อินเตอร์เฟอรอน เบต้า-วันเอ (Interferon beta-1a)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 22 มิถุนายน 2561
- Tweet
- บทนำ
- อินเตอร์เฟอรอน เบต้า-วันเอมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- อินเตอร์เฟอรอน เบต้า-วันเอมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- อินเตอร์เฟอรอน เบต้า-วันเอมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- อินเตอร์เฟอรอน เบต้า-วันเอมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมมารับการฉีดยาควรทำอย่างไร?
- อินเตอร์เฟอรอน เบต้า-วันเอมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้อินเตอร์เฟอรอน เบต้า-วันเออย่างไร?
- อินเตอร์เฟอรอน เบต้า-วันเอมีปฏิกิริยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาอินเตอร์เฟอรอน เบต้า-วันเออย่างไร?
- อินเตอร์เฟอรอน เบต้า-วันเอมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- อินเตอร์เฟอรอน (Interferon)
- เบต้า อินเตอร์เฟอรอน (Beta interferon)
- โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง หรือโรคเอมเอส (MS: Multiple Sclerosis)
- โรคสมอง โรคทางสมอง (Brain disease)
บทนำ
ยาอินเตอร์เฟอรอน เบต้า-วันเอ (Interferon beta-1a หรือ Interferon beta-1 alpha ย่อว่า IFN beta-1a หรือ Recombinant human interferon-beta1a) เป็นยาอินเตอร์เฟอรอน(Interferon ย่อว่า IFN)ที่ผลิตจากรังไข่ของหนูแฮมเตอร์ ทางคลินิกนำมาใช้บำบัดอาการโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (Multiple sclerosis) ยานี้ช่วยชะลอความพิการของร่างกายและลดความเสี่ยงการกำเริบหรือโรคกลับมามีอาการใหม่ได้ประมาณ 18–38%
ยาอินเตอร์เฟอรอน เบต้า-วันเอ มีกลไกการออกฤทธิ์เป็นไปในลักษณะเชิงป้องกันมิให้สารที่กระตุ้นการอักเสบหลุดรอดเข้าไปในเซลล์สมองและอาจกล่าวได้ว่ายาชนิดนี้ไม่ใช่ยารักษาโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็งได้โดยตรง แต่จะช่วยลดความรุนแรงและป้องกันการอักเสบของเซลล์ประสาทเท่านั้น
รูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยาอินเตอร์เฟอรอน เบต้า-วันเอเป็นแบบยาฉีด ซึ่งสามารถฉีดเข้ากล้ามเนื้อหรือฉีดเข้าใต้ผิวหนัง โดยร่างกายต้องใช้เวลาถึงประมาณ 10 ชั่วโมงเพื่อกำจัดยาชนิดนี้/ยานี้ออกจากกระแสเลือดผ่านทิ้งไปทางปัสสาวะ
ระหว่างที่ได้รับยาอินเตอร์เฟอรอน เบต้า-วันเอ ผู้ป่วยมีความจำเป็นต้องเข้ารับการตรวจร่างกาย และการตรวจต่างๆ จากแพทย์เป็นระยะๆตามแพทย์แนะนำ เช่น การตรวจเลือด ดูความสมบูรณ์ของเลือด(CBC) ดูสภาพการทำงานของตับ ของไต ดูระดับไขมันไตรกลีเซอไรด์ ตลอดจนกระทั่งตรวจการทำงานของระบบหัวใจและหลอดเลือด เช่น การตรวจคลื่นไฟฟ้าของหัวใจ
สำหรับประเทศไทยมีการใช้ยาอินเตอร์เฟอรอน เบต้า-วันเอ เช่นกัน โดยวางจำหน่ายภายใต้ชื่อการค้าว่า “Rebif” และจะพบเห็นการใช้ยานี้แต่ในสถานพยาบาลเท่านั้น
อินเตอร์เฟอรอน เบต้า-วันเอมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาอินเตอร์เฟอรอน เบต้า-วันเอมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น
- ใช้บำบัดอาการโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง หรือโรคเอมเอส (MS:Multiple sclerosis) โดยยาชนิดนี้จะช่วยชะลอความเสียหายจากการอักเสบภายในเซลล์ประสาทของสมอง จึงช่วยลดความเสี่ยงต่อความพิการอันมีสาเหตุจากโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็งลงได้
อินเตอร์เฟอรอน เบต้า-วันเอมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาอินเตอร์เฟอรอน เบต้า-วันเอคือ ตัวยาจะสร้างสมดุลของสารที่กระตุ้นการอักเสบของเซลล์ประสาทในสมอง โดยช่วยชะลอหรือลดการนำสารที่กระตุ้นการอักเสบผ่านเข้าทางแนวกั้นกลางระหว่างเลือดและสมองหรือที่เรียกกันว่า Blood-brain barrier ส่งผลให้ลดการอักเสบของเซลล์ประสาทในสมอง และยังช่วยในการผลิตสารที่เป็นปัจจัยการเจริญของเซลล์ประสาท (Nerve growth factor) ตลอดจนกระทั่งช่วยยืดอายุของเซลล์ประสาทอีกด้วย จากกลไกดังกล่าว จึงส่งผลให้อาการปลอกประสาทเสื่อมแข็งทุเลาลงเรื่อยๆ
อินเตอร์เฟอรอน เบต้า-วันเอมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาอินเตอร์เฟอรอน เบต้า-วันเอ มีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ยาฉีดชนิดผงปราศจากเชื้อ ที่ประกอบด้วยตัวยา Interferon beta-1a ขนาด 33 ไมโครกรัม/ขวด (0.033 มิลลิกรัม/ขวด)
- ยาฉีดชนิดสารละลายบรรจุในหลอดพร้อมฉีด ที่ประกอบด้วยตัวยา Interferon beta-1a ขนาด 30 ไมโครกรัม/ขวด (0.030 มิลลิกรัม/ขวด)
อินเตอร์เฟอรอน เบต้า-วันเอมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
ยาอินเตอร์เฟอรอน เบต้า-วันเอมีขนาดการบริหารยา/ใช้ยาสำหรับรักษาโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง เช่น
- ผู้ใหญ่:
- สัปดาห์ที่ 1 ฉีดยาครั้งละ 7.5 ไมโครกรัม ครั้งเดียว/สัปดาห์
- สัปดาห์ที่ 2: ฉีดยาครั้งละ 15 ไมโครกรัม ครั้งเดียว/สัปดาห์
- สัปดาห์ที่ 3: ฉีดยาครั้งละ 22.5 ไมโครกรัม ครั้งเดียว/สัปดาห์
- สัปดาห์ที่ 4: เป็นต้นไป ฉีดยาครั้งละ 30 ไมโครกรัม ครั้งเดียว/สัปดาห์
อนึ่ง:
- ระยะเวลาของการใช้ยานี้ให้เป็นไปตามคำสั่งแพทย์
- เด็ก: การใช้ยานี้และขนาดยานี้ในเด็ก อยู่ในดุลพินิจของแพทย์เป็นกรณีๆไป
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาอินเตอร์เฟอรอน เบต้า-วันเอ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาอินเตอร์เฟอรอน เบต้า-วันเอ อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยา กับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมมารับการฉีดยาควรทำอย่างไร?
กรณีไม่สามารถมารับการฉีดยาอินเตอร์เฟอรอน เบต้า-วันเอ ให้ผู้ป่วยรีบติดต่อแพทย์/พยาบาล/บุคคลกรทางการแพทย์ผู้ที่ทำการดูแลรักษาผู้ป่วย เพื่อนัดหมาย การฉีดยาครั้งใหม่โดยเร็ว
อินเตอร์เฟอรอน เบต้า-วันเอมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาอินเตอร์เฟอรอน เบต้า-วันเอ สามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้ เช่น
- ผลต่อระบบเลือด: เช่น เกล็ดเลือดต่ำ เลือดจาง
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ทำให้มีอาการ ท้องเสีย คลื่นไส้ ตับอ่อนอักเสบ อาเจียน
- ผลต่อจิตประสาท: เช่น เกิดภาวะซึมเศร้า มีความรู้สึกอยากทำร้ายตนเอง หากพบอาการเหล่านี้ ต้องหยุดการใช้ยานี้ทันที แล้วรีบพาผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาบโดยเร็ว ไม่ต้องรอถึงวันที่แพทย์นัด
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น เกิดอาการลมชัก
- ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น หอบหืด
- ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดผื่นคัน
- ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น อาจเกิดภาวะหัวใจวายตามมา แพทย์จะแจ้งเตือนผู้ป่วยถึงเรื่องดังกล่าว ประกอบกับนัดผู้ป่วยเข้ามาตรวจการทำงานของหัวใจเป็นระยะ
- ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น ระบบการเผาผลาญพลังงานของผู้ป่วยอาจเปลี่ยนแปลงจนทำให้ไขมันไตรกลีเซอไรด์เพิ่มขึ้น มีภาวะเบื่ออาหาร น้ำหนักตัวเพิ่มหรืออาจลดลงก็ได้
- ผลต่อตับ: เช่น ส่งผลเกิดพิษต่อตับ/ตับอักเสบ เอนไซม์การทำงานของตับในเลือดมีระดับเพิ่มขึ้น มีภาวะตับวาย
มีข้อควรระวังการใช้อินเตอร์เฟอรอน เบต้า-วันเออย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาอินเตอร์เฟอรอน เบต้า-วันเอ เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้ และ/หรือแพ้ส่วนประกอบในสูตรต้นตำรับยานี้
- ก่อนใช้ยาอินเตอร์เฟอรอน เบต้า-วันเอ ผู้ป่วยจะต้องแจ้งแพทย์ว่า ตนเอง มีการใช้ยาชนิดใดอยู่บ้าง ทั้งนี้เพื่อป้องกันการเกิดปฏิกิริยาระหว่างยา
- ห้ามใช้ยาใดๆขณะได้รับยาอินเตอร์เฟอรอน เบต้า-วันเอ นอกจากจะมีคำสั่งแพทย์
- กรณี ผู้ป่วยด้วยโรคตับ ผู้ป่วยที่มีภาวะทางจิต หรือมีโรคประจำตัวใดๆ ผู้ป่วยต้องแจ้ง แพทย์ พยาบาล เภสัชกร ทุกครั้งเมื่อเข้ารับการรักษา
- ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์ และสตรีในภาวะให้นมบุตร นอกจากมีคำสั่งแพทย์
- มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อรับการให้ยานี้ และรับการตรวจร่างกายจากแพทย์ตามแพทย์นัดหมายทุกครั้ง
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาอินเตอร์เฟอรอน เบต้า-วันเอด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่องข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
อินเตอร์เฟอรอน เบต้า-วันเอมีปฏิกิริยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาอินเตอร์เฟอรอน เบต้า-วันเอมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาอินเตอร์เฟอรอน เบต้า-วันเอ ร่วมกับ ยาBupropion ด้วยจะ ทำให้เกิดอาการลมชัก และ/หรือทำให้ตับเสียหาย/ตับวายตามมา
- ห้ามใช้ยาอินเตอร์เฟอรอน เบต้า-วันเอ ร่วมกับ ยาZidovudine ด้วยจะทำให้กด ไขกระดูก จนเกิดภาวะโลหิตจางรุนแรงตามมา
- ห้ามใช้ยาอินเตอร์เฟอรอน เบต้า-วันเอ ร่วมกับ ยาTramadol ด้วยอาจทำให้เกิดภาวะลมชักตามมา
- ห้ามใช้ยาอินเตอร์เฟอรอน เบต้า-วันเอ ร่วมกับ ยาNatalizumab เพราะจะเพิ่ม ความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสต่างๆตามมา
ควรเก็บรักษาอินเตอร์เฟอรอน เบต้า-วันเออย่างไร?
ควรเก็บรักษายาอินเตอร์เฟอรอน เบต้า-วันเอ เช่น
- เก็บยาภายใต้อุณหภูมิ 2–8 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแข็งตู้เย็น
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- ไม่เก็บยาที่เสื่อมสภาพหรือยาที่หมดอายุแล้ว
อินเตอร์เฟอรอน เบต้า-วันเอมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาอินเตอร์เฟอรอน เบต้า-วันเอ มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Avonex (อะโวเน็กซ์) | Biogen |
Rebif (รีบิฟ) | Serono |
อนึ่ง ยา Plegridy เป็นยาชื่อการค้าของยาอินเตอร์เฟอรอน เบต้า-วันเอ ชนิดที่เรียกว่า Pegylated interferon beta-1a อีกชื่อคือ Peginterferon beta-1a ซึ่งคือ ยาอินเตอร์เฟอรอน เบต้า-วันเอ ชนิดที่ออกฤทธิ์ในร่างกายได้นานที่ประโยชน์คือ ผู้ป่วยจะใช้ยา/ฉีดยาชนิดนี้ได้สะดวกขึ้น คือสามารถใช้ยานี้เพียง 1ครั้งทุก2สัปดาห์
บรรณานุกรม
- https://www.avonex.com/content/dam/commercial/multiple-sclerosis/avonex/pat/en_us/pdf/Avonex_Prescribing_Information.pdf [2018,June2]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Interferon_beta-1a#Mechanism_of_action [2018,June2]
- https://medlineplus.gov/druginfo/meds/a693040.html [2018,June2]
- http://www.mims.com/thailand/drug/info/interferon%20beta-1a/?type=brief&mtype=generic [2018,June2]
- https://www.drugs.com/dosage/interferon-beta-1a.html [2018,June2]