อารมณ์สองขั้ว หรือ ไบโพล่า (Bipolar disorder)
- โดย นพ.ธันวรุจน์ บูรณสุขสกุล
- 18 มีนาคม 2566
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?
- โรคอารมณ์สองขั้วมีกี่รูปแบบ?
- โรคอารมณ์สองขั้วมีสาเหตุจากอะไร?
- โรคอารมณ์สองขั้วมีอาการอย่างไร?
- อะไรเป็นสัญญาณเตือนว่าเริ่มมีอาการโรคอารมณ์สองขั้ว?
- ควรพบจิตแพทย์เมื่อไหร่?
- แพทย์วินิจฉัยโรคอารมณ์สองขั้วอย่างไร?
- ดูแลเบื้องต้นอย่างไรเมื่อรู้ตัวว่าเป็นอารมณ์สองขั้ว?
- คนรอบข้างจะดูแลคนที่อารมณ์สองขั้วอย่างไร?
- มีแนวทางรักษาโรคอารมณ์สองขั้วอย่างไร?
- ตัวอย่างยารักษาโรคอารมณ์สองขั้ว
- ป้องกันโรคอารมณ์สองขั้วและป้องกันโรคกำเริบอย่างไร?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- โรคจิต (Psychosis)
- โรคซึมเศร้า (Major Depressive Disorder หรือ MDD)
- โรควิตกกังวล (Anxiety Disorder)
- ความเครียด ภาวะซึมเศร้า และโรคซึมเศร้า (Stress, Depression and Depressive disorder)
- การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง การตรวจอีอีจี (Electroencephalography; EEG)
- สัญญาณเตือนโรคซึมเศร้า (Warning sign of depression)
- โรควิตกกังวล: สัญญาณเตือนโรควิตกกังวล (Warning sign of anxiety disorder)
- ยาต้านเศร้า (Antidepressants)
บทนำ: คือ โรคอะไร? พบบ่อยไหม?
อารมณ์สองขั้ว หรือ ไบโพล่า (Bipolar disorder) คือ โรคความผิดปกติทางอารมณ์ที่เกิดจากความผิดปกติของสารเคมีในสมอง ซึ่งจะมีอาการหลัก 2 อาการ ได้แก่ อารมณ์ซึมเศร้า (Depression), และอารมณ์ดีผิดปกติ (เรียกว่า ‘แมเนีย’: Mania)
องค์การอนามัยโลก ได้จัดให้โรคอารมณ์สองขั้วเป็นสาเหตุหนึ่งของการนำไปสู่ภาวะเพิ่มภาวะทุพพลภาพ (Disability) ในคนอายุระหว่าง15 - 44 ปี ซึ่งแสดงถึงความสำคัญของการดูแลรักษาที่ทุกคนต้องให้ความใส่ใจและเฝ้าระวังการเกิดกับตนเองและกับคนใกล้ชิด
ความชุกของโรคอารมณ์สองขั้ว ทั่วโลกพบประมาณ 1% ของประชากร สำหรับในประ เทศไทยพบความชุกได้เท่ากันกับทั่วโลก เพศหญิงและชายพบโรคนี้ได้พอๆกัน
มักพบว่าคนส่วนใหญ่ที่ป่วยด้วยโรคอารมณ์สองขั้ว มีอาการครั้งแรกระหว่างอายุ 15 -24 ปี มีงานวิจัยสนับสนุนช่วงเริ่มเกิดอาการว่า มักเกิดอาการครั้งแรกในช่วงวัยรุ่นซึ่งมักมีอาการไม่ปรากฏชัด จนบางครั้งคนรอบข้างไม่สามารถสังเกตได้ อาจเริ่มจากพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลง เช่น เที่ยวกลางคืน เตร็ดเตร่ ไม่มีสมาธิเรียน อารมณ์หงุดหงิดขึ้นลง เป็นต้น, หรือบางครั้งอาการมักเป็นการก่อปัญหา อาทิเช่น ทะเลาะกับเพื่อน ซึ่งถ้าหากพ่อแม่ไม่ได้ใกล้ชิดกับเด็ก จะเห็นแค่การเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยที่เหมือนไม่เปลี่ยนแปลงเลย
ผู้ที่ป่วยด้วยโรคอารมณ์สองขั้วจะมีอาการ 2 ช่วง:
ก. ช่วงที่ซึมเศร้า: จะมีอาการ เบื่อหน่าย เศร้า แย่ลงทุกอย่าง จนบางครั้งอยากฆ่าตัวตาย ซึ่งอัตราการฆ่าตัวตายสูงได้ประมาณ 15 - 20% ของผู้ป่วยโรคนี้
ข. ช่วงที่มีอาการแมเนีย: จะพบว่า อาการจะแตกต่างไปมากเสมือน 2 บุคลิก คือ อารมณ์ดีมากเกินไป ใช้เงินเปลือง พลังเยอะ ไม่นอน คิดเกินความเป็นจริง
ซึ่งจะพบว่าอาการทั้ง 2 จะเปลี่ยนแปลงสลับกันบ่อยมาก ไม่สามารถทำนายอาการได้ว่าขั้วไหนจะเกิดเมื่อไร ซึ่งจะเห็นได้ว่า โรคอารมณ์สองขั้วมีอาการให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของพลังงานร่างกายและของพฤติกรรมที่แสดงออก อาการดังกล่าวมักกระทบกับการใช้ชีวิตประจำวันและมักไม่สามารถควบคุมให้อยู่ในภาวะอารมณ์ปกติเหมือนคนทั่วไปได้
อารมณ์สองขั้วมักมีความเสี่ยงที่จะไปใช้สารเสพติดประมาณ 60% โดยแต่ละขั้วอารมณ์ที่สูงต่ำมากจะนำให้ไปใช้สารเสพติดและสุรา ซึ่งผู้ที่มีอาการอารมณ์สองขั้วมักจะเข้าใจผิดว่าสารเสพติดและสุราจะคุมอาการโรคอารมณ์สองขั้วได้
โรคอารมณ์สองขั้วมีกี่รูปแบบ?
ภาพที่ 1 ขั้วของอาการอารมณ์สองขั้ว
โรคอารมณ์สองขั้วโดยพื้นฐานแล้วจะมีลักษณะของอารมณ์ที่ขึ้นลง (Swing) เดี๋ยวเศร้า เดี๋ยวอารมณ์ดี ซึ่งจากภาพที่ 1 เป็นการแสดงอาการขั้วอารมณ์ที่แสดงออกของผู้ที่มีอาการอารมณ์สองขั้วได้แก่
- อารมณ์ปกติ (Euthymia)
- อารมณ์ซึมเศร้า (Depression)
- อารมณ์ดีผิดปกติ (Mania)
- อารมณ์เศร้าไม่มาก (Subsyndromal depression)
- และอารมณ์ดีผิดปกติไม่มาก (Hypomania)
ซึ่งจากขั้วอาการเหล่านี้ ทางการแพทย์ได้แบ่งรูปแบบของโรคอารมณ์สองขั้วออกเป็น 5 ชนิด ดังนี้
ตารางที่ 1 แสดงอาการของผู้ที่มีโรคอารมณ์สองขั้วประเภท/ชนิดต่างๆซึ่งแยกความผิด ปกติกันที่ขั้วอารมณ์
ก. โรคอารมณ์สองขั้วชนิดที่ 1 (Bipolar I disorder): เป็นลักษณะอาการที่อารมณ์ขึ้นลงชัดเจน ซึ่งจะมีอาการอารมณ์ดีมากเกินไป (Mania) อย่างน้อย 7 วันติดต่อกันและ/หรือมีอาการซึมเศร้า (Depression) ร่วมด้วยเป็นบางระยะ ซึ่งต้องมีอาการมากกว่า 2 สัปดาห์ของอา การซึมเศร้า บางครั้งอาจกลับไปอารมณ์ปกติได้แต่มักไม่นาน
ข. โรคอารมณ์สองขั้วชนิดที่ 2 (Bipolar II disorder): เป็นลักษณะคล้ายชนิดที่ 1 แต่มีความต่างแค่ช่วงที่มีอารมณ์ดีมากเกินไปนั้นจะอยู่ในระดับไม่รุนแรงมากนักเช่น แค่พลังเยอะ (Hypomania หรือ Milder form of mania)
ค. โรคอารมณ์สองขั้วชนิดอ่อน (Cyclothymia): เป็นลักษณะอาการอ่อนๆของโรคอารมณ์สองขั้ว มักจะเกิดในระยะเวลาสั้นกว่าและรุนแรงน้อยกว่าทั้ง 4 ชนิดดังได้กล่าวแล้ว แต่ละขั้วอารมณ์ที่เกิดมักจะไม่กี่วัน ที่สำคัญจะไม่พบอาการทางจิต (เช่น หูแว่ว ประสาทหลอน) เกิดขึ้นเลย
ง. โรคอารมณ์สองขั้วชนิดกลับไปกลับมา (Rapid cycling bipolar disorder): เป็นลักษณะอาการที่อารมณ์ขึ้นลงชัดเจน ซึ่งจะมีอาการอารมณ์ดีมากเกินไป (Mania) หรือดีไม่มาก (Hypomania) และ/หรือ มีอาการซึมเศร้า (Depression or subsyndromal depression) ร่วมด้วยเป็นบางระยะ สลับกันไปมา ทุกอาการเกิดขึ้นในระยะเวลา 1 ปี เป็นชนิดที่ผู้ที่มีอาการอารมณ์สองขั้วเป็นเยอะที่สุดประมาณ 5 - 15% และมักจะใช้ยาต้านเศร้า (Anti-depressants) ไม่ได้ผลหรือกลับทำให้อาการแย่ลง
จ. โรคอารมณ์สองขั้วชนิดผสม (Bipolar disorder, Mixed): อาการมักจะเกิดซึม เศร้า (Depression) และอารมณ์ดีผิดปกติ (Mania) เกิดขึ้นในเวลาเดียวกันหรือใกล้ๆกัน ซึ่งมักจะเกิดบ่อยในระหว่างวัน โดยอาการมักจะมีพลังเยอะและซึมเศร้าร่วมกัน โดยผู้ที่มีอาการในกลุ่มนี้มีความเสี่ยง “ฆ่าตัวตายสูง”
โรคอารมณ์สองขั้วมีสาเหตุจากอะไร?
ไม่มีใครทราบสาเหตุที่แท้จริงของการเกิดโรคอารมณ์สองขั้ว แต่ที่ชัดเจนคือไม่เกี่ยวกับการเลี้ยงดูที่ผิด หรือไม่เกี่ยวกับการมีความบกพร่องทางจริยธรรม หรือบุคลิกภาพที่ผิดปกติ ซึ่งในงานวิจัยปัจจุบันคาดว่าสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคอารมณ์สองขั้วคือ พันธุกรรม โดยเฉพาะครอบครัวที่มีประวัติโรคซึมเศร้าหรือโรคอารมณ์สองขั้วมาก่อน ซึ่งคนเหล่านี้จะเสี่ยงมากที่จะมีความเครียดทั้งกายและใจ นอนน้อย มีความสัมพันธ์กับคนทุกคนอย่างสั้นๆ ใช้สุรา ยาเสพติด ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้จะกระตุ้นให้อาการอารมณ์ดีผิดปกติเกิดขึ้น
นอกจากนั้น ปัจจุบันยังเชื่อว่าโรคอารมณ์สองขั้วเกิดจากการทำงานที่ผิดปกติของสมอง โดยมีสารสื่อประสาทที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ที่ไม่สมดุลคือ สารเซโรโทนิน (Serotonin) น้อยเกิน ไปและมีสารนอร์อีพิเนฟริน (Epinephrine) มากเกินไป ทำให้ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ให้สม ดุลได้
ปัจจุบันยังมีหลักฐานที่สนับสนุนว่า มีการทำงานที่ผิดปกติของสมองส่วนระบบควบคุมอารมณ์ (Limbic system) โดยอารมณ์ที่แกว่งไปมาเป็นสองขั้วจะคล้ายกับการเกิดอาการชักที่เกิดกับร่างกาย ซึ่งการรักษาโรคนี้ตอบสนองดีต่อยากันชัก เพราะมีปัญหาในสมองคล้ายคลึงกัน
นอกจากนั้น ยังมีโรคทางกายบางอย่าง และ ยาบางตัวอาจทำให้เกิดอาการอารมณ์ดีผิดปกติ (Mania) เช่น
- อุบัติเหตุกระทบกระเทือนสมอง
- โรคลมชัก, โรคหลอดเลือดสมอง/อัมพาต, โรคไมเกรน หรือ เนื้องอกสมอง/มะเร็งสมองที่เกิดบางตำแหน่งของสมอง
- ไทรอยด์ฮอร์โมนผิดปกติ/โรคต่อมไทรอยด์
- โรคเอดส์
- การติดเชื้อในระบบประสาทส่วนกลาง
- โรคภูมิต้านตนเอง/โรคออโตอิมมูน เช่น โรคลูปัส-โรคเอสแอลอี
- ยาบางชนิด เช่น ยาต้านเศร้า, ยากดภูมิคุ้มกันประเภท Corticosteroid, ยาโรคสมาธิสั้น (เช่น ยา Ritalin), ยาโรคพาร์กินสัน (เช่น Levo-dopa), ยาเสพติดต่างๆ (เช่น Amphetamine, Cocaine)
โรคอารมณ์สองขั้วมีอาการอย่างไร?
อาการของโรคอารมณ์สองขั้วเป็นความผิดปกติของอารมณ์และพฤติกรรมซึ่งแตกต่างจากสภาวะเดิมปกติก่อนหน้าเกิดโรค ซึ่งมักจะมีอาการสำคัญที่เกิดขึ้นได้ 4 กลุ่มอาการดังต่อไปนี้
ก. อารมณ์ซึมเศร้า: อาการมักจะ ไม่ร่าเริงหรือสนุกสนานเมื่อเทียบกับแต่ก่อน เศร้า แยกตัว เบื่อหน่าย ไม่อยากทำอะไร ไม่มีเรี่ยวแรง กินไม่ได้ นอนไม่หลับ มีอาการปวดในตำแหน่งต่างๆ/และหรือทั่วตัวที่ไม่ทราบสาเหตุ เบื่อๆเข้าก็รู้สึกว่าตัวเองไม่มีค่า เป็นภาระคนอื่น มองโลกในแง่ร้าย โกรธหงุดหงิดง่าย ขาดสมาธิ หลงลืมง่าย ที่สำคัญที่สุดคือ “การคิดฆ่าตัวตาย” หรือ “ทำร้ายตนเอง” โดยอาการดังกล่าวจะเป็นต่อเนื่องมากกว่า 2 สัปดาห์
ข. อารมณ์ดีผิดปกติ (Mania): มักจะเริ่มต้นจากความรู้สึกว่ามี “พลังเยอะ คิดสร้าง สรรค์หลากหลาย เข้าสังคมง่ายเกินไป” ซึ่งพออาการเริ่มหนักขึ้นมักจะมี “อารมณ์ดีเพิ่มขึ้น” ซึ่งมักจะมี “ความมั่นใจในตนเองเกินจริง” และ “หงุดหงิด โวยวายง่าย” ซึ่งคนที่มีอาการอารมณ์ดีเกินไปมักจะ “กระตือรือร้นมากเกินไป พูดมาก เบี่ยงเบนความสนใจง่าย และนอนลดลง” ซึ่งผู้ที่มีอาการมัก “ไม่ค่อยรู้ตัว” ว่ากำลังมีอาการผิดปกติ และรู้สึกสนุกกับทุกสิ่งรอบตัวมากขึ้นกว่าปกติ จนอาการเริ่มมีผลต่อ “การตัดสินใจที่เริ่มผิดพลาด” มีความเสี่ยงสูงทางพฤติกรรมเช่น “เที่ยวกลางคืน มีเพศสัมพันธ์เยอะ (ความรู้สึกทางเพศสูง)” ในกรณีที่อาการหนักมากจะมีอาการทางจิตได้เช่น หูแว่ว ประสาทหลอนได้
ค. อารมณ์เศร้าไม่มาก (Subsyndromal depression): มีอาการอารมณ์เศร้า เบื่อหน่าย จนกระทบต่อชีวิตประจำวัน แต่อาการไม่มากเท่ากับซึมเศร้า (Depression) ช่วงที่เศร้าจะรู้สึกและคิดด้านลบบ่อยๆ ซักพักก็จะเปลี่ยนไปเป็นขั้วอารมณ์ดี
ง. อารมณ์ดีผิดปกติไม่มาก (Hypomania): มีอาการอารมณ์ดีผิดปกติแต่ไม่มาก รุน แรงน้อยกว่า และกระทบกับชีวิตประจำวันน้อยกว่า ซึ่งช่วงที่มีอาการจะมีอารมณ์ดีมากขึ้น แต่ไม่ ถึงขั้นอารมณ์ดีผิดปกติ (Mania) ก็มักจะอาการเปลี่ยนเป็นซึมเศร้าก่อน
อะไรเป็นสัญญาณเตือนว่าเริ่มมีอาการโรคอารมณ์สองขั้ว?
หากไม่สังเกตอย่างใกล้ชิดแล้ว บางครั้งคนรอบข้างจะสังเกตอาการแรกๆของโรคอารมณ์ สองขั้วไม่ออก ซึ่งบางคนมีอาการเก็บไว้ 10 ปีถึงแสดงอาการให้เห็นชัดเจน ซึ่งดังกล่าวแล้วว่า อาการของโรคอารมณ์สองขั้วมักเริ่มเกิดในช่วงวัยรุ่น
สัญญาณเตือนว่าเริ่มมีอาการโรคอารมณ์สองขั้ว *ที่สังเกตง่ายๆจากที่ปกติเขาดำเนินชีวิตได้อย่างคนทั่วไป แต่พอถึงช่วงหนึ่ง จะเริ่มมีอาการ “อารมณ์ดี รื่นเริงมากกว่าคนทั่วไป” หรือ อีกขั้วตรงข้ามก็จะมี “อาการซึมเศร้า (เครียด เก็บตัว เบื่อ รู้สึกไร้ค่า)” ซึ่งอารมณ์ทั้งสองขั้วนั้น จะแตกต่างไปจากอารมณ์พื้นเดิมของผู้ป่วย
ก. การสังเกตภาวะซึมเศร้าในโรคอารมณ์สองขั้ว: มักมีลักษณะเด่นที่ควรสังเกตที่เตือนว่ามีแนวโน้มจะป่วย เช่น
- มักเกิดอาการครั้งแรกในช่วงวัยรุ่น และมีประวัติอาการเป็นๆหายๆหลายครั้ง
- มีการเคลื่อนไหวของร่างกายและของความคิดช้าลงกว่าปกติ
- นอนมากหรือนอนไม่หลับ และรับประทานอาหารน้อยลงหรือมากขึ้นกว่าเดิม
- มองว่าตนเองไร้ค่าหรือไม่มีประโยชน์ ไม่มีกำลังใจ
- มองโลกแง่ลบ ไม่สนุกสนาน ไม่ร่าเริง เหมือนเดิม
- มีอาการวิตกกังวลรุนแรง ซึ่งจะคิดมากหลายๆเรื่องรวมกัน
- มีอาการหลงผิดเกิดขึ้นได้ง่าย บ่อย ผิดปกติเช่น คิดว่าคนอื่นจะมากลั่นแกล้งหรือทำร้าย ร่วมกับอาการทางอารมณ์ที่ผิดปกติดังกล่าว
- มีปัญหาเกี่ยวกับความสัมพันธ์กับบุคคลอื่น มองว่าบุคคลอื่นไม่สนใจหรือไม่เป็นมิตร
- อาจมีประวัติการติดสารเสพติดหรือพฤติกรรมที่ผิดกฎหมาย
- มีประวัติครอบครัวโรคอารมณ์สองขั้วและ/หรือโรคซึมเศร้า
ข. สังเกตภาวะอารมณ์ดีกว่าคนทั่วไปในโรคอารมณ์สองขั้ว: มักมีอาการเด่น เช่น
- มักเกิดอาการครั้งแรกในช่วงวัยรุ่น อารมณ์ดีผิดปกติไปจากเดิม
- พูดมาก หัวเราะง่าย อารมณ์ดีเกินจริง
- พลังเยอะ ขยันทำอะไรหลายอย่างพร้อมกัน ชอบไปวุ่นวายกับคนอื่น
- นอนน้อย ไม่อยากนอน
- ใช้เงินเปลือง ชอบซื้อของทีละมากๆ ชอบเที่ยวกลางคืน
- คิดโครงการต่างๆ เกินความเป็นจริง คิดแล้วหยุดไม่ได้
- หงุดหงิดง่าย ก้าวร้าว
- มีอารมณ์ทางเพศสูง สำส่อนทางเพศ
- ใช้สุรา ยาเสพติด เพื่อควบคุมอารมณ์ตนเอง
- มีประวัติครอบครัวโรคอารมณ์สองขั้วและ/หรือโรคซึมเศร้า
*อนึ่ง: เมื่อเริ่มสงสัยว่าจะมีอาการของโรคอารมณ์สองขั้วให้ใช้แบบคัดกรองช่วยดังนี้
*หมายเหตุ: หมายเหตุ: ข้อมูลจาก กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข https://www.mhc2.go.th/bipolar/start.php
ควรพบจิตแพทย์เมื่อไหร่?
เมื่อท่านหรือคนใกล้ชิดของท่านสังเกตตามสัญญาณเตือนดังกล่าว หรือคัดกรองตามแบบทดสอบแล้ว “ผลเป็นบวก” ควรรีบไปพบแพทย์หรือจิตแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัย เนื่องจากสถิติทั่วโลกผู้ที่มีอาการของอารมณ์สองขั้วจะได้พบแพทย์แค่ 3 ใน 4 คนเท่านั้น และที่สำคัญ กว่าจะวินิจฉัยในแต่ละรายอาจมีอาการมาแล้วมากกว่า 8 ปีจึงจะไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยรักษา ซึ่งหากได้รับการวินิจฉัยและรักษาได้เร็วก็จะสามารถใช้ชีวิตได้ปกติ ไม่เกิดผลกระทบต่อคนใกล้ชิดและครอบครัว
แพทย์วินิจฉัยโรคอารมณ์สองขั้วอย่างไร?
ไม่มีการตรวจใดๆ เช่น เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (ซีทีสแกน) สมอง, เอมอาร์ไอสมอง, หรือการตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง ที่จะใช้วินิจฉัยโรคอารมณ์สองขั้วได้แน่นอน
ทั่วไป แพทย์วินิจฉัยโรคอารมณ์สองขั้วได้จาก:
- สอบถามประวัติอาการจากเจ้าตัวและผู้ใกล้ชิด
- การตรวจร่างกายทั่วไป
- การตรวจสภาพจิต (การตรวจทางจิตเวช/กระบวนการสังเกตพฤติกรรม พูดคุยและทดสอบ) โดยวินิจฉัยตามเกณฑ์คู่มือการวินิจฉัยและสถิติสำหรับความผิดปกติทางจิต (Diagnostic and Statistical Manual of Mental Disorders: DSM) ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์การวินิจฉัยความผิดปกติทางจิตซึ่งจัดทำโดยสมาคมจิตเวชศาสตร์สหรัฐอเมริกา (American Psychiatric Association: APA)
อนึ่ง: เกณฑ์การวินิจฉัยว่าเกิดเป็นโรคอารมณ์สองขั้ว (Bipolar disorder) แล้ว ทั่วไปได้แก่ การวินิจฉัยว่ามีความผิดปกติดังต่อไปนี้
- Bipolar I disorder คือ ผู้ป่วยมีอารมณ์ดีมากกว่าปกติ อย่างน้อย 1 ครั้ง คงอยู่ตลอด เวลา 1 สัปดาห์ที่มีอาการ ครบเกณฑ์วินิจฉัย อารมณ์ดีผิดปกติ (Mania) โดยมีอาการของซึมเศร้ารุนแรงร่วมด้วยหรือไม่มีก็ได้
- Bipolar II disorder คือ ผู้ป่วยมีทั้งอารมณ์ดีผิดปกติไม่มาก ครบเกณฑ์วินิจฉัย อา รมณ์ดีผิดปกติไม่มาก (Hypomania) และอาการซึมเศร้า เข้าเกณฑ์วินิจฉัย ซึมเศร้ารุนแรงอย่างน้อยอาการละ 1 ครั้งคงอยู่ตลอดช่วงเวลา 1 สัปดาห์ที่มีอาการ
- Cyclothymia คือ ผู้ป่วยมีอารมณ์ดีผิดปกติไม่มาก ครบเกณฑ์วินิจฉัย อารมณ์ดีผิดปกติไม่มาก (Hypomania) และอาการซึมเศร้าที่ไม่ครบเกณฑ์ วินิจฉัยว่าซึมเศร้ารุนแรงอาการละหลายครั้งในระยะเวลาอย่างน้อย 1 ปี โดยไม่มีช่วงที่ปราศจากอาการทั้ง 2 อย่างนานมากกว่า 2 เดือน
ทั้งนี้ การวินิจฉัยของแพทย์นั้นจะดูความแปรปรวนของขั้วอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงที่ทำให้เกิดความผิดปกติ 3 ข้อที่ได้กล่าวตอนต้นในหัวข้อนี้ โดยมีรายละเอียดวินิจฉัยแต่ละขั้วอารมณ์ดังต่อไปนี้
ช่วงมีอาการซึมเศร้ารุนแรง (Major Depressive Episode): ทั่วไปวินิจฉัยโดย
ก. การเปลี่ยนแปลงของอารมณ์ที่เศร้าหรือเบื่อหน่ายไม่มีความสุขต่างไปจากแต่ก่อน และมีอา การดังต่อไปนี้ 5 อาการ (หรือมากกว่า) ร่วมกันอยู่นาน 2 สัปดาห์
- มีอารมณ์ซึมเศร้าเป็นส่วนใหญ่ของวัน แทบทุกวัน โดยได้จากการบอกเล่าของผู้ป่วย (เช่น รู้สึกเศร้าหรือว่างเปล่า) หรือจากการสังเกตของผู้อื่น (เช่น เห็นว่าร้องให้)
หมายเหตุ: ในเด็กและวัยรุ่นเป็นอารมณ์หงุดหงิดก็ได้ - ความสนใจหรือความสุขใจในกิจกรรมต่างๆทั้งหมดหรือแทบทั้งหมดลดลงอย่างมาก เป็นส่วนใหญ่ของวัน แทบทุกวัน (โดยได้จากการบอกเล่าของผู้ป่วยหรือจากการสังเกตของผู้อื่น)
- น้ำหนักลดลงโดยมิได้เป็นจากการคุมอาหารหรือเพิ่มขึ้นอย่างมีความสำคัญ (ได้แก่น้ำ หนักเปลี่ยนแปลงมากกว่า 5% ต่อเดือน) หรือมีการเบื่ออาหารหรือเจริญอาหารแทบทุกวัน
หมายเหตุ: ในเด็กดูว่าน้ำหนักไม่เพิ่มขึ้นตามที่ควรจะเป็น - นอนไม่หลับหรือหลับมากไปแทบทุกวัน
- กระสับกระส่าย (Psychomotor agitation) หรือเชื่องข้า (Retardation) แทบทุกวัน (จากการสังเกตของผู้อื่น มิใช่เพียงจากความรู้สึกของผู้ป่วยว่า กระวนกระวายหรือช้าลง)
- อ่อนเพลียหรือไร้เรี่ยวแรงแทบทุกวัน
- รู้สึกตนเองไร้ค่าหรือรู้สึกผิดอย่างไม่เหมาะสมหรือมากเกินควร (อาจถึงขั้นหลงผิด) แทบทุกวัน (มิใช่เพียงแค่การโทษตนเองหรือรู้สึกผิดที่ป่วย)
- สมาธิหรือความสามารถในการคิดอ่านลดลงหรือตัดสินใจอะไรไม่ได้ แทบทุกวัน (โดย จากการบอกเล่าของผู้ป่วยและ/หรือจากการสังเกตของผู้อื่น)
- คิดถึงเรื่องการตายอยู่เรื่อยๆ (มิใช่แค่กลัวว่าจะตาย) คิดอยากตายอยู่เรื่อยๆโดยมิได้วาง แผนแน่นอน หรือพยายามฆ่าตัวตาย หรือมีแผนในการฆ่าตัวตายไว้แน่นอน
ข. อาการเหล่านี้ก่อให้ผู้ป่วยมีความทุกข์ทรมานอย่างมีความสำคัญ ทางการแพทย์ หรือทางกิจ กรรมด้านสังคม การงาน หรือทางด้านอื่นๆที่สำคัญทำให้การใช้ชีวิตบกพร่องลง
ค. อาการมิได้เป็นจากผลโดยตรงด้านสรีรวิทยาจากสารต่างๆ (เช่น สารเสพติด ยา) หรือจากภาวะความเจ็บป่วยทางกาย (เช่น ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน )
ช่วงมีอาการอารมณ์ดีผิดปกติ (Manic Episode): ทั่วไปวินิจฉัยโดย:
ก. มีช่วงที่มีอารมณ์คึกคัก แสดงความรู้สึกโดยไม่รั้ง หรืออารมณ์หงุดหงิดที่ผิดปกติและคงอยู่ตลอดอย่างชัดเจนนานอย่างน้อย 1 สัปดาห์ (หรือนานเท่าใดก็ได้หากต้องอยู่ในโรงพยาบาล)
ข. ในช่วงที่มีความผิดปกติด้านอารมณ์นี้ พบมีอาการดังต่อไปนี้อยู่ตลอดอย่างน้อย 3 อาการ (หรือ 4 อาการหากมีเพียงอารมณ์หงุดหงิด) และอาการเหล่านี้รุนแรงอย่างมีความสำคัญทางคลินิก
- มีความเชื่อมั่นตัวเองเพิ่มขึ้นมาก หรือมีความคิดว่าตนยิ่งใหญ่ มีความสามารถที่สุด
- ความต้องการนอนลดลง (เช่น ได้นอนแค่ 3 ชั่วโมงก็รู้สึกว่าเพียงพอแล้ว)
- พูดคุยมากกว่าปกติหรือต้องการพูดอย่างไม่หยุด
- ความคิดแล่น คิดมากหลายเรื่องพร้อมๆกัน หรือผู้ป่วยรู้สึกว่าความคิดแล่นเร็ว
- วอกแวก (ได้แก่ ถูกดึงความสนใจได้ง่าย แม้สิ่งเร้า/ตัวกระตุ้นภายนอกจะไม่สำคัญหรือไม่เกี่ยว เนื่องกับสิ่งที่สนใจอยู่ในขณะนั้น)
- มีกิจกรรมซึ่งมีจุดหมายเพิ่มขึ้นมาก (ไม่ว่าจะเป็นด้านสังคม การงานหรือการเรียน หรือด้านเพศ) หรือกระสับกระส่ายมาก
- หมกมุ่นอย่างมากกับกิจกรรมที่ทำให้เพลิดเพลิน แต่มีโอกาสสูงที่จะก่อให้เกิดความยุ่ง ยากติดตามมา (เช่น ใช้จ่ายอย่างไม่ยับยั้ง ไม่ยับยั้งใจเรื่องเพศ หรือลงทุนทำธุรกิจอย่างโง่เขลา)
ค. ความผิดปกติด้านอารมณ์ที่เกิดขึ้นรุนแรงจนทำให้มีความบกพร่องอย่างมากในด้านการงาน หรือกิจกรรมทางสังคมตามปกติ หรือสัมพันธภาพกับผู้อื่น หรือทำให้ต้องอยู่ในโรงพยาบาล เพื่อ ป้องกันอันตรายต่อตนเองหรือต่อผู้อื่นหรือมีอาการโรคจิต
ง. อาการมิได้เป็นจากผลโดยตรงจากสารต่างๆที่ใช้อยู่ (เช่น สารเสพติด ยา หรือการรักษาอื่น) หรือจากภาวะความเจ็บป่วยทางกาย (เช่น ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ/ ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน)
หมายเหตุ: ระยะอาการคล้าย Mania ที่เห็นชัดว่าเป็นจากการรักษาทางกายภาพของภาวะซึมเศร้า (เช่น การใช้ยา การรักษาด้วยไฟฟ้า การรักษาด้วยแสงสว่าง) ไม่รวมอยู่ในการวินิจฉัยของ Bipolar I Disorder
ช่วงมีอาการอารมณ์ดีผิดปกติไม่มาก (Hypomanic Episode): ทั่วไปวินิจฉัยโดย:
ก. มีช่วงที่มีอารมณ์คึกคัก แสดงความรู้สึกโดยรั้งไม่ได้ หรืออารมณ์หงุดหงิดที่ผิดปกติ และคงอยู่ตลอดอย่างชัดเจนนานอย่างน้อย 4 วัน โดยเห็นชัดว่าต่างจากช่วงอารมณ์ปกติที่ไม่ซึมเศร้า
ข. ในช่วงที่มีความผิดปกติด้านอารมณ์นี้จะพบมีอาการดังต่อไปนี้อยู่ตลอดอย่างน้อย 3 อาการ (หรือ 4 อาการหากมีเพียงอารมณ์หงุดหงิด) และอาการเหล่านี้รุนแรงอย่างมีความสำคัญทางคลินิก
- มีความเชื่อมั่นตัวเองเพิ่มขึ้นมาก หรือมีความคิดว่าตนยิ่งใหญ่ มีความสามารถสูงส่ง(Grandiosity)
- ความต้องการนอนลดลง (เช่น ได้นอนแค่ 3 ชั่วโมงก็รู้สึกว่าเพียงพอแล้ว)
- พูดคุยมากกว่าปกติหรือต้องการพูดอย่างไม่หยุด
- ความคิดแล่น คิดมากหลายเรื่องพร้อมๆกัน หรือผู้ป่วยรู้สึกว่าความคิดแล่นเร็ว
- วอกแวก (Distractibility) ได้แก่ ถูกดึงความสนใจได้ง่าย แม้สิ่งเร้าภายนอกจะไม่สำคัญ หรือไม่เกี่ยวเนื่องกับสิ่งที่สนใจอยู่ในขณะนั้น
- มีกิจกรรมซึ่งมีจุดหมายเพิ่มขึ้นมาก ไม่ว่าจะเป็นด้านสังคม การงานหรือการเรียน หรือด้าน เพศ หรือกระสับกระส่าย
- หมกมุ่นอย่างมากกับกิจกรรมที่ทำให้เพลิดเพลิน แต่มีโอกาสสูงที่จะก่อให้เกิดความยุ่งยากติดตามมาเช่น ใช้จ่ายไม่ยั้ง ไม่ยับยั้งใจเรื่องเพศ หรือลงทุนทำธุรกิจอย่างโง่เขลา
ค. ระยะที่มีอาการจะมีความสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆซึ่งมิใช่ลักษณะประจำของบุคคลนั้นในขณะไม่มีอาการอย่างเห็นได้ชัด
ง. ผู้อื่นสังเกตเห็นได้ถึงความผิดปกติด้านอารมณ์และการเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆนี้
จ. ระยะที่มีอาการจะไม่รุนแรงถึงกับทำให้กิจกรรมด้านสังคมหรือการงานบกพร่องลงมาก หรือทำให้ต้องอยู่โรงพยาบาล และไม่มีอาการโรคจิต
ฉ. อาการมิได้เป็นจากผลโดยตรงด้านสรีรวิทยาจากสารต่างๆ (เช่น สารเสพติด ยา หรือการรักษาอื่นๆ) หรือจากภาวะความเจ็บป่วยทางกาย (เช่น ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ)
*หมายเหตุ: ระยะอาการคล้าย Hypomania ที่เห็นชัดว่า เป็นจากการรักษาทางกายภาพของภาวะซึมเศร้า (เช่น การใช้ยา การรักษาด้วยไฟฟ้า การรักษาด้วยแสงสว่าง) ไม่ควรรวมอยู่ในการ วินิจฉัยของ Bipolar II Disorder
ดูแลเบื้องต้นอย่างไรเมื่อรู้ตัวว่าเป็นอารมณ์สองขั้ว?
เมื่อสงสัยว่ามีอาการอารมณ์สองขั้ว (Bipolar disorder) ควรไปพบจิตแพทย์ใกล้บ้านท่าน เพื่อตรวจวินิจฉัยให้ชัดเจน ซึ่งหากได้รับวินิจฉัยแล้วควรมีการดูแลตนเองเบื้องต้นง่ายๆ เช่น
- นอนให้เพียงพอ: ซึ่งมีผลทำให้สารเคมีในสมองผิดปกติ มีความอ่อนล้าทั้งร่างกายและจิตใจ อาจทำให้อาการเป็นหนักยิ่งขึ้น จึงควรพักผ่อนให้เพียงพอ
- ดูแลสุขภาพ: เนื่องจากผู้ที่มีอาการของโรคอารมณ์สองขั้ว เมื่ออารมณ์ดีจะกินเก่ง เมื่อเศร้าจะไม่กิน ซึ่งมีผลต่อสุขภาวะทางร่างกาย จึงหมั่นดูแลเรื่องอาหารการกินให้เหมาะสม รวมทั้งควรหลีกเลี่ยงการดื่มสุรา ใช้ยาเสพติดด้วย ซึ่งจะมีผลต่อสุขภาพได้
- สังเกตอารมณ์ตนเอง: อารมณ์ของผู้ที่มีอาการอารมณ์สองขั้ว (Bipolar disorder) จะเปลี่ยนแปลงไปมาได้เร็ว (Swing) ซึ่งจะมีผลกระทบต่อตนเองและต่อผู้อื่น การหัดสังเกตอารมณ์นั้นจะช่วยควบคุมและลดผลกระทบดังกล่าวได้ อีกทั้งหากรู้สึกว่าเริ่มเกิดปัญหาคุมไม่ได้ จะได้รับความช่วยเหลือได้ทัน
- บอกคนใกล้ชิดให้ช่วยสังเกต: เพราะบางอาการนั้นเจ้าตัวเองนั้นไม่สามารถบอกได้ การที่มีคนใกล้ชิดคอยสังเกตอาการ จะช่วยดูการเปลี่ยนแปลงจากปกติได้ หากมีอาการมากจะได้ไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลทันท่วงที/ก่อนนัด
- กินยาตามแพทย์สั่ง: หากได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง ไม่ขาดยา ก็จะสามารถใช้ชีวิตได้ปกติ ไม่กระทบชีวิตประจำวันมาก
คนรอบข้างจะดูแลคนที่อารมณ์สองขั้วอย่างไร?
มีหลักการดูแลง่ายๆในการดูแลคนที่มีอารมณ์สองขั้ว คือ “เข้าใจ สังเกต ดูแล ควบคุม ให้กำลังใจ”
- เข้าใจ: คือ เข้าใจว่า อารมณ์และพฤติกรรมที่เกิดขึ้นของคนที่มีอารมณ์สองขั้วเป็นอา การเจ็บป่วย ไม่ใช่นิสัยของเขา ซึ่งหากเราใกล้ชิดจะพบว่า เขาเปลี่ยนแปลงไปจากปกติที่ไม่มีอาการของโรคอารมณ์สองขั้ว ผู้ดูแลจะต้องมีความรู้เรื่องโรคอารมณ์สองขั้วด้วย จะช่วยให้อยู่ร่วมกับคนที่มีอารมณ์สองขั้วได้อย่างไม่หงุดหงิด รำคาญใจ หรือรู้สึกเป็นภาระ
- สังเกต: คนใกล้ชิดหรือญาติมีส่วนสำคัญในการสังเกตว่า ผู้ที่มีอารมณ์สองขั้วเป็นอย่าง ไร (ตามความรู้เรื่องอาการข้างต้น) มีอาการกลับเป็นซ้ำหรือไม่ โดยในช่วงแรกที่อาการยังไม่มาก ผู้ที่เป็นจะไม่ทราบว่าตนเองเปลี่ยนแปลงไป ดังนั้นคนใกล้ชิดจึงมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาด้วย
- ดูแล: การกินยาอย่างสม่ำเสมอเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้สามารถควบคุมอาการได้ดี รวม ทั้งสามารถป้องกันการกำเริบในครั้งต่อไป และควรพบแพทย์ตามนัดเพื่อประเมินผลการรักษา ตลอดจนประเมินผลข้างเคียงจากยา แพทย์อาจปรับยาเป็นช่วงๆตามแต่อาการของโรค ควรให้ข้อมูลกับผู้รักษา ไม่ปิดบังถึงอารมณ์และพฤติกรรมต่างๆ โดยเฉพาะหากไม่แน่ใจว่าเป็นช่วงที่อารมณ์เปลี่ยนแปลงหรือไม่ การปฏิบัติตัวที่สำคัญในโรคนี้ได้แก่ “การกินยารักษาโรคอย่างสม่ำเสมอไม่ขาดยา” ประเด็นที่สำคัญที่สุดในการดูแลอีกเรื่องคือ เรื่อง “การนอน” พบว่าการนอนน้อยติดต่อกันหลายๆวันทำให้อาการโรคขึ้น - ลงได้ จึงควรเข้านอนและตื่นนอนให้เป็นเวลา หลีก เลี่ยงการนอนดึก
- ควบคุม: ในช่วงที่เริ่มมีอาการอารมณ์ดีมากกว่าปกติ (Mania) ให้เลี่ยงการตัดสินใจที่สำคัญๆ หาหลักควบคุมการใช้เงิน หลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่กระตุ้นอารมณ์มากๆ ให้คนใกล้ชิดและญาติคอยเตือนเมื่อเห็นว่าตนเองมีพฤติกรรมที่อาจไม่เหมาะสม
ช่วงซึมเศร้าเลี่ยงการตัดสินใจที่สำคัญๆเช่น การลาออกจากงาน การทำธุรกรรม เป็นต้น โดยในผู้ที่มีอาการซึมเศร้าอาจมีการตัดสินใจที่ผิดพลาด และอาจทำให้รู้สึกผิดเพิ่มขึ้นเมื่ออาการดีขึ้น ซึ่งความรู้สึกผิดนี้จะทำให้อาการกำเริบอีกได้ง่าย
ทั้งนี้การออกกำลังกาย เป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะทำให้รู้สึกว่าจิตใจคลายความเศร้าและแจ่มใสขึ้นได้ ซึ่งหากช่วงอารมณ์ดีก็จะลดกำลังที่ผิดปกติลงได้ หากยังมีอาการสองขั้วมากอยู่ อย่ากดดันตัว เองให้ทำสิ่งต่างๆมากให้ได้เท่าเดิมในช่วงปกติ ช่วงนี้เป็นช่วงเวลาที่ยังต้องการการพักผ่อนทั้งทางร่างกายและจิตใจ การกระตุ้นตนเองมากไปกลับยิ่งจะทำให้ตัวเองรู้สึกแย่ที่ทำไม่ได้อย่างที่หวัง - ให้กำลังใจ: คนใกล้ชิดและญาติมีส่วนสำคัญที่จะเป็นกำลังใจในการรักษาให้ผู้ที่มีอา รมณ์สองขั้วกลับสู่ภาวะปกติ เมื่อผู้ป่วยหายจากอาการ ให้กำลังใจในการกลับไปเรียนหรือกลับ ไปทำงาน และไม่หยุดยาเองก่อนปรึกษาแพทย์
มีแนวทางรักษาโรคอารมณ์สองขั้วอย่างไร?
ปัจจุบันการรักษาโรคอารมณ์สองขั้ว การรักษาที่ได้ผลจะต้องร่วมกันหลายปัจจัย เช่น มีความรู้เรื่องโรคนี้เพื่อช่วยให้เข้าใจและจัดการตนเองได้, การรักษาอาการที่เกิดจากสารเสพติด (ถ้ามีร่วมด้วย), การให้ยารักษาโรคนี้, การทำจิตบำบัด (พูดคุยอย่างมีขั้นตอนกับนักบำบัด แพทย์ เพื่อน และกลุ่มบำบัด), กำลังใจจากคนใกล้ชิดและจากครอบครัว
โรคอารมณ์สองขั้วเป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายได้ คือหายกลับเป็นคนเดิมได้ “แต่ไม่หายขาด” วันดีคืนดีผู้ป่วยจะกลับมามีอาการอีก ในผู้ป่วยบางรายที่เป็นมาหลายครั้ง, เป็นค่อนข้างถี่, หรือเป็นแต่ละครั้งรุนแรงมาก แพทย์อาจพิจารณาให้ยารักษาโรคต่อไปเรื่อยๆเพื่อป้องกันไม่ให้อาการกลับมาใหม่
ตัวอย่างยารักษาโรคอารมณ์สองขั้ว:
โรคอารมณ์สองขั้วนี้สามารถรักษาได้ด้วยยา ยาที่ใช้รักษาโรคอารมณ์สองขั้ว ได้แก่ ยาในกลุ่มยาควบคุมอารมณ์, ยาแก้โรคจิต, และยาแก้โรคซึมเศร้า/ยาต้านเศร้า, ซึ่งการใช้ยาเหล่านี้ขึ้นกับการพิจารณาของแพทย์รักษาผู้ป่วย
ก. ยาควบคุมอารมณ์ (Mood stabilizers):
ยากลุ่มนี้เป็นยาหลักที่ใช้ทั้งรักษาในขณะที่ผู้ป่วยมีอาการซึมเศร้าและเมื่อมีอาการอารมณ์ดีผิดปกติ และยังใช้ป้องกันการกลับเป็นซ้ำได้ด้วย ในประเทศไทยปัจจุบันมียากลุ่มนี้ใช้แพร่หลาย อยู่ 2 กลุ่มยา ได้แก่
- ลิเที่ยม (Lithium carbonate)
- ยากันชัก (Anticonvulsant drugs) เช่น โซเดี่ยม วาลโปรเอท (Sodium valproate), เดพากิ้น (Depakine), คาร์บามาซีปีน (Carbamazepine), โทพิราเมท (Topira mate)
ยาในกลุ่มยาควบคุมอารมณ์นี้จะออกฤทธิ์ช้า เมื่อปรับยาครั้งหนึ่งต้องรออย่างน้อย 2 - 3 สัปดาห์ยาจึงเริ่มออกฤทธิ์ ผู้ป่วยที่ใช้ยาในกลุ่มนี้มักต้องถูกเจาะเลือดดูระดับยาในร่างกายเพื่อช่วยในการปรับยาด้วย และยาในกลุ่มนี้มักเป็นยาต้องห้ามในผู้ที่กำลังตั้งครรภ์โดยเฉพาะใน 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ เพราะอาจทำให้เด็กในท้องพิการได้ (การปรับยาขึ้นกับแพทย์พิจารณา)
ข. ยาแก้โรคจิต (Antipsychotics):
ใช้ในผู้ป่วยที่มีอาการวุ่นวายและมีพฤติกรรมที่สร้างปัญหามาก และปัจจุบันยังมีงานวิจัยรับ รองว่า ใช้คุมอารมณ์และป้องกันการกลับเป็นซ้ำได้ด้วย แพทย์จึงมักให้การรักษาด้วยยาแก้โรคจิต ยาในกลุ่มนี้จะออกฤทธิ์ไวและช่วยให้ผู้ป่วยสงบสติอารมณ์ควบคุมตนเองได้ดีขึ้น ยาในกลุ่มนี้มีให้เลือกใช้หลายชนิดขึ้นกับวิจารณญาณแพทย์ เช่น เพอร์เฟนาซีน (Perphenazine), คลอโปรมาซีน (Chlorpromazine), ริสเพอริโดน (Risperidone), ซีโรเคว (Seroquel), ไซเพรกซ่า (Zyprexa), ไซปร้าซีโดน (Ziprasidone), เอบิลิไฟ (Abilify) เป็นต้น
ค. ยาแก้โรคซึมเศร้า/ยาต้านเศร้า (Antidepressants):
มักจะใช้ในผู้ป่วยที่มีอาการอยู่ในระยะซึมเศร้า แพทย์สามารถให้การรักษาด้วยยาควบคุมอารมณ์โดยไม่ต้องให้ยาแก้โรคซึมเศร้าก็ได้ แต่บางครั้งแพทย์อาจเลือกที่จะให้ยาแก้ซึมเศร้าด้วยเพื่อให้ได้ผลแน่นอนขึ้น แล้วค่อยๆลดยาจนหยุดยาได้ เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ป่วย “อารมณ์ดีผิดปกติ” ยาแก้โรคซึมเศร้ามีให้เลือกใช้หลายชนิดเช่น ฟลูออกซิตีน (Fluoxetine), อมิทริปทีลีน (Amitriptyline), โซลอฟ (Zoloft), เรเมรอน (Remeron), เล็กซาโปร (Lexapro) เป็นต้น
ป้องกันโรคอารมณ์สองขั้วและป้องกันไม่ให้โรคกำเริบอย่างไร?
การป้องกันไม่ให้เกิดโรคอารมณ์สองขั้วนั้น ‘ไม่มีวิธีที่แน่นอน’ แต่โรคนี้จะมีอารมณ์แปรปรวนเร็วไม่สมดุล, การปรับชีวิตและอารมณ์ตนเองให้สมดุล มีชีวิตอย่างพอเพียง คาดหวังพอประมาณ ก็จะช่วยลดโอกาสเกิดโรคได้
สำหรับผู้ที่ป่วยแล้ว การป้องกันไม่ให้โรค/อาการเป็นซ้ำขึ้นกับปัจจัยที่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการกลับมาเป็นซ้ำ ทั่วไปมี 3 อย่างคือ
- ความเครียด
- อดนอน และ
- ขาดยารักษาอาการ
ซึ่งการป้องกันไม่ให้โรคกำเริบซ้ำก็ต้องพิจารณาจากทั้ง 3 อย่างนี้ ซึ่งการอดนอนและการขาดยาเป็นเรื่องที่ปรับแก้ไขได้ง่าย, แต่สำหรับความเครียดคงหลีกเลี่ยงได้ยากแต่ก็ควรจะปรับลดให้เกิดได้น้อยที่สุด โดยไม่ต้องถึงกับไปเปลี่ยนวิถีชีวิตปกติเลย เช่น เพียงลดภาระงานหรือขอย้ายหน่วยงาน เป็นต้น
บรรณานุกรม
- ปราโมทย์ สุคนิชย์, และ มาโนช หล่อตระกูล. (2541). เกณฑ์การวินิจฉัยโรคทาง จิตเวช (DSM-IV) ฉบับภาษาไทย (ใช้รหัส ICD-10) (พิมพ์ครั้งที่2).กรุงเทพฯ: ชวนพิมพ์.
- มาโนช หล่อตระกูล. (2546). คู่มือการใช้ยาทางจิตเวช. (พิมพ์ครั้งที่1).กรุงเทพฯ: หมอชาวบ้าน.
- มาโนช หล่อตระกูล. จิตเวชศาสตร์รามาธิบดี, โรคอารมณ์แปรปรวน, พิมพ์ครั้งที่ 6 สวิชาการพิมพ์, กรุงเทพฯ: หน้า 153-157, พ.ศ. 2544.
- มานิต ศรีสุรภานนท์. ตำราจิตเวชศาสตร์, โรคอารมณ์แปรปรวน, พิมพ์ครั้งที่ 2 เชียงใหม่โรงพิมพ์แสงศิลป์, เชียงใหม่: หน้า 165, พ.ศ. 2544.
- Bowden, CL. Diagnosis and management of Bipolar Disorders, 2 nd Ed. Science Press. 2004. P8.
- GarfinkelPE,StancerHC,PersadE.Acomparison of haloperidol, lithium carbonate and their combination in the treatment of mania.J Affect Disord1980;2:279-88.
- Goodwin FR, Jamison K. Manic-Depressive Illness. New York: Oxford University Press; 1990. 5.Goodwin FR, Jamison K. Manic-Depressive Illness. New York: Oxford University Press; 1990. 5.
- Hirschfield RM, Lewis L, Vornik LA.Perceptions and impact of bipolar disorder: how far have we really come?
- Hirschfeld RM, Williams JBW, Spitzer RL et al. Development and validation of a Screening instrument for bipolar spectrum disorder:The Mood Disorder Questionnaire. American Journal of Psychiatry 2000; 157: 1873-1875
- Mitchell PB, Malhi GS, Ball JR. Major advances in bipolar disorder. Medical Journal of Australia 2004; 181: 207-210.
- Results of the National Depressive and Manic-Depressive Association 2000 Survey of individuals with bipolar disorder.Journal of Clinical Psychiatry 2003; 64: 161-174.
- StokesPE,Shamoian CA,StollPM,Patton MJ. Efficacy of lithium as acute treatment of manic-depressive illness. Lancet 1971; 1:1319-25. 11.
- Zornberg GL, Pope HG Jr. Treatment of depression in bipolar disorder: new directions for research. J Clin Psychopharmacol 1993; 13:397-408. 6.
- https://www.nimh.nih.gov/health/publications/bipolar-disorder-listing [2023,March18]