อิโทริคอกซิบ (Etoricoxib)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 1 มกราคม 2564
- Tweet
- บทนำ
- ยาอิโทริคอกซิบมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- ยาอิโทริคอกซิบมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ยาอิโทริคอกซิบมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ยาอิโทริคอกซิบมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ยาอิโทริคอกซิบมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ยาอิโทริคอกซิบอย่างไร?
- ยาอิโทริคอกซิบมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษายาอิโทริคอกซิบอย่างไร?
- ยาอิโทริคอกซิบมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- กลุ่มยาแก้ปวด และยาพาราเซตามอล (Analgesics and Paracetamol)
- เลือดออกในทางเดินอาหาร (Gastrointestinal bleeding or GI bleeding)
- โรคหัวใจ: โรคหลอดเลือดหัวใจ (Coronary artery disease)
- ข้อเสื่อม เข่าเสื่อม (Osteoarthritis)
- โรคข้อรูมาตอยด์ (Rheumatoid arthritis)
- เกาต์ (Gout)
- กลุ่มอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ (Flu-like Syndrome)
บทนำ
ยาอิโทริคอกซิบ (Etoricoxib) หรือยาชื่อการค้าที่คนรู้จัก คือ ‘อาร์โคเซีย (Arcoxia)’ เป็นยากลุ่มเอ็นเซด (NSAIDs) ถูกนำมารักษาอาการปวดที่มีสาเหตุต่างๆ เช่น โรคข้อรูมาตอยด์ ข้ออักเสบ โรคเกาต์ และอาการปวดเฉียบพลัน
จากการศึกษาด้านเภสัชจลนศาสตร์ (Pharmacokinetic, การศึกษาความเป็นไปของยาเมื่อ ยาเข้าสู่ร่างกาย) พบว่า อิโทริคอกซิบดูดซึมได้ดีจากทางเดินอาหารถึง 100% และจะจับตัวกับพลาสมาโปรตีนในกระแสเลือดประมาณ 90% ตับจะเป็นตัวเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมีของยานี้ ร่าง กายต้องใช้เวลาประมาณ 22 ชั่วโมงในการกำจัดยาออกจากร่างกาย 50% โดยผ่านไปกับปัสสาวะประมาณ 70% และที่เหลือผ่านไปกับอุจจาระ
สำหรับประเทศไทยจัดจำหน่ายอิโทริคอกซิบในชื่อการค้าว่า Arcoxia แต่ประเทศเพื่อนบ้าน อย่างเช่น อินเดีย จะมีบริษัทผู้ผลิตมากมายเพื่อเป็นการรองรับความต้องการของประชากรที่มีมาก กว่าพันล้านคน ผนวกกับประสิทธิภาพการรักษาของยานี้สอดรับกับการตอบสนองของอาการโรคใน ตัวผู้ป่วย คณะกรรมการอาหารและยาของไทยจัดให้อิโทริคอกซิบอยู่ในหมวดยาควบคุมพิเศษ การ ใช้ยานี้จึงต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์แต่เพียงผู้เดียว
ยาอิโทริคอกซิบมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
ยาอิโทริคอกซิบมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น
- รักษาอาการปวดจาก ข้ออักเสบ ข้อเสื่อม โรคข้อรูมาตอยด์ โรคเกาต์
- รักษาอาการปวด หลังผ่าตัด
ยาอิโทริคอกซิบมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
อิโทริคอกซิบมีกลไกการออกฤทธิ์ โดยตัวยาจะยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ ชื่อไซโคล - ออกซิจิเนส (COX-2, เอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบและการเจ็บปวด) เป็นผลให้ร่างกายลดการสร้างสารโพรสตาแกลนดิน (Prostagladin) ที่เป็นสาเหตุของความเจ็บปวด และยานี้ยังมีผลข้าง เคียงต่อระบบทางเดินอาหารน้อย จึงถือเป็นข้อโดดเด่นของอิโทริคอกซิบ และใช้เป็นจุดขาย
ยาอิโทริคอกซิบมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาอิโทริคอกซิบมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ยาเม็ด ขนาดความแรง 30, 60, 90, และ 120 มิลลิกรัม/เม็ด
ยาอิโทริคอกซิบมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาอิโทริคอกซิบมีขนาดรับประทาน เช่น
ก.สำหรับอาการปวดจากข้อเสื่อม (Osteoarthritis): เช่น
- ผู้ใหญ่/อายุตั้งแต่16ปีขึ้นไป: รับประทาน 60 มิลลิกรัม วันละครั้ง
ข.สำหรับอาการปวดจากโรคข้อรูมาตอยด์ (Rheumatoid arthritis): เช่น
- ผู้ใหญ่/อายุตั้งแต่16ปีขึ้นไป: รับประทาน 90 มิลลิกรัม วันละครั้ง
ค.สำหรับอาการปวดจากโรคเกาต์แบบเฉียบพลัน: เช่น
- ผู้ใหญ่/อายุตั้งแต่16ปีขึ้นไป: รับประทาน 120 มิลลิกรัม วันละครั้ง และรักษาต่อเนื่องได้ต้องไม่เกิน 8 วัน
อนึ่ง:
- สามารถรับประทานยานี้ ก่อน หรือ หลัง อาหารก็ได้
- เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก): ห้ามใช้ยานี้ในเด็ก และในผู้มีอายุต่ำกว่า 16 ปี
*****หมายเหตุ: ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษา แพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาอิโทริคอกซิบ ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก /หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาอิโทริคอกซิบอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาอิโทริคอกซิบ สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับ การรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
ยาอิโทริคอกซิบมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาอิโทริคอกซิบ สามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น
- รู้สึกไม่สบายภายในท้อง
- ส่งผลต่อการทำงานของหัวใจ (เช่น หัวใจเต้นผิดปกติ)
- ปวดศีรษะ /ปวดหัว
- วิงเวียน
- สับสน
- ซึมเศร้า
- ง่วงนอน หรือ นอนไม่หลับ
- เกิดผื่นแพ้แสงแดด
- มีอาการคล้ายเป็นโรคเลือด (มีห้อเลือดตามเนื้อตัว)
- ตัวบวม
- ปากคอแห้ง
- ความดันโลหิตสูง
- การรับรสชาติอาหารเปลี่ยนไป
- ช่องปากเป็นแผล
- เจ็บหน้าอก
- อ่อนเพลีย
- มีอาการของกลุ่มอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่
- เป็นพิษกับไต
มีข้อควรระวังการใช้ยาอิโทริคอกซิบอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาอิโทริคอกซิบ เช่น
- ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีโรคลำไส้อักเสบ
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มี ภาวะหัวใจล้มเหลวขั้นรุนแรง ผู้ป่วยที่มีโรคหลอดเลือดสมอง (อัมพาต)
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีบาดแผลในช่องทางเดินอาหาร
- ห้ามใช้ยานี้ ในหญิงที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และในผู้ที่อายุต่ำกว่า 16 ปี
- ระวังการใช้ยานี้กับหญิงตั้งครรภ์
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ที่มีภาวะเลือดออกง่าย
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ที่เคยมีประวัติด้วยโรคหัวใจล้มเหลว
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีอาการบวมของร่างกาย เนื่องจากเป็น โรคไต โรคตับ โรคหัวใจ
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาอิโทริคอกซิบด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด เสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ยาอิโทริคอกซิบมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาอิโทริคอกซิบมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การรับประทานยาอิโทริคอกซิบ ร่วมกับยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่นยา Warfarin อาจทำให้เกิดภาวะเลือดออกง่าย หากไม่จำเป็นควรหลีกเลี่ยงการใช้ร่วมกัน
- การรับประทานยาอิโทริคอกซิบ ร่วมกับยาแก้ปวดบางชนิด เช่นยา แอสไพริน อาจก่อให้เกิด ความเสี่ยงของแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ หากมีความจำเป็นต้องใช้ร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสม
- การรับประทานยาอิโทริคอกซิบ ร่วมกับยากลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs)ตัวอื่น เช่นยา Ibuprofen, Diclofenac, Naproxen อาจเกิดความเสี่ยงของภาวะเลือดออกในเดินอาหาร ควรหลีกเลี่ยงไม่นำมาใช้ร่วมกัน
- การรับประทานยาอิโทริคอกซิบ ร่วมกับยาบางกลุ่ม อาจทำให้ระดับยาในกระแสเลือดของ ยากลุ่มนั้นๆเพิ่มขึ้นจนก่อให้เกิดอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)ตามมา แพทย์อาจต้องปรับขนาดรับประทานหรือให้หยุดการใช้ร่วมกัน ยากลุ่มดังกล่าว เช่น
- ยาโรคหัวใจ เช่นยา Digoxin
- ยาจิตเวช เช่นยา Lithium
- ยารักษามะเร็ง/ยาเคมีบำบัด เช่นยา Methotrexate
- ยาเม็ดคุมกำเนิด เช่นยา Estrogens
ควรเก็บรักษายาอิโทริคอกซิบอย่างไร?
ควรเก็บยาอิโทริคอกซิบ เช่น
- เก็บยาที่อุณหภูมิต่ำกว่า 30 องศาเซลเซียส (Celsius)
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/ แสงแดด และความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- ไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำ
ยาอิโทริคอกซิบมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาอิโทริคอกซิบที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Arcoxia (อาร์โคเซีย) | MSD |
90-AIM (90-เอไอเอ็ม) | Dhara |
ALCOX (อัลคอกซ์) | Altar |
ALCOXIB (อัลคอกซิบ) | Alkem (Bergen) |
ASOGIX (แอโซจิกซ์) | Wonder (Asrox) |
AUTZIB (อัทซิบ) | Genesis (Autus) |
BIOCOZ (ไบโอคอส) | Biochemix |
BIOTROX (ไบโอทร็อกซ์) | Biochemix (Mediconcept) |
COX (คอกซ์) | Race Pharma |
COXET (โคเซท) | Anthus |
Etorica (อิโทริกา) | Brown & Burk |
Etoshine (อิโทชายน์) | Sun Pharma |
Nucoxia (นูโคเซีย) | Zydus Cadila |
Rofedol Plus (โรฟีดอล พลัส) | Zifam India |
Arcoxib (อาร์คอกซิบ) | IBN Sina |
Xibra-90 (ซีบรา-90) | Aristopharma |
บรรณานุกรม
1. http://en.wikipedia.org/wiki/Etoricoxib [2020,Dec26]
2. http://www.mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fwww.mims.com%2fUSA%2fdrug%2finfo%2fetoricoxib%2f%3ftype%3dfull%26mtype%3dgeneric [2020,Dec26]
3. http://www.mims.com/Hongkong/Drug/search/?q=etoricoxib [2020,Dec26]
4. http://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=arcoxia [2020,Dec26]
5. http://www.mims.com/India/drug/search/?q=etoricoxib [2020,Dec26]
6. http://www.mims.com/Philippines/Drug/search/?q=etoricoxib [2020,Dec26]
7. http://www.netdoctor.co.uk/seniors-health/medicines/arcoxia.html [2020,Dec26]