อินซูลิน ซิงค์ ซัสเพนชัน (Insulin zinc suspension)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 4 มิถุนายน 2559
- Tweet
- บทนำ
- อินซูลิน ซิงค์ ซัสเพนชันมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- อินซูลิน ซิงค์ ซัสเพนชันมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- อินซูลิน ซิงค์ ซัสเพนชันมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- อินซูลิน ซิงค์ ซัสเพนชันมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมฉีดอินซูลิน ซิงค์ ซัสเพนชันควรทำอย่างไร?
- อินซูลิน ซิงค์ ซัสเพนชันมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้อินซูลิน ซิงค์ ซัสเพนชันอย่างไร?
- อินซูลิน ซิงค์ ซัสเพนชันมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาอินซูลิน ซิงค์ ซัสเพนชันอย่างไร?
- อินซูลิน ซิงค์ ซัสเพนชันมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- เบาหวาน (Diabetes mellitus)
- รู้ทันโรคเบาหวาน (Diabetes mellitus)
- เบาหวานในเด็กและวัยรุ่น (Juvenile diabetes mellitus)
- เบาหวานกับการตั้งครรภ์ (Diabetes mellitus and pregnancy)
- ยาอินซูลิน (Insulin)
บทนำ
อินซูลิน (Insulin) เป็นฮอร์โมนที่ผลิตได้จากตับอ่อนทำหน้าที่กระตุ้นให้เซลล์ของร่างกายสามารถใช้น้ำตาลกลูโคส (Glucose) ในกระแสเลือดได้ สำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะพร่องฮอร์โมนอินซูลินจะเกิดภาวะ/โรคเบาหวานประเภทที่ 1 (Diabetes type 1) ซึ่งผู้ป่วยควรต้องได้รับการตรวจร่างกายจากแพทย์ยืนยันก่อนเสมอ ยาอินซูลิน ซิงค์ ซัสเพนชัน (Insulin zinc suspension) เป็นยาที่เป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการรักษาโรคเบาหวาน โดยตัวยาถูกสกัดมาจากตับอ่อนของสุกรหรือบางสูตรตำรับยาจะสกัดมาจากตับอ่อนของมนุษย์ซึ่งทำให้มีราคาจำหน่ายสูงขึ้น
ข้อจำกัดการใช้ยาอินซูลิน ซิงค์ ซัสเพนชันมีอยู่ไม่กี่ประการเช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้และ/หรือแพ้ส่วนประกอบในสูตรตำรับยานี้ และในผู้ที่มีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำอยู่แล้ว
- กลุ่มสตรีตั้งครรภ์กับสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตรเป็นกลุ่มผู้ป่วยที่ต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษจากแพทย์หากมีความจำเป็นต้องใช้ยานี้
- สำหรับผู้ป่วยบางรายที่มีโรคประจำตัวและมีการใช้ยาชนิดอื่นๆอยู่แล้วก็อาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอินซูลิน ซิงค์ ซัสเพนชันได้เช่น มีการใช้ยา Diltiazem, Gemfibrozil หรือยากลุ่ม Tocolytics (ยาลดการบีบตัวของมดลูก) อย่าง Ritodrine ก็สามารถทำให้ประสิทธิภาพในการรักษาของยาอินซู ลิน ซิงค์ ซัสเพนชันด้อยลงไป หรือการใช้ยาอินซูลิน ซิงค์ ซัสเพนชันร่วมกับยากลุ่ม Beta-blockers, Fenfluramine, ยากลุ่ม MAOIs, Penicillamine, Aspirin, Tetracyclines รวมถึงการดื่มสุรา/เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ร่วมกับยาอินซูลิน ซิงค์ ซัสเพนชัน ล้วนแล้วแต่ส่งผลให้มีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำตามมา ดังนั้นผู้ป่วยควรแจ้งให้แพทย์และเภสัชกรทราบทุกครั้งว่ามีการใช้ยาอะไรอยู่บ้างหรือไม่
ยาอินซูลิน ซิงค์ ซัสเพนชันเป็นยาอินซูลินชนิดที่ถูกผลิตขึ้นมาในลักษณะของยาฉีด ปกติจะพบเห็นการใช้แต่ในสถานพยาบาล หากมีความจำเป็นที่ผู้ป่วยต้องนำกลับมาใช้ที่บ้าน จะต้องเรียนรู้เทคนิคและหัตถการในการใช้ยานี้อย่างถูกต้องจากแพทย์พยาบาลหรือเภส้ชกร รวมถึงวิธีเก็บรักษายานี้ และการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ว่าหมดอายุหรือไม่
บางครั้งร่างกายของผู้ป่วยที่ได้รับยาอินซูลิน ซิงค์ ซัสเพนชันอาจเกิดอาการข้างเคียง (ผลข้างเคียง) ต่างๆได้เช่น วิงเวียน ง่วงนอน ตาพร่า หรือ
กรณีที่ได้รับยาอินซูลิน ซิงค์ ซัสเพนชันเกินขนาด สามารถพบอาการหนาวสั่น วิงเวียน เป็นลม ปวดศีรษะ ง่วงนอน หัวใจเต้นเร็ว หิวอาหารบ่อย กระสับกระส่าย รู้สึกสับสน เกิดอาการชัก เหงื่อออกมาก ตัวสั่น และอ่อนเพลีย เป็นต้น
ผู้ป่วยโรคเบาหวานควรต้องเรียนรู้การปรับและปฏิบัติตัวอย่างเหมาะสมอย่างเช่น การควบคุมอาหาร การเรียนรู้ถึงการปฐมพยาบาลเบื้องต้นจากแพทย์พยาบาลเมื่อมีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำหรือภาวะน้ำตาลในเลือดสูง และประเด็นที่สำคัญจะต้องใช้ยาอินซูลิน ซิงค์ ซัสเพนชันตรงตามคำสั่งของแพทย์อย่างเคร่งครัดเสมอ
อินซูลิน ซิงค์ ซัสเพนชันมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
ยาอินซูลิน ซิงค์ ซัสเพนชันมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เพื่อรักษาโรคเบาหวานประเภทที่ 1 (Type 1 diabetes)
อินซูลิน ซิงค์ ซัสเพนชันมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาอินซูลิน ซิงค์ ซัสเพนชันคือ ตัวยาจะเข้าจับกับตัวรับ (Receptor) ในเซลล์ต่างๆที่เรียกว่า อินซูลิน รีเซพเตอร์ (Insulin receptor) ทำให้มีการนำน้ำตาลกลูโคสในกระแสเลือดเข้าสู่เซลล์ของร่างกายเช่น กล้ามเนื้อ ร่างกายจึงสามารถนำน้ำตาลฯมาใช้เผาผลาญเกิดเป็นพลังงานที่ใช้ในร่างกายซึ่งช่วยทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลงได้
อินซูลิน ซิงค์ ซัสเพนชันมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาอินซูลิน ซิงค์ ซัสเพนชันมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็นยาฉีดขนาด 100 ยูนิต/มิลลิลิตร
อินซูลิน ซิงค์ ซัสเพนชันมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
ขนาดการใช้ยา/การบริหารยาอินซูลิน ซิงค์ ซัสเพนชันนั้นไม่สามารถระบุได้เพราะจะแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละราย จะขึ้นอยู่กับแพทย์ผู้ทำการรักษาโดยมีข้อมูลทางการแพทย์เช่น ผลค่าน้ำตาลในเลือดและอายุผู้ป่วยเป็นข้อมูลประกอบในการปรับขนาดยาของแพทย์
อนึ่งมีขั้นตอนในการปฏิบัติ/ในการฉีดยานี้ดังนี้
- ล้างมือทำความสะอาดก่อนจะใช้ยา
- เขย่าขวดยาให้ตัวยาภายในขวดกระจายตัวเข้ากันดี และสังเกตในขวดยาจะต้องไม่มีฝุ่นผง ใดๆปะปนลงไป แต่ถ้ามีฯห้ามใช้ยานั้นให้ทิ้งยานั้นไป
- ทำความสะอาดผิวหนังบริเวณจะฉีดยาด้วยแอลกอฮอล์ 70% (แอลกอฮอล์ทำแผล) จากนั้นตรึงผิวหนังให้แผ่ออกไม่ให้มีรอยย่น แล้วทำการฉีดยาตามหลักหัตถการที่ถูกต้องตามที่แพทย์พยาบาลแนะนำ
- การฉีดยานี้แพทย์/พยาบาลจะแนะนำให้หลีกเลี่ยงการฉีดยาซ้ำๆต่อเนื่องในบริเวณเดิมทั้งนี้เพื่อป้องกันอาการระคายเคืองทางผิวหนัง ซึ่งโดยทั่วไปแพทย์/พยาบาล/เภสัชกรจะแนะนำฉีดยานี้ที่ผิวหนังในส่วนหน้าท้อง
- หลังการฉีดยานี้ควรเฝ้าระวังว่าจะเกิดอาการน้ำตาลในเลือดต่ำหรือไม่ โดยสังเกตจากมีอาการ วิงเวียน ปวดศีรษะ เหงื่อออกมาก เป็นลม ง่วงนอน เป็นต้น
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาอินซูลิน ซิงค์ ซัสเพนชัน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและ เภสัชกรดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาอินซูลิน ซิงค์ ซัสเพนชัน อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมฉีดอินซูลิน ซิงค์ ซัสเพนชันควรทำอย่างไร?
หากลืมฉีดอินซูลิน ซิงค์ ซัสเพนชันสามารถฉีดยาอินซูลินฯเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการใช้ในครั้งถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
อินซูลิน ซิงค์ ซัสเพนชันมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาอินซูลิน ซิงค์ ซัสเพนชันสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้เช่น
- ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดอาการผื่นคัน ปวดบริเวณที่ฉีดยา มีเหงื่อออกมาก
- ผลต่อระบบการหายใจ: เช่น แน่นหน้าอก/หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก
- ผลต่อการมองเห็น: เช่น เกิดภาวะตาพร่า การมองภาพไม่ชัดเจน
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น มีอาการมือสั่น วิงเวียน ง่วงนอน ปวดศีรษะ อาจมีภาวะชัก กระสับ กระส่าย หมดสติ
- ผลต่อหัวใจ: เช่น ชีพจรเต้นเร็วขึ้น
มีข้อควรระวังการใช้อินซูลิน ซิงค์ ซัสเพนชันอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาอินซูลิน ซิงค์ ซัสเพนชันเช่น
- ห้ามใช้กับผู้ป่วยที่มีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ
- ห้ามใช้กับผู้ป่วยที่แพ้ยานี้และ/หรือแพ้ส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์ของอินซูลิน ซิงค์ ซัสเพนชัน
- ห้ามใช้ผลิตภัณฑ์ยาอินซูลินชนิดอื่นร่วมในการรักษาโดยไม่มีคำสั่งแพทย์
- ห้ามดื่มสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์หลังได้รับยาอินซูลิน ซิงค์ ซัสเพนชัน
- ระวังการใช้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ
- หากเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำควรรับประทานอาหารหรือดื่มเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลเช่น น้ำ หวานเพื่อช่วยประทังอาการน้ำตาลในเลือดต่ำก่อนไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัด
- ตรวจสอบระดับน้ำตาลในเลือดด้วยตนเองว่าเป็นปกติหรือไม่เสมอตามแพทย์พยาบาลแนะนำ
- ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์/พยาบาล/เภสัชกรอย่างเคร่งครัดเช่น ควบคุมอาหาร การออกกำลังกาย และการพักผ่อนอย่างเหมาะสม
- มารับการตรวจเลือดที่สถานพยาบาลและมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดทุกครั้ง
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมอินซูลิน ซิงค์ ซัสเพนชันด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
อินซูลิน ซิงค์ ซัสเพนชันมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาอินซูลิน ซิงค์ ซัสเพนชันมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นเช่น
- การใช้ยาอินซูลิน ซิงค์ ซัสเพนชันร่วมกับยาต้านเบาหวานชนิดอื่น, ยาในกลุ่ม ACE inhibitors, ยากลุ่ม MAOIs, ยาต้านแบคทีเรีย/ยาปฏิชีวนะกลุ่มซัลโฟนาไมด์ (Sulfonamide) จะส่งผลให้ลดน้ำตาลในกระแสเลือดมากยิ่งขึ้น การใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดของยาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยเป็นกรณีไป
- การใช้ยาอินซูลิน ซิงค์ ซัสเพนชันร่วมกับยาต้านแบคทีเรียเช่น Doxycycline สามารถทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำยิ่งขึ้น การใช้ยาร่วมกันผู้ป่วยควรต้องควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดว่าปกติดีหรือไม่ตามแพทย์แนะนำ
- ห้ามใช้ยาอินซูลิน ซิงค์ ซัสเพนชันร่วมกับการดื่มสุรา/เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพราะสามารถทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงหรือต่ำก็ได้ อีกทั้งส่งผลเสียต่อการรักษาเพราะทำให้ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ได้
ควรเก็บรักษาอินซูลิน ซิงค์ ซัสเพนชันอย่างไร?
ควรเก็บยาอินซูลิน ซิงค์ ซัสเพนชันในที่เย็นภายใต้อุณหภูมิ 30 องศาเซลเซียส (Celsius) และห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
อินซูลิน ซิงค์ ซัสเพนชันมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาอินซูลิน ซิงค์ ซัสเพนชันที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าและบริษัทผู้ผลิตเช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
LENTE ILETIN II (เลนเต ไอเลติน II) | Eli Lilly |
Humulin U (ฮิวมูลิน ยู) | Eli Lilly |
บรรณานุกรม
- https://www.drugs.com/drp/insulin-zinc-suspension.html [2016,May14]
- http://www.drugs.com/cdi/insulin-zinc-suspension-extended.html [2016,May14]
- http://www.drugs.com/cdi/lente-iletin-ii-suspension.html [2016,May14]
- https://www.drugs.com/drp/iletin-ii-lente-pork-100-units.html [2016,May14]
- http://www.drugs.com/pro/humulin-u.html [2016,May14]