อินเจ็คเทเบิล ฟิลเลอร์ (Injectable filler)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยา/สารอินเจ็คเทเบิลฟิลเลอร์ หรือ ยา/สารฟิลลเลอร์(Injectable filler หรือ Injectable dermal filler) หมายถึงสารเติมเต็มที่ฉีดเข้าใต้ผิวหนังด้วยวัตถุประสงค์ลดรอยเหี่ยวย่น หรือฟื้นสภาพผิวหนังให้กลับมาดูอ่อนเยาว์ อินเจ็คเทเบิลฟิลเลอร์สามารถเติมเต็มบริเวณรอยตีนกา ร่องแก้ม ร่องบุ๋มหรือรอยหลุมที่เกิดจากแผลเป็น หรือรอยริ้วใต้ตา ช่วยเติมเต็มริมฝีปากให้ดูอวบอิ่ม รบรอยย่นในบริเวณคาง หรือใช้เพื่อบำบัดใบหน้าที่สูญเสียชั้นไขมันในผู้ป่วยเอชไอวี(HIV)ซึ่งมีสาเหตุจากการใช้ยาต้านไวรัสเอดส์

ฟิลเลอร์เป็นสารประเภทอะไรบ้าง?

อินเจ็คเทเบิลฟิลเลอร์

ปัจจุบันมีการใช้สารฟิลเลอร์อยู่หลายประเภท ดังนี้

1. กรดไฮยาลูโรนิค(Hyaluronic acid ย่อว่า HA) หรือในชื่ออื่นว่า ไฮยาลูโรแนน(Hyaluronan) พบมากในเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน เยื่อบุผิวหนัง และเนื้อเยื่อในระบบประสาท กรดชนิดนี้เป็นสารประกอบจำพวกโพลีแซคคาไรด์(Polysaccharides) สามารถสกัดได้จากเนื้อเยื่อ ของสัตว์ หรือใช้เทคนิคพันธุวิศวกรรมกับแบคทีเรียบางชนิดให้ผลิตกรดชนิดนี้ขึ้นมา ในประเทศไทยมีการนำกรดไฮยาลูโรนิคมาผสมกับยาลิโดเคน ซึ่ง อย.(สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข)จัดให้เป็นยาควบคุมพิเศษโดยมีชื่อการค้าว่า Juvederm volbella/Volift with lidocaine ซึ่งตัวยาลิโดเคนจะช่วยทำให้ลดความรู้สึกเจ็บปวดขณะที่ฉีดกรดไฮยาลูโรนิคเข้าใต้ผิวหนัง

ผลิตภัณฑ์กรดไฮยาลูโรนิคจะมีลักษณะคล้ายเจล หลังจากฉีดเข้าผิวหนังจะมีอายุการใช้งานได้นาน 6–12 เดือน ด้วยหลังการฉีดจะเกิดการดูดซึมเข้าสู่ร่างกายนั่นเอง

2. แคลเซียมไฮดรอกซีลาพาไทต์(Calcium hydroxylapatite) อาจกล่าวได้ว่าเป็นสารประกอบจำพวกเกลือที่พบในกระดูก เมื่อนำมาใช้ในลักษณะของฟิลเลอร์ต้องใช้แคลเซียมไฮดรอกซีลาพาไทต์ในขนาดอนุภาคที่เล็กมากๆ(Microscopic) และนำมาผสมกับเจลเพื่อให้ได้ฟิลเลอร์ที่สะดวกต่อการฉีดเข้าใต้ผิวหนัง ทั่วไป การฉีดด้วยแคลเซียมไฮดรอกซีลาพาไทต์ทำให้ชั้นผิวหนังดูหนาแน่นกว่าการใช้กรดไฮยาลูโรนิค และมีอายุทำให้ผิวหนังดูอวบอิ่มอ่อนเยาว์ได้ยาวนาน 12 เดือน - 2 ปี เป็นอย่างต่ำ

แคลเซียมไฮดรอกซีลาพาไทต์ ยังช่วยกระตุ้นร่างกายให้สร้างคอลลาเจน(Collagen) ได้อีกด้วย การใช้ฟิลเลอร์ประเภทนี้จึงเหมาะต่อการฟื้นสภาพรอยเหี่ยวย่นที่มีลักษณเป็นร่องลึก หรือไม่ก็ฉีดเข้าปลายจมูกหรือมุมปาก ชื่อการค้าที่พบเห็นการใช้ได้แก่ Radiesse

3. กรดโพลี-แอล-แลคติก(Poly-L-lactic acid ย่อว่า PLLA) เป็นกรดที่ได้จากการย่อยสลายสารอินทรีย์ทางชีวภาพ PLLA มีคุณสมบัติกระตุ้นการสร้างคอลลาเจนในร่างกาย ทางคลินิกจึงนำมาฉีดบริเวณใบหน้าของผู้ป่วยเอชไอวีที่สูญเสียไขมันจนทำให้ใบหน้าเสียรูปและดูผิดปกติไป ชื่อการค้าของผลิตภัณฑ์ PLLA ที่พบเห็นใน ท้องตลาดคือ Sculptra

4. โพลีเมทิลเมทาไครเลต(Polymethyl methacrylate ย่อว่า PMMA) เป็นสารประกอบสังเคราะห์ที่มีลักษณะกลมและเล็กมาก(Microsphere) ปกติผลิตภัณฑ์ PMMA จะถูกผสมด้วยคอลลาเจนร่วมด้วย การฉีดเข้าใต้ผิวหนังจะทำให้ผิวหนังดูกระชับขึ้น ชื่อการค้าที่เป็นที่รู้จักคือ Bellafil

5. การเติมไขมันของตนเอง(Autologous fat injections) เป็นการใช้ไขมันของร่างกาย จากต้นขาหรือก้น มาเป็นฟิลเลอร์ฉีดเข้า ใบหน้า แก้ม ขมับ หนังตาด้านล่าง หรือพื้นที่ผิวหนังส่วนอื่น การดูดไขมันจากร่างกายออกมา จะต้องนำมาผ่านกระบวนการทำให้บริสุทธิ์ขึ้นจึงจะนำไปใช้เป็นฟิลเลอร์ได้

ฟิลเลอร์ประเภทใดที่เหมาะกับผิวหนังของร่างกาย?

การเลือกประเภทของฟิลเลอร์ที่เหมาะกับสภาพผิวหนังในตำแหน่งต่างๆจะเป็นไปตาม ดุลยพินิจของแพทย์ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยของบริเวณผิวหนังบนใบหน้า ระดับความลึก หรือรอยเหี่ยวย่น

จากสถิติการใช้ฟิลเลอร์ พอจะสรุปประเภทผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมต่อตำแหน่งการฉีดดังนี้ เช่น

อนึ่ง เกณฑ์การเลือกใช้ฟิลเลอร์อย่างปลอดภัย จะเป็นตามแนวทางดังต่อไปนี้ เช่น

1. เลือกใช้ฟิลเลอร์ที่ได้รับการอนุมัติจากกระทรวงสาธารณสุข ไม่ใช้ฟิลเลอร์เถื่อนหรือ ฟิลเลอร์ที่แอบอ้างสรรพคุณ เช่น การใช้ซิลิโคน(Silicone)ฉีดแทนฟิลเลอร์เป็นเรื่อง ที่ผิดและเป็นอันตรายต่อร่างกาย

2. ไม่ใช้ฟิลเลอร์ที่หมดอายุแล้ว

3. ก่อนใช้ ควรต้องศึกษาผลดี ผลข้างเคียง ของฟิลเลอร์ที่จะใช้ฉีดเข้าผิวหนังของตนเอง หากไม่สามารถยอมรับผลข้างเคียงที่จะเกิดขึ้นได้ ไม่แนะนำให้ฉีดฟิลเลอร์

4. ไม่ใช้ฟิลเลอร์ที่มีสภาพของภาชนะบรรจุแตกหัก หรือชำรุด หรือมีการปนเปื้อนลงในฟิลเลอร์

5. เข้ารับบริการฉีดฟิลเลอร์ในสถานพยาบาลที่ได้รับการรับรองและมีใบอนุญาต

ปฏิบัติตัวอย่างไรเมื่อเข้ารับการฉีดฟิลเลอร์?

ก่อนฉีดฟิลเลอร์แพทย์จะแจ้งให้ผู้รับบริการทราบถึง วิธีการฉีด ผลที่จะเกิดขึ้นหลังการฉีด ตลอดจนระยะเวลาและการปฏิบัติตัวระหว่างพักฟื้นผิวหนัง

ก่อนที่จะรับการฉีดฟิลเลอร์ ทั่วไปมีคำแนะนำปฏิบัติดังนี้ เช่น

1. เลือกแพทย์ที่มีความชำนาญในการฉีดฟิลเลอร์ตามสถานพยาบาลที่เปิดทำการอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

2. ผู้ที่จะเข้ารับการฉีดฟิลเลอร์ควรมีอายุตั้งแต่ 21 ปีขึ้นไป ทั้งนี้อาจเป็นด้วยเหตุผลการฟื้นสภาพผิวหนังตามธรรมชาติทำได้ยากขึ้น

3. ห้ามซื้อฟิลเลอร์โดยสั่งผ่านอินเตอร์เน็ตแล้วนำมาฉีดเอง

4. ควรสอบถามแพทย์ถึงสภาพผิวหน้า-ผิวหนังที่จะเกิดขึ้นหลังการฉีดฟิลเลอร์ หากอยู่ในเงื่อนไขที่ตนเองรับได้จึงทำการนัดหมายเพื่อฉีดฟิลเลอร์

5. แจ้งแพทย์ว่า ตนเองมีโรคประจำตัวใดบ้าง เช่น ป่วยเป็นเอชไอวี มีภาวะเลือดออกง่าย เคยมีภาวะอักเสบติดเชื้อใต้ชั้นผิวหนังที่จะฉีดฟิลเลอร์ รวมถึงมีประวัติแพ้ยาใดๆ หรือแพ้คอลลาเจนหรือไม่

6. หยุดการใช้ยาชนิดต่างๆเมื่อต้องเข้ารับการฉีดฟิลเลอร์ตามคำแนะนำของแพทย์ ทั้งนี้เพื่อลดความเสี่ยงด้านผลข้างเคียงที่จะเกิดขึ้น กลุ่มยาที่สามารถก่อให้เกิดผลกระทบ/ผลข้างเคียงจากฟิลเลอร์ได้มากขึ้น เช่น NSAIDs , Cimetidine , Beta-blockers , Quaternary ammonium salt เช่น Benzalkonium Cl/Chloride, และยาต้านการแข็งตัวของเลือด

7. ห้ามฉีดฟิลเลอร์พร้อมกับ Botox

8. คณะกรรมการอาหารและยาของอเมริกา(US FDA) มีข้อห้ามฉีดฟิลเลอร์เข้าอวัยวะต่างๆดังต่อไปนี้ คือ เต้านม ก้น เท้า กระดูก เส้นเอน กล้ามเนื้อ และอวัยวะเพศ

9. หยุดการฉีดฟิลเลอร์ทันที เมื่อผู้รับบริการให้สัญญาณหรือความผิดปกติที่เกิดขึ้น เช่น การมองเห็นของตาผิดปกติไป หรือสังเกตเห็นรอยด่างขาว หรือคล้ายกับรอยไหม้ปรากฏขึ้น หรือแสดงออกของอาการสมองขาดเลือดเกิดขึ้น

10. หากพบความผิดปกติของร่างกายหลังจากฉีดฟิลเลอร์ เช่น มีอาการบวม ผื่นคัน มีไข้ หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก ให้กลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน

ผลข้างเคียงจากการฉีดฟิลเลอร์มีอะไรบ้าง?

ผลข้างเคียงจากการฉีดฟิลเลอร์ เช่น

1. ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นอย่างเห็นชัดเจน เช่น เกิดรอยช้ำ แดง บวมในบริเวณที่ฉีดฟิลเลอร์ มีอาการเจ็บปวดหลังการฉีด อาจพบการตึงของผิวหนัง เกิดอาการคัน การเคลื่อนตัวหรือขยับบริเวณผิวหนังที่ฉีดฟิลเลอร์ทำได้ยากกว่าปกติ

2. ผลข้างเคียงที่พบได้น้อย เช่น เกิดตุ่มบวม ซึ่งแพทย์อาจต้องนำออกในภายหลัง มีภาวะติดเชื้อในบริเวณที่ฉีดฯ หรือมีแผลในบริเวณที่ฉีดฟิลเลอร์ เกิดอาการแพ้หรือเกิดภาวะเนื้อตายเฉพาะส่วน

3. ผลข้างเคียงที่ค่อนข้างรุนแรงซึ่งเคยมีรายงาน เช่น

  • เกิดอาการแพ้ฟิลเลอร์อย่างรุนแรง และต้องช่วยเหลือชีวิตผู้ป่วยโดยทันที
  • มีการเคลื่อนที่ของฟิลเลอร์ใต้ผิวหนังออกจากตำแหน่งที่ฉีด
  • มีภาวะปริแตกของผิวหนังแล้วฟิลเลอร์ทะลักออกมา
  • เกิดตุ่มแข็งอย่างถาวรในบริเวณที่ฉีดฟิลเลอร์
  • การมองเห็นผิดปกติจนถึงขั้นตาบอด
  • เกิดภาวะสมองขาดเลือด(Stroke)
  • มีการแทงเข็มทะลุหลอดเลือดใต้ผิวหนัง
  • มีการทำลายผิวหนังที่ได้รับการฉีดฟิลเลอร์

ควรเก็บรักษาฟิลเลอร์อย่างไร?

ควรเก็บรักษาฟิลเลอร์ดังนี้ เช่น

  • ควรเก็บสารฟิลเลอร์ภายใต้เงื่อนไขที่ระบุในเอกสารกำกับยา
  • ห้ามเก็บฟิลเลอร์ในช่องแช่แข็งตู้เย็น
  • เก็บฟิลเลอร์ในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น
  • เก็บฟิลเลอร์ให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • ไม่เก็บฟิลเลอร์ที่หมดอายุแล้ว
  • ห้ามทิ้งฟิลเลอร์ลงในแม่น้ำลำคลองหรือแหล่งน้ำตามธรรมชาติ

ฟิลเลอร์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

สารฟิลเลอร์ที่จำหน่ายภายในประเทศ มีชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Juvederm Ultra XC/Juvederm Ultra Plus XCAllergan
Juvederm Volbella With LidocaineAllergan
Juvederm Volift with LidocaineAllergan
Juvederm Voluma with LidocaineAllergan

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Injectable_filler [2018,aug25]
  2. https://www.americanboardcosmeticsurgery.org/procedure-learning-center/non-surgical/injectable-fillers-guide/#how [2018,aug25]
  3. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/16703779 [2018,aug25]
  4. https://en.wikipedia.org/wiki/Hyaluronic_acid [2018,aug25]
  5. https://www.hindawi.com/journals/ijcc/2013/624967/ [2018,aug25]
  6. http://www.mims.com/thailand/drug/info/juvederm%20volbella%20with%20lidocaine/?type=brief [2018,aug25]
  7. https://www.webmd.com/beauty/wrinkle-fillers-what-you-should-know#3 [2018,aug25]
  8. https://www.fda.gov/medicaldevices/productsandmedicalprocedures/cosmeticdevices/wrinklefillers/default.htm#hcp [2018,aug25]
  9. https://www.fda.gov/downloads/MedicalDevices/ProductsandMedicalProcedures/CosmeticDevices/WrinkleFillers/UCM584838.pdf [2018,aug25]
  10. http://www.mims.com/thailand/drug/info/juvederm%20ultra%20xc-juvederm%20ultra%20plus%20xc/?type=brief [2018,aug25]
  11. http://www.mims.com/thailand/drug/search?q=Juvederm%20 [2018,aug25]