อิลิโทรโพยอิสิส สตีมูเลทติ้ง เอเจนท์ (Erythropoiesis stimulating agent)
- โดย ภก.วิชญ์ภัทร ธรานนท์
- 7 กันยายน 2560
- Tweet
- บทนำ
- ระดับฮีโมโกลบินที่แนะนำให้เริ่มใช้ยากลุ่มอิลิโทรโพยอิสิส สตีมูเลทติ้ง เอเจนท์ และเป้าหมายระดับฮีโมโกลบิน
- อิลิโทรโพยอิตินคือ อะไร?
- การรักษาภาวะโลหิตจางในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังและในผู้ป่วยมะเร็งที่ไดรับเคมีบำบัด
- ยากลุ่มอิลิโทรโพยอิสิส สตีมูเลทติ้ง เอเจนท์ มียาอะไรบ้าง?
- ขนาดยากลุ่มอิลิโทรโพยอิสิส สตีมูเลทติ้ง เอเจนท์ ที่แนะนำสำหรับการรักษาภาวะโลหิตจาง
- การปรับขนาดยากลุ่มอิลิโทรโพยอิสิส สตีมูเลทติ้ง เอเจนท์ภายหลังที่ผู้ป่วยได้รับยานี้
- วิธีแก้ไขภาวะตอบสนองต่อยา ESA ต่ำ
- มีข้อควรระวังอย่างไรในการใช้ยากลุ่มอิลิโทรโพยอิสิส สตีมูเลทติ้ง เอเจนท์?
- มีอาการไม่พึงประสงค์อย่างไรจากยากลุ่มอิลิโทรโพยอิสิส สตีมูเลทติ้ง เอเจนท์?
- ยากลุ่มอิลิโทรโพยอิสิส สตีมูเลทติ้ง เอเจนท์ มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษายากลุ่มอิลิโทรโพยอิสิส สตีมูเลทติ้ง เอเจนท์ อย่างไร?
- ยาในกลุ่มอิลิโทรโพยอิสิส สตีมูเลทติ้ง เอเจนท์ มียาใดบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- โรคไต (Kidney disease)
- โรคไตเรื้อรัง (Chronic kidney disease)
- มะเร็ง (Cancer)
- ยาเคมีบำบัด (Cancer chemotherapy)
- โรคเลือด (Blood Diseases)
- โลหิตจาง เลือดจาง ซีด (Anemia)
- แอแนฟิแล็กซิส: ปฏิกิริยาภูมิแพ้รุนแรงเฉียบพลัน (Anaphylaxis)
บทนำ
ยาอิลิโทรโพยอิสิส สตีมูเลทติ้ง เอเจนท์ (Erythropoiesis stimulating agent) ย่อว่า ESA เป็นกลุ่มยาหนึ่งที่สังเคราะห์ขึ้นโดยกระบวนการตัดต่อยีน/จีน/Gene (Recombinant DNA technology) เพื่อทำหน้าที่เสมือนเป็นฮอร์โมนอิลิโทรโพยอิติน (Erythropoietin/EPO hormone, อ่านเพิ่มเติมในหัวข้อต่อไปว่า)ที่สร้างขึ้นจากไต โดยมีข้อบ่งใช้ของยากลุ่ม ESA นี้เพื่อรักษาภาวะโลหิตจางจากบางสาเหตุ เช่น ภาวะไตเสื่อมเรื้อรัง/โรคไตเรื้อรัง ภาวะโลหิตจางจางการได้รับยาเคมีบำบัดในการรักษาโรคมะเร็ง
ภาวะโลหิตจาง มีผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อน(ผลข้างเคียง)ต่างๆ เช่น อาการอ่อนเพลีย หน้ามืด เหนื่อยง่าย โรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจ เป็นต้น ที่ส่งผลทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยที่มีภาวะโลหิตจางลดลง และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเสียชีวิต
คำแนะนำในปัจจุบันของมูลนิธิโรคไตแห่งสหรัฐอเมริกา/KDOQI/ Kidney Disease Outcomes Quality Initiative (National Kidney Foundation) และ คณะกรรมการโรคไตแห่งสหภาพยุโรป/ERBP/ European Renal Best Practice Regional » European ซึ่งเป็นองค์กรที่ให้แนวทางการรักษาผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง ได้กำหนดให้ ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง ที่ได้รับยาที่กระตุ้นการทำงานของฮอร์โมนอิลิโทรโพยอิติน/ยา ESA มีเป้าหมายระดับฮีโมโกลบิน(Hemoglobin)อยู่ในช่วง 11 - 12 กรัม/เดซิลิตร(g/dL หรือ gram/deciliter) ไม่ควรเกิน 13 กรัม/เดซิลิตร เนื่องจาก ระดับฮีโมโกลบินที่สูงกว่าระดับที่กำหนด จะส่งผลให้ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตมากขึ้น และมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจรุนแรง รวมถึงโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) และ/หรือภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือด
ระดับฮีโมโกลบินที่แนะนำให้เริ่มใช้ยากลุ่มอิลิโทรโพยอิสิส สตีมูเลทติ้ง เอเจนท์ และเป้าหมายระดับฮีโมโกลบิน
อิลิโทรโพยอิตินคือ อะไร?
อิลิโทรโพยอิติน (Erythropoietin หรือ EPO) เป็นฮอร์โมนที่มีโครงสร้างเป็นสารโปรตีนชนิดที่เรียกว่าไกลโคโปรตีน(Glycoprotein)ที่ควบคุมการสร้างเม็ดเลือดแดง ทำหน้าที่กระตุ้นการแบ่งตัวและการพัฒนาของเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดในไขกระดูกให้ไปเป็นเม็ดเลือดแดง
เมื่อให้ยากลุ่ม ESA เข้าสู่ร่างกายแล้ว ยากลุ่ม ESAจะจับกับ ตัวรับ(Receptor)ของอีลิโทรโพยอิติน ที่ผิวของเซลล์ตั้งต้น/เซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดแดง และกระตุ้นการส่งสัญญาณในเซลล์เหล่านี้ ซึ่งมีผลกระตุ้นให้เกิดการแบ่งตัวและการเจริญของเซลล์เหล่านี้ไปเป็นเซลล์เม็ดเลือดแดงที่สมบูรณ์ ซึ่งจะต้องอาศัย ธาตุเหล็ก, โฟเลต(Folate), และวิตามินบี 12 ที่เพียงพอในร่างกาย ร่วมในกระบวนการสร้างเม็ดเลือดแดงที่สมบูรณ์นี้ด้วย
การรักษาภาวะโลหิตจางในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังและในผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับเคมีบำบัด
ภาวะโลหิตจาง เป็นภาวะที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ ซึ่งภาวะดังกล่าวมักพบเป็นประจำในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง โดยพบว่า ผู้ป่วยที่มีค่าฮีโมโกลบิน (ย่อว่า Hb) น้อยกว่า 10 กรัม/เดซิลิตร จะมีอัตราการเสียชีวิตเพิ่มขึ้น และจะพบภาวะหัวใจห้องซ้ายล่างโต (Left ventricular hypertrophy) มากขึ้น
มีการศึกษาเรื่องระดับฮีโมโกลบินเป้าหมายสำหรับผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังหลายการศึกษา จนกระทั่ง พ.ศ. 2550 องค์การอาหารและยาของประเทศสหรัฐอเมริกา (US FDA/United State Food and Drug Administration) มีคำเตือนในการใช้ยาที่มีผลกระตุ้นการทำงานฮอร์โมนอิลิโทรโพยอิติน (Erythropoiesis Stimulating Agent หรือ ESA) เพื่อกระตุ้นฮีโมโกลบินให้อยู่ในช่วง 10 - 12 กรัม/เดซิลิตร เนื่องจาก พบว่าระดับฮีโมโกลบินที่สูงกว่าระดับที่แนะนำ จะส่งผลทำให้ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตมากขึ้นและมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจรุนแรง รวมถึง โรค หลอดเลือดสมอง ซึ่งคำเตือนดังกล่าว สอดคล้องกับคำแนะนำขององค์การที่ให้คำแนะนำในการดูแลผู้ป่วยโรคไต คือ KDOQI และ ERBP ที่แนะนำให้ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังที่ได้รับยาที่กระตุ้นการทำงานของฮอร์โมนอิลิโทรโพยอิติน (ยา ESA) มี เป้าหมายระดับฮีโมโกลบินอยู่ในช่วง 11 - 12 กรัม/เดซิลิตรไม่ควรเกิน 13 กรัม/เดซิลิตร ต่อมามีคำแนะนำใหม่จาก KDIGO (พ.ศ.2555) แนะนำให้เริ่มใช้ยา ESA เมื่อ Hb อยู่ระหว่าง 9 - 10 กรัม/เดซิลิตรโดยรักษาระดับอยู่ที่ ≤ 11.5 กรัม/เดซิลิตร และไม่่ให้เกิน 13 กรัม/เดซิลิตร
สำหรับการรักษาโลหิตจางจากยาเคมีบำบัด มักแนะนำให้เริ่มใช้ยากลุ่ม ESA เมื่อระดับฮีโมโกลบิน น้อยกว่าหรือเท่ากับ 11 กรัมต่อเดซิลิตร โดยเป้าหมายฮีโมโกลบิน คือ มากกว่า 12 กรัมต่อเดซิลิตร หรือ มากกว่าหรือเท่ากับ 10 กรัมต่อเดซิลิตร จากระดับฮีโมโกลบินเดิม (Baseline) ภายใน 4 สัปดาห์
ยากลุ่มอิลิโทรโพยอิสิส สตีมูเลทติ้ง เอเจนท์ มียาอะไรบ้าง?
ปัจจุบัน ยาที่อยู่ในกลุ่มอิลิโทรโพยอิสิส สตีมูเลทติ้ง เอเจนท์ ประกอบด้วย 3 ชนิดใหญ่ๆ ดังนี้
1. Recombinant Human Erythropoietin หรือ rEPO: จัดเป็นยาในกลุ่มกระตุ้นการสร้างฮอร์โมนอิลิโทรโพยอิติน/ยาESA)ที่ผลิตขึ้นโดยกระบวนการตัดต่อยีนส์ (Recombinant DNA technology) โดยสังเคราะห์ขึ้นจากการตัดต่อทางพันธุกรรมผ่านเซลล์รังไข่ของหนู(Chinese hamster) เพื่อให้ได้ยาที่มีลักษณะทางภูมิคุ้มกันและทางชีววิทยาที่ไม่แตกต่างจากฮอร์โมนอิลิโทรโพยอิตินจากไต
ยา rEPO ในบัญชียาหลักแห่งชาติไทยมี 2 ชนิด คือ อิโพยอิติน-อัลฟ่า (Erythropoetin alfa/alpha หรือ Epoetin alfa) ซึ่งมีใช้ทั้งในสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป และอิโพยอิติน-เบต้า (Erythropoetin beta หรือ Epoetin beta) มีใช้ในสหภาพยุโรป ไม่มีใช้ใน สหรัฐอเมริกา ซึ่งยา rEPO ทั้งสองชนิดนี้มีลำดับของกรดอะมิโน 165 ตัวเหมือนกัน แต่แตกต่างกันที่การจับตัวของคาร์โบไฮเดรตกับสารโมเลกุลอื่น(Glyco¬sylation pattern)ไม่พบความแตกต่างต่อผลการรักษาทางคลินิกของยาทั้ง 2 ชนิด
2. ดาบีโพยอิติน อัลฟา (Darbepoetin alfa): หรือมีชื่อการค้าว่า NESP® ถูกพัฒนาขึ้นจาก Erythropoetin alfa โดยเพิ่มสายคาร์โบไฮเดรตขึ้นในโครงสร้างยาดังกล่าว ทำให้ยาดาบีโพยอิติน อัลฟา มีน้ำหนักโมเลกุลเพิ่มขึ้น และมีค่าครึ่งชีวิตยาวนานขึ้น จึงสามารถบริหารยาได้สัปดาห์ละ1ครั้ง หรือทุก 2สัปดาห์
3. ยาเมททอกซี โพลีเอทิลีน ไกลคอล อิโพยอิติน-เบต้า (Methoxy polyethylene glycol epoetin-beta): หรือมีชื่อการค้าว่า Mircera® ยานี้ได้รับการพัฒนาให้เชื่อมต่อโมเลกุลของ Erythropoetin ด้วยโปรตีนโมเลกุลใหญ่ ซึ่งส่งผลทำให้สามารถกระตุ้นตัวรับอีลิโทรโพยอิตินได้อย่างต่อเนื่อง ยาจึงมีค่าครึ่งชีวิตยาวนานขึ้นยิ่งกว่าดาบีโพยอิติน อัลฟา ทำให้การบริหารยาสามารถให้ยาเดือนละ1 ครั้งได้
ขนาดยากลุ่มอิลิโทรโพยอิสิส สตีมูเลทติ้ง เอเจนท์ ที่แนะนำสำหรับการรักษาภาวะโลหิตจาง
ขนาดยากลุ่มอิลิโทรโพยอิสิส สตีมูเลทติ้ง เอเจนท์ ที่แนะนำสำหรับการรักษาภาวะโลหิตจาง เช่น
1. Recombinant Human Erythropoietin หรือ rEPO: บริหารยา rEPO ชนิดอิโพยอิติน-อัลฟ่า และ อิโพยอิติน-เบต้า ทางหลอดเลือดดำ (Intravenous, IV) ด้วยขนาดยา 120 - 180 ยูนิต/น้ำหนักตัว1 กิโลกรัม/สัปดาห์ แบ่งให้สัปดาห์ละ 3 ครั้ง ควรฉีดยานี้อย่างช้าๆ ประมาณ 1-5 นาที ขึ้นกับขนาดของยาที่ได้รับ ในกรณีที่ผู้ป่วยได้รับการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม(การล้างไต) สามารถให้ยาเข้าในหลอดเลือดที่ใช้ในการฟอกเลือดได้ โดยให้ไปในระหว่างการฟอกเลือดได้เลย หรือ
บริหารยา rEPO ชนิดอิลิโทรโพยอิติน-เบต้า ทางใต้ผิวหนัง(Subcutaneous, SC) ด้วยขนาดยา 80 - 120 ยูนิต/กิโลกรัม/สัปดาห์ แบ่งให้สัปดาห์ละ 3 ครั้ง ปริมาตรที่มากที่สุดสำหรับการฉีดยาแต่ละครั้งคือ 1 มิลลิลิตร ถ้าต้องให้ยานี้ในปริมาณที่มากกว่านี้ ให้พิจารณาฉีดในตำแหน่งอื่นเพิ่ม ตำแหน่งที่ใช้ในการฉีดเข้าใต้ผิวหนัง ได้แก่ ต้นแขน ต้นขา หรือผนังหน้าท้องโดยให้ห่างจากสะดือ ฉีดสลับตำแหน่งไปในแต่ละครั้ง
อนึ่ง การบริหารยา rEPO ด้วยการฉีดยาเข้าใต้ผิวหนัง จะมีประสิทธิภาพในการเพิ่มปริมาณฮีโมโกลบินได้ดีกว่าการบริหารยาด้วยการฉีดเข้าหลอดเลือดดำ และขนาดยา rEPO ที่ให้การบริหารยาทางหลอดเลือดดำจะสูงกว่าขนาดยาที่ให้บริหารยาเข้าใต้ผิวหนัง 25 – 30 %
2. ดาบีโพยอิติน อัลฟา (Darbepoetin alfa)หรือมีชื่อการค้าว่า NESP®: โดยให้ยาดาบีโพยอิติน อัลฟา (Darbepoetin alfa) ทางหลอดเลือดดำ หรือทางใต้ผิวหนัง ด้วยขนาดยา 0.45 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/สัปดาห์ บริหารสัปดาห์ละ 1 ครั้ง หรือทุก 2 สัปดาห์
3. ยาเมททอกซี โพลีเอทิลีน ไกลคอล อิโพยอิติน-เบต้า (Methoxy polyethylene glycol epoetin-beta)หรือมีชื่อการค้าว่า Mircera®: คือ การบริหารยาเมททอกซี โพลีเอทิลีน ไกลคอล อิโพยอิติน-เบต้า (Methoxy polyethylene glycol epoetin-beta)ทางหลอดเลือดดำ หรือใต้ผิวหนัง ด้วยขนาดยา 0.6 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัว 1กิโลกรัม/ 2 สัปดาห์ บริหารยาเดือนละ 1 – 2 ครั้ง
ภายหลังเริ่มให้ยากลุ่ม ESA ผู้ป่วยควรได้รับการตรวจระดับฮีโมโกลบิน (Hb) ทุกเดือน และการปรับขนาดยา แพทย์มักทำเมื่อหลังเริ่มยาไปแล้วอย่างน้อย 2 สัปดาห์ เนื่องจากต้องใช้เวลา กว่าจะเห็นผลในการรักษา โดยทั่วไปแล้ว ระดับฮีโมโกลบินควรเพิ่มขึ้น 1 - 2 กรัม/เดซิลิตร ต่อเดือน เมื่อระดับฮีโมโกลบินถึงเป้าหมาย (Maintenance phase) แพทย์อาจตรวจติดตามระดับฮีโมโกลบิน อย่างน้อยทุกๆ 3 เดือน
*****หมายเหตุ:
- ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษา แพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ
การปรับขนาดยากลุ่มอิลิโทรโพยอิสิส สตีมูเลทติ้ง เอเจนท์ ภายหลังที่ผู้ป่วยได้รับยานี้
การปรับขนาดยากลุ่มอิลิโทรโพยอิสิส สตีมูเลทติ้ง เอเจนท์/rEPO ภายหลังที่ผู้ป่วยได้รับยานี้ เช่น
ก. การปรับขนาดยา rEPO ภายหลังผู้ป่วยได้รับยาไปแล้วอย่างน้อย 2 สัปดาห์:
1. ถ้าระดับ Hb เพิ่มขึ้นน้อยกว่า 1 กรัม/เดซิลิตร ใน 4 สัปดาห์ ให้ปรับขนาดยาเพิ่มขึ้น 25%
2. ถ้าระดับ Hb เพิ่มขึ้นมากกว่า 1 กรัม/เดซิลิตร ใน 2 สัปดาห์ ให้ปรับลดขนาดยาลง 25%
3. หากระดับ Hb อยู่ในช่วงเป้าหมายแล้ว อาจพิจารณาให้ยาทุก 4 สัปดาห์ โดยเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่าของขนาดเดิมที่ได้รับทุก 2 สัปดาห์
ข. การปรับขนาดยาดาบีโพยอิติน อัลฟา สำหรับผู้ป่วยผู้ใหญ่ที่เคยได้รับยาอิโพยอิติน-อัลฟ่ามาก่อน
ค. การปรับขนาดยา ยาเมททอกซี โพลีเอทิลีน ไกลคอล อิโพยอิติน-เบต้า (Methoxy polyethylene glycol epoetin-beta) สำหรับผู้ป่วยผู้ใหญ่ตามขนาดยาดาบีโพยอิติน อัลฟา หรือ ยาอิโพยอิติน-อัลฟ่าที่เคยได้รับมาก่อน
1. Initial ESA hyporesponsiveness คือผู้ป่วยเริ่มการรักษาด้วยยา ESA และได้รับขนาดยาตามน้ำหนักตัวอย่างเหมาะสมแล้ว แต่ Hb ไม่เพิ่มขึ้นในช่วง 4-8 สัปดาห์ (8 สัปดาห์สำหรับ ยาเมททอกซี โพลีเอทิลีน ไกลคอล อิโพยอิติน-เบต้า)
2. Subsequent ESA hyporesponsiveness คือผู้ป่วยตอบสนองต่อ ESA ลดลงจากปกติ จนต้องเพิ่มขนาดยา ESA มากกว่า 50% ของขนาดยาคงที่ (Stable dose) ที่เคยได้รับเพื่อรักษาระดับ ฮีโมโกลบินให้อยู่ในระดับเดิม
*****หมายเหตุ: ขนาดยา การปรับขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษา แพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ
วิธีแก้ไขภาวะตอบสนองต่อ ESA ต่ำ (ESA hyporesponsiveness)
แนวทางแก้ไขภาวะตอบสนองต่อยา ESA ต่ำ (ESA hyporesponsiveness)
1. พิจารณาปรับลดเป้าหมายของฮีโมโกลบินลง
2. ปรับเพิ่มขนาดยา ESA เพื่อรักษาระดับฮีโมโกลบิน (สามารถปรับเพิ่มได้ถึง 4 เท่าของขนาดเริ่มต้น)
3. การให้เลือดโดยให้เฉพาะเม็ดเลือดแดง (Red cell transfusion) เป็นระยะ โดยทั่วไปไม่แนะนำการปรับเพิ่มขนาด ESA ต่อเนื่องเกิน 12 สัปดาห์ เนื่องจากเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากยานี้ทางระบบหัวใจและหลอดเลือด ในขณะที่โอกาสผู้ป่วยจะตอบสนองต่อยานี้มีน้อย
มีข้อควรระวังอย่างไรในการใช้ยากลุ่มอิลิโทรโพยอิสิส สตีมูเลทติ้ง เอเจนท์?
มีข้อควรระวังการใช้ยากลุ่มอิลิโทรโพยอิสิส สตีมูเลทติ้ง เอเจนท์ เช่น
1. ห้ามใช้ในผู้แพ้ยานี้
2.ระมัดระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วยตับวายเรื้อรัง
3.การให้ยานี้ในผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง ควรปรับขนาดยาให้ค่าฮีโมโกลบินไม่เกิน 13 กรัม/เดซิลิตร การให้ยานี้มากเกินไปจนได้ค่าฮีโมโกลบินสูงกว่าที่ระบุ หรือมีอัตราการเพิ่มของฮีโมโกลบินมากกว่า 1 กรัม/เดซิลิตร ภายใน 2 สัปดาห์ เพิ่มความเสี่ยงต่อการเสียชีวิต และการเกิดโรคหัวใจ เช่น กล้ามเนื้อหัวใจตาย ที่มีสาเหตุจากการขาดเลือดจากการเกิดลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือด หรือภาวะ/โรคหลอดเลือดสมองอุดตัน
4.ยังไม่มีหลักฐานที่แสดงถึงอันตรายจากยานี้ในหญิงตั้งครรภ์ แต่แพทย์มักใช้ยานี้เฉพาะเมื่อประโยชน์มีมากกว่าความเสี่ยงจากการใช้ยานี้ ซึ่งสำหรับหญิงให้นมบุตร ไม่พบว่ายานี้ถูกขับออกทางน้ำนม
5.ระมัดระวังการใช้ยากลุ่ม ESA ในผู้ป่วยที่ประวัติความดันเลือด/ความดันโลหิตสูง ควรควบคุมความดันเลือดให้อยู่ในช่วงก่อนเริ่มรักษาด้วยยากลุ่ม ESA และควรติดตามความดันเลือดตลอดช่วงได้รับยากลุ่ม ESA ตามคำแนะนำของแพทย์ เช่น การวัดความดันเลือด 3 ครั้งต่อสัปดาห์ เนื่องจากอาจเกิด โรคหลอดเลือดสมอง เหตุจากควาดันโลหิตสูง (Hypertensive encephalopathy)ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีอัตราการเพิ่มของฮีโมโกลบินที่เร็วเกินไป ที่ควรหยุดการรักษาด้วย ยากลุ่ม ESA ชั่วคราว หากควบคุมความดันเลือดไม่ได้ และ/หรือมีอาการปวดศีรษะรุนแรงอย่างฉับพลันคล้ายไมเกรน จะเป็นสัญญาณเตือนของความดันเลือดสูงขั้นวิกฤต (Hypertensive crisis)ที่ต้องรีบไปโรงพยาบาลก่อนวันแพทย์นัด
6.ควรติดตามระดับฮีโมโกลบินตามแพทย์สั่ง เช่น 1-2 ครั้งต่อสัปดาห์ ในระยะเริ่มให้ยา (Initial phase) และ2-4 ครั้ง ต่อเดือนในช่วงการรักษาต่อเนื่อง (Maintenance phase) รวมทั้งติดตามการตรวจค่าความสมบูรณ์ของเลือด (CBC) จำนวนเรติคูโลไซต์(Reticulocyte, ตัวอ่อนเม็ดเลือดแดง) อย่างสม่ำเสมอ และติดตาม ค่าธาตุเหล็กในเลือด เช่น Serum ferritin และ TSAT(Transferrin saturation) ทุกเดือนในระยะเริ่มให้ยานี้ และ ติดตามทุก 4 เดือนในช่วงการรักษาต่อเนื่อง ตามแพทย์แนะนำ เช่นกัน
7.ระมัดระวังการใช้กับผู้ป่วยโรคลมชัก โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง และ ภาวะเกล็ดเลือดสูง
8.ภาวะไขกระดูกไม่สร้างเม็ดเลือดแดง (Pure red cell aplasia; PRCA) ที่เกิดภายหลังจากการได้รับยา rEPO ซึ่งพบอัตราการเกิดภาวะไขกระดูกไม่สร้างเม็ดเลือดแดงสูงในคนไทย หากผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วย rEPO อย่างกระทันหันและได้รับการวินิจฉัยว่าเป็น PRCA แพทย์จะหยุดการรักษาด้วย rEPO และพิจารณาตรวจสารภูมิต้านทานต่อ อิลิโทรโพยอิติน ซึ่งผู้ป่วยที่เป็น PRCA แพทย์จะไม่เปลี่ยนไปใช้ rEPO ชนิดอื่นๆ
มีอาการไม่พึงประสงค์อย่างไรจากยากลุ่มอิลิโทรโพยอิสิส สตีมูเลทติ้ง เอเจนท์?
มีอาการไม่พึงประสงค์จากยา( ผลข้างเคียง/ อาการข้างเคียง)จากยากลุ่มอิลิโทรโพยอิสิส สตีมูเลทติ้ง เอเจนท์ เช่น
1. อาการไม่พึงประสงค์ที่พบได้บ่อย ได้แก่ ความดันโลหิตสูง ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะความดันโลหิตสูงขั้นวิกฤต, โรคสมองเหตุจากควาดันโลหิตสูง (Hypertensive encephalopathy), การชักแบบโรคลมบ้าหมู(Generalised tonic-clonic seizures) ซึ่งต้องการการรักษาอย่างเร่งด่วน, ภาวะลิ่มเลือดอุดหลอดเลือดดำ (Thrombosis)จาก ภาวะเลือดแข็งตัวง่ายขึ้นจากยากลุ่ม ESA เพิ่มระดับฮีโมโกลบินส่งผลทำให้เกล็ดเลือดทำงานได้ดีขึ้น จึงอาจมีภาวะเลือดแข็งตัวง่ายขึ้น นอกจากนี้ยังมีอาการไม่พึงประสงค์ต่างๆ เช่น ภาวะบวมน้ำ เวียนศีรษะ นอนไม่หลับ ปวดศีรษะ คัน เจ็บตาม ผิวหนัง ผื่นขึ้น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องผูก ท้องร่วง/ท้องเสีย อาหารไม่ย่อย ปวดข้อ อาการชา ไอ แน่น/คัดจมูก หอบเหนื่อย
2. อาการไม่พึงประสงค์ที่พบได้ไม่บ่อย ได้แก่ อาการชัก อาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ (โอกาสเกิดลดลง หากฉีดยาทางหลอดเลือดดำช้าๆ นานเกิน 5 นาที) กล้ามเนื้อหัวใจตายที่มีสาเหตุจากการขาดเลือด โพแทสเซียมในเลือดสูง ภูมิไวเกินที่ รวมถึงปฏิกิริยาแอนาฟิแล็กซิส(Anaphylaxis) ลมพิษ
3. อาการไม่พึงประสงค์ที่พบได้น้อยมาก คือ การสูญเสียการตอบสนองต่อยา rEPO เนื่องจาก ภาวะไขกระดูกไม่สร้างเม็ดเลือดแดง (Pure Red Cell Aplasia) โดยเฉพาะในผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังที่บริหารยาโดยการฉีดทางใต้ผิวหนัง
ยากลุ่มอิลิโทรโพยอิสิส สตีมูเลทติ้ง เอเจนท์ มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ปัจจุบันยังไม่มีการศึกษาที่พบว่า ยาในกลุ่มอิลิโทรโพยอิสิส สตีมูเลทติ้ง เอเจนท์ เกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาชนิดอื่นๆ
ควรเก็บรักษายากลุ่มอิลิโทรโพยอิสิส สตีมูเลทติ้ง เอเจนท์ อย่างไร?
แนะนำเก็บยากลุ่มอิลิโทรโพยอิสิส สตีมูเลทติ้ง เอเจนท์ ในบรรจุภัณฑ์เดิม เก็บรักษายาในตู้เย็นช่องปกติ (อุณหภูมิ 2 - 8 องศาเซลเซียส/Celsius) เก็บยาให้พ้นจากแสง/แสงแดด มือเด็ก และสัตว์เลี้ยง ห้ามแช่ยาในช่องแช่แข็ง ระวังวิธีการขนส่งยาโดยขนส่งด้วยความระมัดระวัง ไม่ควรเขย่าหรือทำให้สารละลายยาให้กระทบกระเทือน และควรคงความเย็นแก่ยากลุ่มนี้ตลอดเวลา นอกจากนั้น ก่อนการฉีดยานี้ ควรนำออกมาวางไว้จนยามีอุณหภูมิเท่ากับอุณหภูมิห้องซึ่งใช้เวลาประมาณ 15-30 นาที
ยาในกลุ่มอิลิโทรโพยอิสิส สตีมูเลทติ้ง เอเจนท์ มียาใดบ้าง?
ยาในกลุ่มอิลิโทรโพยอิสิส สตีมูเลทติ้ง เอเจนท์ มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
บรรณานุกรม
- http://www.kidneythai.org/pdf/SRY%2043153%2023-9%20PC2%20DAO_91-94.pdf[2017,Aug19]
- Lacy CF. Amstrong LL, Goldman MP, Lance LL. Drug Information handbook. 24th ed. Ohio: Lexi-Comp,Inc; 2015-16.
- Micromedex Healthcare Series, Thomson Micromedex, Greenwood Village, Colorado
- TIMS (Thailand). MIMS. 130th ed. Bangkok: UBM Medica; 2013
- Kidney Disease: Improving Global Outcomes (KDIGO) Anemia Work Group. KDIGO clinical practice guideline for anemia in chronic kidney disease. Kidney Inter Suppl 2012;2:279–335.
- Henry Cohen. Casebook in clinical pharmacokinetic and drug dosing. USA: McGraw-Hill; 2015