อินดาพาไมด์ (Indapamide)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาอินดาพาไมด์(Indapamide)เป็นยาขับปัสสาวะที่ถูกนำมาบำบัดรักษาโรคความดันโลหิตสูง และภาวะหัวใจล้มเหลว สามารถใช้ร่วมกับยากลุ่ม ACE inhibitor อย่างเช่นยา Perindopril เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการลดความดันโลหิต ซึ่งรูปแบบยาแผนปัจจุบันของยาอินดาพาไมด์จะเป็นยาชนิดรับประทาน โดยหลังจากตัวยาถูกดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารเข้าสู่กระแสเลือด ก็จะเข้ารวมกับพลาสมาโปรตีนได้ประมาณ 71 – 79% ตับจะเป็นอวัยวะที่คอยทำลายยานี้อย่างต่อเนื่อง และร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 14 – 18 ชั่วโมงเพื่อกำจัดยานี้ออกจากกระแสเลือด โดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะ และอุจจาระ

ยาอินดาพาไมด์มีขนาดรับประทานตั้งแต่ 1.25 มิลลิกรัม ไปจนถึง 5 มิลลิกรัมต่อวัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค ปัจจุบันทางเภสัชอุตสาหกรรมได้ผลิตยาอินดาพาไมด์ทั้งในรูปแบบออกฤทธิ์ทันทีหลังรับประทาน และรูปแบบชนิดออกฤทธิ์นานโดยสูตรตำรับออกฤทธิ์นานนี้จะค่อยๆปลดปล่อยตัวยาจึงมีระยะเวลาของการออกฤทธิ์นานกว่าแบบแรก

ข้อจำกัดบางประการที่ทำให้ผู้บริโภคบางกลุ่มไม่สามารถใช้ยาอินดาพาไมด์ได้ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยานี้ และ/หรือ แพ้ยากลุ่มซัลโฟนาไมด์(Sulfonamides)ด้วยยาอินดาพาไมด์มีโครงสร้างคล้ายคลึงกับยาซัลโฟนาไมด์
  • ห้ามใช้กับผู้ป่วยโรคไต ผู้ที่มีภาวะปัสสาวะขัด ผู้ป่วยโรคตับ และผู้ที่มีภาวะเกลือโพแทสเซียมในเลือดต่ำ
  • หากมียาอื่นใดที่รับประทานอยู่ก่อน ควรต้องแจ้งให้ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร ทราบทุกครั้ง เพราะการใช้ยาอินดาพาไมด์ร่วมกับยาอื่นๆ อาจนำมาซึ่งอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)จากยาอินดาพาไมด์เพิ่มมากขึ้น ดังนั้นแพทย์อาจต้องปรับลดขนาดการรับประทานยาต่างๆลงมาให้เหมาะสม โดยเฉพาะยาตามรายการต่อไปนี้ เช่น ยา Acetyldigoxin(ยาโรคหัวใจ), Deslanoside(ยาโรคหัวใจ), Digitalis, Digitoxin, Digoxin, Dofetilide, Droperidol, Ketanserin(ยาลดความดันโลหิต), Levomethadyl(ยาแก้ปวด), Lithium, Metildigoxin(ยาโรคหัวใจ), และ Sotalol
  • ผู้ที่อยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรืออยู่ในภาวะให้นมบุตร จัดเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงจากการใช้ยาหลายประเภท ซึ่งรวมถึงยาอินดาพาไมด์ด้วยเช่นกัน ดังนั้น ผู้ป่วยกลุ่มนี้ควรต้องใช้ยาต่างๆตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น
  • ผู้ป่วยที่ต้องได้รับการฉีดสารน้ำเข้าทางหลอดเลือด ก็เป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่ไม่สามารถใช้ยาอินดาพาไมด์ได้ ด้วยสารน้ำจะมีการออกฤทธิ์ขับปัสสาวะได้เช่นกัน จึงอาจก่อให้เกิดปัญหาในการรักษาเมื่อใช้ร่วมกับยาอินดาพาไมด์
  • การใช้ยาสเตียรอยด์ฮอร์โมน อย่างเช่น Corticosteroides ร่วมกับยาอินดาพาไมด์ สามารถทำให้เกิดผลข้างเคียงจากยาอินดาพาไมด์ได้เพิ่มมากขึ้น

สำหรับผู้ที่ได้รับยาอินดาพาไมด์ หากมีอาการ วิงเวียน คลื่นไส้ ควรต้องหลีกเลี่ยงการขับขี่ยวดยานพาหนะต่างๆ และ/หรือการทำงานกับเครื่องจักร ด้วยจะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย นอกจากนี้ผู้ป่วยอาจต้องได้รับการตรวจเลือดเพื่อทดสอบปริมาณสารอิเล็กโทรไลต์(Electrolyte)/เกลือแร่ในเลือดเป็นระยะๆตามคำสั่งแพทย์ผู้รักษา ทั้งนี้เพื่อคอยตรวจสอบความผิดปกติของความดันโลหิต และของสมดุลเกลือแร่ในเลือด นั่นเอง

กรณีของผู้ป่วยโรคเบาหวานและมีโรคความดันโลหิตสูงร่วมด้วย การใช้ยาอินดาพาไมด์ร่วมด้วย สามารถส่งผลต่อระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าความเป็นจริงได้ ผู้ป่วยจึงควรหมั่นตรวจสอบระดับน้ำตาลในเลือดด้วยตนเองตามคำแนะนำของแพทย์ว่า อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมหรือผิดปกติ เพื่อแจ้งให้แพทย์ทราบ เพื่อแพทย์ปรับใช้ยาต่างๆให้เหมาะสมกับผู้ป่วย

ยาอินดาพาไมด์ ไม่มีข้อบ่งใช้ในผู้ป่วยเด็ก ด้วยยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกถึงด้านความปลอดภัยมายืนยันความเหมาะสมว่า ควรใช้ยาอินดาพาไมด์กับเด็กหรือไม่

ยาอินดาพาไมด์ถูกจัดอยู่ในกลุ่มยาอันตราย เพื่อความปลอดภัยของตัวผู้ป่วย การใช้ยานี้จึงต้องอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น และห้ามมิให้ผู้ป่วยไปซื้อหายาอินดาพาไมด์มารับประทานด้วยตนเอง

อินดาพาไมด์มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

อินดาพาไมด์

ยาอินดาพาไมด์มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • ใช้รักษาและบรรเทาโรคความดันโลหิตสูง
  • เป็นยาขับปัสสาวะลดอาการบวมน้ำของร่างกาย

อินดาพาไมด์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาอินดาพาไมด์คือ ตัวยาจะออกฤทธิ์รบกวนการขนส่งเกลือโซเดียมที่อวัยวะไตในบริเวณที่เรียกว่า Renal tubular epithelium ส่งผลให้ไตเร่งขับโซเดียมและน้ำออกจากร่างกายไปกับปัสสาวะ จากกลไกนี้ จึงส่งผลช่วยลดความดันโลหิต รวมถึงอาการบวมน้ำของร่างกายได้ตามสรรพคุณ

อินดาพาไมด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาอินดาพาไมด์มีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาเม็ดชนิดรับประทานแบบออกฤทธิ์นาน ขนาด 1.5 มิลลิกรัม/เม็ด
  • ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 2.5 มิลลิกรัม/เม็ด
  • ยาเม็ดชนิดรับประทานที่ผสมร่วมกับยาอื่น เช่น Perindopril arginine 5 มิลลิกรัม + Indapamide 1.25 มิลลิกรัม /เม็ด

อินดาพาไมด์มีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาอินดาพาไมด์มีขนาดรับประทาน เช่น

ก.เพื่อลดอาการบวมน้ำของร่างกาย:

  • ผู้ใหญ่: รับประทาน 2.5 มิลลิกรัม วันละครั้ง หลังอาหาร แพทย์อาจปรับเพิ่มขนาดรับประทานได้ถึง 5 มิลลิกรัม/วัน หลังจากใช้ยาขนาด 2.5 มิลลิกรัมไปแล้วประมาณ 1 สัปดาห์

ข.บำบัดรักษาโรคความดันโลหิตสูง:

  • ผู้ใหญ่: รับประทาน 1.25 – 2.5 มิลลิกรัม วันละครั้ง หลังอาหาร

*อนึ่ง:

  • เด็ก: ห้ามใช้ยานี้กับเด็กโดยไม่มีคำสั่งแพทย์ผู้รักษา
  • ควรรับประทานยานี้ตรงเวลาในแต่ละวัน
  • เพิ่มความระวัง หากใช้ยานี้กับผู้สูงอายุ ด้วยเป็นกลุ่มผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะโซเดียมในเลือดต่ำ และ/หรือภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำ
  • หลีกเลี่ยงการออกแดดขณะใช้ยานี้ ด้วยตัวยาอินดาพาไมด์สามารถทำให้ผิวของผู้ที่ใช้ยานี้เกิดภาวะผิวแพ้แสงแดดได้ง่าย

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาอินดาพาไมด์ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ เช่น โรคไต โรคตับ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่เพราะยาอินดาพาไมด์ อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตรเพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิด ผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาอินดาพาไมด์ สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2เท่า

แต่อย่างไรก็ดี เพื่อประสิทธิผลของการรักษา ควรรับประทานยาอินดาพาไมด์ตรงเวลา

อินดาพาไมด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาอินดาพาไมด์อาจก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น

  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิด ผื่นคัน ผื่นแพ้แสงแดด
  • ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น เกิดภาวะเกลือโพแทสเซียมในเลือดต่ำ หรือเกลือโซเดียมในเลือดต่ำ มีภาวะน้ำตาลในเลือดสูง ในปัสสาวะมีกรดยูริคเพิ่มมากขึ้น
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น เกิดภาวะท้องอืด ท้องผูกหรือไม่ก็ท้องเสีย ปากแห้ง
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น วิงเวียน ปวดศีรษะ กล้ามเนื้ออ่อนแรง
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำ
  • ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น เกิดภาวะกล้ามเนื้อลายสลาย
  • ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น ปัสสาวะมาก
  • ผลต่อตับ: เช่น มีภาวะตับอักเสบ แต่อาการจะดีขึ้นเมื่อหยุดใช้ยานี้
  • ผลต่อระบบต่อมไร้ท่อ: เช่นเกิดภาวะไทรอยด์ฮอร์โมนสูง(ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ) ลดระดับพาราไทรอยด์ฮอร์โมนของร่างกาย
  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น เกิดภาวะ Thrombocytopenia(ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ) แบบไม่รุนแรงมาก

มีข้อควรระวังการใช้อินดาพาไมด์อย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาอินดาพาไมด์ เช่น

  • ห้ามใช้ในกับผู้ที่แพ้ยานี้ หรือมีประวัติแพ้ยากลุ่มซัลโฟนาไมด์(Sulfonamide)
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีภาวะปัสสาวะขัด ผู้ป่วยโรคตับ โรคไต ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตต่ำ ผู้ที่มีภาวะเกลือโพแทสเซียมในเลือดต่ำ หรือเกลือโซเดียมในเลือดต่ำ
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
  • ควรรับประทานยานี้ตรงเวลา
  • ห้ามหยุดการใช้ยานี้เองโดยไม่ได้ขอคำปรึกษาจากแพทย์
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็ก
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้สูงอายุ ด้วยเป็นกลุ่มเสี่ยงที่สามารถได้รับอาการข้างเคียงจากยานี้ได้มากกว่าผู้ป่วยกลุ่มอื่น
  • ตรวจสอบความดันโลหิตเป็นประจำตาม แพทย์ พยาบาล เภสัชกร แนะนำ เพื่อประเมินประสิทธิภาพของยาอินดาพาไมด์
  • การใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคเบาหวาน สามารถสร้างผลกระทบต่อระดับน้ำตาลในเลือด ให้สูงขึ้นได้ จึงควรหมั่นตรวจสอบค่าน้ำตาลในเลือดตามคำสั่งแพทย์อย่างสม่ำเสมอ
  • แจ้งแพทย์ พยาบาล เภสัชกร ทุกครั้งว่ามียาอื่นใดรับประทานอยู่ก่อน เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะยาตีกัน(ปฏิกิริยาระหว่างยา)กับยาอินดาพาไมด์
  • หลังการใช้ยานี้แล้ว หากยังมีอาการความดันโลหิตสูง หรืออาการไม่ดีขึ้น แต่กลับแย่ลง ต้องรีบกลับมาปรึกษาแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัด เพื่อแพทย์พิจารณษปรับแนวทางการรักษา
  • ปฏิบัติตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร และมาพบแพทย์เพื่อรับการตรวจประเมินร่างกายตามนัดทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาอินดาพาไมด์ด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.comบทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

อินดาพาไมด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาอินดาพาไมด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาอินดาพาไมด์ร่วมกับยา Amiodarone, Droperidol, ด้วยจะทำให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะตามมา
  • ห้ามใช้ยาอินดาพาไมด์ร่วมกับยา Dolasetron ด้วยจะทำให้เกิดอาการ แน่นหน้าอก หัวใจเต้นผิดปกติ ตาพร่า คลื่นไส้ รวมถึงมีอาการชักตามมา
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาอินดาพาไมด์ร่วมกับยา Lithium ด้วยจะทำให้ผู้ป่วยได้รับผลกระทบ/ผลข้างเคียงจากยา Lithium โดยเกิดอาการ ท้องเสีย อาเจียน ง่วงนอน ตัวสั่น กระหายน้ำ ปัสสาวะมาก หรือมีภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรง ตามมา

ควรเก็บรักษาอินดาพาไมด์อย่างไร?

ควรเก็บยาอินดาพาไมด์ในช่วงอุณหภูมิ 20 – 25 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

อินดาพาไมด์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาอินดาพาไมด์ ที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Coversyl Arginine Plus (โคเวอร์ซิล อาร์จินีน พลัส)Servier
Frumeron (ฟรูเมอรอน)Remedica
Inpamide (อินพาไมด์)Central Poly Trading
Intril SR (อินทริล เอสอาร์)Torrent
Napamide (นาพาไมด์)Douglas
Natrilix SR (นาทริลิกซ์ เอสอาร์)Servier
Zarontin (ซารอนติน)Pfizer

บรรณานุกรม

  1. https://www.drugs.com/pro/indapamide.html [2016,Sept10]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Indapamide [2016,Sept10]
  3. http://www.mims.com/thailand/drug/info/indapamide/?type=brief&mtype=generic [2016,Sept10]
  4. https://www.drugs.com/cons/indapamide.html [2016,Sept10]
  5. https://www.drugs.com/sfx/indapamide-side-effects.html [2016,Sept10]
  6. https://www.drugs.com/pro/indapamide.html [2016,Sept10]
  7. https://www.drugs.com/drug-interactions/indapamide-index.html?filter=3&generic_only= [2016,Sept10]