อาร์เทมิซินิน (Artemisinin)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 15 ตุลาคม 2565
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ: คือยาอะไร?
- อาร์เทมิซินินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
- อาร์เทมิซินินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- อาร์เทมิซินินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- อาร์เทมิซินินมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- อาร์เทมิซินินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้อาร์เทมิซินินอย่างไร?
- อาร์เทมิซินินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาอาร์เทมิซินินอย่างไร?
- อาร์เทมิซินินมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- โรคติดเชื้อ ภาวะติดเชื้อ (Infectious disease)
- สัตว์เซลล์เดียว โรคติดเชื้อสัตว์เซลล์เดียว โรคติดเชื้อโปรโทซัว (Protozoan infection)
- โรคติดเชื้อปรสิต (Parasitic infection)
- ไข้จับสั่น (Malaria)
- ไข้ อาการไข้ ตัวร้อน (Fever)
- ยาต้านมาลาเรีย (Antimalarial medications)
บทนำ: คือยาอะไร?
อาร์เทมิซินิน (Artemisinin) คือ ยาต้านมาลาเรีย ที่นำมาใช้บำบัดรักษาการติดเชื้อมาลาเรีย/ไข้จับสั่นทั้งระดับที่รุนแรงและไม่รุนแรง, มีรูปแบบยาแผนปัจจุบันเป็นทั้งชนิดรับประทานและชนิดฉีด
อาร์เทมิซินิน เป็นกลุ่มอนุพันธ์ยาที่แยกสกัดได้จากใบของต้นพืชชนิด Artemisia annua ซึ่งเป็นสมุนไพรที่พบในหลายส่วนของโลก และประเทศจีนมีการใช้เป็นสมุนไพรนี้มานานกว่า 2,000 ปี เพื่อใช้ในการรักษาโรคมาลาเรีย/ไข้จับสั่น
ยาอาร์เทมิซินิน มีประสิทธิภาพในการต่อต้านเชื้อปรสิต/สัตว์เซลล์เดียวจำพวก/ชนิด Plasmodium (ย่อว่า P.) ซึ่งพบเป็นสาเหตุในผู้ป่วยด้วยโรคมาลาเรีย, อนุพันธ์ยาอาร์เทมิซินินถูกค้นพบโดยนักวิทยาศาสตร์ชาวจีนชื่อ Tu Youyou โดยใช้กระบวนการสกัดที่อุณหภูมิต่ำและเรียกชื่อยาที่สกัดได้ว่า ‘Qinghaosu’
องค์การอนามัยโลกได้แนะนำให้ใช้กลุ่มยาอาร์เทมิซินิน เป็นยาทางเลือกแรกๆมาบำบัดรักษาการติดเชื้อมาลาเรียที่มีสาเหตุจากเชื้อมาลาเรีย ชนิด ‘P. falciparum’ ที่มีอาการไม่ซับซ้อนหรือรุนแรงมากนัก โดยตัวยาสามารถลดจำนวนเชื้อมาลาเรียได้ภายใน 3 วันแรกของการรักษา, อย่างไรก็ตามผู้ป่วยยังคงต้องได้รับยานี้อย่างต่อเนื่องร่วมกับใช้ยาต้านมาลาเรียชนิดอื่นด้วยจนกระทั่งอาการของผู้ป่วยดีขึ้น, และในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2015 (พ.ศ. 2558) มีรายงานเรื่องการดื้อยาอาร์เทมิซินินของเชื้อมาลาเรียใน 5 ประเทศของลุ่มแม่น้ำโขง ได้แก่ กัมพูชา ลาว พม่า ไทย และเวียดนาม และมีความเสี่ยงที่การดื้อยานี้จะกระจายไปยังภูมิภาคอื่นอีก ทั้งนี้เป็นผลมาจากปัจจัยหลายประการ เช่น การใช้ยาอย่างไม่เป็นไปตามหลักมาตรฐานของการรักษานั่นเอง
กลุ่มอนุพันธ์ยาอาร์เทมิซินิน สามารถถูกแบ่งเป็นรายการย่อยๆได้ เช่น
- Artesunate: มีคุณสมบัติละลายน้ำได้ดี, มีการใช้ในลักษณะของยารับประทานและยาฉีด, องค์การอนามัยโลกได้จัดให้ยา Artesunate เป็นยาจำเป็นขั้นพื้นฐานที่สถานพยาบาลควรมีสำรองไว้ให้บริการกับผู้ป่วย, ยานี้อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติของไทย ใช้ได้ดีกับการติดเชื้อมาลาเรียที่มีสาเหตุจากเชื้อ Falciparum เมื่อได้รับยานี้ ผู้ป่วยสามารถลดความทรมานจากพิษไข้มาลาเรียภายในเวลา 16 – 25 ชั่วโมง, มีการใช้ยา Artesunate ทั้งในแอฟริกาและเอเชีย, แต่ห้ามใช้ยา Artesunate ชนิดรับประทานกับสตรีที่มีอายุครรภ์ในช่วงไตรมาสแรก
- Artemether: เป็นอนุพันธ์แบบกึ่งสังเคราะห์ มีคุณสมบัติละลายได้ดีในไขมัน รูปแบบยาแผนปัจจุบันของยานี้จะเป็นยารับประทาน และสำหรับยาฉีดจะเป็นประเภทใช้ฉีดเข้ากล้ามเนื้อเท่านั้น, องค์การอนามัยโลกจัดให้เป็นยาจำเป็นขั้นพื้นฐานอีกเช่นกัน, ทางคลินิกมักใช้ยา Artemether ร่วมกับยา Lumefantrine (ยาอีกชนิดที่รักษามาลาเรีย) ในการรักษาโรคมาลาเรีย
- Dihydroartemisinin: ถือเป็นตัวยาที่ถูกเปลี่ยนโครงสร้างมาจากยา Artesunate และยา Artemether อีกทีหนึ่ง หรือจะเรียกว่าเป็น Active metabolite(ตัวออกฤทธิ์) ของยาอาร์เทมิซินินนั่นเอง, มีรูปแบบการใช้เป็นยาชนิดรับประทาน, โดยผสมร่วมกับยาต้านมาลาเรียชนิดอื่น เช่น ยา Piperaquine(ยาอีกชนิดที่รักษามาลาเรีย), ทางคลินิกได้ประเมินว่าการใช้ยา Dihydroartemisinin + Piperaquine มีประสิทธิผลการรักษามาลาเรียเทียบเท่ากับการใช้ยา Artemether + Lumefantrine
- Artelinic acid: เป็นอนุพันธ์กึ่งสังเคราะห์อีกหนึ่งตัวที่อยู่ระหว่างการศึกษาทดลองใช้ต่อต้านมาลาเรีย, ข้อดีประการหนึ่งของยานี้คือ ก่อให้เกิดพิษต่อระบบประสาทได้ต่ำกว่ายาอนุพันธ์ตัวอื่นๆ
- Artemotil: เป็นอนุพันธ์กึ่งสังเคราะห์ที่มีรูปแบบการใช้เป็นยาฉีด มักใช้รักษามาลาเรีย ที่มีการติดเชื้อขั้นรุนแรง
ทั้งนี้ การเลือกใช้ยาอาร์เทมิซินินรายการใดนั้น ย่อมขึ้นกับลักษณะอาการว่า มีระดับรุนแรงมากน้อยเพียงใด รวมถึงพื้นที่ของการติดเชื้อมาลาเรียว่า มีภาวะดื้อยาด้วยหรือไม่
อาร์เทมิซินินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
ยาอาร์เทมิซินินมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้:
- บำบัดรักษาการติดเชื้อมาลาเรียทั้งระดับที่รุนแรงและไม่รุนแรง
อาร์เทมิซินินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาอาร์เทมิซินิน คือ ตัวยาจะออกฤทธิ์ต่อเชื้อมาลาเรียโดย
- ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ในตัวเชื้อมาลาเรียที่มีชื่อว่า ‘Cysteine protease’ (เอนไซม์เกี่ยวข้องกับการทำงานของโปรตีนในเซลล์เชื้อมาลาเรีย)
- รบกวนการสร้างสาร ‘Hemozoin (สารที่เกี่ยวข้องกับการย่อยเลือด)’ ของเชื้อมาลาเรีย
- รบกวนการขนถ่ายโปรตีนที่จำเป็นของเชื้อมาลาเรีย
จากกลไกดังกล่าว ส่งผลให้เชื้อมาลาเรียหยุดการเจริญเติบโต ขาดคุณสมบัติในการขยายพันธ์, และตายลงในที่สุด
อาร์เทมิซินินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาอาร์เทมิซินินมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:
- ยาฉีด ทั้งชนิดฉีดเข้ากล้ามเนื้อ และเข้าหลอดเลือดดำ
- ยาเม็ด ชนิดรับประทาน
อาร์เทมิซินินมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
การเลือกใช้ยา/บริหารยาอาร์เทมิซินิน ตัวใด, รูปแบบใด, ขนาดการบริหารยาเท่าใด, ขึ้นอยู่กับแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีไป โดยคำนึงถึงพื้นที่มาลาเรียในบริเวณนั้นว่า เป็นเชื้อชนิดใด, และมีภาวะดื้อยาอยู่ด้วยหรือไม, ดังนั้นจึงไม่ขอกล่าวถึงขนาดการบริหารยานี้ในบทความนี้
เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาอาร์เทมิซินิน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาอาร์เทมิซินินอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาอาร์เทมิซินิน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
อย่างไรก็ตาม เพื่อประสิทธิผลของการรักษา ควรรับประทานยาอาร์เทมิซินิน ตรงเวลา
อาร์เทมิซินินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาอาร์เทมิซินิน สามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆ: เช่น
- ผลต่อการทำงานของหัวใจ: โดยก่อให้เกิดพิษและทำให้การทำงานของหัวใจผิดปกติ ซึ่งมักจะพบเมื่อผู้ป่วยได้รับยานี้ในขนาดสูงๆ
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น วิงเวียน ปวดหัว มีไข้ อาจเกิดอาการชัก
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น มีอาการ ท้องอืด คลื่นไส้อาเจียน เบื่ออาหาร ปวดท้อง และท้องเสีย
- ผลต่อผิวหนัง: เช่น พบอาการ ผื่นคัน ผมร่วง
ทั้งนี้: *อาการข้างเคียงที่ก่อความรำคาญต่อการใช้ชีวิตประจำวัน หรือสร้างความรุนแรงจนเป็นอันตรายต่อผู้ป่วย ผู้ป่วยควรต้องรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัดเพราะจะต้องได้รับการรักษาอย่างทันเวลา, แต่สำหรับอาการข้างเคียงที่ไม่รุนแรง ร่างกายจะค่อยๆปรับตัวดีขึ้นเรื่อยๆ อาการจะกลับมาเป็นปกติหลังจากหยุดการใช้ยานี้
มีข้อควรระวังการใช้อาร์เทมิซินินอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาอาร์เทมิซินิน: เช่น
- ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยานี้กับ สตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก) และผู้สูงอายุ โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
- ห้ามมิให้ผู้บริโภคไปซื้อยานี้ชนิดรับประทานมารับประทานด้วยตนเอง
- ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม
- ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
- *หยุดการใช้ยานี้ทันที หากพบอาการแพ้ยาเกิดขึ้นกับผู้ป่วย แล้วรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
- ระหว่างการบำบัดรักษาด้วยยานี้ ผู้ป่วยควรปฏิบัติตัวตามคำสั่งของแพทย์ พยาบาล อย่างเคร่งครัด
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ "ยา" ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาอาร์เทมิซินินด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติ ตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้จากเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
อาร์เทมิซินินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาอาร์เทมิซินินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น: เช่น
- การใช้ยา Artemotil ร่วมกับยา Quinine จะทำให้การออกฤทธิ์ของการรักษามาลาเรียเพิ่มมากขึ้น กรณีที่ใช้ร่วมกัน แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาปรับขนาดการใช้ยาได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิผลสูงสุดกับผู้ป่วย
- หลีกเลี่ยงการใช้ยา Artesunate ร่วมกับยา Pyrimethamine และ Sulphonamide ด้วยกลุ่มยาเหล่านี้จะทำให้การออกฤทธิ์ของยา Artesunate ด้อยลงไป
- การใช้ยา Artemether ร่วมกับยา Atazanavir จะทำให้ระดับยา Artemether ในเลือดเพิ่มสูงขึ้นจนอาจส่งผลให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ เพื่อมิให้เกิดภาวะดังกล่าว จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
ควรเก็บรักษาอาร์เทมิซินินอย่างไร?
ควรเก็บยาอาร์เทมิซินิน: เช่น
- เก็บยาตามคำแนะนำในเอกสารกำกับยา/ ฉลากยา
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อน และความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
อาร์เทมิซินินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาอาร์เทมิซินิน มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Artesunate Atlantic (อาร์เทซูเนท แอตแลนติก) | Atlantic Lab |
ARTESUNATE AMODIAQUINE WINTHROP (อาร์เทซูเนท เอโมไดอาควิน วินทร็อป ) | Maphar –Morocco |
ARTISAI (อาร์ทิไซ) | Polard |
BETAMOTIL INJ (เบตาโมทิลิน) | IPCA |
DEPTHER FORTE (เดปเทอร์ ฟอร์ด) | Daksh |
DEPTHER TAB (เดปเทอร์ แท็บ) | Daksh |
DUCOTHER (ดูโคเทอร์) | Aurel |
FALCID-L (ฟาลซิด-แอล) | Impact |
FENDIP (เฟนดิพ) | Aden Healthcare |
บรรณานุกรม
- https://www.who.int/news-room/questions-and-answers/item/artemisinin-resistance [2022,Oct15]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Artemisinin [2022,Oct15]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Artesunate [2022,Oc1t5]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Artemether [2022,Oct15]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Dihydroartemisinin [2022,Oct15]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Artelinic_acid [2022,Oct15]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Artemotil [2022,Oct15]
- https://www.drugs.com/drug-interactions/artemether-lumefantrine-with-atazanavir-3129-0-272-0.html [2022,Oct15]
- https://www.mims.com/India/drug/search?q=Artemotil [2022,Oct15]
- https://studyres.com/doc/3191961/arteether---who-archives---world-health-organization [2022,Oct15]