อาการไม่พึงประสงค์จากปฏิกิริยาจำเพาะของยา (Idiosyncratic Adverse Drug Reaction)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยา เป็นตัวเลือกหนึ่งที่สำคัญในทางการแพทย์เพื่อใช้ในการรักษาโรค การวิจัยพัฒนาและการออกแบบตัวยาจึงมีความสำคัญเพื่อให้มีประสิทธิผลและมีความปลอดภัยสูงสุดต่อผู้ใช้ยา อย่างไรก็ดี ยาเกือบทุกชนิด นอกจากจะออกฤทธิ์ที่ต้องการแล้วนั้น ยังสามารถก่อให้เกิดอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)หรือผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (Adverse Drug Reaction ย่อว่า ADR) ซึ่งแบ่งออกเป็นสองชนิดใหญ่ๆ คือ

ก. ปฏิกิริยาชนิดเอ (Type A Reaction) เป็นปฏิกิริยาที่สามารถคาดเดาได้จากกลไกการออกฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของยา หรือที่เรียกว่า “อาการข้างเคียง”หรือ “ผลข้างเคียง” จากยา เช่น การทานยาต้านแข็งตัวของเลือดจะก่อให้เกิดความเสี่ยงเลือดออก (Bleeding) ได้ง่ายกว่าคนทั่วไปๆ ที่ไม่ได้ทานยานี้

ข. ปฏิกิริยาชนิดบี (Type B Reaction) เป็นปฏิริยาที่ไม่สามารถคาดเดาได้จากกลไกการออกฤทธิ์ของยา ซึ่งเกิดขึ้นได้น้อย เป็นกลไกการเกิดปฏิกิริยามีความจำเพาะต่อตัวยา ซึ่งปฏิกิริยาชนิดนี้ก็คือ “อาการไม่พึงประสงค์จากปฏิกิริยาจำเพาะของยา (Idiosyncratic drug reaction)” ที่จะกล่าวในบทความนี้

ปัจจุบัน ยังไม่มีคำจำกัดความที่แน่ชัดของ “อาการไม่พึงประสงค์จากปฏิกิริยาจำเพาะของยา หรือ Idiosyncratic Adverse Drug Reaction” แต่พบว่าปฏิกิริยานี้ มีความสัมพันธ์กับการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน/ระบบภูมิต้านทาน/ระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกาย โดยจะส่งผลต่ออวัยวะต่างๆ แต่ 3 อวัยวะหลักๆที่มักจะได้รับผลกระทบคือ ผิวหนัง ตับ และไขกระดูก แต่ยังมีอีกหลายกรณีที่ไม่ได้เกิดจากปฏิกิริยาของระบบภูมิคุ้มกันร่างกาย ซึ่งยังไม่สามารถอธิบายความสัมพันธ์ของปฏิกิริยาชนิดนี้กับอาการที่เกิดขึ้นได้ อย่างไรก็ดี สิ่งหนึ่งที่เป็นลักษณะร่วมกันของปฏิกิริยาชนิดนี้ คืออาการไม่พึงประสงค์จากยาจะเกิดขึ้นช้าหลังจากเริ่มรับประทานยาและยาได้ออกฤทธิ์ไปแล้ว ซึ่งมีความแปรผันไปตามชนิดของยาแต่ละชนิด ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในช่วง 1-2 เดือนหลังการได้รับยานั้นๆ

อีกหนึ่งคุณลักษณะร่วมกันของปฏิกริยาชนิดนี้คือ ความเสี่ยงในการเกิดอาการไม่พึงประสงค์ ไม่ได้เป็นไปตามขนาด/ ปริมาณยาที่บริโภค กล่าวคือ การได้รับตัวยาเพิ่มในขนาดที่สูงขึ้น ไม่ได้มีความสัมพันธ์กับการเกิดหรือไม่เกิดปฏิกิริยาชนิดนี้

ดังที่กล่าวไปในข้างต้นแล้วว่า สมมติฐานหนึ่งของการเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากปฏิกิริยาจำเพาะของยา คือการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ความเข้าใจในระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายเบื้องต้นจะช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจกลไกการทำงานของปฏิกิริยาจำเพาะของยามากขึ้น

ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายคืออะไร? มีกี่ประเภท? อะไรบ้าง?

อาการไม่พึงประสงค์จากปฏิกิริยาจำเพาะของยา

ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย เป็นระบบที่มีการทำงานอย่างซับซ้อนของเซลล์ภูมิคุ้มกันชนิดต่างๆ เพื่อป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นแก่ร่างกายจากสิ่งแปลกปลอมหรือแอนติเจน/สารก่อภูมิต้านทาน (Antigen) ซึ่งอาจเป็นเชื้อโรคหรือสารเคมีชนิดต่างๆซึ่งรวมถึงยาต่างๆ

ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิด คือ

  • ชนิดระบบภูมิคุ้มกันที่มีมาแต่กำเนิด (Innate Immunity) เป็นกลไกป้องกันอันตรายต่างๆที่ร่างกายสร้างขึ้น เช่น ผิวหนัง เยื่อเมือก หรือ เม็ดเลือดขาวชนิดที่กำจัดสิ่งแปลกปลอมโดยการกลืนกิน
  • ส่วนอีกชนิดหนึ่งคือระบบภูมิคุ้มกันที่ป้องกันร่างกายอย่างจำเพาะเจาะจง (Adaptive immunity) โดยร่างกายจะสร้างเซลล์ภูมิคุ้มกันขึ้นเพื่อทำลายสิ่งแปลกปลอมอย่างจำเพาะเจาะจง ซึ่งการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันที่มีความจำเพาะเจาะจงเป็นการทำงานของเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดที่เรียกว่า “ที-เซลล์ (T Cell) หรือ ทีลิมโฟไซต์ (T lymphocyte)” ที่ทำหน้าที่กำจัดสิ่งแปลกปลอม/เชื้อโรค และที่เรียกว่า “บีเซลล์ (B Cell) หรือบีลิมโฟไซต์ (B lymphocyte)” ที่ถูกเปลี่ยนไปเป็นพลาสมาเซลล์ (Plasma cell) ใช้สร้างสารภูมิคุ้มกัน/สารภูมิต้านทานได้

อาการไม่พึงประสงค์จากปฏิกิริยาจำเพาะของยามีอาการอย่างไร? และสาเหตุมาจากอะไรบ้าง?

อาการไม่พึงประสงค์จากปฏิกิริยาจำเพาะของยา จะ มีอาการแสดงได้ในหลายรูปแบบ แต่อวัยวะที่พบอาการแสดงได้บ่อย มีดังต่อไปนี้

ก. ผิวหนัง: โดยเกิดผื่นที่ผิวหนัง ผื่นผิวหนังเป็นอาการแสดงหนึ่งที่พบได้บ่อยจากปฏิกิริยาจำเพาะของยา อาจเป็นผื่นเพียงเล็กน้อยจนกระทั่งถึงปฏิกิริยาที่มีผลกระทบต่ออวัยวะอื่นๆ ผื่นที่เกิดขึ้นโดยส่วนมาก เป็นผลมาจากปฏิกิริยาของยาต่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ผื่นที่พบได้บ่อยคือชนิด Maculopapular Rash หรือผื่นที่เป็นตุ่มนูนหรือรอยแดงผสมกัน ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นภายหลังเริ่มใช้ยาไปแล้ว 1-2 สัปดาห์

ผื่นอีกชนิดหนึ่งที่พบได้บ่อยรองลงมา คือ ผื่นลมพิษ (Urticaria) ส่วนใหญ่แล้วผื่นชนิดนี้จะมีความสัมพันธ์กับการแพ้ยา แต่ในบางกรณี ผื่นอาจเกิดจากปฏิกิริยาจำเพาะของยาก็ได้ ผื่นนี้ส่วนมากจะมีขนาดใหญ่ นูน แม้ชนิดของผื่นจะเหมือนกับผื่นแพ้ยาแต่หากเป็นผื่นอันเกิดจากปฏิกิริยาจำเพาะของยา จะเกิดขึ้นหลังจากได้รับยาไปแล้วระยะหนึ่ง ในขณะที่การแพ้ยา ผื่นจะเกิดขึ้นแทบทันทีหรือภายในไม่กี่ชั่วโมงหลังใช้ยา ยาที่มีปฏิกิริยาจำเพาะและก่อให้เกิดผื่นชนิดนี้ได้บ่อย คือยาไซโครปลอริน (Cyclosporine)

ผื่นแพ้ยาชนิดขึ้นที่ประจำ (Fixed Drug Eruption) เป็นผื่นอีกชนิดหนึ่ง มีคุณลักษณะที่สำคัญคือ เกิดขึ้นประจำที่เดิมเมื่อได้รับยาชนิดนั้นๆ โดยปกติผื่นจะหายไปเองเมื่อหยุดยา พบว่าเซลล์ชนิดไซโตท็อกซิกทีเซลล์ (Cytotoxic T cells) ซึ่งเป็นทีเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายมีส่วนทำให้เกิดผื่นชนิดนี้ โดยทั่วไป ผื่นชนิดนี้จะไม่มีความรุนแรง

ผื่นอีกชนิดหนึ่งที่มีความรุนแรงและเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต คือภาวะสะตีเวนส์จอห์นสัน (Stevens-Johnson syndrome) และทอกซิกอีพิเดอร์มัลเนโครซิส (Toxic epidermal necrolysis) ผู้ป่วยจะเริ่มจากมีอาการ รู้สึกไม่สบาย และมีไข้ หลังจากนั้นจะเริ่มมีผื่นขึ้น ซึ่งจะรู้สึกเจ็บเมื่อมีการสัมผัสผื่น หลังจากนั้นจะเริ่มเกิดแผลพุพอง(Blister)ขึ้น ซึ่งอาจลามไปสู่การอักเสบของอวัยวะอื่นๆได้ เช่น ช่องปาก หรือบริเวณอวัยวะเพศในช่วงแรก และสามารถลามไปยังลำไส้ และ ตา ได้

นอกจากรูปแบบผื่นต่างๆที่กล่าวไปแล้วข้างตื่น อาการแสดงทางผิวหนังยังสามารถเกิดจาก “ภาวะยาเหนี่ยวนำให้เกิดความไวสูง (Drug-induced hypersensitivity syndrome; DIHS)” และปฏิกิริยาของยาที่มีผลทั่วร่างกายร่วมกับ “ภาวะอีโอซิโนฟิลสูง (Drug Reaction with Eosinophilia and Systemic Symptoms; DRESS)” ซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการ เช่น มีผื่นขึ้นตามผิวหนัง มีไข้ ร่วมกับมีอาการจากอวัยวะอื่นๆอย่างน้อย 1 แห่ง เช่น ต่อมน้ำเหลืองโต(Lymphadenopathy)ที่อาจโตได้ทั่วตัว โรคตับอักเสบ (Hepatitis) ภาวะไตอักเสบ (Nephritis) โรคปอดอักเสบ (Pneumonitis) โรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ (Myocarditis) โรคต่อมไทรอยด์อักเสบ(Thyroiditis) และภาวะเม็ดเลือดผิดปกติ ในผู้ป่วยบางรายอาจไม่มีผื่นขึ้น ทั้งนี้ อาการไม่พึงประสงค์จากยาชนิดนี้ อาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ ส่วนมากเกิดจากการทำงานของตับล้มเหลวจากตับอักเสบที่เกิดอย่างรุนแรง ยาที่อาจก่อให้เกิดปฏิกิริยาชนิดนี้ เช่น ยาคาร์บามาซีพีน (Carbamazepine), ยาต้านชัก, ยาในกลุ่มซัลโฟนาไมด์ (Sulfonamides), ยาแอลโลพูรินอล (Allopurinol), ยารักษาโรคเกาต์, และยาต้านเชื้อเอชไอวี (เช่น ยาอะบาราเวียร์ /Abacavir และยาเนวิราปีน/Nevirapine) ภายหลังมีการค้นพบว่ายีนส์ HLA (Human leukocyte antigen)มีส่วนสำคัญในการก่อให้เกิดปฏิกิริยาดังกล่าวในยาบางชนิด ปัจจุบันจึงมีการตรวจจีโนไทป์ของยีนส์ HLA ก่อนการใช้ยาเหล่านี้เพื่อให้แน่ใจว่าผู้ป่วยจะสามารถใช้ยาเหล่านี้ได้อย่างปลอดภัย

ข. ตับ: เกิดภยันตรายต่อตับ(Liver Injury) การที่ตับได้รับผลกระทบจากปฏิกิริยาจำเพาะของยานั้น เชื่อว่าเกิดจากการที่ตับเป็นอวัยวะที่ใช้ในการเมทาบอไลต์ตัวยา (Metabolize, กระบวนการเปลี่ยนรูปตัวยา) ภยันตรายที่เกิดขึ้นแก่ตับ เกิดขึ้นได้ใน 2 รูปแบบคือ รูปแบบที่หนึ่ง: การเกิดภยันตรายต่อเซลล์ของตับ (Hepatocellular Liver Injury) ซึ่งเกิดจากการตายของเซลล์ตับ โดยปกติจะใช้เวลาประมาณ 1-3 เดือนไปแล้วหลังจากร่างกายของผู้ป่วยเริ่มรับยาสาเหตุ บางกรณีอาจเป็นไปอย่างล่าช้าคือมากกว่า 1 ปี ความรุนแรงของโรค/อาการแปรผันไปตามชนิดของยา อย่างเช่น ยาลดไขมันคอเลสเตอรอลกลุ่มสแตติน(Statins) ซึ่งยาส่วนใหญ่ ไม่ได้ทำให้เกิดภยันตรายต่อเซลล์ตับที่รุนแรง ส่วนอีกรูปแบบหนึ่งคือ ภาวะคั่งน้ำดี ในตับที่ทำให้เกิดภยันตรายต่อตับ (Cholestatic liver injury) เช่น ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย/ยาปฏิชีวนะ ที่ชื่อ อะมอกซิซิลลิน/คลาวูลานิดเอซิด (Amoxicillin/Clavulanic Acid) และยารักษาโรคจิตเภทในกลุ่มฟีโนไธอะซีน (Phenothiazine)

ค. ปฏิกิริยาไม่พึงประสงค์ทางโลหิต/ระบบเลือด/ระบบโลหิตวิทยา: ผลจากปฏิกิริยาของยา อาจส่งผลต่อกระบวนการสร้างเม็ดเลือดหรือกระบวนการทำลายเม็ดเลือด เช่น ภาวะแกรนูโลไซต์ต่ำ (Agranulocytosis) โดยทั่วไปภาวะนี้เกิดจากยารักษาโรคมะเร็ง/ ยาเคมีบำบัดที่เป็นพิษต่อเซลล์ (Cytotoxic Drugs) แต่ปฏิกิริยาของยาอื่นๆอาจส่งผลต่อการเกิดปฎิกิริยานี้ได้เช่นกัน เช่น ยาริทูซิแมบ (Rituximab) ที่ใช้รักษาโรคภูมิต้านทานตนเอง/ โรคออโตอิมมูน (Autoimmune)และรักษามะเร็งบางชนิด ที่สามารถก่อให้เกิดปฏิกิริยานี้ได้ โดยพบว่าเกิดขึ้นหลังจากเริ่มรับยานั้นๆไปแล้วระยะหนึ่ง อีกภาวะหนึ่งที่ปฏิกิริยาของยามีผลต่อทางโลหิตคือ ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ(Thrombocytopenia)จากการใช้ยาเฮพาริน (Heparin) ซึ่งเป็นยาต้านการแข็งตัวของเลือด

ยาบางชนิดอาจส่งผลให้เกิดภาวะโลหิตจาง(Anemia) เนื่องจากปฏิกิริยาของยาต่อเม็ดเลือดแดงโดยตรง หรือผ่านจากสารภูมิต้านทาน ส่งผลให้จำนวนเม็ดเลือดแดงลดลงได้ เช่น ยาเมธิลโดพา (Methyldopa)ที่ใช้รักษาโรคความดันโลหิตสูง, ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียในกลุ่มเบตาแลกแตม (Beta-lactams), ยาโพรเคนาไมด์ (Procainamide)ที่ ใช้รักษาโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ, และยาไอโซไนอะซิด (Isoniazid)ที่ใช้รักษาวัณโรค

ยาบางชนิดอาจส่งผลต่อการผลิตเซลล์เม็ดเลือดแดงของร่างกายจนทำให้เกิดภาวะโลหิตจางจากไขกระดูกฝ่อ (Aplastic Anemia) เช่นยาคลอแรมฟีนิคอล (Chloramphenicol)ที่เป็นยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่ง อาการภาวะโลหิตจางจะเกิดขึ้นเมื่อได้รับยานั้นๆไปแล้วในระยะหนึ่ง ความเสี่ยงในการเกิดภาวะโลหิตจางจากยาชนิดนั้นๆ มักเกิดในผู้ป่วยที่ได้รับยาด้วยการฉีดเข้ากระแสเลือด/เข้าหลอดเลือด

ง. ยาเหนี่ยวนำให้เกิดภูมิต้านทานตนเอง (Drug-Induced Autoimmunity): นอกจากผลข้างเคียงที่กล่าวไปแล้วข้างต้น ปฏิกิริยาของยาบางชนิด ยังสามารถเหนี่ยวนำให้เกิดภาวะภูมิต้านทานตนเองได้ ซึ่งพบได้น้อย ส่วนมากอาการจะดีขึ้นเมื่อหยุดยา ยกตัวอย่างเช่นยา โพรเคนาไมด์ (Procainamide) และยาไฮดราลาซีน (Hydralazine) สามารถเหนี่ยวนำให้เกิดกลุ่มอาการคล้ายลูปัส (Drug-Induced Lupus-like Syndrome) เป็นต้น

อะไรเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากปฏิกิริยาจำเพาะของยา ?

อาการไม่พึงประสงค์จากปฏิกิริยาจำเพาะของยา เป็นรูปแบบหนึ่งของอาการไม่พึงประสงค์จากยาต่างๆที่พบได้น้อย และไม่อาจคาดเดาได้จากกลไกการออกฤทธิ์ของยานั้นๆ ปัจจัยเสี่ยงในการเกิดภาวะนี้ มีความแปรผันไปตามชนิดของยา ดังนั้น ก่อนการเริ่มใช้ยา ควรตั้งใจฟังคำแนะนำจากแพทย์ พยาบาล และเภสัชกร ทุกครั้ง โดยเฉพาะยาใหม่ที่ยังมีการศึกษาไม่มาก

อนึ่ง เนื่องจากโอกาสการเกิดปฏิกิริยาจำเพาะของยาต่างๆมีน้อย ดังนั้น ในระหว่างการศึกษาความปลอดภัยของยาในทางคลินิก จึงอาจยังไม่มีรายงานการเกิดปฏิกิริยาจำเพาะของยานั้นๆก็ได้

ควรพบแพทย์เมื่อไร?

หากมีอาการผิดปกติใดๆที่เกิดขึ้นต่อร่างกายภายหลังการได้รับยาต่างๆไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นอาการผื่นในรูปแบบต่างๆ อาการดีซ่าน หรืออาการผิดปกติอื่นใดที่มีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน หรือที่รุนแรง ให้รีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยทันทีพร้อมกับการนำยานั้นๆ/ซองยาที่เหลือมาด้วย

แพทย์วินิจฉัยอาการไม่พึงประสงค์จากปฏิกิริยาจำเพาะของยาได้อย่างไร?

แพทย์สามารถวินิจฉัยอาการไม่พึงประสงค์จากปฏิกิริยาจำเพาะของยา ได้โดยการตรวจวินิจฉัยจาก อาการเบื้องต้นของผู้ป่วย ร่วมกับตรวจสอบประวัติการใช้ยาต่างๆ ช่วงเวลาระหว่างการเริ่มรับประทานยาต่างๆกับเวลาที่เกิดอาการแสดงของผู้ป่วย การตรวจร่างกาย การตรวจสัญญาณชีพ และแพทย์อาจพิจารณา การตรวจเลือด การตรวจปัสสาวะ ที่เป็นการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ได้ตามความเหมาะสมของอาการแสดง เช่น การตรวจเลือดซีบีซี การตรวจเลือดดูการทำงาน ของตับ ของไต เป็นต้น

รักษาอาการไม่พึงประสงค์จากปฏิกิริยาจำเพาะของยาอย่างไร?

อาการไม่พึงประสงค์จากปฏิกิริยาจำเพาะของยา ไม่ได้มีรูปแบบการรักษาที่แน่นอน การรักษาสำคัญ เป็นการรักษาประคับประคองตามอาการ และตามสภาพร่างกายของผู้ป่วย เมื่อแพทย์วินิจฉัยสาเหตุได้แล้วโดยส่วนมากจะให้ผู้ป่วยหยุดใช้ยาที่คาดว่าเป็นสาเหตุของอาการไม่พึงประสงค์จากยานั้นๆ โดยส่วนมากอาการของผู้ป่วยจะดีขึ้นเมื่อหยุดใช้ยานั้นๆ

การพยากรณ์โรคของอาการไม่พึงประสงค์จากปฏิกิริยาจำเพาะของยาเป็นอย่างไร?

อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยจะเป็น ชนิดเอ หรืออาการไม่พึงประสงค์ที่คาดเดาได้จากกลไกการออกฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของยา มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่เกิดขึ้นเป็นชนิดบีหรืออาการไม่พึงประสงค์จากปฏิกิริยาจำเพาะของยา อาการไม่พึงประสงค์จากยาต่างๆที่แสดงออก มีความแปรผันไปตามชนิดของยาแต่ละชนิดอย่างไม่สามารถคาดเดาได้ ตั้งแต่การเกิดผื่นเพียงเล็กน้อย จนกระทั่งการเกิดผื่นขนาดใหญ่หรือผื่นที่มีความรุนแรงอย่างสะตีเวนส์จอห์นสัน (Stevens-Johnson syndrome) และทอกซิกอีพิเดอร์มัลเนโครซิส (Toxic epidermal necrolysis; TEN/ เท็น) รวมถึงอาจส่งผลต่อการทำงานของร่างกายในระบบอื่นๆได้ด้วย เช่น ตับ ไต และโลหิต/ไขกระดูก และหากไม่ได้รับการรักษาที่ทันท่วงที อาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้

มีผลข้างเคียงจากกลุ่มอาการนี้ไหม?

ผลข้างเคียง/ อาการไม่พึงประสงค์จากปฏิกิริยาจำเพาะของยา โดยส่วนมาก ผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้นหากได้รับการวินิจฉัยและการรักษาทีทันท่วงที ผลต่อตับและต่อโลหิต/ระบบเลือดส่วนมากจะดีขึ้นภายหลังการหยุดใช้ยาที่เป็นสาเหตุ แต่หากไม่ได้รับการรักษา อาการอาจมีความรุนแรงมากขึ้น เช่น ผื่นมีการกระจายตัวของผื่นมากขึ้น การเกาผื่นจะทำให้ผิวหนังเปิดที่เกิดความเสี่ยงต่อโรคติดเชื้อต่างๆ หรือกรณีของตับ เซลล์ตับที่เสียหายจากปฏิกิริยาจำเพาะของยา อาจนำไปสู่ภาวะการทำงานของตับล้มเหลวได้ เป็นต้น

สามารถดูแลตนเองและป้องกันกลุ่มอาการนี้ได้อย่างไร?

ดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้นว่า อาการไม่พึงประสงค์จากปฏิกิริยาจำเพาะของยาไม่สามารถป้องกันได้ เนื่องจากเป็นอาการไม่พึงประสงค์จากยาที่ไม่สามารถคาดเดาได้จากกลไกการทำงานของยาต่างๆ ส่วนมากเป็นผลมาจากปฏิกิริยาของยากับระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายซึ่งมีความซับซ้อน ผู้ป่วยจึงควรใส่ใจเฝ้าระวังอาการผิดปกติต่างๆที่อาจเกิดขึ้นหลังจากรับประทานยา โดยเฉพาะยาที่แพทย์สั่งจ่ายใหม่ๆ และควรรีบเข้าพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเมื่อมีอาการผิดปกติต่างๆเกิดขึ้น โดยเฉพาะที่เกิดหลังมีการใช้ยาต่างๆ

บรรณานุกรม

  1. Jack Uetrecht and Dean J. Naisbitt. Idiosyncratic Adverse Drug Reactions: Current Concepts. Pharmacol Rev. 2013 Apr; 65(2): 779–808.
  2. Jack Uetrecht. Mechanisms of Idiosyncratic Drug Reactions and Their Implications for Risk Prediction. University of Toronto. http://www.nedmdg.org/docs/2011/2011spring_meeting/NEDMDG_mar2011_uetrecht.pdf[2017,Oct28]
  3. Werner J Pichler. An approach to the patient with drug allergy. Uptodate.
  4. Immunity System. คณะสัตวศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยแม่โจ้.