อิมิควิโมด (Imiquimod) หรือ อัลดารา (Aldara)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 9 สิงหาคม 2563
- Tweet
- บทนำ
- ยาอิมิควิโมดมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- ยาอิมิควิโมดมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ยาอิมิควิโมดมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ยาอิมิควิโมดมีวิธีการใช้อย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- ยาอิมิควิโมดมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ยาอิมิควิโมดอย่างไร?
- ยาอิมิควิโมดมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษายาอิมิควิโมดอย่างไร?
- ยาอิมิควิโมดมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- หูด (Warts)
- หูดหงอนไก่ หูดอวัยวะเพศ (Condyloma acuminata)
- เชื้อไวรัส โรคติดเชื้อไวรัส (Viral infection)
- เอชพีวี โรคติดเชื้อเอชพีวี (HPV infection)
- การติดเชื้อเอชพีวีอวัยวะเพศหญิง (Gential HPV in women)
บทนำ
ยาอิมิควิโมด (Imiquimod) หรือยาชื่อการค้าที่เป็นที่รู้จัก คือ ‘อัลดารา (Aldara)’ ถูกใช้เป็นยาที่กระตุ้นภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกายให้ตอบสนองต่อการเจริญเติบโตที่ผิดปกติของผิว หนัง ใช้รักษา โรคหูด โรคหูดหงอนไก่ และ บำบัดรักษามะเร็งผิวหนังบางชนิด คือ ชนิดSuperficial Basal Cell Carcinoma ยานี้ยังกระตุ้นการสร้างสาร Opioid Growth Factor Receptor ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมการเจริญเติบโตของเนื้อเยื่อในร่างกายให้เป็นไปอย่างปกติ
ยาอิมิควิโมดถูกขึ้นทะเบียนตำรับยา ตั้งแต่ ปี ค.ศ.1997 (พ.ศ. 2540) รูปแบบของสูตรตำ รับยาที่สามารถพบเห็น จะเป็นยาครีมใช้ทาภายนอกและทาเฉพาะที่ ซึ่งด้วยวิธีการใช้ยาขึ้นอยู่กับชนิดและอาการของโรค ดังนั้น การใช้ยาต้องอยู่ภายใต้ความดูแลและคำแนะนำของแพทย์เท่านั้น
ยาอิมิควิโมดมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
สรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ของยาอิมิควิโมด เช่น
- ใช้บำบัดรักษา โรคหูด โรคหูดหงอนไก่ ที่ขึ้นในบริเวณผิวหนังอ่อน เช่น ปลายอวัยวะเพศ, รูทวารหนัก
- ใช้บำบัดรักษามะเร็งผิวหนังบางชนิดในระยะที่โรคเริ่มก่อตัว เช่น Actinic keratosis, Superficial basal cell carcinoma, Superficial squamous cell carcinoma, และบางชนิดของ Superficial malignant melanoma
ยาอิมิควิโมดมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาอิมิควิโมด มีกลไกการออกฤทธ์โดยจะช่วยกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่าง กายสร้างสารที่เรียกว่า อินเตอร์เฟอรอน (Interferon) ที่ต่อต้านการเจริญเติบโตของเชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุของหูด ยานี้ไม่ได้ออกฤทธิ์ต่อไวรัสโดยตรง แต่มีผลทางอ้อมโดยอินเตอร์เฟอรอนที่เกิดขึ้นจะเป็นตัวควบคุมการขยายพันธุ์ของไวรัสหูดอีกทีหนึ่ง
ยาอิมิควิโมดมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาอิมิควิโมด มีการจัดจำหน่ายในรูปแบบ เช่น
- ยาครีม ขนาดความแรง 5%
ยาอิมิควิโมดมีวิธีการใช้อย่างไร?
วิธีการใช้ ยาอิมิควิโมด เช่น
ก. รักษาหูด: ใช้ทาบริเวณที่เป็น หูด หูดหงอนไก่ 3 ครั้งต่อสัปดาห์ โดยทายาสลับวันกัน เช่น จันทร์ พุธ ศุกร์ เป็นต้น ควรทาก่อนนอนและปล่อยทิ้งไว้ประมาณ 6 - 10 ชั่วโมง เพื่อให้ยาดูดซึมผ่านทางผิวหนัง
- ห้ามใช้เทปหรือพลาสเตอร์ปิดทับบริเวณที่ทายา นอกจากแพทย์จะอนุญาต และ
- ไม่ควรสวมใส่เสื้อผ้าที่คับและแนบกระชับในบริเวณที่มีการทายา หากมีความจำเป็นให้แนะนำคนไข้สวมใส่เสื้อผ้าที่ทำด้วยผ้าฝ้าย หลวมสบาย
ข. รักษามะเร็งผิวหนังชนิด Actinic Keratosis: ทายา 3 ครั้งต่อสัปดาห์ โดยสลับวันกัน ให้ทาก่อนนอนและปล่อยทิ้งไว้ประมาณ 8 ชั่วโมง หลังการรักษาผ่านไปประมาณ 4 สัปดาห์ แพทย์จะเป็นผู้ประเมินว่าต้องทายาซ้ำอีกหรือไม่
ค. รักษามะเร็งผิวหนังชนิด Superficial Basal Cell Carcinoma: ทายาวันละ 1 ครั้ง, 5 วันติดต่อกันภายในสัปดาห์ และควรรักษาต่อเนื่องเป็นเวลาประมาณ 6 สัปดาห์
อนึ่ง:
- การใช้ยาอิมิควิโมดในการรักษามะเร็งผิงหนัง แพทย์เท่านั้นที่จะเป็นผู้กำหนดขนาด และความถี่ของการใช้ยาที่ปลอดภัยและเหมาะสม ผู้ป่วยไม่สมควรปรับขนาดหรือความถี่ของการใช้ยาเอง
- การใช้ยาอิมิควิโมดในเด็ก ต้องสั่งการใช้ยาโดยแพทย์เท่านั้น
- ไม่ควรใช้ยานี้ในหญิงตั้งครรภ์ และ/หรือ ให้นมบุตร
*****หมายเหตุ: ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษา แพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาอิมิควิโมด ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทาเฉพาะที่ชนิดใดหรือไม่ เช่น ขึ้นผื่น เป็นแผลไหม้
- หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตรหรือไม่ เพราะยาทา บางประเภทสามารถดูดซึมผ่านทางผิวหนังเข้าสู่ร่างกาย และก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่อทารกได้
ยาอิมิควิโมดมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาอิมิควิโมด สามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น
- มีผื่นคัน
- หนาวสั่น
- ไอ
- แน่นอึดอัด/หายใจลำบาก
- หูอื้อ
- เสียงแหบ
- เจ็บบริเวณรอบดวงตา
- เจ็บคอ คออักเสบ
- อ่อนเพลีย
- ปวดท้อง
- ปวดศีรษะร้ายแรง
- หัวใจเต้นผิดจังหวะ
*อนึ่ง หากได้รับยาอิมิควิโมดมากเกินไป อาจพบอาการต่างๆที่ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน เช่น
- วิงเวียน
- รู้สึกสับสน
- เป็นลม
มีข้อควรระวังการใช้ยาอิมิควิโมดอย่างไร?
ข้อควรระวังในการใช้ยาอิมิควิโมด เช่น
- ห้ามใช้ยากับผู้แพ้ยา อิมิควิโมด
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่เพิ่งปลูกถ่ายอวัยวะ หรือผู้ป่วยที่มีโรคของระบบภูมิคุ้มกัน (โรคออโตอิมูน: Autoimmune)
- ระวังไม่ให้ยานี้เข้าตา ริมฝีปาก และจมูก เพราะจะก่อการระคายเคืองและเกิดเป็นแผลได้
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาอิมิควิโมดด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด เสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ยาอิมิควิโมดมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
โดยทั่วไป ไม่พบว่ายาอิมิควิโมดมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาชนิดรับประทานใดๆ แต่ถ้าหากมีอาการผิดปกติหลังใช้ยาอิมิควิโมดร่วมกับยาใดๆก็ตาม ให้รีบไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล เพื่อขอคำปรึกษาหรือได้รับการรักษาโดยเร็ว
ควรเก็บรักษายาอิมิควิโมดอย่างไร?
สามารถเก็บยาอิมิควิโมด เช่น
- เก็บยาภายใต้อุณหภูมิห้อง
- เก็บยาในภาชนะปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด และความชื้น
- ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และ
- ไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำ
ยาอิมิควิโมดมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาอิมิควิโมดในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Aldara (อัลดารา) | iNova |
บรรณานุกรม
1. https://en.wikipedia.org/wiki/Imiquimod [2020,Aug8]
2. http://www.mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fwww.mims.com%2fthailand%2fdrug%2finfo%2fimiquimod%3fmtype%3dgeneric [2020,Aug8]
3. https://www.drugbank.ca/drugs/DB00724 [2020,Aug8]
4. http://www.mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fwww.mims.com%2fTHAILAND%2fdrug%2finfo%2fAldara%2f [2020,Aug8]
5. https://www.drugs.com/cdi/imiquimod-cream-aldara.html [2020,Aug8]
6. https://www.healthcentral.com/category/skin-care [2020,Aug8]