อาหารเสริม (Complementary foods)
- โดย พรลภัส บุญสอน
- 18 ธันวาคม 2559
- Tweet
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- อาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ (Healthy diet)
- ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร (Dietary supplements)
- โรคอ้วน และ น้ำหนักตัวเกิน (Obesity and overweight)
- เบาหวาน (Diabetes mellitus)
- โรคไขมันในเลือดสูง (Dyslipidemia)
- โรคเอนซีดี กลุ่มโรคเอนซีดี กลุ่มโรคไม่ติดต่อ (NCDs: Noncommunicable diseases)
- อาหารเสริมหมายถึงอะไร?
- อาหารเสริมแบ่งเป็นกี่ประเภท?
- อาหารเสริมมีอยู่ในรูปแบบใดได้บ้าง?
- มีข้อบ่งใช้อาหารเสริมอย่างไร?
- มีข้อห้ามใช้อาหารเสริมอย่างไร?
- การใช้อาหารเสริมในหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรควรเป็นอย่างไร?
- การใช้อาหารเสริมในผู้สูงอายุควรเป็นอย่างไร?
- การใช้อาหารเสริมในเด็กควรเป็นอย่างไร?
- มีอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้อาหารเสริมอย่างไร?
- บรรณานุกรม
อาหารเสริมหมายถึงอะไร?
อาหารเสริม(Complementary foods) ทางเภสัชกรรมหมายถึง อาหารที่ให้รับประทานเพิ่มเติมนอกเหนือจากอาหารหลัก(อาหารมีประโยชน์ 5 หมู่ ที่ได้รับ 3 มื้อต่อวัน) โดยการให้อาหารเสริมมีวัตถุประสงค์ต่างๆ เช่น เพื่อช่วยให้สุขภาพแข็งแรง เพื่อเพิ่มพลังงานให้กับร่างกาย หรือเพื่อช่วยให้ร่างกายมีการเจริญเติบโตที่ดี เป็นต้น
อนึ่ง ในบทความนี้ จะกล่าวถึง อาหารเสริม “เฉพาะในคนทั่วไปเท่านั้น” ที่ไม่ใช่คนเจ็บป่วย/ผู้ป่วย ด้วยอาหารเสริมของผู้ป่วยแต่ละคน จะขึ้นกับแต่ละโรคของผู้ป่วยที่รวมถึงสุขภาพร่างกายด้วย ดังนั้นจึงแตกต่างกันในแต่ละกรณีโดยจะขึ้นกับคำแนะนำของ แพทย์ และพยาบาล ของผู้ป่วยที่จะแตกต่างกันเป็นรายผู้ป่วยไป
หมายเหตุ: ทางเภสัชกรรม “อาหารเสริม” จะแตกต่างกับ “ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร(Dietary supplement)” โดยผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร จะหมายถึง ผลิตภัณฑ์ที่ใช้รับประทานนอกเหนือจากการรับประทานอาหารตามปกติ โดยจะมีส่วนประกอบของสารอาหาร และอาจมีส่วนประกอบอื่นๆ เช่น เอนไซม์ต่างๆ และ ใยอาหาร เป็นต้น ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ไม่มีผลในการป้องกันหรือรักษาโรค และเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้สำหรับบุคคลทั่วไปที่ต้องการดูแลสุขภาพ ไม่ใช่ผู้ป่วย (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร) แต่อย่างไรก็ตาม คนทั่วไปมักเข้าใจว่า ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และอาหารเสริม คืออย่างเดียวกัน และมักเรียกรวมๆว่า “อาหารเสริม”
อาหารเสริมแบ่งเป็นกี่ประเภท?
อาหารเสริม สามารถแบ่งตามช่วงวัยของผู้บริโภคได้ดังนี้
ก. อาหารเสริมสำหรับทารกและเด็กเล็ก: เช่น ข้าวบด, ผักสุกบด เช่น ฟักทอง , ผลไม้สุก เช่น มะละกอสุก กล้วยน้ำว้าสุก, ตับบด
ข. อาหารเสริมสำหรับหญิงตั้งครรภ์: เช่น ข้าว, นม, เนื้อสัตว์ต่างๆ โดยเฉพาะเนื้อปลา, ผักและผลไม้ที่หลากหลาย
ค. อาหารเสริมสำหรับผู้สูงอายุ: เช่น ข้าวที่ผ่านการขัดสีน้อย ได้แก่ ข้าวกล้อง, นมเสริมแคลเซียม, ปลาเล็กปลาน้อย, ผักผลไม้ที่มีปริมาณกากใยอาหารสูง เช่น ผักบุ้ง สะเดา ผักคะน้า, เนื้อปลา
อนึ่ง สำหรับเด็กโต และผู้ใหญ่ปกติ ซึ่งเป็นวัยที่สามารถกินอาหารมีประโยชน์ 5 หมู่ได้ครบในทุกมื้ออาหาร หรืออย่างน้อยในทุกวัน เป็นวัยที่ไม่จำเป็นต้องได้รับอาหารเสริม เพราะสมารถกินอาหารได้ครบถ้วนทุกหมู่อาหารซึ่ง อาหารเสริมก็รวมอยู่ในอาหารหลักแต่ละมื้อแล้ว
อาหารเสริมมีอยู่ในรูปแบบใดได้บ้าง?
อาหารเสริม มีอยู่ในรูปแบบต่างๆ ดังนี้
1. อาหารเหลว (Liquid food): เช่น นม น้ำผลไม้ ซุป อาหารเหลวสำเร็จรูป
2. อาหารกึ่งแข็งกึ่งเหลว (Semisolid food): เช่น ข้าวบด ตับบด มันฝรั่งอบ โยเกิร์ต
3. อาหารแข็ง (Solid food): เช่น ธัญญพืช ถั่ว ผัก ผลไม้
มีข้อบ่งใช้อาหารเสริมอย่างไร?
มีข้อบ่งใช้/วัตถุประสงค์การให้อาหารเสริม เช่น
1. อาหารเสริมสำหรับทารกและเด็กเล็ก หมายถึง อาหารอื่นที่ให้ทารกอายุ 6 เดือนขึ้นไปจนถึงวัยประมาณ 5-6 ปี ที่นอกเหนือจากนมแม่ : เพื่อให้ทารกได้รับสารอาหารอื่นๆเพิ่มเติมให้พอเพียงและเหมาะสมกับการเจริญเติบโต เพราะสารอาหารต่างๆอาจที่มีน้อยลงในนมแม่ และ/หรือ อาจมีไม่เพียงพอ และ/หรืออาจไม่มีในนมแม่, เพื่อช่วยเสริมสร้างทักษะการเคี้ยวและการกลืน เพื่อให้สามารถรับประทานอาหารแบบผู้ใหญ่ต่อไปได้, เพื่อป้องกันโรคที่เกิดจากการได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ เช่น โรคขาดสารอาหาร, และเพื่อให้ทารกมีการเจริญเติบโตและพัฒนาการที่เหมาะสมตามวัย
2. อาหารเสริมสำหรับหญิงตั้งครรภ์ หมายถึง อาหารที่ให้พลังงานและโปรตีนมากขึ้น: เพื่อให้ทั้งมารดาและทารกในครรภ์ได้รับสารอาหารเพียงพอ, มีสุขภาพแข็งแรง, ทารกในครรภ์มีพัฒนาการและการเจริญเติบโตตามปกติ
3. อาหารเสริมสำหรับผู้สูงอายุ หมายถึง อาหารที่ช่วยบำรุงร่างกาย เพราะผู้สูงอายุเป็นวัยที่สุขภาพร่างกายทดถอย มีปัญหาในการกินอาหารจากปัญหาของเหงือกและฟัน: ข้อบ่งใช้อาหารเสริมจึงเพื่อ เพิ่มความแข็งแรงของกระดูก, ช่วยให้ขับถ่ายอุจจาระได้สะดวก/ไม่ท้องผูก, ป้องกันการเกิดโรคเรื้อรังต่างๆในกลุ่มโรคเอนซีดี เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ
มีข้อห้ามใช้อาหารเสริมอย่างไร?
มีข้อห้ามใช้อาหารเสริม เช่น
1. ห้ามใช้ในผู้ที่แพ้อาหารชนิดนั้นๆ
2. ห้ามใช้อาหารเสริมเพื่อลดน้ำหนักในขณะที่ตั้งครรภ์ เพราะอาจทำให้เกิดอันตรายต่อทารกในครรภ์
การใช้อาหารเสริมในหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรควรเป็นอย่างไร?
หญิงตั้งครรภ์ควรรับประทานอาหารหลัก(อาหารมีประโยชน์ 5 หมู่ ในปริมาณที่เหมาะสม)และอาหารเสริมให้เหมาะสมตามคำแนะนำของสูติแพทย์และพยาบาล และควรระวังการรับประทานอาหาร/อาหารเสริมต่อไปนี้
- ขนมหวาน หรือผลไม้ที่หวานจัด เช่น ทุเรียน ลำไย เพราะหากรับประทานมากเกินไป จะทำให้น้ำหนักของทั้งมารดาและทารกในครรภ์ เพิ่มมากเกินกว่าปกติ นำไปสู่การเกิดโรคอ้วน หรือภาวะไขมันในเลือดสูงของมารดา และภาวะทารกในครรภ์ตัวโตซึ่งอาจส่งผลให้เกิดปัญหาในการคลอดได้
- อาหารดิบหรือกึ่งสุกกึ่งดิบ เพราะอาจมีพยาธิหรือเชื้อโรคต่างๆ ซึ่งเป็นอันตรายต่อทั้งมารดาและทารกในครรภ์
- เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะอาจทำให้พัฒนาการของทารกในครรภ์ผิดปกติ
การใช้อาหารเสริมในผู้สูงอายุควรเป็นอย่างไร?
การใช้อาหารเสริมในผู้สูงอายุควรเป็น ดังนี้ เช่น
- กรณีที่ผู้สูงอายุมีน้ำหนักตัวน้อยผิดปกติ หรือรับประทานอาหารได้น้อยลง อาจมีสาเหตุเกิดจากวัยที่เพิ่มขึ้น ทำให้ความอยากอาหารลดลง หรือได้รับผลข้างเคียงจากยาต่างๆที่ใช้อยู่ เช่น เบื่ออาหาร การรับรสเปลี่ยนไป ปากแห้ง คลื่นไส้ ไม่สบายท้อง จนส่งผลให้ไม่สามารถรับประทานอาหารตามปกติได้ ควรปรึกษาแพทย์หรือโภชนากร เพื่อพิจารณาปรับเปลี่ยนยา หรือ พิจารณาอาหารเสริมที่ควรรับประทานเพิ่มเติม
- กรณีที่ผู้สูงอายุมีน้ำหนักตัวมากผิดปกติ หรือมีภาวะอ้วนลงพุง ควรลดการบริโภคอาหารประเภทของมันๆ ของทอด เนื้อสัตว์ติดมัน อาหารหวานจัด เค็มจัด เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และควรควบคุมน้ำหนักโดยการออกกำลังกาย เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดโรคเรื้อรังในกลุ่มโรคเอนซีดี เช่น โรคอ้วน โรคไขมันในเลือดสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน แต่ยังคงต้องรับประทานอาหารมีประโยชน์ 5 หมู่ให้ครบถ้วนในทุกมื้ออาหาร/ทุกวันในปริมาณที่เหมาะสมที่จะไม่ทำให้เกิดภาวะโรคอ้วนและนำหนักตัวเกิน ไม่จำเป็นต้องเพิ่มอาหารเสริม
การใช้อาหารเสริมในเด็กควรเป็นอย่างไร?
ผู้ปกครองควรดูแลให้เด็กรับประทานอาหารหลัก(อาหารมีประโยชน์ 5 หมู่) และอาหารเสริมอย่างเพียงพอ ในปริมาณที่เหมาะสมที่ไม่ทำให้เด็กเกิดโรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน ไม่ควรให้เด็กรับประทาน ขนม น้ำหวาน หรือน้ำอัดลม เพราะอาจทำให้เด็กรับประทานอาหารมื้อหลักได้น้อยลง และทำให้ฟันผุได้
มีอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้อาหารเสริมอย่างไร?
ผู้บริโภคทุกวัยควรรับประทานอาหารที่หลากหลายและมีคุณค่าทางโภชนาการครบถ้วนทั้ง 5 หมู่(อาหารมีประโยชน์ 5 หมู่)ในปริมาณที่เหมาะสมให้ครบถ้วนในทุกมื้ออาหาร หรืออย่างน้อยในทุกๆวัน รวมทั้งมีการออกกำลังกายที่เหมาะสมกับวัยและสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้มีร่างกายแข็งแรง ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ การรับประทานอาหารอย่างใดอย่างหนึ่งมากเกินไป รวมถึงที่เป็นอาหารเสริม เช่น โปรตีน คาร์โบไฮเดรต และไขมัน อาจทำให้มี โปรตีนน้ำตาล และ/หรือไขมัน ส่วนเกินสะสมอยู่ในร่างกายมากเกินไป อันจะนำไปสู่การเกิดโรคเรื้อรังต่างๆในอนาคต เช่น โรคตับ(เมื่อบริโภคโปรตีนมากเกินไป) โรคเบาหวาน(เมื่อบริโภคคาร์โบไฮเดรตมากเกินไป) โรคไขมันในเลือดสูง(เมื่อบริโภคไขมันมากเกินไป) หรือการรับประทานอาหารที่มีรสเค็มจัด อาจทำให้อวัยวะในร่างกายโดยเฉพาะ ไต ทำงานผิดปกติจนอาจเกิดเป็นโรคไตเรื้อรังได้ เป็นต้น
บรรณานุกรม
- ประสงค์ เทียนบุญ. คำแนะนำการให้อาหารเสริมแก่ทารก (Supplementary/Complementary feeding). วารสารโภชนบำบัด 17. (2549) : 68-71. [2016, Nov26]
- อุมาพร สุทัศน์วรวุฒิ, สุภาพรรณ ตันตราชีวธร และ สมโชค คุณสนอง. คู่มืออาหารตามวัยสำหรับทารกและเด็กเล็ก. พิมพ์ครั้งที่ 1. บริษัท บียอนด์ เอ็นเทอร์ไพรซ์ จำกัด, 2552. [2016, Nov26]
- คณะกรรมการอาหารแห่งชาติ. องค์ความรู้ด้านอาหารและโภชนาการสำหรับทุกช่วงวัย. พิมพ์ครั้งที่ 1. สำนักอาหาร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา, 2559. [2016, Nov26]
- World Health Organization. Complementary feeding http://www.who.int/nutrition/topics/complementary_feeding/en/ [2016, Nov26]