อาร์เทมิเทอร์ (Artemether)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 6 พฤษภาคม 2560
- Tweet
- บทนำ
- อาร์เทมิเทอร์มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- อาร์เทมิเทอร์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- อาร์เทมิเทอร์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- อาร์เทมิเทอร์มีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับการให้ยาควรทำอย่างไร?
- อาร์เทมิเทอร์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้อาร์เทมิเทอร์อย่างไร?
- อาร์เทมิเทอร์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาอาร์เทมิเทอร์อย่างไร?
- อาร์เทมิเทอร์มีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ไข้จับสั่น (Malaria)
- ยาต้านมาลาเรีย (Antimalarial medications)
- คลอโรควิน (Chloroquine)
- ลูมีแฟนทรีน (Lumefantrine)
- สัตว์เซลล์เดียว โรคติดเชื้อสัตว์เซลล์เดียว โรคติดเชื้อโปรโทซัว (Protozoan infection)
บทนำ
ยาอาร์เทมิเทอร์(Artemether)เป็นยาอนุพันธุ์แบบกึ่งสังเคราะห์ มีฤทธิ์ต่อต้านเชื้อมาลาเรียที่มีสาเหตุจากเชื้อมาลาเรียชนิด P.falciparum(Plasmodium falciparum) และ P.vivax(Plasmodium vivax) คุณสมบัติของยาอาร์เทมิเทอร์เป็นสารประกอบที่ละลายได้ดีในไขมัน ยาอาร์เทมิเทอร์มีรูปแบบทางเภสัชภัณฑ์เป็น ยาฉีดเข้ากล้ามเนื้อ และในรูปแบบของยารับประทานซึ่งเป็นสูตรตำรับผสมโดยมีสัดส่วนของตัวยา 2 ชนิดคือ Artemether 20 มิลลิกรัม + Lumefantrine 120 มิลลิกรัม โดยยาอาร์เทมิเทอร์ ชนิดฉีด จะเหมาะกับการติดเชื้อมาลาเรียในระดับที่รุนแรงหรือติดเชื้อมาลาเรียที่มีการพัฒนาสายพันธุ์โดยดื้อต่อยา Chloroquine
การใช้ยาอาร์เทมิเทอร์อย่างมีประสิทธิภาพ ควรให้ยากับผู้ป่วยภายใน 30–84 ชั่วโมงหลังพบเห็นอาการไข้จากได้รับเชื้อมาลาเรีย ผู้ป่วยควรได้รับยานี้ในขนาดที่เหมาะสม โดยคำนวณขนาดยาจากน้ำหนักตัวผู้ป่วยเป็นเกณฑ์ และให้ยาต่อเนื่อง 7 วัน กรณีที่ได้รับเชื้อมาลาเรียแต่อาการไม่รุนแรงมาก แพทย์อาจใช้ยาอาร์เทมิเทอร์ในรูปแบบยารับประทานโดยต้องใช้ร่วมกับยา Lumefantrine
ยาอาร์เทมิเทอร์สามารถใช้กับผู้ใหญ่และเด็กที่มีอายุมากกว่า 6 เดือนขึ้นไป ข้อห้ามใช้ของยานี้มีเพียง ผู้ป่วยต้องไม่มีประวัติแพ้ยาอาร์เทมิเทอร์มาก่อนเท่านั้น
อาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)ของยาอาร์เทมิเทอร์ มีความแตกต่างกันไปตามรูปแบบเภสัชภัณฑ์ เช่น การได้รับยาอาร์เทมิเทอร์ที่เป็นยาฉีดในขนาดสูง อาจก่อให้เกิดพิษต่อการทำงานของหัวใจ ขณะที่ยารับประทานซึ่งต้องใช้ร่วมกับยา Lumefantrine อาจทำให้รู้สึกไม่สบายในท้องได้เล็กน้อย คลื่นไส้ อาเจียน อาจมีอาการวิงเวียนและเม็ดเลือดขาวลดลง เป็นต้น
ยาอาร์เทมิเทอร์จัดว่าเป็นยาตัวหนึ่งที่มีประสิทธิภาพในการรักษามาลาเรีย เพื่อการใช้ยานี้ได้อย่างปลอดภัย เหมาะสม ผู้ป่วยจะต้องรับประทานยานี้และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
อาร์เทมิเทอร์มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาอาร์เทมิเทอร์มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เพื่อ บำบัดรักษาอาการป่วยจากโรคมาลาเรีย
อาร์เทมิเทอร์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาอาร์เทมิเทอร์มีกลไกการออกฤทธิ์โดยตัวยาจะยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ ที่ชื่อ Anti-oxidant enzyme และ Metabolic enzyme ของเชื้อมาลาเรีย ส่งผลให้กลไกการดำรงชีวิตของเชื้อมาลาเรียเสียสมดุล หมดความสามารถในการเจริญเติบโต และไม่สามารถกระจายพันธุ์ และตายลงในที่สุด
อาร์เทมิเทอร์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาอาร์เทมิเทอร์มีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ยาฉีดที่มีส่วนประกอบของยา Artemether 80 มิลลิกรัม/ขวด
- ยาเม็ดชนิดรับประทาน ที่มีตัวยาอื่นประกอบกัน เช่น Artemether 20 มิลลิกรัม +Lumefantrine 120 มิลลิกรัม /เม็ด
อาร์เทมิเทอร์มีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
ยาอาร์เทมิเทอร์ มีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา เช่น
ก. กรณีใช้ยาชนิดฉีด:
- ผู้ใหญ่และเด็กอายุมากกว่า 6 เดือนขึ้นไป: ฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อขนาด 3.2 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วันเพื่อให้ปริมาณยาในเลือดถึงระดับของการออกฤทธิ์รักษาได้ทันที หลังจากนั้นฉีดยาครั้งต่อมาขนาดลดลงเป็น 1.6 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1กิโลกรัม/วัน จนกระทั่งอาการผู้ป่วยดีขึ้น ซึ่งแพทย์อาจให้ยารับประทานแทนได้ ขนาดการใช้ยาฉีดนานที่สุดไม่เกิน 7 วัน
- เด็กอายุตั้งแต่ 6 เดือนลงมา: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกที่แน่ชัดถึง ขนาดยานี้ ผลข้างเคียง และความปลอดภัยในการใช้ยานี้ในเด็กวัยนี้ การใช้ยานี้ในเด็กวัยนี้ จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป
ข.กรณียาชนิดรับประทานที่ใช้สูตรตำรับของ Artemether 20 มิลลิกรัม +Lumefantrine 120 มิลลิกรัม /เม็ด:
- ผู้ใหญ่: วันแรก เริ่มรับประทานยาพร้อมอาหาร 4 เม็ด ครั้งเดียว จากนั้นอีก 8 ชั่วโมงถัดมา ให้รับประทานยาอีก 4 เม็ด วันที่สองและวันที่สาม รับประทานยาครั้งละ 4 เม็ด เช้า – เย็น สรุปผู้ป่วยต้องรับประทานยา 24 เม็ด เป็นเวลา 3 วัน
- เด็กที่มีน้ำหนักตัว 5 – 14 กิโลกรัม: วันแรกรับประทานยา 1 เม็ด พร้อมอาหาร อีก 8 ชั่วโมงต่อมารับประทานอีก 1 เม็ด วันที่สองและวันที่สามรับประทานครั้งละ 1 เม็ด เช้า – เย็น สรุป รับประทานยาทั้งหมด 6 เม็ด เป็นเวลา 3 วัน
- เด็กที่มีน้ำหนักตัว 15 – 24 กิโลกรัม: วันแรกรับประทานยา 2 เม็ด พร้อมอาหาร อีก 8 ชั่วโมงต่อมา รับประทานอีก 2 เม็ด วันที่สองและวันที่สามรับประทานครั้งละ 2 เม็ด เช้า – เย็น สรุปรับประทานยาทั้งหมด 12 เม็ด เป็นเวลา 3 วัน
- เด็กที่มีน้ำหนักตัว 25 – 34 กิโลกรัม: วันแรกรับประทานยา 3 เม็ดพร้อมอาหาร อีก 8 ชั่วโมง รับประทานอีก 3 เม็ด วันที่สองและวันที่สามรับประทานครั้งละ 3 เม็ด เช้า – เย็น สรุปรับประทานยาทั้งหมด 18 เม็ด เป็นเวลา 3 วัน
- เด็กที่มีน้ำหนักตัวมากกว่า 34 กิโลกรัมขึ้นไป: วันแรกเริ่มรับประทานยาพร้อมอาหาร 4 เม็ด จากนั้นอีก 8 ชั่วโมงถัดมาให้รับประทานอีก 4 เม็ด วันที่สองและวันที่สาม รับประทานยาครั้งละ 4 เม็ด เช้า – เย็น สรุปรับประทานยา 24 เม็ด เป็นเวลา 3 วัน
***** หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียง ตัวอย่างหนึ่งเท่านั้นไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาอาร์เทมิเทอร์ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคตับ โรคไต โรคหัวใจ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาอาร์เทมิเทอร์ อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับการให้ยาควรทำอย่างไร?
ยาอาร์เทมิเทอร์ทั้งในรูปแบบยาฉีดและยารับประทาน ผู้ป่วยจะต้องใช้อย่างต่อเนื่องตามคำสั่งแพทย์ กรณีมิได้รับการฉีดหรือลืมรับประทานยา ผู้ป่วยควรต้องขอคำปรึกษาจากแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็วเพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
อาร์เทมิเทอร์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาอาร์เทมิเทอร์สามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้ เช่น
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น ปวดศีรษะ วิงเวียน เกิดเสียงในหู/หูอื้อ
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น รู้สึกไม่สบายในท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง
- ผลต่อหัวใจ: เช่น หัวใจทำงานผิดปกติ เช่น หัวใจเต้นช้า
- ผลต่อระบบเลือด: เช่น มีเม็ดเลือดขาวลดลง
- ผลต่อตับ: เช่น เอนไซม์การทำงานของตับในเลือดสูงขึ้น
มีข้อควรระวังการใช้อาร์เทมิเทอร์อย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาอาร์เทมิเทอร์ เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยานี้
- ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
- ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
- หยุดการใช้ยานี้ทันทีเมื่อพบอาการแพ้ยาและต้องรีบแจ้งแพทย์/มาโรงพยาบาล ทันที/ฉุกเฉิน
- อาการข้างเคียงของยาอาร์เทมิเทอร์หลายข้อดังกล่าวในหัวข้อ “ผลไม่พึงประสงค์จากยา” อาจไม่จำเป็นต้องใช้ยาใดๆรักษาอาการข้างเคียงเหล่านั้น เพราะอาการจะทุเลาลงและหายได้เองหลังจากหยุดรับประทานยานี้
- หากได้รับยานี้ครบเทอมตามกำหนด แล้วอาการไม่ดีขึ้น หรืออาการกลับทรุดหนักลง ให้รีบนำตัวผู้ป่วยกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาอาร์เทมิเทอร์ด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติ ตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
อาร์เทมิเทอร์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาอาร์เทมิเทอร์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาอาร์เทมิเทอร์ร่วมกับยาบางกลุ่ม ด้วยจะทำให้หัวใจ ทำงานผิดปกติ(เช่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ) ยากลุ่มดังกล่าว เช่น Erythromycin , Terfenadine , Procainamide, Quinidine, Disopyramide , Amiodarone , Bretylium , Bepridil , Sotalol , Astemizole, Probucol , TCAs , Phenothiazines
ควรเก็บรักษาอาร์เทมิเทอร์อย่างไร?
ควรเก็บยาอาร์เทมิเทอร์ภายใต้คำแนะนำของเอกสารกำกับยา ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ และเก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น
อาร์เทมิเทอร์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาอาร์เทมิเทอร์ มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Artem (อาร์เทม) | Kunming Pharmaceutical |
Coartem (คอร์เทม) | Novartis |
อนึ่ง ยาชื่อการค้าอื่นของยานี้ เช่น Lumate-AT, Lumecap A, Lumerax, Aarnet, Amther,Falcide, Falciz, Malafi, T Mal
บรรณานุกรม
- http://apps.who.int/medicinedocs/en/d/Jh2922e/2.5.10.html[2017,April15]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Artemether[2017,April15]
- http://www.mims.com/thailand/drug/info/artemether/?type=brief&mtype=generic[2017,April15]
- http://www.cantoninc.com/ArtemetherInj.html[2017,April15]