานี้อาจได้รับความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคต่างๆได้ง่าย เช่น เชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส เชื้อรา เชื้อวัณโรค กรณีที่แพทย์ตรวจพบว่ามีการติดเชื้อชนิดใดๆก็ตาม ผู้ป่วยจะต้องเข้ารับการรักษาจนหายเป็นปกติก่อนที่จะใช้ยาอีทาเนอร์เซ็บต์
- ผู้ที่ได้รับยานี้อาจพบอาการวิงเวียนศีรษะ จึงถือเป็นข้อห้ามให้ผู้ป่วยขับขี่ยวดยาน พาหนะต่างๆ รวมถึงการทำงานกับเครื่องจักร ขณะมีอาการวิงเวียนดังกล่าว ด้วยจะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
- ยาอีทาเนอร์เซ็บต์ อาจเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งชนิดต่างๆ เช่น Leukemia, Lymphoma ผู้ป่วยจึงต้องรับการดูแลเรื่องการเกิดมะเร็งควบคู่กันไป แพทย์ พยาบาลจะเป็นผู้แนะนำการปฏิบัติตัวเพื่อลดความเสี่ยงดังกล่าวได้เป็นอย่างดี และให้ผู้ป่วยปฏิบัติ ตามคำแนะนำของแพทย์ พยาบาล อย่างเคร่งครัด
- หากพบว่าหลังการใช้ยาอีทาเนอร์เซ็บต์แล้วมีอาการผิดปกติ เช่น ปัสสาวะสีคล้ำ อุจจาระมีสีซีด เบื่ออาหาร ปวดท้องบริเวณใต้ชายโครงด้านขวา(ตำแหน่งของตับ) ตัวเหลือง ตาเหลือง นั่นเป็นอาการบ่งบอกว่าตับของผู้ป่วยมีความผิดปกติเกิดขึ้น ควรนำผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว ไม่ต้องรอถึงวันนัด
- ห้ามรับการฉีดวัคซีนต่างๆขณะใช้ยาอีทาเนอร์เซ็บต์ ด้วยฤทธิ์การกระตุ้นภูมิคุ้มกัน/ภูมิต้านทาน/ภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกายจะขัดแย้งกับวัตถุประสงค์ของการใช้ยาอีทาเนอร์เซ็บต์
- หลังใช้ยานี้แล้วพบอาการของวัณโรคเกิดขึ้น เช่น ไอแห้งๆ มีไข้ เหงื่อออกตอน กลางคืน น้ำหนักตัวลดอย่างรวดเร็ว ให้รีบนำผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว ไม่ต้องรอจนถึงวันนัด
- ขณะใช้ยานี้ ต้องหลีกเลี่ยงการเข้าไปใกล้ชิดหรือสัมผัสกับผู้ป่วยที่เป็นโรคติดต่อต่างๆ เช่น โรคหัด วัณโรค เป็นต้น
ข้อควรระวังข้างต้นจะแสดงถึงอันตรายของการใช้ยาอีทาเนอร์เซ็บต์ ผู้ป่วยต้องให้ความร่วมมือกับ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร ไม่ว่าจะเป็นด้านประวัติการเจ็บป่วย การใช้ยาอื่นใดอยู่ก่อน รวมถึงปฏิบัติตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล เภสัชกรอย่างเคร่งครัด
อนึ่ง ในประเทศไทยมียาอีทาเนอร์เซ็บต์จำหน่ายภายใต้ชื่อการค้าว่า “Enbrel” โดยจัดอยู่ในหมวดยาควบคุมพิเศษ และพบการใช้แต่ในสถานพยาบาลเท่านั้น
อีทาเนอร์เซ็บต์มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาอีทาเนอร์เซ็บต์มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น
1. รักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (Rheumatoid arthritis) โดยช่วยบำบัดอาการและลดความเสียหายของข้อกระดูกในระดับความรุนแรงปานกลางถึงรุนแรงมาก รวมถึงเกิดการปรับปรุงทางด้านกายภาพของผู้ป่วย โดยแพทย์อาจใช้ยาอีทาเนอร์เซ็บต์ร่วมกับยา Methotrexate ก็ได้
2. รักษาโรคข้ออักเสบในเด็ก ชนิด Polyarticular juvenile idiopathic arthritis โดยสามารถใช้ยาอีทาเนอร์เซ็บต์กับเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป
3. รักษาโรคข้ออักเสบที่มีสาเหตุจากโรคสะเก็ดเงิน (Psoriatic arthritis) โดยตัวยาอีทาเนอร์เซ็บต์จะออกฤทธิ์ยับยั้งการลุกลามที่จะก่อความเสียหายของโครงสร้างของข้อ กรณีนี้ แพทย์จะใช้ยาอีทาเนอร์เซ็บต์ร่วมกับยา Methotrexate หรือจะใช้เฉพาะยาอีทาเนอร์เซ็บต์ก็ได้
4. รักษาโรคกระดูกสันหลังอักเสบยึดติดที่เรียกว่า Ankylosing spondylitis
5. รักษาโรคสะเก็ดเงินชนิดผื่นหนา(Plaque psoriasis)โดยใช้กับผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป
อีทาเนอร์เซ็บต์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาอีทาเนอร์เซ็บต์เป็นอนุพันธ์ของโปรตีนจากสารพันธุกรรม (DNA) ที่เกิดจากการใช้เทคนิคพันธุวิศวกรรมสังเคราะห์ขึ้นมา โดยกลไกการออกฤทธ์ของตัวยานี้ คือ ตัวยาจะเข้ารบกวนตัวรับ(Receptor)ในร่างกายที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบที่มีชื่อเรียกว่า TNF receptors(Tumor necrosis receptor) ทำให้กระบวนการอักเสบของร่างกายถูกปิดกั้น เช่น การอักเสบตามข้อกระดูกต่างๆ จากกลไกดังกล่าว ก่อให้เกิดฤทธิ์ในการบำบัด รักษาได้ตามสรรพคุณ
อีทาเนอร์เซ็บต์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาอีทาเนอร์เซ็บต์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็น ยาฉีดขนาดบรรจุ 25 มิลลิกรัม และ 50 มิลลิกรัม/เข็ม(Pre-filled injection 25 mg and 50 mg)
อีทาเนอร์เซ็บต์มีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
ยาอีทาเนอร์เซ็บต์ มีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา ขึ้นกับหลายปัจจัย เช่น ชนิดของโรค ความรุนแรงของอาการ อายุผู้ป่วย โรคร่วมอื่นๆของผู้ป่วย และยาอื่นๆที่ป่วยใช้อยู่ก่อน ดังนั้นขนาดยานี้ จึงอยู่ในดุลย์พินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีผู้ป่วยแต่ละราย ในบทความนี้ขอยกตัวอย่างเฉพาะบางกรณีเหล่านี้ เช่น
ก. สำหรับภาวะกระดูกสันหลังยึดติด, ข้ออักเสบสะเก็ดเงิน, ข้ออักเสบรูมาตอยด์:
- ผู้ใหญ่: ฉีดยาเข้าใต้ผิวหนัง 50 มิลลิกรัม สัปดาห์ละ 1 ครั้ง ห้ามใช้ยาเกิน 50 มิลลิกรัม/สัปดาห์ ทั้งนี้แพทย์อาจใช้ยาอื่นร่วมรักษาด้วย เช่นยา Methotrexate, Glucocorticoids, Salicylates, NSAIDs
- เด็ก: การใช้ยานี้ในเด็ก ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา
ข.สำหรับรักษาโรคสะเก็ดเงินชนิดผื่นหนา:
- ผู้ใหญ่: เริ่มต้นฉีดยาเข้าใต้ผิวหนังครั้งละ 50 มิลลิกรัม สัปดาห์ละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 3 เดือน แพทย์อาจปรับขนาดการใช้ยาเพื่อคงระดับการรักษาเป็น 50 มิลลิกรัม/สัปดาห์
- เด็ก: การใช้ยานี้ในเด็ก ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา
ค.สำหรับข้ออักเสบในเด็กชนิด Polyarticular juvenile idiopathic arthritis:
- เด็กอายุ 2 ปีขึ้นไป และมีน้ำหนักตัวน้อยกว่า 63 กิโลกรัม: ฉีดยาเข้าใต้ผิวหนังขนาด 0.8 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม สัปดาห์ละ 1 ครั้ง
- เด็กอายุ 2 ปีขึ้นไป และมีน้ำหนักตัวตั้งแต่ 63 กิโลกรัมขึ้นไป: ฉีดยาเข้าใต้ผิวหนังขนาด 50 มิลลิกรัม สัปดาห์ละ 1 ครั้ง ขนาดการใช้ยาสูงสุดไม่เกิน 50 มิลลิกรัม สัปดาห์ละ 1 ครั้ง
- เด็กอายุต่ำกว่า 2ปี: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกที่แน่ชัดถึง ขนาดยา ผลข้างเคียง และความปลอดภัยในการใช้ยานี้ในเด็กวัยนี้ การใช้ยานี้ในเด็กวัยนี้ จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป
อนึ่ง:
- การฉีดยาเข้าใต้ผิวหนัง สามารถเลือกตำแหน่งที่เหมาะสม เช่น ต้นขา หน้าท้อง ลำแขนส่วนต้น ไม่ควรฉีดยาซ้ำในตำแหน่งเดิม ควรฉีดยา ห่างจากตำแหน่งเดิม 3 เซนติเมตรเป็นอย่างน้อย
- ห้ามฉีดยาในบริเวณผิวหนังที่เป็นรอยช้ำ รอยผื่นแดง ผิวหนังที่หนา รวมถึงบริเวณที่เป็นรอยโรคของสะเก็ดเงิน
- ระยะเวลาของการรักษาในแต่ละโรค ให้เป็นไปตามดุลยพินิจของแพทย์
- ผู้ป่วยต้องมารับการฉีดยาตามนัดหมายทุกครั้ง พร้อมกับรับการตรวจร่างกายจากแพทย์ เพื่อประเมินผลของการรักษาร่วมด้วยตามแพทย์นัดหมาย
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียง ตัวอย่างหนึ่งเท่านั้นไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาอีทาเนอร์เซ็บต์ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคตับ โรคมะเร็ง รวมถึงกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาอีทาเนอร์เซ็บต์ อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมฉีดยาควรทำอย่างไร?
ยาอีทาเนอร์เซ็บต์เป็นผลิตภัณฑ์ประเภทยาฉีด การใช้ยานี้จะกระทำแต่ในสถานพยาบาล โอกาสลืมฉีดยาให้ผู้ป่วยจึงเป็นไปได้น้อยมาก อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วยไม่ได้รับการฉีดยาตามกำหนดหรือลืมมาฉีดยา เมื่อนึกขึ้นได้ ควรรีบด่วนติดต่อสถานพยาบาลที่ผู้ป่วยรับการรักษาอยู่ เพื่อขอรับการนัดหมายเข้ารับการรักษา/การฉีดยานี้
อีทาเนอร์เซ็บต์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาอีทาเนอร์เซ็บต์สามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อการทำงานของระบบอวัยวะต่างๆในร่างกาย ดังนี้ เช่น
- ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น โรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ เยื่อจมูกอักเสบ คออักเสบ ไอ ไซนัสอักเสบ
- ผลต่อระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกาย: เช่น เกิดการติดเชื้อในช่องทางเดินหายใจ/โรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ หลอดลมอักเสบ ผิวหนังอักเสบ ปอดบวม ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด เกิดวัณโรค รวมถึงติดเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา เชื้อโปรโตซัว และ เชื้อไวรัส กับอวัยวะต่างๆได้ทั่วร่างกาย
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น ปวดศีรษะ วิงเวียน เกิดลมชัก เส้นประสาทตาอักเสบ ความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ปวดท้อง ท้องอืด ท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน ช่องปากเป็นแผล กระเพาะอาหารอักเสบ ปากแห้ง เบื่ออาหาร กระเพาะอาหารอักเสบ ลำไส้อักเสบ
- ผลต่อหัวใจ: เช่น เกิดหัวใจล้มเหลว เจ็บหน้าอก
- ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดผื่นคัน ลมพิษ Stevens-Johnson syndrome มีภาวะ Angioedema
- ผลต่อตา: เช่น ม่านตาอักเสบ/ยูเวียอักเสบ ตาขาวอักเสบ/เยื่อตาอักเสบ ตาแห้ง
- ผลต่อการเกิดโรคมะเร็ง: อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคมะเร็งต่างๆ ดังนี้เช่น Skin cancers/มะเร็งผิวหนัง Lymphoma/มะเร็งต่อมน้ำเหลือง Melanoma/มะเร็งผิวหนังเมลาโนมา
- ผลต่อตับ: เช่น ค่าเอนไซม์การทำงานของตับในเลือดเพิ่มสูงขึ้น เกิดอาการไวรัสตับอักเสบ-บี
- ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น ท่อปัสสาวะอักเสบ
- ผลต่อไต: เช่น เกิดภาวะกรวยไตอักเสบ
มีข้อควรระวังการใช้อีทาเนอร์เซ็บต์อย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาอีทาเนอร์เซ็บต์ เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุโดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด
- มารับการฉีดยานี้ตามแพทย์นัดหมายทุกครั้ง
- ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์ พยาบาล เภสัชกร อย่างเคร่งครัด
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาอีทาเนอร์เซ็บต์ด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
อีทาเนอร์เซ็บต์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาอีทาเนอร์เซ็บต์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาอีทาเนอร์เซ็บต์ร่วมกับยา Hydrocortisone ด้วยจะก่อให้เสี่ยง ต่อการติดเชื้อโรคต่างๆในผู้ป่วยตามมา
- ห้ามใช้ยาอีทาเนอร์เซ็บต์ร่วมกับยา Anakinra และ Abatacept ด้วยจะทำให้เกิด ภาวะติดเชื้อแบบรุนแรงตามมา
- ห้ามใช้ยาอีทาเนอร์เซ็บต์ร่วมกับการฉีดวัคซีนบีซีจี (BCG vaccine) ด้วยจะเกิดความเสี่ยงของการติดเชื้อวัณโรคจากวัคซีนได้ง่าย และยังทำให้การตอบสนองด้านการกระตุ้นภูมิต้านทานต่อการติดเชื้อวัณโรคด้อยลงไป
ควรเก็บรักษาอีทาเนอร์เซ็บต์อย่างไร?
ควรเก็บยาอีทาเนอร์เซ็บต์ ภายใต้อุณหภูมิ 2 - 8 องศาเซลเซียส (Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
อีทาเนอร์เซ็บต์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาอีทาเนอร์เซ็บต์ ที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบรัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Enbrel (เอนเบรล) | Pfizer |
อนึ่งยาชื่อการค้าอื่นของยานี้ในต่างประเทศ เช่น Embrol
บรรณานุกรม
- https://www.drugs.com/cdi/sureclick.html [2016,Dec24]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Etanercept [2016,Dec24]
- http://www.mims.com/thailand/drug/info/enbrel [2016,Dec24]
- https://www.drugs.com/drug-interactions/etanercept-index.html?filter=3&generic_only= [2016,Dec24]