อาการอ่อนเปียกเฉียบพลันเหตุไขสันหลังอักเสบ (Acute flaccid myelitis: AFM)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

อาการแขนขาอ่อนแรงมีหลากหลายสาเหตุ ทั้งเกิดจากโรคของ สมอง ไขสันหลัง กล้ามเนื้อ เส้นประสาท หรือ ความผิดปกติของเกลือแร่(Electrolyte)ในร่างกาย ถ้ามองหาสาเหตุของอาการขาอ่อนแรงในเด็ก ก็จะพบว่าในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา มีการรายงานผู้ป่วยเด็กมีอาการขาอ่อนแรง/ขาอ่อนปวกเปียก(Leg flaccid) ซึ่งสงสัยว่าอาจมีความสัมพันธ์กับการติดเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง ที่มีการระบาดในประเทศสหรัฐอเมริกา วันนี้ผมมาชวนคุยเรื่องนี้ครับ ‘ภาวะ/อาการอ่อนแรงเฉียบพลันเหตุไขสันหลังอักเสบ หรืออาการอ่อนเปียกเฉียบพลันเหตุไขสันหลังอักเสบ (Acute flaccid myelitis ย่อว่า AFM)’ มาติดตามกันครับ

 

อาการอ่อนเปียกเฉียบพลันเหตุไขสันหลังอักเสบคือโรคอะไร?

อาการอ่อนเปียกเฉียบพลันเหตุไขสันหลังอักเสบ

อาการอ่อนแรงเฉียบพลันเหตุไขสันหลัง/อาการอ่อนเปียกเฉียบพลันเหตุไขสันหลังอักเสบ/AFM คือ กลุ่มอาการที่ผู้ป่วยมีอาการอ่อนแรงแบบเฉียบพลัน คือเป็นขึ้นมาอย่างรวดเร็ว ซึ่งอาจมีอาการอ่อนแรงของขา หรือแขนร่วมด้วยทั้ง 2 ข้าง มีอาการชาของกล้ามเนื้อที่อ่อนแรง กล้ามเนื้อหูรูดต่างๆทำงานผิดปกติ (เช่น มีปัญหาด้านการขับถ่าย กลั้นอุจจาระ ปัสสาวะไม่ได้) ร่วมกับมีอาการปวดศีรษะ มีการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อใบหน้า (Facial palsy) กลืนลำบาก โดยพบว่าอาจมีอาการไข้ และความผิดปกติทางระบบทางเดินหายใจ และ/หรือระบบทางเดินอาหาร นำมาก่อนประมาณ 1-3 สัปดาห์ โดยการตรวจเพิ่มเติมด้วยแม่เหล็กไฟฟ้า(เอมอาร์ไอ)ของไขสันหลัง พบความผิดปกติของเนื้อเยื่อไขสันหลังส่วนสีเทา (Gray matter of spinal cord) เนื่องจากมีอาการอ่อนแรง/อ่อนเปียก(Flaccid)เฉียบพลัน ร่วมกับพบความผิดปกติของไขสันหลัง จึงเรียก ภาวะ/กลุ่มอาการผิดปกตินี้ว่า ‘ภาวะ/อาการอ่อนแรงเฉียบพลันเหตุไขสันหลังอักเสบ หรือ อาการอ่อนเปียกเฉียบพลันเหตุไขสันหลังอักเสบ (Acute flaccid myelitis ย่อว่า AFM)’

 

อาการอ่อนแรงเฉียบพลันเหตุไขสันหลังอักเสบ/AFM ต่างจาก อาการอัมพาตอ่อนเปียกเฉียบพลัน(Acute flaccid paralysis ย่อว่า AFP) อย่างไร?

ภาวะ/อาการอัมพาตอ่อนเปียกเฉียบพลัน(Acute flaccid paralysis : AFP) นั้นมีความใกล้เคียงกับภาวะ AFM มาก กล่าวคือ

  • ภาวะ AFP นั้น รวมสาเหตุของ ภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรงเฉียบพลันที่ตรวจพบกล้ามเนื้ออ่อนแรงเฉียบพลันแบบปวกเปียก(ไม่มีการเพิ่มขึ้นของแรงตึงตัวของกล้ามเนื้อ : Muscle tone)ไว้ทั้งหมด ซึ่งไม่นับรวมสาเหตุจากอุบัติเหตุ โดยมีสาเหตุหลัก คือ
    • โรคโปลิโอ (Polio)
    • ไขสันหลังอักเสบ (Transverse myelitis)
    • กลุ่มอาการอ่อนแรง จี บี เอส (Guillain Barre syndrome : GBS)
    • ภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรงตามหลังการติดเชื้อไวรัส ชนิด Entero virus หรือ
    • เหตุอื่น ๆ เช่น เกลือแร่ในร่างกายผิดปกติ เป็นต้น

สรุป: คือ

  • ภาวะ AFP นั้น เป็นนิยามของอาการอ่อนแรง/อัมพาตอ่อนเปียกเฉียบพลัน ที่น่าจะมีความเกี่ยวข้องกับการติดเชื้อไวรัสหลากหลายชนิด ซึ่งก่อให้เกิดพยาธิสภาพ ที่ไขสันหลัง หรือที่เส้นประสาทก็ได้ ที่ก่อให้เกิดอาการอ่อนแรง/อัมพาติอ่อนเปียกของขา และ/หรือแขนด้วย โดยมีสาเหตุหลักคือ โรคโปลิโอ ซึ่งโรค AFP จะไม่กล่าวถึงในบทความนี้
  • ส่วนภาวะ AFM นั้น จะเน้นเฉพาะอาการอ่อนแรง/อ่อนเปียกเฉียบพลันที่มีพยาธิสภาพของ ‘ไขสันหลังส่วนสีเทา’ เท่านั้น และเป็นโรคที่จะกล่าวถึงในบทความนี้

 

อาการอ่อนแรงเฉียบพลันเหตุไขสันหลัง AFM มีอาการผิดปกติอะไรบ้าง?

โรค/ภาวะ/อาการอ่อนแรง/อ่อนเปียก AFM นั้นมีอาการผิดปกติที่พบบ่อย คือ

1. อาการอ่อนแรงของขา และ/หรือแขนทั้ง 2 ข้าง ร่วมกับมีอาการชา แต่อาจไม่เท่ากันทั้ง 2 ข้างเหมือนในภาวะไขสันหลังอักเสบ (Transverse myelitis)

2. อาการกล้ามเนื้อใบหน้าอ่อนแรงแบบ Lower motor neuron คืออาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อใบหน้าส่วนที่ใช้ในการ หลับตา ลืมตา ยิงฟัน หยักคิ้ว เม้มปาก ทำปากจู๋

3. อาการพูดไม่ชัด และ/หรือ กลืนอาหารลำบาก

4. อาการ ปวดศีรษะ ปวดคอ

5. อาการ ปัสสาวะ อุจจาระ ลำบาก กลั้นไม่ได้

6. อาการปวดกล้ามเนื้อที่อ่อนแรงร่วมด้วย

7. ตรวจพบ รีเฟล็กซ์ ลดลง กล้ามเนื้ออ่อนปวกเปียก/อ่อนเปียก ความตึงตัวของกล้ามเนื้อลดลง

*อนึ่ง อาการทั้งหมดที่เกิดขึ้นนั้น เป็นขึ้นมาอย่างรวดเร็ว(เฉียบพลัน) อาการเป็นมากขึ้นภายในเวลาไม่กี่วัน และอาจพบว่า ก่อนหน้าที่จะมีอาการอ่อนแรงนั้น จะมีอาการผิดปกติของระบบทางเดินหายใจ หรือ ระบบทางเดินอาหาร นำมาก่อนในช่วงเวลาประมาณ 1- 3 สัปดาห์

แพทย์ให้การวินิจฉัยภาวะ AFM ได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยโรค/ภาวะ/อาการ AFM จากอาการผิดปกติทั้งหมด ร่วมกับการตรวจร่างกาย การตรวจร่างกายทางระบบประสาท ยืนยันว่ามีความผิดปกติของไขสันหลัง ต่อจากนั้นแพทย์จะส่งตรวจแม่เหล็กไฟฟ้าของไขสันหลัง (MRI spinal cord) เพื่อให้การยืนยันแน่นอนอีกครั้งว่า มีความผิดปกติของไขสันหลังแน่ๆ

ต่อจากนั้น แพทย์จะทำการขออนุญาตผู้ป่วย/ผู้ปกครองฯ เจาะตรวจน้ำหล่อเลี้ยงไขสันหลัง/น้ำไขสันหลัง (CSF) เพื่อตรวจหาความผิดปกติของน้ำหล่อเลี้ยงไขสันหลัง รวมทั้งการตรวจเลือดเทคโนโลยีสูงที่เรียกว่ PCR(Polymerase chain reaction)เพื่อหาหลักฐานการติดเชื้อไวรัส Enterovirus หรือไวรัส Adenovirus ซึ่งพบว่าอาจมีความสัมพันธ์กับการเกิดภาวะ AFM โดยเฉพาะเชื้อไวรัส Enterovirus ชนิดย่อย Enterovirus68 (ย่อว่า EV D68 หรือ EV68) รวมทั้ง การตรวจเลือด การตรวจซีบีซี การตรวจปัสสาวะ การตรวจอุจจาระ หรือตรวจหาหลักฐานการติดเชื้อในช่องคอ ทั้งเพื่อการตรวจเชื้อ และการเพาะเชื้อ (Nasal swab)

 

อาการผิดปกติ AFM พบบ่อยหรือไม่?

โรค/ภาวะ/อาการผิดปกติ AFM นั้นยังไม่มีข้อมูลการเกิดในประเทศไทย ในสหรัฐอเมริกา พบปีละประมาณ 100 กว่ารายตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา

 

ใครมีโอกาสเกิดโรคAFMได้บ่อย?

โรคนี้พบบ่อยในเด็กอายุน้อย อายุเฉลี่ย 7 ปี พบได้ระหว่างอายุ 4-12 ปี พบได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย ไม่มีข้อมูลการถ่ายทอดทางพันธุกรรม

 

โรคAFMป้องกันได้หรือไม่?

ในปัจจุบัน ยังไม่มีข้อมูลว่า มีการให้วัคซีนเพื่อป้องกันการเกิดโรคนี้ได้ ไม่เหมือนการให้วัคซีนป้องกันการเกิดโรค AFP /วัคซีนโปลิโอ ซึ่งป้องกันได้

  • อย่างไรก็ตาม การดูแลตนเองให้แข็งแรง(ง่ายที่สุด คือ การรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน/สุขบัญญัติแห่งชาติ) ไม่เกิดอาการไข้หวัด ท้องเสียถ่ายเหลวจากการติดเชื้อไวรัส ก็อาจป้องกันการเกิดโรค AFM ได้ เนื่องจากโรคนี้พบว่าน่าจะมีความสัมพันธ์กับการติดเชื้อไวรัส EV D68 ที่เป็นสาเหตุของ โรคหวัด และโรคท้องเสีย/ท้องเดินจากไวรัส

 

ผู้ป่วยควรพบแพทย์เมื่อใด?

ผู้ป่วยที่เริ่มมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ก็ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาล อย่ารอให้มีอาการมาก เพราะการวินิจฉัยที่เร็วย่อมให้การรักษาได้เร็ว และเกิดผลดีมากกว่ารอให้เกิดอาการมาก

 

เมื่อเกิดอาการผิดปกติ ควรพบแพทย์ที่คลินิกหรือที่โรงพยาบาล?

ผมแนะนำว่า เมื่อมีอาการอ่อนแรง ควรพบแพทย์ที่โรงพยาบาล เพราะต้องอาศัยการตรวจเพิ่มเติมหลายอย่าง ดังที่กล่าวไปแล้ว ซึ่งที่คลินิกไม่สามารถให้การตรวจนั้นๆได้

 

การรักษาโรคAFMทำอย่างไร?

แนวทางการรักษาโรค/ภาวะ/อาการ AFM ได้แก่

  • การรักษาด้วยการให้ยาสเตียรอยด์ในโรคนี้ ไม่มีประโยชน์
  • บางการศึกษาพบว่า การรักษาด้วยการให้ ยาอิมมูโนกลอบบลูลินทางหลอดเลือดดำ (Intravenous immunoglobulin : IVIG) อาจได้ประโยชน์บ้าง
  • การรักษาหลักของโรคนี้คือ การรักษาประคับประคองตามอาการ ร่วมกับ การทำกายภาพบำบัด เพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพของร่างกายให้เกิดการฟื้นตัว ทั้งกำลังของกล้ามเนื้อ และการแก้ไขการปัสสาวะ อุจจาระผิดปกติ
  • หรือรักษาตามอาการ เช่น ถ้ามีอาการปวด ก็ให้ยาแก้ปวดชนิดที่เหตุมาจากระบบประสาท

 

โรคนี้มีผลการรักษาดีหรือไม่?

โรคAFM มีผลการรักษา/การพยากรณ์โรค ไม่ค่อยดี จากการศึกษาติดตามเด็กที่มีอาการดังกล่าวนาน 1 ปี พบว่าร้อยละ 90(90%) ยังมีอาการผิดปกติทางระบบประสาท ต้องทำการรักษาด้วยการทำกายภาพบำบัดอย่างต่อเนื่อง เพื่อการฟื้นฟูและป้องกันภาวะแทรกซ้อน

 

ผู้ป่วยต้องรับการรักษาต่อเนื่องหรือไม่?

โรคAFM ผู้ป่วยต้องรับการรักษาต่อเนื่อง เพื่อรักษาอาการผิดปกติที่ไม่หายขาด และการฟื้นฟูกายภาพบำบัด ป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อน

 

ภาวะแทรกซ้อนที่พบบ่อยคืออะไร?

ภาวะแทรกซ้อน/ผลข้างเคียงจากโรคAFM ที่พบบ่อย คือ

  • การยึดติดของข้อต่อต่างๆ
  • ปวดกล้ามเนื้อ
  • อาการปวดเหตุจากระบบประสาท
  • การติดเชื้อ/โรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ
  • แผลกดทับ
  • ท้องผูก
  • อารมณ์แปรปวน หรือ
  • ภาวะซึมเศร้า

*ดังนั้น ญาติ หรือผู้ปกครอง ต้องให้การดูแลทั้งภาวะแทรกซ้อนทางกาย และทางจิตใจของผู้ป่วยตลอดเวลา

 

ผู้ป่วยควรมาพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อใด?

การพบแพทย์/การมาโรงพยาบาลก่อนนัด ควรมาเมื่อ

  • มีอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นใหม่ และ
  • อาการผิดปกติที่เคยเป็น ที่มีอาการรุนแรงมากขึ้น เช่น แผลกดทับ อาการปวดเหตุระบบประสาทที่รุนแรงขึ้น ไข้ขึ้นจากการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ เป็นต้น
  • รวมทั้งการสงสัยว่าจะแพ้ยาที่แพทย์สั่งใช้รักษา เช่น ขึ้นผื่น ท้องผูกมาก หรือท้องเสียเรื้อรัง หรือ แน่น/หายใจลำบากหลังกินยา/ใช้ยา

 

ญาติหรือผู้ปกครองควรมีส่วนช่วยในการดูแลผู้ป่วยอย่างไร?

เนื่องด้วยผู้ป่วยจะมีอาการ แขน ขาอ่อนแรง ปัสสาวะลำบาก หรือเดินไม่ได้ ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ ย่อมส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดปัญหาทั้งทางกายในการเคลื่อนไหว การดำรงชีวิต ดังนั้น

  • ญาติ หรือผู้ปกครองจึงต้องให้การดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด
  • รวมทั้งการส่งเสริมให้ผู้ป่วยมีกำลังใจในการทำกายภาพบำบัดอย่างต่อเนื่อง และ
  • ถ้าสังเกตว่ามีความผิดปกติที่เกิดขึ้นแบบไม่เคยมีมาก่อน ก็ต้องรีบพาไปพบแพทย์/มาโรงพยาบาล ไม่ต้องรอถึงวันแพทย์นัด
  • รวมถึงการช่วยเตือนเรื่องการทานยา และ
  • การพบแพทย์/มาโรงพยาบาลให้สม่ำเสมอตามแพทย์นัด

 

สรุป

โรค/ภาวะ/อาการ AFM นั้นถึงแม้จะยังไม่พบในประเทศไทย แต่มีโอกาสเกิดขึ้นได้แน่นอน จากการเดินทางที่ปัจจุบันทั่วโลกติดต่อถึงกันได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้นจึงควรศึกษาไว้นะครับ