อินซูลินกลาร์จีน (Insulin glargine)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาอินซูลินกลาร์จีน(Insulin glargine) เป็นอินซูลินที่ถูกผลิตโดยแบคทีเรียที่มีชื่อว่า Escherichia coli (E.coli สายพันธุ์ K12) นักวิทยาศาสตร์ได้ใช้เทคโนโลยีพันธุวิศวกรรมตัดต่อยีน/จีน(Gene)บนโครโมโซมของแบคทีเรียชนิดนี้ และทำให้มันผลิตฮอร์โมนอินซูลินที่สามารถออกฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดในผู้ป่วยเบาหวาน/โรคเบาหวานทั้งประเภท I และ II ได้ยาวนานถึง 18–26 ชั่วโมง(Long acting insulin โดยตัวยาจะออกฤทธิ์ภายใน 1 ชั่วโมงหลังฉีดยา) กรณีที่ใช้รักษาเบาหวานประเภทที่ II ยาอินซูลินกลาร์จีนสามารถใช้ร่วมกับยารักษาเบาหวานชนิดรับประทานก็ได้ ทางคลินิก สามารถนำอินซูลินชนิดนี้มาใช้กับผู้ป่วยเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป รวมถึงผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ

ทางการแพทย์มีข้อห้ามและข้อจำกัดการใช้งานของยาอินซูลินกลาร์จีนที่ผู้ป่วย/ผู้บริโภคควรทราบ อาทิ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยาอินซูลินกลาร์จีนกับผู้ป่วยเบาหวานที่มีสภาวะเลือดเป็นกรดที่ เรียกว่า Diabetic ketoacedosis(DKA) ผู้ป่วยเบาหวานกลุ่มนี้ร่างกายมักจะมีอาการจากภาวะขาดน้ำร่วมด้วย แพทย์จึงต้องรักษาภาวะขาดน้ำดังกล่าวเสียก่อน ทั่วไป แพทย์จะให้สารน้ำชนิด 0.9% Sodium chloride จากนั้นจึงจะใช้ยาอินซูลินตามลำดับ
  • ห้ามใช้ยาอินซูลินทุกชนิดรวมถึงยาอินซูลินกลาร์จีนกับผู้ป่วยเบาหวานที่มีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำเพราะจะทำให้อาการของผู้ป่วยทรุดหนักกว่าเดิมจนถึงขั้นหมดสติ
  • อินซูลินกลาร์จีน จะต้องถูกจัดเก็บในตู้เย็นที่ช่วงอุณหภูมิ 2–8 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บในช่องแช่แข็งตู้เย็น ด้วยจะทำให้เสียสภาพทางกายภาพของตัวยา การเก็บยาอินซูลินกลาร์จีนแบบบรรจุไวอัล(Vial) นอกตู้เย็นภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส จะทำให้อายุการใช้งานไม่เกิน 28 วัน กรณีเป็นประเภทปากกาอินซูลิน (Penfill) เก็บภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส จะมีอายุการใช้งานไม่เกิน 42 วัน
  • ปกติ ยาอินซูลินชนิดนี้จะมีลักษณะใส หากพบว่าตัวยาอินซูลินกลาร์จีนมีตะกอนหรือขุ่น ต้องทิ้งทำลายและห้ามใช้โดยเด็ดขาด
  • หากพบเห็นผู้ป่วยเบาหวานหมดสติ ห้ามฉีดอินซูลินชนิดนี้ให้ผู้ป่วยต้องนำ ผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล และให้แพทย์ประเมินอาการว่าผู้ป่วยเบาหวานหมดสติจากสาเหตุใด ด้วยภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำหรือสูง หรือเกิดจากสาเหตุอื่น
  • กรณีที่ใช้อินซูลินกลาร์จีนร่วมกับอินซูลินชนิดอื่นๆ ห้ามนำอินซูลินทั้ง 2 ชนิด มาผสมรวมกันโดยเด็ดขาด ให้ฉีดอินซูลินแต่ละชนิดแยกกันคนละครั้ง
  • หลีกเลี่ยงการฉีดยาอินซูลิน กลาร์จีนซ้ำตรงบริเวณผิวหนังตำแหน่งเดิมด้วยจะทำให้เกิดภาวะผิวหนังอักเสบตามมา
  • ห้ามปรับเพิ่มหรือลดขนาดการฉีดยาอินซูลินทุกชนิดรวมยาอินซูลินกลาร์จีนโดยมิได้ขอคำปรึกษาจากแพทย์
  • ยาอินซูลิน กลาร์จีนอาจทำให้เกิดอาการแพ้ยาได้เช่นเดียวกับยาชนิดอื่น เช่น เกิดผื่นคันเต็มตัว หายใจลำบาก หัวใจเต้นเร็ว เหงื่อออกมาก ใบหน้า-ลิ้น-คอ มีอาการบวม วิงเวียน ง่วงนอนรุนแรง ตลอดจนทำให้รู้สึกสับสน หากพบเห็น อาการเหล่านี้ ต้องรีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน

คณะกรรมการอาหารและยาของไทย ได้บรรจุยาอินซูลินกลาร์จีน ลงในบัญชียาหลักแห่งชาติ และระบุเงื่อนไขการใช้งานดังนี้ คือ “ใช้เฉพาะผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ที่ใช้ Multiple daily insulin injections สูตรที่ฉีด NPH insulin ก่อนนอนแล้วมีภาวะน้ำตาลต่ำในเลือดอย่างรุนแรง หรือน้ำตาลต่ำในเลือดช่วงกลางคืน (Nocturnal hypoglycemia)บ่อยครั้งจนรบกวนการดำเนินชีวิตตามปกติ และผู้ป่วยควรตรวจระดับน้ำตาลในเลือดด้วยตนเองอย่างสม่ำเสมอตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร เพื่อให้การใช้ยา Insulin glargine เกิดประโยชน์สูงสุด” ทั้งนี้Multiple daily insulin injections หมายถึง การฉีดยาอินซูลินวันละหลายครั้งตามมื้ออาหารและก่อนนอน

ในประเทศไทยมีการจัดจำหน่ายยาอินซูลิน กลาร์จีนภายใต้ชื่อการค้าว่า Lantus , Basalin และ Glaritus ผู้บริโภคจะสามารถพบเห็นการใช้อินซูลินประเภทนี้ได้ทั้งในสถานพยาบาลของรัฐและของเอกชนโดยทั่วไป

อินซูลิน กลาร์จีนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

อินซูลินกลาร์จีน

ยาอินซูลิน กลาร์จีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • ใช้รักษาโรคเบาหวานทั้งประเภทที่ I และ II

อินซูลิน กลาร์จีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาอินซูลินกลาร์จีน มีกลไกการออกฤทธิ์โดย ตัวยาจะออกฤทธิ์ในบริเวณเซลล์กล้ามเนื้อรวมถึงเซลล์ไขมัน ส่งผลให้เซลล์เหล่านั้น/ร่างกายนำน้ำตาลกลูโคส(Glucose)ในกระแสเลือดมาใช้ให้เกิดประโยชน์ และยังช่วยยับยั้งการปลดปล่อยน้ำตาลกลูโคสจากตับเข้าสู่กระแสเลือด ด้วยกลไกเหล่านี้จึงทำให้ร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดอยู่ในเกณฑ์ปกติและเป็นที่มาของสรรพคุณ

อินซูลิน กลาร์จีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาอินซูลินกลาร์จีน เป็นยาฉีดที่เป็นสารละลายใส โดยมีรูปแบบเภสัชภัณฑ์ดังนี้

  • ขวดไวอัล(Vial) ที่บรรจุยา Insulin glargine ขนาด 1,000 ยูนิต/10 มิลลิลิตร
  • ปากกาอินซูลิน พร้อมใช้งานที่บรรจุ Insulin glargine ขนาด 300 ยูนิต/3 มิลลิลิตร และ 500 ยูนิต/5 มิลลิลิตร

อินซูลิน กลาร์จีนมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยาอินซูลิน กลาร์จีนมีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา เช่น

  • ผู้ใหญ่: เริ่มต้นฉีดยาเข้าใต้ผิวหนังขนาด 10 ยูนิต วันละ 1 ครั้ง ขนาดที่ใช้ในการรักษา ทั่วไปอยู่ที่ 2–100 ยูนิต/วัน
  • เด็กอายุตั้งแต่ 6 ปี ขึ้นไป: ให้ใช้ยาตามคำสั่งแพทย์โดยฉีดยาวันละ 1 ครั้ง
  • เด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี: ทางคลินิก ยังไม่มีข้อมูลด้านความปลอดภัยในการใช้ยานี้

อนึ่ง:

  • ผู้ป่วย โรคตับ โรคไต แพทย์อาจต้องปรับลดขนาดการใช้ยาลงมาตามความเหมาะสม
  • ฉีดยาอินซูลินชนิดนี้ตรงตามเวลา ซึ่งอาจเป็นก่อนอาหาร ระหว่างอาหาร หรือหลังอาหาร ขึ้นกับคำสั่งแพทย์ ฉีดต่อเนื่องสม่ำเสมอตามคำสั่งแพทย์เช่นกัน และไม่ควรปรับขนาดการฉีดยาโดยไม่ได้ปรึกษาแพทย์
  • เรียนรู้ เทคนิคการฉีดยา การเก็บรักษา สภาวะมีน้ำตาลในเลือดต่ำหรือสูง จากแพทย์ พยาบาล เภสัชกร เพื่อดูแลตนเองขณะอยู่ในที่พักอาศัย (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง “วิธีฉีดอินซูลินให้ตนเอง” และเรื่อง “ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำในโรคเบาหวาน”

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาอินซูลินกลาร์จีน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคตับ โรคไต โรคหัวใจ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาอินซูลินกลาร์จีน อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมฉีดยาควรทำอย่างไร?

หากลืมฉีดยาอินซูลินกลาร์จีน สามารถฉีดยาทันทีเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการใช้ยาในครั้งถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า ให้ฉีดยาในขนาดปกติ

อินซูลิน กลาร์จีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาอินซูลินกลาร์จีนสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น

  • ผลต่อหัวใจ: เช่น ความดันโลหิตสูง บวมตามปลายมือ-เท้า
  • ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ และอาจทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น
  • ผลต่อตา: เช่น การมองเห็นผิดปกติ
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น ปวดศีรษะ รู้สึกเจ็บปลายประสาท
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น กระเพาะอาหารอักเสบ ลำไส้อักเสบ
  • ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น ปวดกล้ามเนื้อ
  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น โรคติดเชื้อในทางเดินหายใจส่วนบน คออักเสบ เยื่อจมูกอักเสบ ไซนัสอักเสบ

มีข้อควรระวังการใช้อินซูลิน กลาร์จีนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาอินซูลิน กลาร์จีน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาอินซูลินชนิดนี้
  • ห้ามดื่มเครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์ขณะใช้ยานี้ ด้วยจะทำให้ผลข้างเคียงจากยารุนแรงขึ้น โดยเฉพาะระดับน้ำตาลในเลือดอาจสูงหรือต่ำจนเกิดอันตราย
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็ก โดยไม่มีคำสั่งแพทย์
  • ห้ามปรับขนาดการใช้ยานี้ด้วยตนเอง และต้องใช้ยานี้ตามขนาดที่แพทย์แนะนำ
  • ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น น้ำยาขุ่น หรือตกตะกอน
  • ใช้ยานี้ต่อเนื่องเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้เป็นปกติตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด
  • ควรเปลี่ยนตำแหน่งการฉีดยาไม่ให้ซ้ำบริเวณเดิม เพื่อหลีกเลี่ยงผิวหนังอักเสบในตำแหน่งที่ฉีดยา
  • ตรวจสอบระดับน้ำตาลในเลือดของตนเองเป็นประจำตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร
  • ควบคุมอาหาร ออกกำลังกาย และพักผ่อน ตามที่ แพทย์ พยาบาล เภสัชกรแนะนำ
  • มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาล เพื่อการตรวจร่างกายและการตรวจเลือด ตาม แพทย์นัดหมายทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาอินซูลิน กลาร์จีนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และ สมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

อินซูลิน กลาร์จีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาอินซูลินกลาร์จีน มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยาอินซูลิน กลาร์จีนร่วมกับ ยารักษาเบาหวานชนิดอื่น , กลุ่มยาMAOIs, ACE inhibitor, Salicylates , Disopyramide, Fibrates, Fluoxetine, Propoxyphene, Somatostatin analog ,Beta blockers, อาจทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับลดการใช้ยาอินซูลิน กลาร์จีนลงมาให้เหมาะสมกับสภาพร่างกายผู้ป่วย
  • การใช้ยาอินซูลินกลาร์จีนร่วมกับ ยาเม็ดคุมกำเนิด , Thiazides, ยาไทรอยด์ฮอร์โมน, Corticosteroids, Niacin, Danazol, Sympathomimetics, Isoniazid, Phenothiazine , Somatropin , Lithium, จะเกิดการรบกวนการออกฤทธิ์ ของยาอินซูลิน กลาร์จีนจนทำให้ประสิทธิภาพการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดของยาอินซูลินกลาร์จีนด้อยลง หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับเพิ่มขนาดการใช้ ยาอินซูลินกลาร์จีนตามความเหมาะสมเป็นกรณีไป
  • ห้ามใช้ยาอินซูลิน กลาร์จีนร่วมกับยา Gatifloxacin ด้วยจะทำให้ผู้ป่วยมีภาวะ น้ำตาลในเลือดต่ำหรือไม่ก็สูงตามมา

ควรเก็บรักษาอินซูลิน กลาร์จีนอย่างไร?

ควรเก็บยาอินซูลินกลาร์จีน ภายใต้อุณหภูมิ 2–8 องศาเซลเซียส ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือรถยนต์

อินซูลิน กลาร์จีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาอินซูลินกลาร์จีนที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Basalin (บาซาลิน)Gan & Lee/LG Life Sciences
Glaritus (กลาริทัส)Wockhardt Limited/Berlin Pharm
Lantus (แลนทัส)sanofi-aventis

อนึ่ง ยาชื่อการค้าอื่นของยานี้ เช่น Basaglar,Toujeo

บรรณานุกรม

  1. http://www.ema.europa.eu/docs/en_GB/document_library/EPAR_-_Scientific_Discussion/human/000284/WC500036075.pdf[2017,June3]
  2. https://www.lantus.com/[2017,June3]
  3. https://www.drugs.com/mtm/insulin-glargine.html[2017,June3]
  4. http://www.mims.com/thailand/drug/info/insulin%20glargine/?type=brief&mtype=generic[2017,June3]
  5. http://www.mims.com/thailand/drug/info/lantus/?type=brief [2017,June3]
  6. http://www.mims.com/thailand/drug/info/glaritus/?type=brief[2017,June3]
  7. http://drug.fda.moph.go.th:81/nlem.in.th/medicine/essential/list/104#item-10252[2017,June3]
  8. https://www.drugs.com/drug-interactions/gatifloxacin-with-insulin-glargine-1161-0-1344-0.html[2017,June3]
  9. https://www.drugs.com/sfx/insulin-glargine-side-effects.html[2017,June3]
  10. http://www.diabetes.co.uk/insulin/insulin-actions-and-durations.html[2017,June3]