อาเจียนเป็นเลือด (Hematemesis)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ:คือโรคอะไร?พบบ่อยไหม?

อาเจียนเป็นเลือด, กระอักเลือด, หรือ อาเจียนปนเลือด(Hematemesis หรือ Vomiting blood)คือ อาการที่ผู้ป่วยอ้วกออกมาเป็นเลือดหรือมีเลือดปน ทั่วไปมักเป็นเลือดสด แต่บางครั้งเมื่อเลือดออกจากกระเพาะอาหารหรือลำไส้เล็กตอนบน อาเจียนอาจเป็นสีคล้ำคล้ายสีกาแฟ (Coffee ground) เนื่องจากเป็นสีของเลือดที่เปลี่ยนไปจากถูกกรดในกระเพาะอาหาร

อาเจียนเป็นเลือด/กระอักเลือด/อาเจียนปนเลือด พบทุกอายุโดยขึ้นกับสาเหตุ เช่น จากการอักเสบของกระเพาะอาหารรุนแรงจากแพ้โปรตีนบางชนิดในเด็กอ่อน (นิยามคำว่าเด็ก), หรือจากโรคมะเร็งกระเพาะอาหารในผู้สูงอายุ เป็นต้น แต่โดยทั่วไป เป็นอาการมักพบในผู้ใหญ่ ซึ่งโอกาสเกิดใกล้เคียงกันทั้งในเพศหญิงและในเพศชาย ทั้งนี้ ในแต่ละปี สหรัฐอเมริกามีรายงานพบผู้ป่วยมีอาการนี้ได้ประมาณ 100 ครั้ง (บางคนอาจมีอาการได้มากกว่า 1 ครั้ง) ต่อประชากร 100,000 แสนคน

อาเจียนเป็นเลือดเกิดได้อย่างไร? มีสาเหตุจากอะไร?

อาเจียนเป็นเลือด

อาเจียนเป็นเลือด/กระอักเลือด/ อาเจียนปนเลือด เกิดจากมีภาวะเลือดออกในทางเดินอาหารตอนบนซึ่งได้แก่ หลอดอาหาร, กระเพาะอาหาร, และลำไส้เล็กส่วน บนที่เรียกว่า ดูโอดีนัม(Duodenum), และบางครั้งอาจเกิดจากแผลในลำคอ

  • ซึ่งเมื่อเกิดจากทางเดินอาหารตอนบน ปริมาณเลือดที่ออกจะค่อนข้างมาก
  • แต่ถ้าเกิดจากแผลในลำคอ ปริมาณเลือดที่ออกจะน้อยกว่าโดยอาจออกมาปนกับน้ำลาย

สาเหตุที่ทำให้เกิดเลือดออกในทางเดินอาหารตอนบน(อาเจียนเป็นเลือด/กระอักเลือด/ อาเจียนปนเลือด) : ได้แก่

  • การมีเลือดออกจากเนื้อเยื่อเมือกบุภายในอวัยวะของระบบทางเดินอาหารตอนบน จากมีการอักเสบรุนแรง เช่น
    • หลอดอาหารอักเสบ หรือหลอดอาหารมีแผล
    • กระเพาะอาหารอักเสบ หรือ แผลในกระเพาะอาหาร ซึ่งอาจเกิดจากการติดเชื้อ เช่นจาก โรคติดเชื้อเอชไพโลไร, จากผลข้างเคียงของยาบางชนิด เช่น ยาต้านการอักเสบในกลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs, Non-steroidal anti-inflammatory drugs เช่น ยาไอบูโปรเฟน/ Ibuprofen)
  • จากใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น ยาแอสไพริน, หรือยาป้องกันเกิดลิ่มเลือดในโรคหลอดเลือดสมอง (โรคอัมพาต), หรือในโรคหัวใจ:โรคหลอดเลือดหัวใจ
  • มีการฉีกขาดของเนื้อเยื่อเมือกบริเวณรอยต่อระหว่างหลอดอาหารกับกระเพาะอาหาร (โรค Mollory-Weiss tear) จากการไอหรืออาเจียนหรือขย้อนอาหารอย่างรุนแรง
  • จากอุบัติเหตุต่อเนื้อเยื่อ /อวัยวะในระบบทางเดินอาหารตอนบน เช่น จากการส่องกล้องตรวจระบบทางเดินอาหาร, การกินกรด, หรือด่าง
  • มีหลอดเลือดแตกจากหลอดเลือดโป่งพองในทางเดินอาหารตอนบน หรือหลอดเลือดเปราะแตกง่าย เช่น ในโรคตับแข็ง หรือในโรคไตเรื้อรัง
  • เลือดออกจากก้อน/แผลมะเร็ง เช่น ในมะเร็งหลอดอาหาร, มะเร็งกระเพาะอาหาร
  • จากความผิดปกติของหลอดเลือด(โรคหลอดเลือด)ในระบบทางเดินอาหารซึ่งสาเหตุนี้พบน้อยมาก
  • มีผู้ป่วยประมาณ5-10%ที่แพทย์ตรวจแล้วหาสาเหตุไม่พบ

*อนึ่ง บางครั้ง เมื่อมีเลือดกำเดาออกมาก และผู้ป่วยกลืนเลือดเข้าไป อาจส่งผลให้ในอาเจียน หรือ น้ำลาย มีเลือดปนได้ ซึ่ง ’ไม่จัดเป็นอาเจียนเป็นเลือด’

แพทย์วินิจฉัยสาเหตุอาเจียนเป็นเลือดได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยหาสาเหตุ อาเจียนเป็นเลือด/กระอักเลือด/อาเจียนปนเลือด ได้จาก

  • ประวัติอาการของผู้ป่วย ประวัติทางการแพทย์ต่างๆทั้งในอดีตและในปัจจุบัน เช่น การเจ็บป่วยต่างๆ, และการใช้ยาต่างๆ
  • การตรวจร่างกาย
  • ตรวจเลือด เช่น ดูว่าเลือดออกมาก/น้อย/ภาวะซีด (ตรวจซีบีซี/CBC), ดู โรคตับ, โรคไต, โรคเลือด
  • ใส่ท่อเข้ากระเพาะอาหารแล้วนำน้ำย่อยมาตรวจทางห้องปฏิบัติการดูว่า มีเลือดออกในกระเพาะอาหารหรือไม่ (Nasogastric tube lavage)
  • ส่องกล้องตรวจทางเดินอาหารตอนบน
  • ตรวจภาพหลอดเลือดในอวัยวะระบบทางเดินอาหารตอนบน(การตรวจทางรังสีร่วมรักษา) ที่เรียกว่า แองจิโอแกรม(Angiogram)
  • บางครั้งอาจมีการตัดชิ้นเนื้อในตำแหน่งผิดปกติ(รอยโรค)ที่พบจากการส่องกล้องเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา

เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?

อาเจียนเป็นเลือด/กระอักเลือด/อาเจียนปนเลือด จัดเป็นอาการรุนแรง ควรต้องรีบด่วนพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเสมอ

  • โดยเมื่อเลือดออกไม่มากและไม่มีอาการอื่นๆร่วมด้วย เช่น ปวดท้องมาก อาจรอภายใน 24 ชั่วโมงได้
  • ***แต่ถ้าเลือดออกมาก หรือมีอาการผิดปกติอื่นๆร่วมด้วย ต้องรีบด่วนมา โรงพยาบาลฉุกเฉิน/ทันทีเสมอ เช่น
    • ปวดท้องรุนแรง
    • วิงเวียน
    • เป็นลม

รักษาอาเจียนเป็นเลือดอย่างไร?

แนวทางรักษาอาเจียนเป็นเลือด/กระอักเลือด/อาเจียนปนเลือด มักเป็นการรักษาแบบผู้ป่วยใน คือ การหยุดอาการเลือดออก, การรักษาสาเหตุ, และการรักษาตามอาการ (การรักษาประคับประคองตามอาการ)

ก. การหยุดอาการเลือดออก: มีหลายวิธีขึ้นกับความรุนแรงของเลือดที่ออก, สาเหตุ, สุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย, การตอบสนองต่อวิธีรักษาที่ผู้ป่วยกำลังได้รับอยู่, และดุลพินิจของแพทย์ เช่น

  • ลดการระคายเคืองต่อเนื้อเยื่อเมือกทางเดินอาหารโดย
    • งดอาหารและน้ำดื่มทางปาก
    • ให้ยาลดกรดทางหลอดเลือดดำ
  • ส่องกล้องเย็บตำแหน่งรอยเลือดออกด้วยคลิป (Clips) หรือ จี้ด้วยความร้อน
  • ใส่สารอุดตันหลอดเลือดที่เป็นสาเหตุให้เลือดออก/อาเจียนเป็นเลือดด้วยวิธีทางรังสีร่วมรักษา
  • อาจต้องผ่าตัดอวัยวะนั้นถ้าวิธีหยุดเลือดวิธีต่างๆไม่ได้ผล

ข. รักษาสาเหตุ: จะแตกต่างกันในแต่ละผู้ป่วย เพราะขึ้นกับสาเหตุที่แตกต่างกัน (แนะนำอ่านรายละเอียดแต่ละโรคที่เป็นสาเหตุที่ร่วมถึงวิธีรักษาได้จากเว็บ haamor.com) เช่น

  • หยุดยาที่เป็นสาเหตุเมื่อสาเหตุเกิดจากยา(ยารักษาโรค)
  • รักษาโรคแผลในกระเพาะอาหารเมื่อเลือดออกเกิดจากแผลในกระเพาะอาหาร
  • รักษาโรคมะเร็งต่างๆเมื่อสาเหตุเกิดจากโรคมะเร็ง

ค. การรักษาตามอาการ: เช่น การให้สารน้ำและสารอาหารทางหลอดเลือดดำ, การให้เลือด, และการให้ยาคลายเครียดเพื่อลดการตื่นกลัวของผู้ป่วย

อาเจียนเป็นเลือดมีการพยากรณ์โรคอย่างไร? มีผลข้างเคียงไหม?

อาเจียนเป็นเลือด/กระอักเลือด/อาเจียนปนเลือด ทางการแพทย์จัดเป็นอาการรุนแรง ควรรีบด่วนพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเสมอ

ก. ในส่วนการพยากรณ์โรค: จะขึ้นกับแต่ละสาเหตุเป็นหลัก ทั่วไปอาเจียนเป็นเลือด/กระอักเลือด/อาเจียนปนเลือด เป็นสาเหตุให้ตายได้ประมาณ 6-10%

ทั้งนี้โอกาสตายจะสูงขึ้น ใน

  • ผู้ป่วยสูงอายุ และ
  • ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวอื่นๆเรื้อรัง เช่น ในกลุ่มโรคเอนซีดี (โรคความดันโลหิตสูง, โรคเบาหวาน, โรคหลอดเลือดแดงแข็ง)

ข.*ในส่วนผลข้างเคียง/ภาวะแทรกซ้อน: คือ

  • ภาวะช็อกเมื่อเลือดออกมากเพราะร่างกายจะเสียเลือดมากส่งผลให้ความดันโลหิตลดต่ำทันที จนหัวใจอาจหยุดทำงานและเป็นสาเหตุให้ถึงตาย

ดูแลตนเองอย่างไรเมื่ออาเจียนเป็นเลือด? ควรพบแพทย์เมื่อไร?

การดูตนเองเมื่ออาเจียนเป็นเลือด/กระอักเลือด/อาเจียนปนเลือด คือ การรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลอย่างน้อยภายใน 24 ชั่วโมงเมื่อเลือดออกน้อยและไม่มีอาการผิดปกติอื่นๆร่วมด้วยดังกล่าวแล้ว ***แต่ต้องไปโรงพยาบาลฉุกเฉิน/ทันทีเมื่อ เลือดออกมากหรือมีอาการอื่นๆร่วมด้วย

โดยหลังจากพบแพทย์แล้ว การดูแลตนเองที่บ้าน คือ

  • ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ ซึ่งจะแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละคน ทั้งนี้ขึ้นกับ สาเหตุ, อายุ, โรคร่วม/โรคประจำตัวต่างๆ, และสุขภาพโดยร่วมของผู้ป่วย
  • กินยา/ใช้ยาที่แพทย์สั่งให้ครบถ้วน ถูกต้อง
  • ไม่ซื้อยากินเองโดยไม่ปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อน
  • ไม่กินยาแก้ปวดพร่ำเพื่อ
  • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง ลดโอกาสติดเชื้อต่างๆ และเพื่อการมีสุขภาพจิตที่ดี ลดโอกาสเกิดแผลในกระเพาะอาหาร และ/หรือ กระเพาะอาหารอักเสบ จากมีกรดมากจากความเครียด
  • พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดเสมอ
  • พบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัดเมื่อ
    • อาการต่างๆแย่ลง
    • มีผลข้างเคียงอย่างต่อเนื่องจากยาที่แพทย์สั่งจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ท้องผูกหรือท้องเสียเรื้อรัง
    • กังวลในอาการ

ป้องกันอาเจียนเป็นเลือดอย่างไร?

การป้องกันอาการอาเจียนเป็นเลือด/กระอักเลือด/อาเจียนปนเลือด คือ การป้องกันโรคต่างๆที่เป็นสาเหตุ (ดังได้กล่าวแล้วใน’หัวข้อ สาเหตุฯ’)ที่ป้องกันได้ ซึ่งที่สำคัญ ได้แก่ โรคแผลเปบติค/โรคแผลในกระเพาะอาหาร, โรคกระเพาะอาหารอักเสบ, โรคตับแข็ง, โดย

  • เลิกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์, ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • เลิกสูบบุหรี่, ไม่สูบบุหรี่
  • รู้จักผลข้างเคียงของยาที่ต้องกินเป็นประจำ
  • กินยาอย่างถูกต้องตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เสมอ

อนึ่ง แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมของโรคต่างๆที่เป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงของ อาเจียนเป็นเลือด/กระอักเลือด/อาเจียนปนเลือดที่รวมถึงการป้องกันได้จากเว็บ haamor.com

บรรณานุกรม

  1. Braunwald, E., Fauci, A., Kasper, L., Hauser, S., Longo, D., and Jameson, J. (2001). Harrison’s principles of internal medicine (15th ed.). New York: McGraw-Hill
  2. Wilkins, T. et al. (2012). Diagnosis and management of upper gastrointestinal bleeding. Am Fam Physical. 85, 469-476.
  3. http://en.wikipedia.org/wiki/Hematemesis [2021,Jan2]
  4. https://www.healthline.com/health/vomiting-blood [2021,Jan2]
  5. https://link.springer.com/referenceworkentry/10.1007%2F978-3-540-29676-8_755 [2021,Jan2]