อินเตอร์เฟอรอน แอลฟา (Interferon alpha)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาอินเตอร์เฟอรอน(Interferon ย่อว่า IFN) เป็นสารโปรตีนที่หลั่งออกมาจากเซลล์ของระบบภูมิคุ้มกัน/ระบบภูมิต้านทาน/ระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกาย เช่น เซลล์เม็ดเลือดขาว, ไฟโบรบลาส (Fibroblast, เซลล์สร้างเส้นใย) และเซลล์ของเนื้อเยื่อบุผิว (Epithelial cells) ยาอินเตอร์เฟอรอนยังถูกจำแนกออกเป็นหมวดย่อยลงอีก คือ ยาอินเตอร์เฟอรอน แอลฟา(Interferon alpha หรือ Interferon alfa หรือ Interferon α), อินเตอร์เฟอรอน บีต้า(Interferon beta หรือ Beta interferon หรือ Interferon β) และอินเตอร์เฟอรอน แกมมา (Interferon gamma หรือ Interferon y )

ทั้งนี้ ในบทความนี้จะกล่าวถึง “อินเตอร์เฟอรอน แอลฟา (Interferon alpha ย่อว่า IFN alpha)” เท่านั้น

อินเตอร์เฟอรอน แอลฟามีกี่ชนิดอะไรบ้าง?

อินเตอร์เฟอรอนแอลฟา

ยาอินเตอร์เฟอรอน แอลฟา มีองค์ประกอบด้วยสารโปรตีนหลายชนิด และสารโปรตีนที่เป็นส่วนประกอบดังกล่าวมีความสามารถที่ต่อต้านสิ่งแปลกปลอมที่เข้ามาหรือที่เกิดขึ้นในร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นไวรัส หรือเซลล์มะเร็ง การจัดเรียงตัวของชนิดกรดอะมิโน/สารโปรตีนบนตำแหน่งของสายโปรตีนในยาอินเตอร์เฟอรอน แอลฟาในตำแหน่งแตกต่างกันจะก่อให้เกิดสาร/ยาอินเตอร์เฟอรอน แอลฟาชนิดย่อย(Subtype) ลงมาอีก เช่น IFN-alpha1 , IFN-alpha2 , IFN-alpha8 , IFN-alpha10 , IFN-alpha14 และ IFN-alpha21 ซึ่งอินเตอร์เฟอรอนเหล่านี้จะทำหน้าที่ทั้งคล้ายคลึงและแตกต่างกันออกไป เช่น

  • IFN-alpha 8: จะเร่งการแบ่งตัวของเม็ดเลือดขาวชนิด B cells หรือที่เรียกว่า B lymphocytes ซึ่งมีส่วนสำคัญต่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย โดยทำให้เกิดการหลั่งแอนตีบอดี(Antibodies) ออกมาเล่นงานสิ่งแปลกปลอมอย่างเช่น ไวรัส
  • IFN-alpha 10, alpha-2, ตลอดจนกระทั่ง alpha 8: จะมีอิทธิพลช่วยกระตุ้น เม็ดเลือดขาวประเภท Cytotoxic lymphocyte หรืออีกชื่อหนึ่ง Natural killer cells ซึ่งมีหน้าที่คอยกำจัดเชื้อโรคที่เข้ารุกรานร่างกาย
  • IFN-alpha 1: จะช่วยเพิ่มสารเชิงซ้อนที่เรียกว่า Human leukocyte antigen สารเชิงซ้อนนี้ สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งได้โดยตรง

ประโยชน์ของอินเตอร์เฟอรอน แอลฟามีอะไรบ้าง?

ประโยชน์/สรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ของยาอินเตอร์เฟอรอน แอลฟา เช่น

  • ใช้รักษามะเร็งบางประเภท เช่น Hairy cell leukemia, Malignant melanoma, Kaposi’s sarcomaในผู้ป่วยโรคเอชไอวี, Follicular non-hodgkin’s lymphoma และ Condyloma acuminate
  • ใช้รักษาโรคไวรัสตับอักเสบ บี และ ไวรัสตับอักเสบ ซี แบบเรื้อรัง

อินเตอร์เฟอรอน แอลฟามีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาอินเตอร์เฟอรอน แอลฟา ยังไม่มีรูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยารับประทาน แต่จะเป็นยาฉีด ที่สามารถฉีดเข้าใต้ผิวหนัง ฉีดเข้าหลอดเลือดดำ หรือฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ด้วยยา ประเภทนี้มีจำหน่ายมากกว่าหนึ่งชื่อการค้า และมีขนาดความแรงที่ต่างกัน เพื่อป้องกัน ความสับสน จึงไม่ควรใช้ยาอินเตอร์เฟอรอน แอลฟาที่มีชื่อการค้าแตกต่างกันโดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์

อินเตอร์เฟอรอน แอลฟามีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาอินเตอร์เฟอรอน แอลฟาเป็นกลุ่มสารโปรตีนที่ผลิตขึ้นเพื่อใช้ต่อต้านสิ่งแปลกปลอมที่เข้ามาในร่างกาย เช่น ไวรัส รวมถึงเซลล์มะเร็งชนิดที่ตอบสนองกับยานี้

ก. กรณีเซลล์มะเร็ง: ยาอินเตอร์เฟอรอน แอลฟา มีกลไกการออกฤทธิ์รบกวนกระบวนการแบ่งเซลล์ของเซลล์มะเร็งโดยตรง และในทางอ้อมยังกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายให้เร่งกำจัดเซลล์มะเร็งได้มากยิ่งขึ้น

ข. กรณีไวรัสตับอักเสบ บี และ ไวรัสตับอักเสบ ซี: ยาอินเตอร์เฟอรอน แอลฟา มีกลไกการออกฤทธิ์ กระตุ้นให้เซลล์ร่างกายสร้างสารโปรตีนหรือเอนไซม์ที่มีความจำเพาะเจาะจงต่อไวรัสนั้นๆ และสามารถเข้าเล่นงานกรดนิวคลิอิก(Nucleic acid, สารสำคัญในการสร้างสารพันธุกรรม เช่น DNA)ของไวรัส ทำให้ไวรัสนั้นๆไม่สามารถจำลองไวรัสรุ่นใหม่ขึ้นมาได้

อินเตอร์เฟอรอน แอลฟามีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

หลังจากได้รับยาอินเตอร์เฟอรอน แอลฟา ไปแล้วประมาณ 7–10 วัน ยาอินเตอร์เฟอรอน แอลฟา อาจก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายได้หลายลักษณะ ผู้ป่วยอาจได้รับผลข้างเคียงค่อนข้าง มากที่สุดภายหลังได้รับยาชนิดนี้ไปแล้วประมาณ 2 สัปดาห์ แต่อาการข้างเคียงต่างๆสามารถกลับมาเป็นปกติหลังจากหยุดใช้ยานี้ไปแล้วประมาณ 21 วัน

ทางคลินิก มีข้อสรุปผลข้างเคียงจากตัวยาอินเตอร์เฟอรอน แอลฟาดังต่อไปนี้

  • ผลต่อระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกาย: เช่น มีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ โดยเกิดอาการไข้ หนาวสั่น มีโอกาสติดเชื้อโรคต่างๆได้ง่าย เช่น เชื้อรา
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น ปวดศีรษะ ง่วงนอน ชาปลายมือ-เท้า นอนไม่หลับ การรับรู้รสชาติอาหารเปลี่ยนไป ความจำถดถอย
  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น โลหิตจาง ปริมาณเม็ดเลือดขาวและเม็ดเลือดแดง ลดลง เกล็ดเลือดต่ำที่ทำให้มีภาวะเลือดออกง่าย
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น ผมร่วง เกิดผื่นคัน เหงื่อออกมาก
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้อาเจียน ท้องเสียหรือไม่ก็ท้องผูก ปากแห้ง เหงือกอักเสบ เกิดแผลในช่องปาก
  • ผลต่อตา: เช่น ตาพร่า
  • ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น น้ำหนักตัวลดลง
  • ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น ซึม วิตกกังวล รู้สึกสับสน ไม่มีสมาธิ มีความคิดอยากทำร้ายตนเอง
  • ผลต่อระบบกล้ามเนื้อและกระดูก: เช่น ปวดกล้ามเนื้อ ปวดกระดูก ปวดข้อ
  • ผลต่อตับ: เช่น ตับทำงานผิดปกติ/ตับอักเสบ
  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น หายใจขัด/หายใจลำบาก ไอ

*อนึ่ง มีอาการข้างเคียงบางอย่างที่เกิดขึ้นแล้ว อาจส่งผลเสีย/ผลข้างเคียงรุนแรงต่อผู้ป่วยในระยะยาว ซึ่งกรณีที่พบเห็นอาการข้างเคียงดังจะกล่าวต่อไปนี้ ต้องรีบนำผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว ไม่ต้องรอถึงวันแพทย์นัด เช่น

  • หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก เจ็บหน้าอก แน่นหน้าอก หัวใจเต้นเร็ว
  • มีอาการซึม หรือมีความคิดอยากทำร้ายตนเอง
  • มีการมองเห็นภาพเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
  • เกิดอาการของโรคตับ/ ตับอักเสบ โดยสังเกตจาก อาการปัสสาวะมีสีคล้ำ/สีน้ำปลา เหนื่อยง่าย เบื่ออาหาร ปวดท้อง อาเจียน ตัวเหลืองตาเหลือง
  • มีอาการผิวหนังแตก เกิดแผลพุพอง หรือผิวลอก

*และกรณีที่มีอาการดังต่อไปนี้ ต้องรีบนำตัวผู้ป่วยมาโรงพยาบาลภายใน 24 ชั่วโมง เช่น

  • ท้องเสีย 4–6 ครั้ง/วัน
  • คลื่นไส้ระหว่างมื้ออาหารทุกครั้ง และยาแก้คลื่นไส้ที่แพทย์สั่งจ่ายมาให้ ใช้ไม่ได้ผล
  • อาเจียน 4–5 ครั้ง ภายใน 24 ชั่วโมง
  • เกิดภาวะเลือดออกง่าย
  • อุจจาระมีสีคล้ำเหมือนมีเลือดปนออกมากับอุจจาระ/อุจจาระเป็นเลือด
  • อ่อนเพลียอย่างรุนแรง
  • วิตกกังวล อารมณ์แปรปรวน รู้สึกสับสน และนอนไม่หลับ
  • เท้าหรือข้อเท้ามีอาการบวม หรือน้ำหนักตัวเพิ่มอย่างรวดเร็ว

มีข้อควรระวังการใช้อินเตอร์เฟอรอน แอลฟาอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาอินเตอร์เฟอรอน แอลฟา เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้ และ/หรือแพ้ส่วนประกอบในสูตรต้นตำรับ
  • ก่อนใช้ยาอินเตอร์เฟอรอน แอลฟา ผู้ป่วยจะต้องแจ้งแพทย์ว่า ปัจจุบันมีการใช้/เคยใช้ยาแผนปัจจุบันหรือยาสมุนไพรชนิดใดบ้าง
  • ห้ามรับการฉีดวัคซีนใดๆขณะได้รับยาอินเตอร์เฟอรอน แอลฟา นอกจากจะมีคำสั่ง แพทย์
  • กรณีที่มีการเปลี่ยนถ่ายอวัยวะใหม่ หรือมีภาวะภูมิต้านทานตนเอง/ โรคออดตอิมมูน ป่วยด้วยโรคตับ มีภาวะทางจิต หรือมีโรคประจำตัวใดๆ ผู้ป่วยต้องแจ้ง แพทย์ พยาบาล เภสัชกร ทุกครั้งเมื่อเข้ารับการรักษา
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ หรือสตรีที่ปฏิเสธการป้องกันการตั้งครรภ์/การคุมกำเนิด
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีในภาวะให้นมบุตร
  • มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อรับการให้ยานี้ และรับการตรวจร่างกายตามแพทย์นัดหมายทุกครั้ง

ควรดูแลตนเองอย่างไรขณะได้รับยาอินเตอร์เฟอรอน แอลฟา?

ควรดูแลตนเองขณะได้รับยาอินเตอร์เฟอรอน แอลฟา ดังนี้ เช่น

  • ดื่มน้ำวันละ 2–3 ลิตรเมื่อไม่มีโรคที่ต้องจำกัดน้ำดื่ม หรือดื่มน้ำ/วันตามคำแนะนำของแพทย์
  • ล้างมือบ่อยครั้งโดยเฉพาะอย่างยิ่งก่อนรับประทานอาหาร และทุกครั้งหลังเข้าห้องน้ำ
  • หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่มีผู้คนแออัดเพื่อป้องกันการติดเชื้อต่างๆของร่างกาย
  • หากมีอาการคล้ายเป็นไข้หวัดใหญ่ ให้ดื่มน้ำอุ่นบ่อยๆ และรักษาร่างกายให้อบอุ่นอยู่เสมอ
  • เพื่อลดอาการคลื่นไส้ ให้รับประทานอาหารเป็นปริมาณน้อยๆต่อมื้อ แต่สามารถ รับประทานหลายครั้งในระหว่างวัน
  • สามารถใช้ยา Acetaminophen/ Paracetamol หรือ Ibuprophen เพื่อบรรเทาไข้หรือปวดศีรษะตามที่แพทย์สั่งจ่ายให้ผู้ป่วย และห้ามมิให้ผู้ป่วยรับประทานยาแก้ปวด/ยาลดไข้ใดๆที่มิได้สั่งจ่ายโดยแพทย์ผู้ที่ทำการรักษา
  • หากมีอาการง่วงนอน วิงเวียน ห้ามขับขี่ยวดยานพาหนะใดๆ หรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักร โดยเด็ดขาดด้วยจะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับแสงแดดจัด หากต้องการออกในที่โล่งแจ้งควรใช้ ครีมกันแดดที่มีค่า SPF ตั้งแต่30 ขึ้นไป ทาป้องกันผิวหนัง
  • ออกกำลังกายเบาๆ และพักผ่อนอย่างเพียงพอตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร เพื่อให้ร่างกายฟื้นสภาพได้อย่างรวดเร็ว

ผู้ที่ได้รับยาอินเตอร์เฟอรอน แอลฟาต้องรับการตรวจสอบร่างกายอะไรบ้าง?

นอกจากการตรวจอาการของโรคและการตรวจร่างกายทั่วไปแล้ว ผู้ป่วยที่ได้รับยาอินเตอร์เฟอรอน แอลฟาจะต้องเข้ารับการตรวจเลือด ดูความสมบูรณ์ของเลือด/CBC ดูสภาพการทำงานของตับ และของไต ตรวจการทำงานของต่อมไทรอยด์ ตรวจสภาพการมองเห็นของตา และตรวจสอบการทำงานของหัวใจ ตามคำสั่งแพทย์เสมอ

ควรเก็บรักษาอินเตอร์เฟอรอน แอลฟาอย่างไร?

ควรเก็บรักษายาอินเตอร์เฟอรอน แอลฟา ดังนี้ เช่น

  • เก็บยาฉีดอินเตอร์เฟอรอน แอลฟา ภายใต้อุณหภูมิ 2–8 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • ห้ามเก็บยาในช่องแข็งตู้เย็น
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • ไม่เก็บยาที่เสื่อมสภาพหรือยาที่หมดอายุแล้ว

อินเตอร์เฟอรอน แอลฟามีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาอินเตอร์เฟอรอน แอลฟามียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Roferon-A(โรเฟอรอน-เอ)Roche
Intron A (อินทรอน เอ)Merck Sharp & Dohme Corp.

บรรณานุกรม

  1. https://www.medicinenet.com/interferon/article.htm#what_are_the_available_interferons? [2018,May26]
  2. http://chemocare.com/chemotherapy/drug-info/interferon-alfa.aspx [2018,May26]
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/Interferon_alfa [2018,May26]
  4. https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2015/103132s5191lbl.pdf [2018,May26]