ยาอิริโทรมัยซิน (Erythromycin)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 16 มีนาคม 2556
- Tweet
- ทั่วไป
- ยาอิริโทรมัยซินมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- ยาอิริโทรมัยซินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ยาอิริโทรมัยซินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ยาอิริโทรมัยซินมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ยาอิริโทรมัยซิน มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ยาอิริโทรมัยซินอย่างไร?
- ยาอิริโทรมัยซินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษายาอิริโทรมัยซินอย่างไร?
- ยาอิริโทรมัยซินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
ทั่วไป
ยาอิริโทรมัยซิน (Erythromycin) เป็นยาปฏิชีวนะในกลุ่มแมคโครไลด์ (Macrolide) ถูก สังเคราะห์ขึ้นเพื่อใช้รักษาโรคในผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อแบคทีเรีย และใช้เป็นทางเลือกสำหรับผู้ที่แพ้ยาปฏิชีวนะในกลุ่มเพนิซิลลิน (Penicillin) รูปแบบของยาที่มีวางขายตามร้านขายยาและในสถานพยาบาล เช่น ยาเม็ด ยาแคปซูล ยาน้ำแขวนตะกอนสำหรับรับประทาน
ยาอิริโทรมัยซิน จะถูกดูดซึมได้ดี เมื่อรับประทานในขณะที่ท้องว่าง จึงควรรับประทานยานี้ก่อนอาหารประมาณครึ่งชั่วโมง
อนึ่ง ได้มีการทดสอบการใช้ยานี้กับสัตว์ทดลองที่ตั้งครรภ์พบว่า ไม่ก่อให้เกิดความพิการของตัวอ่อนในครรภ์ จึงอยู่ในเกณฑ์ที่ปลอดภัยสำหรับการใช้ยากับหญิงมีครรภ์ อย่างไรก็ตามการใช้ยาทุกชนิดรวมทั้งยาอิริโทรมัยซิน ควรต้องได้รับคำสั่งจากแพทย์หรือได้รับคำแนะนำจากเภสัชกรเท่านั้น
ยาอิริโทรมัยซินมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาอิริโทรมัยซิน มีสรรพคุณใช้รักษาการติดเชื้อแบคทีเรียในระบบทางเดินหายใจ แผลที่ผิวหนัง แผลฝี-หนอง โรคคอตีบ โรคไอกรน และโรคจากการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดต่างๆที่เชื้อโรคไวต่อยาตัวนี้
ยาอิริโทรมัยซินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาอิริโทรมัยซิน มีกลไกการออกฤทธิ์โดยยับยั้งการสังเคราะห์โปรตีนและสารตั้งต้นทางพันธุกรรมของเชื้อแบคทีเรีย และทำให้เชื้อแบคทีเรียหยุดการเจริญเติบโต
ยาอิริโทรมัยซินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
รูปแบบการจัดจำหน่ายยาอิริโทรมัยซิน ที่พบบ่อยๆในประเทศไทย ได้แก่ ยารับประ ทานที่เป็น ยาเม็ด ยาแคปซูล และยาน้ำแขวนตะกอน
ยาอิริโทรมัยซินมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ขนาดของยาอิริโทรมัยซิน ที่รับประทานในผู้ใหญ่สำหรับการรักษาโรค ที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียมีขนาดสูงสุดไม่เกิน 4 กรัมต่อวัน สำหรับเด็กขนาดรับประทานอยู่ที่ 30-50 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม การปรับขนาดรับประทานต้องให้แพทย์ผู้ทำการรักษาเท่านั้นเป็นผู้แนะนำและสั่งจ่ายการใช้ยานี้กับผู้ป่วย
เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมทั้งยาอิริโทรมัยซิน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติการแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยาแล้ว ขึ้นผื่น คลื่นไส้มาก หรือ แน่นหน้าอก หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยาอะไรอยู่ เพราะยาอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือ เกิดปฏิกิริยาระหว่างยาอิริโทรมัยซิน กับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อนแล้ว
- หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะการตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภท สามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารกจนก่อผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทาน ยาอิริโทรมัยซิน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็นสองเท่า
ยาอิริโทรมัยซิน มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ผลไม่พึงประสงค์/ผลข้างเคียงของยาอิริโทรมัยซิน เช่น
- อาการทางผิวหนัง อาจก่อให้เกิดภาวะผื่นคันและลมพิษ
- อาจทำให้รู้สึกไม่สบายในระบบทางเดินอาหาร เช่น มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน
- สามารถก่อให้เกิดความเป็นพิษต่อระบบประสาทส่วนกลาง เช่น วิงเวียน ชัก หรือ สับสน
- สามารถก่อให้เกิดภาวะใจสั่น และเป็นพิษต่อตับอ่อน
มีข้อควรระวังการใช้ยาอิริโทรมัยซินอย่างไร?
ข้อควรระวังการใช้ยาอิริโทรมัยซิน คือ
- ห้ามใช้ยากับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยาในผู้ป่วยที่เป็นโรคตับ
- การใช้ยานานมากกว่า 10 วัน มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะตับอักเสบ
- ปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ
ยาอิริโทรมัยซินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาอิริโทรมัยซินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น ดังนี้
- การรับประทานยาอิริโทรมัยซินร่วมกับยาต้านการจับตัวของเกล็ดเลือดก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสภาวะเลือดออกง่าย ยาต้านการจับตัวของเกล็ดเลือดที่กล่าวถึง เช่น อะซีโนคูมารอล (Acenocoumarol)
- การใช้ยาอิริโทรมัยซินร่วมกับยารักษาอาการวิตกกังวล สามารถทำให้ระดับของยาดัง กล่าวอยู่ในร่างกายเป็นเวลานานมากขึ้น และนำไปสู่ภาวะ ง่วงซึม อ่อนเพลีย ยารักษาอาการวิตกกังวลที่กล่าวถึง เช่น อัลปราโซแลม (Alprazolam)
- การใช้ยาอิริโทรมัยซินร่วมกับยาขยายหลอดลม สามารถทำให้ระดับของยาอิริโทรมัย ซินในกระแสเลือดต่ำลง และส่งผลต่อประสิทธิภาพในการรักษา อีกทั้งยังเพิ่มความเป็นพิษของยาขยายหลอดลมด้วย ยาขยายหลอดลมที่กล่าวถึง เช่น ธีโอฟีลีน (Theophylline)
ควรเก็บรักษายาอิริโทรมัยซินอย่างไร?
ให้เก็บยาอิริโทรมัยซินชนิดรับประทาน ที่อุณหภูมิ 15-25 องศาเซลเซียส
ยาอิริโทรมัยซิน มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ชื่ออื่นและบริษัทในประเทศไทยที่ผลิตยาอิริโทรมัยซิน เช่น
ชื่อการค้า | ผู้ผลิต |
E S Cap (อี เอส แคป) | Community Pharm PCL |
Erathrom (อีราทรอม) | Asian Pharm |
Ericin (S) (อีริซิน) | Chew Brothers |
Erimit (อีริมิท) | T P Drug |
Erimycin (อีริมัยซิน) | Siam Bheasach |
Eryacne (อีรีแอคเน่) | Galderma |
Erycin (อีรีซิน) | Atlantic Lab |
Erycon (อีริคอน) | T.O. Chemicals |
Erymin (อีรีมิน) | Milano |
Eryo Dry Syrup (อีริโอ ดราย ไซรัป) | Vesco Pharma |
Erypac (อีริแพค) | Inpac Pharma |
Erysate (อีริเสท) | The United Drug (1996) |
Erysil (อีริซิล) | Silom Medical |
Eryth-mycin (อีริท-มัยซิน) | Pond’s Chemical |
Erythorate (อีริโทเรท) | Inpac Pharma |
Erythromed (อีริโทรเมด) | Medicpharma |
Erythromycin Asian Pharm (อิริโทรมัยซิน เอเชียน ฟาร์ม) | Asian Pharm |
Erythromycin Osoth (อิริโทรมัยซิน โอสถ) | Osoth Interlab |
Erytomin (อีริโทมิน) | Acdhon |
Erytomin Dry Syrup (อีริโทมิน ดราย ไซรัป) | Acdhon |
Malocin (มาโลซิน) | M & H Manufacturing |
Medthrocin (เมดโทรซิน) | Utopian |
Pocin (โพซิน) | Polipharm |
Rintacap (รินทาแคป) | T. Man Pharma |
Rintacin (รินทาซิน) | T. Man Pharma |
Rytho-Cap (รีโท -แคป) | Medicine Products |
Stacin (สเตซิน) | Macro Phar |
Stiemycin (สเตมัยซิน) | Stiefel |
Suthrocin (สุโทรซิน) | Suphong Bhaesa |
Tomcin (ทอมซิน) | General Drugs House |