อิมิดาโซล (Imidazole)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

บทนำ: คือยาอะไร?

อิมิดาโซล (Imidazole) คือ ยากลุ่มใช้รักษาโรคต่างๆได้หลายโรคขึ้นกับว่าเป็นยากลุ่มย่อยชนิดใด, เช่น ยาต้านเชื้อรา, ยาปฏิชีวนะกลุ่มไนโตรอิมิดาโซล (Nitroimidazole series of antibiotics), ยาสงบประสาท (ยากล่อมประสาท) ประเภทไมดาโซแลม (Midazolam), และมีรูปแบบยาได้หลากหลาย เช่น ยารับประทาน ยาฉีด ยาลูกอม ยาเหน็บ   

ยาอิมิดาโซล ถูกค้นพบครั้งแรกในปี ค.ศ. 1840 (พ.ศ. 2383) โดยมีการพัฒนาและสังเคราะห์ยาในกลุ่มนี้อย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

ทั้งนี้ อาจสรุปหมวดหมู่/ประเภท/กลุ่มของยาอิมิดาโซลตามประโยชน์ทางคลินิกที่มีการนำตัวยามาใช้บ่อย เช่น ยาอิมิดาโซลประเภท

  • ยาต้านเชื้อรา: เช่นยา  Bifonazole, Butoconazole, Climbazole, Clotrimazole, Croconazole, Econazole, Enilconazol, Fenticonazole, Flutrima zole,, Isoconazole, Ketoconazole, Miconazole, Neticonazole, Omoconazole, Oxiconazole, Sertaconazole, Sulconazole, Tioconazole
  • ยาปฏิชีวนะ ไนโตรอิมิดาโซล (Nitroimidazole antibiotics): ใช้ต้านเชื้อโปรโตซัวชนิดต่างๆ และมีบางรายการที่ใช้ต่อต้านเชื้อแบคทีเรียได้ด้วย, เช่นยา Azanidazole, Dimetridazole, Megazol, Metronidazole, Nimorazole, Ornidazole, Propenida zole, Secnidazole, Tinidazole
  • กลุ่มยากันชัก: เช่น ยา Nafimidone, Midazolam
  • ยาต้านไวรัส: เช่น ยา  Netropsin
  • ประเภทต่อต้านการรวมตัวของเกล็ดเลือด/ยาต้านการแข็งตัวของเลือด: เช่น ยา Ozagrel
  • กลุ่มป้องกันอาการคลื่นไส้อาเจียน: เช่น ยา Lunosetron, Ondansetron
  • กลุ่มใช้รักษาอาการซึมเศร้า: เช่น ยา Imafen
  • กลุ่มใช้บำบัดอาการหดเกร็งของท่อปัสสาวะ: เช่น ยา Imidafenacin
  • กลุ่มใช้รักษาโรคความดันโลหิตสูง: เช่น ยา Olmesartan
  • กลุ่มใช้รักษาโรคต้อหิน: เช่น ยา Pilocarpine
  • กลุ่มใช้รักษาไวรัสตับอักเสบ: เช่น ยา Ledipasvir

นอกจากนี้ ยังมียาในกลุ่มอิมิดาโซลอีกมากมายที่ไม่สามารถนำมากล่าวในบทความนี้ได้หมด, ซึ่งยาอิมิดาโซลทุกตัวยาจัดเป็นยาอันตรายที่ต้องใช้ภายใต้คำสั่งของแพทย์เท่านั้น

อิมิดาโซลมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?

อิมิดาโซล

 

ยาอิมิดาโซลมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้บำบัดรักษาโรคได้หลากหลายแตกต่างกันไป ขึ้นกับแต่ละชนิดของตัวยาย่อยต่างๆ ดังได้กล่าวในหัวข้อ “บทนำ” เช่น

  • รักษาการติดเชื้อรา
  • รักษาการติดเชื้อโปรโตซัว/สัตว์เซลล์เดียว
  • ใช้เป็นยากันชัก
  • ใช้เป็นยาต้านไวรัส
  • ใช้เป็นยาต้านการแข็งตัวของเลือด
  • ใช้เป็นยาป้องกันอาการคลื่นไส้อาเจียน
  • รักษาอาการซึมเศร้า         
  • รักษาโรคความดันโลหิตสูง
  • รักษาโรคต้อหิน

อิมิดาโซลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาอิมิดาโซล จะมีความแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับลักษณะโครงสร้างทางเคมีของแต่ละตัวยา, ในบทความนี้จะขอยกตัวอย่างกลไกการออกฤทธิ์ของยาอิมิดาโซลเฉพาะกลุ่มเป็นยาต้านเชื้อราซึ่งถือเป็นกลุ่มใหญ่และใช้กันเป็นที่แพร่หลายเท่านั้น

ยาอิมิดาโซลกลุ่มยาต้านเชื้อราจะออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ในตัวเชื้อราที่มีชื่อว่า Lanosterol 14 alpha-demethylase, เอนไซม์นี้จะช่วยสร้างสารที่เป็นส่วนประกอบสำคัญของเยื่อหุ้มเซลล์เชื้อราที่เรียกว่า Ergosterol, จึงมีผลให้เซลล์เชื้อราแตกออก และตายลงในที่สุด

อิมิดาโซลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาอิมิดาโซลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายหลากหลายขึ้นกับแต่ละตัวยาย่อย เช่น           

  • ยาชนิดรับประทาน เช่น ยาเม็ด ยาน้ำ
  • ยาเม็ดลูกอม
  • ยาฉีด
  • ยาทาเฉพาะที่
  • ยาเหน็บ  เช่น ยาเหน็บช่องคลอด ยาเหน็บทวารหนัก

อิมิดาโซลมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

การบริหารยา/ใช้ยาอิมิดาโซลในแต่ละสูตรตำรับยาย่อยให้เป็นไปตามคำสั่งของแพทย์ผู้รักษา หรือใช้ข้อมูลในเอกสารกำกับยา/ฉลากยาเป็นแนวทางการใช้ยานั้นๆ, ทั้งนี้ผู้ป่วยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมของแต่ละตัวยาย่อยได้จากแพทย์ผู้รักษาหรือจากเภสัชกรเพื่อทำความเข้าใจในการใช้ยานั้นๆได้อย่างถูกต้องเหมาะสมและปลอดภัย

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาอิมิดาโซล ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาอิมิดาโซลอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยา/ใช้ยาอิมิดาโซลสามารถรับประทานยา/ใช้ยาเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยา/ใช้ยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทาน/ขนาดใช้ยาเป็น 2 เท่า

อย่างไรก็ตาม เพื่อประสิทธิผลของการรักษาควรรับประทานยา/ใช้ยาอิมิดาโซลตรงเวลา

อิมิดาโซลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยากลุ่มอิมิดาโซลสามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) โดยแบ่งตามหมวดหมู่ที่มีการใช้ยา เช่น

  • กลุ่มยาต้านเชื้อรา: เช่น อาจมีอาการ คลื่นไส้อาเจียน ผื่นคัน รวมถึงทำให้ตับทำงานผิดปกติ/ตับอักเสบ
  • กลุ่มยาต้านเชื้อโปรโตซัว: เช่น อาจพบอาการ คลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง  กระเพาะอาหารอักเสบ ปวดหัว  วิงเวียน  โลหิตจาง
  • กลุ่มยากันชัก: เช่น กดการหายใจ (หายใจช้าตื้นเบาจนถึงอาจหยุดหายใจ) ความดันโลหิตต่ำ ความสามารถในการเคลื่อนไหวลดลง
  • กลุ่มยาต้านไวรัสตับอักเสบ: เช่น อ่อนเพลีย และปวดหัว
  • กลุ่มยารักษาต้อหิน: เช่น ระคายเคืองตา ตาพร่า เยื่อบุตาอักเสบ ปวดบริเวณขมับ
  • กลุ่มยาลดความดัน: เช่น คลื่นไส้อาเจียน ระดับสารเกลือแร่/อิเล็กโทรไลต์ (Electrolyte) ในเลือดเปลี่ยนแปลงผิดปกติ น้ำหนักตัวลด

มีข้อควรระวังการใช้อิมิดาโซลอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาอิมิดาโซล เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาในแต่ละรายการของยาอิมิดาโซล
  • ห้ามใช้ยานี้กับ สตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
  • กรณีเป็นยารับประทาน ผู้ป่วยต้องรับประทานยานี้ตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเองเป็นอันขาด        
  • ห้ามใช้ยานี้ที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม
  • ผู้ที่มีโรคประจำตัวจะต้องแจ้งแพทย์ เภสัชกร ทุกครั้ง ด้วยยาหลายรายการในกลุ่มยาอิมิดาโซลสามารถส่งผลกระทบ (ผลข้างเคียง) ต่ออาการโรคต่างๆเหล่านั้นได้
  • แจ้งแพทย์ทุกครั้งว่ามีการใช้ยาอื่นๆอยู่ด้วยหรือไม่เพื่อป้องกันการเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยากลุ่มอิมิดาโซล
  • ปฏิบัติตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัดและมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ "ยา" ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาอิมิดาโซล) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

อิมิดาโซลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาอิมิดาโซลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น:  เช่น

  • การใช้ยา Midazolam ร่วมกับยาบางตัวอาจทำให้ความเข้มข้นของยา Midazolam ในกระแสเลือดเพิ่มมากขึ้นจนอาจมีอาการข้างเคียงติดตามมา ยากลุ่มดังกล่าว เช่น ยา Cimetidine, Erythromycin, Clarithromycin, Diltiazem, Verapamil, Ketoconazole, Itraconazole, หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมกับผู้ป่วยเป็นกรณีๆไป
  • การใช้ยา Miconazole ร่วมกับยา Warfarin อาจเป็นเหตุให้เกิดภาวะเลือดออกง่ายมากขึ้น หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยเป็นรายบุคคลไป
  • การใช้ Olmesartan ร่วมกับยากลุ่ม NSAIDs  อาจส่งผลให้ผู้ป่วยได้รับผลกระทบกับไตของผู้ป่วยจนก่อให้เกิดภาวะไตวายได้ เพื่อป้องกันมิให้เกิดอาการดังกล่าว จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • การรับประทานยา Ondansetron ร่วมกับยารักษาอาการสั่นในผู้ป่วยพาร์กินสัน เช่น ยา Apomorphine จะทำให้เกิดอาการความดันโลหิตต่ำ พร้อมกับมีอาการหมดสติตามมาจึงห้ามใช้ยาร่วมกัน

ควรเก็บรักษาอิมิดาโซลอย่างไร?

ควรเก็บยาอิมิดาโซล: เช่น

  • เก็บยาตามคำแนะนำในเอกสารกำกับยา/ฉลากยา
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อน และความชื้น
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

อิมิดาโซลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาอิมิดาโซล มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Azonit cream (อะโซนิท ครีม) Pharma International Co
Azonit vaginal cream (อะโซนิท วาไจนอล ครีม) Pharma International Co
Travogen (ทราโวเจน) Intendis
Travocort (ทราโวคอร์ด) Intendis
Daktacort (ดาคทาคอร์ท) Janssen-Cilag
Daktarin (ดาคทาริน) Janssen-Cilag
Daktarin Oral Gel (ดาคทาริน ออรัล เจล) Janssen-Cilag
Funga (ฟังกา) Chinta
Funcort (ฟังคอร์ท) Thai Nakorn Patana
Fungi-M (ฟังจิ-เอ็ม) Nakornpatana
Fungisil (ฟังจิซิล) Silom medical
Kelaplus (เคลาพลัส) T. O. Chemicals
Ladocort (ลาโดคอร์ท) L.B.S.
Lymarin (ไลมาริน) 2M (Med-Maker)
Micazin (ไมคาซิน) Chew Brothers
Miconazole GPO (ไมโคนาโซล จีพีโอ) GPO
Mysocort (มายโซคอร์ท) Greater Pharma
Nikarin (นิคาริน) T. O. Chemicals
Canesten solution (คาเนสเทน โซลูชั่น) Bayer
Isopto Carpine (ไอซอปโต คาร์พีน) Alcon
Salagen (ซาลาเจน) Eisai
Normetec (นอร์มีเทค) Pfizer
Olmetec (โอล์มีเทค) Pfizer
Olmetec Plus (โอล์มีเทค พลัส) Pfizer
Dormicum (ดอร์มิคุม) Roche
Midazol (มิดาโซล) Hameln
Dantron 8 (แดนทรอน 8) Unison
Emeset (เอเมเซท) Cipla
Emistop (เอมิสตอป) Claris Lifesciences
Ondavell (ออนดาเวล) Novell Pharma
Onsia (ออนเซีย) Siam Bheasach
Zetron (ซีทรอน) Biolab
Zofran/Zofran Zydis (โซฟราน/โซฟราน ไซดีส) GlaxoSmithKline

 

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Imidazole [2023,April15]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Category:Imidazole_antifungals [2023,April15]
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/Category:Nitroimidazole_antibiotics [2023,April15]
  4. https://en.wikipedia.org/wiki/Nafimidone [2023,April15]
  5. https://en.wikipedia.org/wiki/Netropsin [2023,April15]
  6. https://en.wikipedia.org/wiki/Ozagrel [2023,April15]
  7. https://en.wikipedia.org/wiki/Ondansetron [2023,April15]
  8. https://en.wikipedia.org/wiki/Imidafenacin  [2023,April15]
  9. https://en.wikipedia.org/wiki/Pilocarpine [2023,April15]
  10. https://en.wikipedia.org/wiki/Ledipasvir [2023,April15]
  11. https://en.wikipedia.org/wiki/Antifungal#Imidazole.2C_triazole.2C_and_thiazole_antifungals [2023,April15]