อินซูลิน ดีทีเมียร์ (Insulin determir)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 25 มิถุนายน 2560
- Tweet
- บทนำ
- อินซูลิน ดีทีเมียร์มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- อินซูลิน ดีทีเมียร์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- อินซูลิน ดีทีเมียร์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- อินซูลิน ดีทีเมียร์มีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมฉีดยาควรทำอย่างไร?
- อินซูลิน ดีทีเมียร์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้อินซูลิน ดีทีเมียร์อย่างไร?
- อินซูลิน ดีทีเมียร์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาอินซูลิน ดีทีเมียร์อย่างไร?
- อินซูลิน ดีทีเมียร์มีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- เบาหวาน (Diabetes mellitus)
- รู้ทันโรคเบาหวาน (Diabetes mellitus)
- เบาหวานในเด็กและวัยรุ่น (Juvenile diabetes mellitus)
- เบาหวานกับการตั้งครรภ์ (Diabetes mellitus and pregnancy)
- เบาหวานขึ้นตา เบาหวานกินตา (Diabetic retinopathy)
- ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำในผู้ป่วยเบาหวาน (Hypoglycemia)
- ยาเบาหวาน หรือ ยารักษาโรคเบาหวาน (Antidiabetic agents)
- วิธีฉีดอินซูลินให้ตนเอง (How to inject insulin)
บทนำ
ยาอินซูลินดีทีเมียร์(Insulin determir) เป็นฮอร์โมนอินซูลิน อะนาล็อก(Insulin analogue)/ฮอร์โมนอินซูลินชนิดดัดแปลง นักวิทยาศาสตร์ได้ใช้เทคโนโลยีทางพันธุวิศวกรรมกับเชื้อยีสต์(Yeast)ที่มีชื่อว่า Saccharomyces cerevisiae และนำยีสต์ที่ผ่านการตัดต่อสารพันธุกรรมมาผลิตเป็นยาอินซูลินดัดแปลงดังกล่าว ยาอินซูลินดีทีเมียร์ ชนิดนี้มีความแตกต่างกับฮอร์โมนอินซูลินธรรมชาติของมนุษย์เล็กน้อย และสามารถออกฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดได้นานมากกว่า 24 ชั่วโมง(Long-acting insulin)โดยยาจะออกฤทธิ์ภายใน 1 ชั่วโมงหลังฉีดยา ทางคลินิกได้นำยาอินซูลินชนิดนี้มารักษาอาการของโรคเบาหวานประเภทที่ I และ II
รูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยาอินซูลินดีทีเมียร์เป็นยาฉีด และต้องฉีดเข้าใต้ผิวหนังเท่านั้น กรณีใช้ยาอินซูลินดีทีเมียร์รักษาเบาหวานประเภทที่ 1 อาจต้องใช้อินซูลินประเภทออกฤทธิ์สั้น(Short-acting insulin) ร่วมรักษาด้วย กรณีใช้รักษาเบาหวานประเภทที่ 2 ก็สามารถใช้ร่วมกับยาอินซูลินชนิดอื่นได้เช่นกัน หรือจะใช้ร่วมกับยารักษาเบาหวานประเภทรับประทานก็ได้
ยาอินซูลิน ดีทีเมียร์จะคอยออกฤทธิ์กระตุ้นให้เซลล์เนื้อเยื่อของร่างกาย เช่น กล้ามเนื้อ ดึงน้ำตาลกลูโคส(Glucose)จากกระแสเลือดเข้าสู่กระบวนการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย สงผลทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลงมาใกล้เคียงระดับปกติ
ข้อจำกัดและข้อควรระวังบางประการของการใช้ยาอินซูลินดีทีเมียร์ที่ควรทราบมีดังนี้ เช่น
- ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
- ห้ามฉีดยานี้เข้าหลอดเลือดดำหรือฉีดเข้ากล้ามเนื้อโดยตรง ให้ฉีดเข้าใต้ผิวหนังเท่านั้น ด้วยเหตุให้ตัวยาออกฤทธิ์แบบค่อยเป็นค่อยไป และลดความเสี่ยงต่ออาการน้ำตาลในเลือดต่ำ(อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง “ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำจากเบาหวาน”)
- ห้ามใช้ยาอินซูลินดีทีเมียร์ผสมร่วมกับยาอินซูลินชนิดอื่นก่อนฉีดให้ผู้ป่วย ให้แยกการฉีดอินซูลินดีทีเมียร์ออกจากอินซูลินชนิดอื่น ทั้งนี้เพื่อหลีกเลี่ยงปฏิกิริยาระหว่างสูตรตำรับต่างๆของยาอินซูลิน ซึ่งจะทำให้คุณสมบัติการรักษาเบาหวานสูญเสียไป
- ระหว่างที่ได้รับยาอินซูลินชนิดต่างๆรวมถึงยาอินซูลินดีทีเมียร์ ห้ามดื่มเครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์ ด้วยจะส่งผลทำให้น้ำตาลในเลือดผิดปกติ อาจสูงหรือต่ำ และไม่สอดคล้องต่อการรักษาเบาหวาน
- การใช้ยาอินซูลิน ดีทีเมียร์กับผู้ป่วย โรคตับ โรคไต แพทย์อาจต้องปรับลดขนาดการใช้ยานี้ลงมา ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันมิให้ร่างกายมีปริมาณยาอินซูลิน ดีทีเมียร์เกินกว่าขนาดที่เหมาะสม
- หลีกเลี่ยง/ห้ามใช้ยาอินซูลินดีทีเมียร์รักษาผู้ป่วยเบาหวานที่มีภาวะเกลือ โปแตสเซียมในเลือดต่ำ รวมถึงผู้ป่วยเบาหวานที่มีสภาวะเลือดเป็นกรด
- ห้ามใช้ยาอินซูลิน ดีทีเมียร์ เกินจากคำสั่งแพทย์เพราะจะก่อให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำตามมา
- ยาอินซูลิน ดีทีเมียร์ควรถูกจัดเก็บในตู้เย็นที่มีอุณหภูมิ 2–8 องศาเซลเซียส(Celsius) การเก็บอินซูลินชนิดนี้ภายใต้อุณหภูมิห้องจะทำให้อายุการใช้ยานี้สั้นลง
- ยาอินซูลิน ดีทีเมียร์เป็นยาฉีดชนิดสารละลายใส หากพบว่ามีตะกอนเกิดขึ้นในขวดยา ต้องทิ้งทำลายและห้ามนำมาใช้กับผู้ป่วยเด็ดขาด
- เพื่อความปลอดภัยต่อร่างกายผู้ป่วย ทางการแพทย์อนุญาตการใช้เข็มฉีดยานี้ต่อการใช้ยา 1 ครั้งเท่านั้น ห้ามใช้เข็มฉีดอินซูลินนี้ซ้ำ
- หลีกเลี่ยงการหลงลืมการฉีดยาอินซูลิน ดีทีเมียร์ เพื่อคงระดับน้ำตาลในเลือด ให้เป็นปกติอย่างสม่ำเสมอ
คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้ระบุให้ยาอินซูลินดีทีเมียร์เป็นยาอันตราย ขนาดและระยะเวลาในการใช้ยาต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์เท่านั้น และเราสามารถพบการใช้อินซูลินชนิดนี้ได้ตามสถานพยาบาลโดยทั่วไป
อินซูลิน ดีทีเมียร์มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาอินซูลิน ดีทีเมียร์มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น
- ใช้รักษาโรคเบาหวานทั้งประเภทที่ I และ II
อินซูลิน ดีทีเมียร์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาอินซูลินดีทีเมียร์คือ ตัวยาจะออกฤทธิ์ต่อเซลล์ต่างๆของร่างกาย ส่งผลให้ร่างกายนำกลูโคสในกระแสเลือดเข้าสู่กระบวนการเผาผลาญเป็นพลังงานได้มากยิ่งขึ้น ด้วยกลไกนี้ จึงทำให้ร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดอยู่ในเกณฑ์ปกติ และเป็นที่มาของสรรพคุณ
อินซูลิน ดีทีเมียร์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาอินซูลิน ดีทีเมียร์มีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ยาฉีดชนิดสารละลายใส ที่ประกอบด้วย Insulin detemir ขนาด 100 ยูนิต/มิลลิลิตร
อินซูลิน ดีทีเมียร์มีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
ยาอินซูลิน ดีทีเมียร์มีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา เช่น
ก.สำหรับผู้ป่วยเบาหวานประเภทที่ I:
- ผู้ใหญ่: การใช้ยาอินซูลินดีทีเมียร์ กับเบาหวานประเภท I มักจะใช้ร่วมกับ ยาอินซูลินประเภท Rapid-acting/ Short-acting insulin ขนาดและระยะเวลาของการใช้ยาให้เป็นไปตามคำสั่งแพทย์
- เด็ก: การใช้ยานี้ในเด็ก ที่รวมถึงขนาดยา แพทย์จะพิจารณาเป็นกรณีๆไป และจะต้องอยู่ในการดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด
ข.สำหรับผู้ป่วยเบาหวานประเภทที่ II:
- ผู้ใหญ่: เริ่มต้นฉีดยาเข้าใต้ผิวหนังขนาด 0.1-0.2 ยูนิต/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม วันละ 1 ครั้ง ในช่วงเวลาเย็น หรือแบ่งการฉีดยาออกเป็น 2 ครั้ง เช้า-เย็นตามคำสั่งแพทย์
- เด็ก: การใช้ยานี้ในเด็ก ที่รวมถึงขนาดยา แพทย์จะพิจารณาเป็นกรณีๆไป และจะต้องอยู่ในการดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด
อนึ่ง:
- สามารถฉีดยาอินซูลินดีทีเมียร์ ก่อนหรือหลังรับประทานอาหารก็ได้
- ผู้ป่วย โรคตับ โรคไต แพทย์อาจต้องลดขนาดการใช้ยาลงมาตามความเหมาะสม
- ฉีดยาอินซูลินชนิดนี้ตรงตามเวลา ต่อเนื่องสม่ำเสมอ และต้องไม่ปรับ ขนาดการฉีดยานี้โดยไม่ได้ปรึกษาแพทย์
- เรียนรู้ เทคนิคการฉีดยานี้, การเก็บรักษา, สภาวะมีน้ำตาลในเลือดต่ำหรือสูง จาก แพทย์ พยาบาล เภสัชกร เพื่อดูแลตนเองขณะอยู่ในที่พักอาศัย (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง “วิธีฉีดอินซูลินให้ตนเอง” และเรื่อง “ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำในผู้ป่วยเบาหวาน”)
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาอินซูลินดีทีเมียร์ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคตับ โรคไต โรคหัวใจ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาอินซูลินดีทีเมียร์ อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมฉีดยาควรทำอย่างไร?
หากลืมฉีดยาอินซูลินดีทีเมียร์ สามารถฉีดยาทันทีเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการใช้ยาในครั้งถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า ให้ฉีดยาในขนาดปกติ
อินซูลิน ดีทีเมียร์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาอินซูลินดีทีเมียร์สามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น
- ผลต่อหัวใจ: เช่น อาจพบอาการบวมน้ำซึ่งมีสาเหตุจากการคั่งของเกลือโซเดียมในร่างกาย
- ผลต่อผิวหนัง: เช่น อาจเกิดภาวะไขมันสะสมผิดปกติในบริเวณผิวหนัง
- ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ
- ผลต่อตา: เช่น ผิดปกติของเส้นประสาทตา
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น รู้สึกเจ็บปลายประสาท
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียน ปวดฟัน
- ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น ทางเดินปัสสาวะอักเสบ(โรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ)
- ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น โรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน คออักเสบ หลอดลมอักเสบ ไอ เยื่อจมูกอักเสบ ไซนัสอักเสบ
มีข้อควรระวังการใช้อินซูลิน ดีทีเมียร์อย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาอินซูลินดีทีเมียร์ เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาอินซูลินชนิดนี้
- ห้ามดื่มเครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์ขณะใช้ยานี้ ด้วยจะทำให้ผู้ป่วยมีภาวะ น้ำตาลในเลือดต่ำหรือไม่ก็สูงตามมา
- ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็ก โดยไม่มีคำสั่งแพทย์
- ห้ามปรับขนาดการใช้ยาด้วยตนเอง และต้องใช้ยาตามขนาดที่แพทย์แนะนำ
- ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น ยาตกตะกอน หรือสียาเปลี่ยนไป
- ใช้ยานี้ต่อเนื่องเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้เป็นปกติตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด
- ควรเปลี่ยนตำแหน่งการฉีดยาไม่ให้ซ้ำบริเวณเดิมเพื่อหลีกเลี่ยงผิวหนังอักเสบจากการฉีดยาซ้ำๆรอยเดิม
- ตรวจสอบระดับน้ำตาลในเลือดของตนเองเป็นประจำตาม แพทย์ พยาบาล เภสัชกร แนะนำ
- ควบคุมอาหาร ออกกำลังกาย และพักผ่อนตามที่ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร แนะนำ
- มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อแพทย์ตรวจร่างกายติดตามผลการรักษาตามแพทย์นัดหมายทุกครั้ง
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาอินซูลิน ดีทีเมียร์ด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑเสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
อินซูลิน ดีทีเมียร์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาอินซูลิน ดีทีเมียร์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้ยาอินซูลิน ดีทีเมียร์ร่วมกับ กลุ่มยาMAOIs , Beta blockers , Clonidine , Guanethidine, Lithium, Reserpine, อาจทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมกับสภาพร่างกายผู้ป่วยเป็นรายบุคคลไป
- ห้ามใช้ยาอินซูลิน ดีทีเมียร์ร่วมกับยาThiazolidinediones ด้วยจะทำให้เกิดภาวะหัวใจวายตามมา
- ห้ามใช้ยาอินซูลิน ดีทีเมียร์ร่วมกับยา Gatifloxacin ด้วยจะทำให้ผู้ป่วยมีภาวะ น้ำตาลในเลือดต่ำหรือไม่ก็สูงตามมา
ควรเก็บรักษาอินซูลิน ดีทีเมียร์อย่างไร?
ควรเก็บยาอินซูลินดีทีเมียร์ ภายใต้อุณหภูมิ 2–8 องศาเซลเซียส ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ และเก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น
อินซูลิน ดีทีเมียร์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาอินซูลินดีทีเมียร์ที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า/บริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Levemir FlexPen (เลวีเมียร์ เฟลกซ์เพน) | Novo Nordisk |
บรรณานุกรม
- http://www.ema.europa.eu/docs/en_GB/document_library/EPAR_-_Scientific_Discussion/human/000528/WC500036658.pdf[2017,June3]
- https://medlineplus.gov/druginfo/meds/a606012.html[2017,June3]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Insulin_detemir[2017,June3]
- https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC4203937/[2017,June3]
- https://www.drugs.com/dosage/insulin-detemir.html[2017,June3]
- http://www.mims.com/thailand/drug/info/insulin%20detemir?mtype=generic[2017,June3]
- http://www.mims.com/thailand/drug/info/levemir%20flexpen/?type=brief[2017,June3]
- https://www.drugs.com/dosage/levemir.html[2017,June3]
- http://www.diabetes.co.uk/insulin/insulin-actions-and-durations.html[2017,June3]