อิโทไพรด์ (Itopride)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 10 มิถุนายน 2559
- Tweet
- บทนำ
- อิโทไพรด์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- อิโทไพรด์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- อิโทไพรด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- อิโทไพรด์มีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- อิโทไพรด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้อิโทไพรด์อย่างไร?
- อิโทไพรด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาอิโทไพรด์อย่างไร?
- อิโทไพรด์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- อาหารไม่ย่อย ธาตุพิการ (Indigestion)
- คลื่นไส้ อาเจียน (Nausea and Vomiting)
- Anticholinergic
- โรคทางเดินอาหาร โรคระบบทางเดินอาหาร (Digestive disease) ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
บทนำ
ยาอิโทไพรด์ (Itopride หรือ Itopride hydrochloride) เป็นยาในกลุ่มอนุพันธุ์ของยาโปรไคเนติก เบนซาไมด์ (Prokinetic benzamide derivative, ยาที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนตัว/บีบตัวของอวัยวะระบบทางเดินอาหาร) ยานี้จะออกฤทธิ์ยับยั้งสารโดพามีน (Dopamine) ที่ส่งผลต่อการเคลื่อนตัวของกระเพาะอาหารและลำไส้ ช่วยลดความรู้สึกไม่สบายในช่องท้องเช่น ท้องอืด ท้องผูก แสบร้อนกลางอก รวมถึงอาการคลื่นไส้ อาเจียน และบำบัดภาวะอาหารไม่ย่อย รูปแบบยาแผนปัจจุบันของยานี้จะเป็นยาชนิดรับประทานโดยมักจะให้ยานี้ 3 ครั้งต่อวันตามมื้ออาหาร ส่วนรายละเอียดของขนาดรับประทานนั้นจะขึ้นอยู่กับอายุ อาการ และปัจจัยของสุขภาพของผู้ป่วย ปกติผู้ป่วยอาจต้องรับประทานยานี้ต่อเนื่องถึง 8 สัปดาห์เพื่อบำบัดอาการอาหารไม่ย่อย (Dyspepsia)
ยาอิโทไพรด์สามารถดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารและกระจายตัวเข้าสู่ร่างกายได้ประมาณ 60% ของปริมาณยาที่รับประทาน เมื่อตัวยาเข้าสู่กระแสเลือดจะเข้ารวมตัวกับพลาสมาโปรตีนได้ประมาณ 96% ร่างกายอาจต้องใช้เวลาเฉลี่ย 5.4 - 6 ชั่วโมงเพื่อกำจัดยานี้ออกจากกระแสเลือดโดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะ
ยาอิโทไพรด์มีข้อจำกัดบางประการที่ทำให้ยานี้ไม่เหมาะกับผู้ป่วยบางกลุ่มเช่น
- เป็นผู้ที่แพ้ยานี้หรือแพ้ยาในกลุ่มโปรไคเนติก เบนซาไมด์ (Prokinetic benzamide)
- สตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีเลือดออกในระบบทางเดินอาหาร หรือมีภาวะทางเดินอาหารอุดตัน/ลำไส้อุดตัน ผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน (Parkinson’s disease) จัดเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อผลข้างเคียงจากยาอิโทไพรด์และควรหลีกเลี่ยงการใช้ยานี้
ยาอิโทไพรด์สามารถก่อให้เกิดอาการข้างเคียง (ผลข้างเคียง) ต่อผู้บริโภค/ผู้ป่วยได้บ้าง เช่น ผื่นคัน ปวดหลัง เจ็บหน้าอก ท้องผูก ปวดศีรษะ วิงเวียน เป็นต้น โดยทั่วไปอาการข้างเคียงเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องใช้ยาชนิดอื่นมาบำบัดรักษา อาการต่างๆจะค่อยๆหายไปได้เอง แต่บางอาการข้างเคียงที่รุนแรงหรือที่อาจก่อให้เกิดอันตรายตามมาอย่างเช่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ/หัวใจเต้นผิด ปกติ ผู้ป่วยก็ควรต้องรีบกลับมาปรึกษาแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
ประเทศไทยโดยคณะกรรมการอาหารและยาได้จัดให้ยาอิโทไพรด์อยู่ในหมวดของยาอันตราย
ก่อนการใช้ยาอิโทไพรด์ผู้ป่วยควรต้องได้รับการตรวจร่างกายจากแพทย์เพื่อยืนยันการใช้เสียก่อน และไม่ควรไปหาซื้อยานี้มารับประทานด้วยตนเอง
และหากต้องการทราบข้อมูลของยาอิโทไพรด์เพิ่มเติม ผู้บริโภค/ผู้ป่วยสามารถสอบถามได้ จากแพทย์ผู้รักษาหรือจากเภสัชกรได้โดยทั่วไป
อิโทไพรด์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
ยาอิโทไพรด์มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เช่น
- บำบัดอาการท้องอืด อาหารไม่ย่อย โดยที่กระเพาะอาหารและลำไส้ต้องไม่มีแผล
- รักษาโรคกระเพาะอาหารอักเสบเรื้อรัง
- บำบัดอาการแสบร้อนกลางอก รวมถึงอาการคลื่นไส้และอาเจียน
อิโทไพรด์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาอิโทไพรด์มีกลไกการออกฤทธิ์โดยตัวยาจะยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ Acetylcholi nesterase (เอนไซม์เกี่ยวข้องกับการทำงานของกล้ามเนื้อ) และเข้ารบกวนการทำงานที่ตัวรับ(Receptor) ที่ชื่อ Dopamine D2 receptors ส่งผลให้ร่างกายหลั่งสาร Acetylcholine ทำให้เพิ่มการบีบตัวของกระเพาะอาหารและลำไส้ เกิดการเคลื่อนของอาหารที่รับประทานเข้าไปได้อย่างรวดเร็ว จากกลไกนี้จึงเป็นเหตุให้เกิดฤทธิ์ของการรักษาตามสรรพคุณ
อิโทไพรด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาอิโทไพรด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็นยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 50 มิลลิกรัม/เม็ด
อิโทไพรด์มีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาอิโทไพรด์มีขนาดรับประทานเช่น
- ผู้ใหญ่: รับประทานครั้งละ 50 มิลลิกรัมวันละ 3 ครั้งก่อนอาหาร ทั้งนี้แพทย์สามารถลดขนาดรับประทานลงโดยพิจารณาจากอายุและจากอาการป่วยของผู้ป่วยแต่ละบุคคล
อนึ่งระยะเวลาของการใช้ยานี้อาจยาวนานถึง 8 สัปดาห์ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการตอบสนองของผู้ ป่วยและดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา
- เด็ก: ทางคลินิกยังไม่มีการจัดทำขนาดรับประทานของยานี้ในเด็ก การใช้ยานี้ในเด็กจึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือ เภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาอิโทไพรด์ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาอิโทไพรด์อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาอิโทไพรด์สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในครั้งถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
อย่างไรก็ตามเพื่อประสิทธิผลของการรักษาควรรับประทานยาอิโทไพรด์ตรงเวลา
อิโทไพรด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาอิโทไพรด์สามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้เช่น
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ปวดท้อง ท้องเสียหรือไม่ก็ท้องผูก น้ำลายออกมามาก และคลื่นไส้
- ผลต่อระบบโลหิต: เช่น ปริมาณเม็ดเลือดขาวลดต่ำลงหรือที่เรียกว่า Leukocytopenia และเกิดภาวะ Thrombocytopenia (เกล็ดเลือดต่ำ)
- ผลต่อระบบต่อมไร้ท่อ: เช่น ฮอร์โมนโปรแลคติน (Prolactin, ฮอร์โมนเกี่ยวข้องกับการหลั่งน้ำ นม) เพิ่มมากขึ้นจนอาจเกิดภาวะเต้านมโตขึ้น (Gynecomastia)
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น วิงเวียน ปวดศีรษะ มีอาการตัวสั่น
- ผลต่ออวัยวะตับ: เช่น มีอาการดีซ่าน ค่าเอนไซม์การทำงานของตับในเลือดสูงขึ้นเช่นค่า SGOT (Serum glutamic oxaloacetic transaminase) และ SGPT (Serum glutamic pyruvic transaminase)
- ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดอาการผื่นคัน
มีข้อควรระวังการใช้อิโทไพรด์อย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาอิโทไพรด์เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้หรือแพ้ยาในกลุ่มโปรไคเนติก เบนซาไมด์
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีแผลในอวัยวะระบบทางเดินอาหาร หรือมีภาวะช่องทางเดินอาหารตีบตัน/ลำไส้อุดตัน
- ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ โดยไม่มีคำสั่งแพทย์
- ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตัวเอง
- หากพบอาการแพ้ยานี้เช่น อึดอัด/หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก ใบหน้าบวม มีผื่นคันขึ้นตามผิวหนัง ต้องหยุดการใช้ยานี้ทันทีแล้วรีบพาผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็วทันที/ฉุกเฉิน
- เมื่อทำการรักษาจนครบคอร์ส (Course) ของยานี้แล้ว อาการป่วยไม่ดีขึ้นควรต้องกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาอิโทไพรด์ด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
อิโทไพรด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาอิโทไพรด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นเช่น
- การใช้ยาอิโทไพรด์ร่วมกับยากลุ่ม Anticholinergic อาจทำให้ประสิทธิภาพการรักษาของยาอิโทไพรด์ลดน้อยลงจึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- การใช้ยาบางตัวร่วมกับยาอิโทไพรด์อาจทำให้ประสิทธิภาพในการรักษาของยาอิโทไพรด์ด้อยลงไป หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน ยากลุ่มดังกล่าวเช่น Aclidi nium (ยารักษาโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง), Amitriptyline, Amoxapine, Atropine, Azelastine, Benza tropine, Brompheniramine, Carbinoxamine, Cetirizine และ Chlorpheniramine
ควรเก็บรักษาอิโทไพรด์อย่างไร?
ควรเก็บยาอิโทไพรด์ที่อุณหภูมิต่ำกว่า 25 องศาเซลเซียส (Celsius) ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
อิโทไพรด์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาอิโทไพรด์ที่จำหน่ายในประเทศไทย ยาชื่อการค้าและบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่ายเช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Ganaton (กานาทอน) | Abbott |
บรรณานุกรม
- http://www.mims.com/thailand/drug/info/ganaton/?type=full#Dosage [2016,May21]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Itopride [2016,May21]
- http://www.drugbank.ca/drugs/DB04924 [2016,May21]