อินเตอร์เฟอรอน แอลฟา-ทูบี (Interferon alpha-2b)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 16 มิถุนายน 2561
- Tweet
- บทนำ
- อินเตอร์เฟอรอน แอลฟา-ทูบีมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- อินเตอร์เฟอรอน แอลฟา-ทูบีมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- อินเตอร์เฟอรอน แอลฟา-ทูบีมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- อินเตอร์เฟอรอน แอลฟา-ทูบีมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมมารับการฉีดยาควรทำอย่างไร?
- อินเตอร์เฟอรอน แอลฟา-ทูบีมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้อินเตอร์เฟอรอน แอลฟา-ทูบีอย่างไร?
- อินเตอร์เฟอรอน แอลฟา-ทูบีมีปฏิกิริยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาอินเตอร์เฟอรอน แอลฟา-ทูบีอย่างไร?
- อินเตอร์เฟอรอน แอลฟา-ทูบีมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- อินเตอร์เฟอรอน (Interferon)
- เพกิเลต อินเตอร์เฟอรอน แอลฟา-ทูบี (Pegylated interferon alpha-2b)
- ไวรัสตับอักเสบ (Viral hepatitis)
- มะเร็ง (Cancer)
- โรคไวรัสตับอักเสบ บี (Viral hepatitis B)
- โรคไวรัสตับอักเสบ ซี (Viral hepatitis C)
บทนำ
ยาอินเตอร์เฟอรอน แอลฟา-ทูบี(Interferon alpha-2b หรือ Human interferon alpha-2b) เป็นยาอินเตอร์เฟอรอนที่ผลิตได้จากโปรตีนของมนุษย์ ทางคลินิกนำมาใช้รักษาอาการโรคไวรัสตับอักเสบ ซี และไวรัสตับอักเสบ บี รวมถึงโรคมะเร็งต่างๆ เช่น มะเร็งเม็ดเลือดขาวประเภท Hairy cell leukemia, Myelogenous leukemia และมะเร็งผิวหนังเมลาโนมา(Malignant melanoma)
ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์ได้พยายามพัฒนายาในกลุ่มยาอินเตอร์เฟอรอนแอลฟา-ทูบี โดยนำ Polyethylene glycol (สารประกอบเคมีที่มีคุณสมบัติหลากหลายที่ทำมาใช้ช่วยเสริมคุณสมบัติผลิตภัณฑ์ยาต่างๆ)มาเชื่อมต่อกับโมเลกุลของยาอินเตอร์เฟอรอน แอลฟา-ทูบี ทำให้ได้ตัวยาอินเตอร์เฟอรอนที่มีโมเลกุลใหญ่ขึ้น ที่สามารถอยู่ในร่างกายได้ยาวนานขึ้น ส่งผลให้ลดความถี่ในการฉีดยาอินเตอร์เฟอรอน แอลฟา-ทูบีที่ได้รับการพัฒนานี้ลงเหลือสัปดาห์ละ1ครั้ง และเรียกเภสัชตำรับของอินเตอร์เฟอรอน แอลฟา-ทูบี ที่ได้รับการปรับปรุงว่า “เพกิเลต อินเตอร์เฟอรอน แอลฟา-ทูบี (Pegylated interferon alpha-2b)”
ทั่วไป ก่อนการตัดสินใจรักษาด้วยอินเตอร์เฟอรอน แอลฟา-ทูบี แพทย์จะชี้แจงให้ผู้ป่วยทราบถึงผลดี-ผลเสีย การปฏิบัติตัวเพื่อรับการรักษาด้วยยาอินเตอร์เฟอรอนชนิดนี้ หากผู้ป่วยตกลงรับการรักษา แพทย์จะทำการนัดหมายการใช้ยาอินเตอร์เฟอรอน แอลฟา-ทูบี และเฝ้าติดตามผลการรักษา ตลอดจนอาการข้างเคียงต่างๆ/ ผลกระทบที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้ อาทิเช่น
- เกิดภาวะภูมิต้านทานตนเอง อย่างเช่น โรคข้อรูมาตอยด์ ภาวะกล้ามเนื้อลายสลาย
- เกิดภาวะลิ่มเลือดอุดกั้นในปอด(สิ่งหลุดอุดหลอดเลือดปอด) หลอดเลือดดำอักเสบ
- การทำงานของไขกระดูกผิดปกติ
- เกิดอาการลำไส้ใหญ่อักเสบ
- เกิดอาการซึมเศร้า หรือมีภาวะทางจิตประสาท
- มีอาการของโรคเบาหวาน หรือเกิดภาวะเบาหวานขึ้นตา
- มีอาการของหัวใจล้มเหลว หัวใจเต้นผิดจังหวะ ความดันโลหิตต่ำ
- ระดับไขมันไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูงขึ้น
- เกิดภาวะไตทำงานผิดปกติ
- ต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ
ทั้งนี้ ผู้ป่วยจะได้รับคำแนะนำจาก แพทย์ พยาบาล เภสัชกร เพื่อปฏิบัติตัวได้ถูกต้องหากพบอาการผิดปกติของร่างกายดังกล่าวมาข้างต้น
คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้กำหนดให้ตัวยาอินเตอร์เฟอรอน แอลฟา-ทูบี เป็นยาอันตราย การใช้ยาชนิดนี้ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์แต่ผู้เดียว และสามารถพบเห็นการจำหน่ายยาอินเตอร์เฟอรอนชนิดนี้ภายใต้ชื่อการค้าว่า Bioferon
อินเตอร์เฟอรอน แอลฟา-ทูบีมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาอินเตอร์เฟอรอน แอลฟา-ทูบี มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น
- รักษาโรคไวรัสตับอักเสบ ซี หรือ ไวรัสตับอักเสบ บี แบบเรื้อรัง
- รักษาโรคมะเร็งต่างๆดังนี้เช่น Hairy cell leukemia , Malignant melanoma, Follicular lymphoma , Kaposi's sarcoma
อินเตอร์เฟอรอน แอลฟา-ทูบีมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาอินเตอร์เฟอรอน แอลฟา-ทูบี มีกลไกการออกฤทธิ์โดย ตัวยาจะเข้าจับกับเซลล์ในร่างกาย จากนั้นจะกระตุ้นให้เซลล์ร่างกายสร้างเอนไซม์ที่มีความจำเพาะเจาะจงต่อสายพันธุ์ไวรัสตับอักเสบ ซี และ ไวรัสตับอักเสบ บี เมื่อไวรัสเข้ามาในเซลล์ เอนไซม์ที่มีความจำเพาะเจาะจงดังกล่าวจะเข้าก่อกวนกรดนิวคลีอิก(Nucleic acid, สารสำคัญในการสร้างสารพันธุกรรมของเซลล์ เช่น DNA)ของไวรัสให้ทำงานน้อยลง ส่งผลยับยั้งการสังเคราะห์โปรตีนของไวรัส ทำให้ไวรัสหยุดการเจริญเติบโตและไม่สามารถจำลองไวรัสรุ่นใหม่ขึ้นมาได้
นอกจากนี้ยาอินเตอร์เฟอรอน แอลฟา-ทูบี ยังช่วยกระตุ้นให้เซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดต่างๆที่เป็นองค์ประกอบสำคัญของระบบภูมิคุ้มกัน/ระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกายเข้าเล่นงานเซลล์เป้าหมายอย่างเซลล์มะเร็งได้ดีขึ้นอีกด้วย
ด้วยกลไกเหล่านี้ จึงก่อให้เกิดฤทธิ์ของการรักษาได้ตามสรรพคุณ
อินเตอร์เฟอรอน แอลฟา-ทูบีมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาอินเตอร์เฟอรอน แอลฟา-ทูบี มีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ยาฉีดที่บรรจุ Interferon alpha-2b ขนาด 3 และ 5 ล้านยูนิตสากล(IU, International unit)
อินเตอร์เฟอรอน แอลฟา-ทูบีมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
อินเตอร์เฟอรอน แอลฟา-ทูบีมีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา เช่น
ก. สำหรับรักษา ไวรัสตับอักเสบ ซี:
- ผู้ใหญ่: ฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อหรือเข้าใต้ผิวหนัง ขนาด 3 ล้านยูนิต สัปดาห์ละ 3 ครั้ง แพทย์อาจให้ใช้ร่วมกับยาRibavirin เป็นเวลา 24–48 สัปดาห์ แต่หากใช้เป็นยาเดี่ยวในการรักษา แพทย์อาจต้องใช้ยาต่อเนื่องเป็นเวลา 72–96 สัปดาห์
ข. สำหรับรักษา ไวรัสตับอักเสบ บี:
- ผู้ใหญ่: ฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อหรือเข้าใต้ผิวหนังขนาด 30–35 ล้านยูนิต/สัปดาห์ โดยแบ่งฉีดวันละ 5 ล้านยูนิต หรือฉีดยาครั้งละ 10 ล้านยูนิต 3 ครั้ง/สัปดาห์ ระยะเวลาการใช้ยาอยู่ที่ 16 สัปดาห์
ค. สำหรับรักษาโรคมะเร็ง: ขนาดยาที่ใช้รักษามะเร็งให้เป็นไปตามดุลยพินิจของแพทย์แต่ผู้เดียว
อนึ่ง:
- ผู้ป่วยต้องมารับการฉีดยานี้ตรงตามวันเวลาที่แพทย์นัดหมาย
- เด็ก: การใช้ยานี้ในเด็ก จะอยู่ในดุลพินิจของแพทย์เป็นกรณีๆไป
*****หมายเหตุ: ขนาดและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาอินเตอร์เฟอรอน แอลฟา-ทูบี ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาอินเตอร์เฟอรอน แอลฟา-ทูบี อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมมารับการฉีดยาควรทำอย่างไร?
กรณีไม่สามารถมารับการฉีดยาอินเตอร์เฟอรอน แอลฟา-ทูบี ให้ผู้ป่วยรีบติดต่อแพทย์/พยาบาล/บุคคลากรทางการแพทย์ผู้ที่ทำการดูแลรักษาผู้ป่วย เพื่อนัดหมาย การฉีดยาครั้งใหม่โดยเร็ว และไม่ควรหยุดการรักษาโดยไม่ได้ขอคำปรึกษาจากแพทย์
อินเตอร์เฟอรอน แอลฟา-ทูบีมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาอินเตอร์เฟอรอน แอลฟา-ทูบี สามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้ เช่น
- ผลต่อระบบเลือด: เช่น เกิดภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ เกล็ดเลือดต่ำ โลหิตจาง
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น ปวดศีรษะ วิงเวียน ปลายประสาทอักเสบ มีอาการชัก การทรงตัวผิดปกติ ความจำแย่ลง เกิดไมเกรน ง่วงนอน
- ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น วิตกกังวล ซึมเศร้า กระสับกระส่าย เกิดภาพหลอน ฝันประหลาด อาจเกิดความรู้สึกอยากทำร้ายตนเอง เกิดภาวะอารมณ์สองขั้ว เกิดพฤติกรรมก้าวร้าว
- ผลต่อระบบกล้ามเนื้อและกระดูก: เช่น ปวดกล้ามเนื้อ ปวดหลัง ปวดกระดูก ขาเป็นตะคริว
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้ ท้องเสีย ปวดท้อง กระเพาะอาหารอักเสบ อาเจียน ท้องอืด เกิดริดสีดวงทวาร เกิดแผลในกระเพาะอาหาร ฟันผุ
- ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น กรดยูริคในเลือดเพิ่มขึ้น น้ำตาลในเลือดสูง ระดับแคลเซียมในเลือดต่ำหรือไม่ก็สูง ค่าไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง เกิดภาวะขาดน้ำของร่างกาย
- ผลต่อผิวหนัง: เช่น ผมร่วง ผื่นคัน ผื่นผิวหนังอักเสบ เกิดลมพิษ
- ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก มีอาการหอบหืด ไอ คอหอยอักเสบ ไซนัสอักเสบ เยื่อจมูกอักเสบ โรคติดเชื้อทางเดินหายใจ หลอดลมอักเสบ คัดจมูก ความดันหลอดเลือดปอดสูง
- ผลต่อตับ: เช่น มีภาวะดีซ่าน ตับวาย เกิดภาวะตับโต ค่าเอนไซม์การทำงานของตับในเลือดเพิ่มขึ้น
- ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น ความดันโลหิตสูงหรือไม่ก็ต่ำ หัวใจเต้นเร็ว หลอดเลือดดำอักเสบ หัวใจล้มเหลว หัวใจเต้นผิดจังหวะ เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ หัวใจขาดเลือด
- ผลต่อระบบต่อมไร้ท่อ: เช่น มีภาวะไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำหรือไม่ก็สูง เกิดภาวะหน้าอก/เต้านมโต
- ผลต่อตา: เช่น เยื่อตาอักเสบ ประสาทตาอักเสบ ตาพร่า ตาบอดกลางคืน ตากลัวแสง หนังตากระตุก ปวดตา
- ผลต่อไต: เช่น ค่ายูเรียในเลือดสูง มีภาวะไตวาย
- ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น ปัสสาวะขัด /ปัสสาวะไม่ออก ปัสสาวะกะปริบกะปอย มีโปรตีนในปัสสาวะ มีเลือดปนมากับปัสสาวะ/ปัสสาวะเป็นเลือด
- ผลต่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย: เช่น เกิดภาวะ/โรคภูมิต้านตนเอง
- อื่นๆ: เช่น ประจำเดือนขาดหรือไม่ก็มาผิดปกติในสตรี
มีข้อควรระวังการใช้อินเตอร์เฟอรอน แอลฟา-ทูบีอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้อินเตอร์เฟอรอน แอลฟา-ทูบี เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยานี้ หรือแพ้ส่วนประกอบของยานี้
- ห้ามใช้กับผู้ป่วยด้วยภาวะซึมเศร้ารุนแรง(Major depressive) ที่แพทย์ยังควบคุมอาการไม่ได้
- ห้ามใช้กับสตรีมีครรภ์ หรือที่ไม่เต็มใจที่จะยินยอมในการคุมกำเนิด
- ห้ามใช้กับสตรีในช่วงให้นมบุตร
- ห้ามใช้กับผู้ที่มีโรคประจำตัวที่ยังควบคุมรักษาได้ไม่ดี เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคถุงลมโป่งพอง โรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ
- ห้ามใช้กับผู้ที่มีค่า Creatinine clearance น้อยกว่า 50 มิลลิลิตร/นาที
- มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อรับการรักษาตามแพทย์นัดหมายทุกครั้ง ไม่ควรหยุดการรักษาไปเฉยๆโดยมิได้ปรึกษาแพทย์
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาอินเตอร์เฟอรอน แอลฟา-ทูบีด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่องข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
อินเตอร์เฟอรอน แอลฟา-ทูบีมีปฏิกิริยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาอินเตอร์เฟอรอน แอลฟา-ทูบี มีปฏิกิริยากับยาตัวอื่น เช่น
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาอินเตอร์เฟอรอน แอลฟา-ทูบี ร่วมกับ ยาZidovudine ด้วยจะ ทำให้ไขกระดูกทำงานต่ำและเป็นผลให้ระดับเม็ดเลือดต่างๆลดลง
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาอินเตอร์เฟอรอน แอลฟา-ทูบี ร่วมกับยา Tramadol และ Bupropion เพราะอาจทำให้เกิดภาวะลมชักในผู้ป่วยตามมา
- ห้ามใช้ยาอินเตอร์เฟอรอน แอลฟา-ทูบี ร่วมกับ ยาClozapine ด้วยจะทำให้ระดับ เม็ดเลือดขาวในร่างกายต่ำลงมาก
- ห้ามใช้ยาอินเตอร์เฟอรอน แอลฟา-ทูบี ร่วมกับยา Naltrexone เพราะจะทำให้ตับทำงานผิดปกติ
ควรเก็บรักษาอินเตอร์เฟอรอน แอลฟา-ทูบีอย่างไร?
ควรเก็บรักษายาอินเตอร์เฟอรอน แอลฟา-ทูบี ดังนี้ เช่น
- เก็บยาภายใต้อุณหภูมิ 2–8 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแข็งตู้เย็น
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- ไม่เก็บยาที่เสื่อมสภาพหรือยาที่หมดอายุแล้ว
อินเตอร์เฟอรอน แอลฟา-ทูบีมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาอินเตอร์เฟอรอน แอลฟา-ทูบี มียาชื่อการค้าและบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Bioferon (ไบโอเฟอรอน) | Bio Sidus |
อนึ่ง ยาชื่อการค้าอื่นของยานี้ เช่น Bioferon, Alpharona, Intron A, Opthalamoferon
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Interferon_alfa-2b [2018,May26]
- https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/12120178 [2018,May26]
- https://www.drugs.com/mtm/interferon-alfa-2b.html [2018,May26]
- https://www.mayoclinic.org/drugs-supplements/interferon-alfa-2b-injection-route/description/drg-20071328 [2018,May26]