เมาค้าง (Hangover)

บทความที่เกี่ยวข้อง
เมาค้าง

เมาค้าง(Hangover) เป็นอาการ ความรู้สึกที่ไม่สุขสบายที่เกิดขึ้นตามหลังการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือบางครั้งอาจพบเกิดจากสารอื่นๆได้ เช่น ยาบางชนิด วัตถุเจือปนอาหารบางชนิด สารเสพติดบางชนิด หรือ สมุนไพรบางชนิด ทั้งนี้อาการมักเป็นอยู่ประมาณ 1-2 วันหลังการดื่มแอลกอฮอล์หรือการใช้สารนั้นๆ แต่บางคนอาการอาจคงอยู่ได้หลายวัน

อาการที่อาจพบ เช่น ปวดศีรษะ วิงเวียน ง่วงซึม กึ่งหลับกึ่งตื่น ไม่มีสมาธิ ปากแห้ง หูอื้อ อ่อนล้า สับสนกระสับกระส่าย นอนไม่หลับ มวนท้อง คลื่นไส้

กลไกการเกิดเมาค้าง ยังไม่ทราบชัดเจน แต่เชื่อว่า สารพิษต่างๆในแอลกอฮอล์ หรือในสารนั้นๆ ส่งผลต่อทุกระบบอวัยวะของร่างกาย เช่น ระบบประสาท (เช่น ปวดศีรษะ ไม่มีสมาธิ), ระบบทางเดินอาหาร (เช่น คลื่นไส้), ระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรค(เช่น อ่อนล้า), ระบบทางเดินปัสสาวะ (โดยไตจะขับน้ำออกเป็นปัสสาวะมากจนก่อให้เกิดภาวะขาดน้ำ), ระบบหัวใจและหลอดเลือด (โดย หัวใจจะเต้นเร็วและหลอดเลือดขยายตัว), และต่อการใช้พลังงานของร่างกาย( โดยทำให้มีน้ำตาลในเลือดต่ำ)

คนที่มีปัจจัยเสี่ยงเกิดเมาค้างได้ง่าย คือ มีประวัติคนในครอบครัวเมาค้างง่าย, อายุน้อย, ผู้หญิง, และสูบบุหรี่ ปัจจัยอื่นๆได้แก่ ดื่มแอลกอฮอล์(ดื่มฯ)ขณะท้องว่าง, ดื่มฯร่วมกับเครื่องดื่มมีกาเฟอีน, ดื่มฯปริมาณมาก , และดื่มน้ำน้อย

การดูแลตนเองในช่วงมีอาการเมาค้าง คือ ดื่มน้ำสะอาดมากๆก่อนนอน, เมื่อตื่นตอนเช้า กินยาแก้ปวดในกลุ่มเอ็นเสด เช่น แอสไพริน ไม่ควรกินพาราเซตามอลเพราะอาจให้มีผลข้างเคียงต่อตับมากขึ้น, ดื่มน้ำสะอาดมากๆทั้งวัน, และกินอาหารอ่อนประเภทแป้งและน้ำตาล โดยจำกัดโปรตีนและไขมัน

ข้อควรระวัง คือ การขับรถ และการทำงานที่เกี่ยวข้องกับเครื่องจักร เพราะมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย จากอาการครึ่งหลับครึ่งตื่นและขาดสมาธิ

บรรณานุกรม

  1. http://www.nlm.nih.gov/medlineplus/ency/article/002041.html [2016,Dec24]
  2. http://en.wikipedia.org/wiki/Hangover [2016,Dec24]