อาการน้ำนมไหล (Galactorrhea)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?

อาการน้ำนมไหล(Galactorrhea) คือ โรค/ภาวะผิดปกติที่มีน้ำนมไหลผิดธรรมชาติ ซึ่งในธรรมชาติจะมีน้ำนมไหลที่เป็นอาการปกติในหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร ทั้งนี้อาการน้ำนมไหลไม่ใช่โรค แต่เป็นอาการของโรค/ภาวะที่ทำให้มีฮอร์โมนโปรแลคตินสูงในเลือด โดยอาการน้ำนมไหลมักพบเกิดทั้ง 2 เต้านม แต่ก็พบเกิดกับเต้านมได้เพียงเต้านมเดียว และโอกาสเกิดกับเต้านมขวาหรือซ้ายจะใกล้เคียงกัน

อาการน้ำนมไหล เป็นอาการพบน้อย และยังไม่มีการรายงานสถิติการเกิดที่แน่นอน เป็นอาการเกิดได้ทั้งในเพศหญิงและเพศชาย แต่พบในเพศหญิงสูงกว่าในเพศชายมาก พบได้ในทุกอายุ ตั้งแต่ทารกแรกเกิดไปจนถึงผู้สูงอายุ แต่พบในวัยเจริญพันธ์สูงกว่าวัยอื่นๆ

อะไรเป็นสาเหตุเกิดอาการน้ำนมไหล?

อาการน้ำนมไหล

สาเหตุการเกิดอาการน้ำนมไหล คือ การมีภาวะฮอร์โมนโปรแลกตินสูงในเลือด ซึ่งเกิดจาก 3 สาเหตุหลัก ได้แก่ สาเหตุจากภาวะตามธรรมชาติ(Physiologic galactorrhea), สาเหตุจากโรค/ภาวะผิดปกติ(Pathologic galactorrhea), และ ไม่ทราบสาเหตุ

1. สาเหตุจากภาวะตามธรรมชาติ: คือ สาเหตุตามธรรมชาติที่พบได้ในทุกคนเมื่อร่างกายมีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเหตุการณ์ต่างๆที่เป็นไปตามธรรมชาติ ซึ่งปริมาณโปรแลกตินในเลือดจากสาเหตุนี้ มักสูงไม่มาก และเมื่อเหตุการณ์นั้นๆผ่านไป ปริมาณโปรแลกตินในเลือดก็จะค่อยๆลดลงเองจนเป็นปกติโดยไม่จำเป็นต้องมีการรักษา และทั่วไปส่วนใหญ่มักไม่ก่ออาการมาก ยกเว้นในหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรที่เต้านมจะใหญ่ขึ้นและมีน้ำนมไหลมาก ซึ่งเหตุการณ์ตามธรรมชาติเหล่านั้น เช่น การตั้งครรภ์ การให้นมบุตร การกระตุ้นหัวนมบ่อยๆด้วยการสัมผัส ดูด หรือนวด/คลึง หัวนมและเต้านม ภาวะในช่วงนอนหลับกลางคืน เมื่อมีความเครียดเรื้อรัง มีการออกกำลังกายหักโหมต่อเนื่อง และช่วงมีความรู้สึกทางเพศ/มีเพศสัมพันธ์บ่อย

2. สาเหตุจากโรค/ภาวะผิดปกติ: ได้แก่

ก.ผลข้างเคียง/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาบางกลุ่ม/บางชนิด(Pharmacological causes): สาเหตุนี้เป็นสาเหตุที่พบบ่อย โดยปริมาณโปรแลกตินที่สูงขึ้นในเลือดจะขึ้นกับประเภทและขนาด/dose ของยานั้นๆ ซึ่งอาการต่างๆที่พบมักไม่รุนแรง และจะค่อยๆหายไปเองหลังหยุดยานั้นๆไปแล้วประมาณ 1-2 สัปดาห์ แต่ยาบางชนิดอาจจะใช้เวลาเป็นเดือนได้ กรณีอาการจากสาเหตุนี้ ไม่จำเป็นต้องมีการรักษาเพิ่มเติมจากการหยุดยาแต่อย่างใด โดยกลุ่มยาที่พบเป็นสาเหตุ เช่น

  • ยารักษาโรคจิต เช่นยา Phenothiazine, Haloperidol
  • ยาต้านเศร้า เช่นยา TCA, MAOI, Serotonin reuptake inhibitor, H2 antagonist
  • ยาฮอร์โมนเพศ เช่นยา Estrogen, ยาเม็ดคุมกำเนิด
  • ยาลดความดันโลหิต เช่นยา Verapamil, Methyldopa
  • ยาดมสลบ
  • ยา H2 antagonist เช่นยา Cimeidine, Ranitidine
  • ยากลุม Opioids เช่นยา Morphine และรวมไปถึงสารเสพติด Cocaine และ Heroin
  • ยาที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท เช่นยา Benzodiazepines
  • Dopamine antagonist เช่น Metoclopramide, Domperidone, Cisapride
  • ยาแผนโบราณ สมุนไพร อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร บางชนิด
  • อื่นๆ: มีรายงาน ยาเคมีบำบัดบางชนิดอาจทำให้เกิดภาวะนี้ได้

ข. โรคสมอง: เช่น เนื้องอกต่อมใต้สมอง เนื้องอกโปรแลคติโนมา เนื้องอกสมองชนิดต่างๆที่กดเบียดทับเนื้อเยื่อสมองส่วน Hypothalamus และ/หรือกดเบียดทับต่อมใต้สมอง หรือรอยโรคต่างๆ(เช่น สมองอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ การบาดเจ็บ/อุบัติเหตุของสมอง ภาวะเลือดออกในกะโหลกศีรษะ)ที่ส่งผลต่อการทำงานของเนื้อเยื่อสมองส่วน Hypothalamusและ/หรือส่วนต่อมใต้สมอง

ค. อื่นๆ: เช่น

  • โรคไตเรื้อรัง/ ภาวะไตวายเรื้อรัง และ/หรือ ตับวายเรื้อรัง เพราะเป็นสาเหตุให้ร่างกายกำจัดสารเคมีต่างๆที่รวมถึงฮอร์โมนโปรแลกตินออกจากร่างกายทางไต ทางตับ ได้น้อยลง จึงเหลือโปรแลกตินในเลือดสูงขึ้น
  • ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน, โรคPCOS, ซึ่งโรคเหล่านี้จะส่งผลให้เกิดความผิดปกติในการสร้างฮอร์โมนต่างๆของต่อมใต้สมองที่รวมถึงโปรแลกติน

3. บางครั้งแพทย์หาสาเหตุไม่ได้: ซึ่งกรณีนี้น้ำนมมักไหลไม่มาก และปริมาณโปรแลกตินในเลือดมักสูงไม่มาก ซึ่งแพทย์จะให้การรักษาโดยการเฝ้าติดตามอาการและระดับโปรแลกตินในเลือด ซึ่งถ้าอาการมากขึ้น หรือระดับโปรแลกตินในเลือดสูงขึ้น แพทย์จะให้การรักษาโดยการให้ยาในกลุ่มกดการสร้างโปรแลกติน ดังจะกล่าวในหัวข้อ “การรักษาฯ”

อาการน้ำนมไหลมีอาการอย่างไร?

อาการน้ำนมไหลจะเป็นอาการจากมีโปรแลคตินสูงในเลือด ซึ่งนอกจากจะมีน้ำนมไหลผิดปกติแล้ว อาการอื่นๆที่มักเกิดร่วมด้วยได้แก่

  • ในผู้หญิง: อาการที่พบบ่อย เช่น
    • มีประจำเดือนผิดปกติ เช่น มีเลือดประจำเดือนน้อยกว่าปกติ นานครั้งจึงจะมีประจำเดือน การขาดประจำเดือน และ
    • ภาวะช่องคลอดแห้ง
  • ในผู้ชาย: อาการที่พบในผู้ชาย เช่น
    • นกเขาไม่ขัน และ
    • อาจมีเต้านมใหญ่ขึ้น(ภาวะผู้ชายมีเต้านม)
  • ในทั้งสองเพศ: อาการที่พบในทั้ง 2 เพศ คือ
    • มีน้ำนมผิดปกติ อาจเกิดข้างเดียวหรือทั้ง 2 ข้างของเต้านม(ส่วนใหญ่พบมีน้ำนมทั้ง2เต้า) โดยในผู้หญิงจะเกิดได้ในภาวะที่ไม่ได้ตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร และอาการน้ำนมไหลมักเกิดในผู้หญิงสูงกว่าในผู้ชายมาก
    • ภาวะมีบุตรยาก
    • ความรู้สึกทางเพศลดลง
    • กระดูกบางหรือกระดูกพรุน
    • ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน
    • บางครั้งอาจพบอาการเป็นสิวมากผิดปกติ
    • อาจมีภาวะขนดก ที่มักพบในผู้หญิงมากกว่าในผู้ชาย
    • นอกจากนั้นในกรณีสาเหตุเกิดจากเนื้องอกต่อมใต้สมองโดยเฉพาะชนิด โปรแลคติโนมา หรือกรณีสาเหตุจากเนื้องอกสมองที่กดเบียดทับต่อมใต้สมอง/กดเบียดทับเนื้อเยื่อสมอง คือ
      • อาการปวดศีรษะเรื้อรัง และ
      • มีการมองเห็นภาพผิดปกติโดยมักมองภาพด้านข้างไม่เห็น ที่เกิดจากก้อนเนื้องอกฯเบียดทับเส้นประสาทตาส่วนที่อยู่ติดกับต่อมใต้สมอง

เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?

เมื่อมีอาการดังกล่าวในหัวข้อ “อาการฯ” ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเสมอ

แพทย์วินิจฉัยหาสาเหตุอาการน้ำนมไหลได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยอาการน้ำนมไหลและหาสาเหตุของอาการนี้ได้จาก

  • การซักถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ที่สำคัญ เช่น อาการ ประวัติประจำเดือน(ในผู้หญิง) ประวัติโรคประจำตัวต่างๆ การใช้ยาต่างๆที่รวมทั้งยาแผนปัจจุบัน ยาแผนโบราณ สมุนไพร อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร
  • การตรวจร่างกาย
  • การตรวจภายใน(ในผู้หญิง)
  • การตรวจคลำเต้านม
  • ตรวจเลือดเพื่อดูระดับฮอร์โมนโปรแลกตินและฮอร์โมนต่างๆตามดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา เช่น ฮอร์โมนจากต่อมไทรอยด์ และ
  • อาจตรวจอื่นๆเพิ่มเติมเพื่อการสืบค้นตามอาการผิดปกติต่างๆและดุลพินิจของแพทย์ เช่น การตรวจภาพสมอง และ/หรือต่อมใต้สมองด้วย เอกซเรย์คอมพิวเตอร์/ ซีทีสแกน หรือ เอมอาร์ไอ

รักษาอาการน้ำนมไหลได้อย่างไร?

แนวทางการรักษาอาการน้ำนมไหล ได้แก่

  • การเลิกใช้ยาที่เป็นสาเหตุ โดยปรับเปลี่ยนไปใช้ยาที่ไม่มีผลหรือมีผลน้อยในการกระตุ้นให้ต่อมใต้สมองสร้างโปรแลกติน
  • ใช้ยาช่วยลดการสร้างโปรแลกติน เช่น ยากลุ่ม Dopamine agonist (เช่นยา Bromocriptine)
  • การผ่าตัด และ/หรือฉายรังสีรักษาบริเวณรอยโรค เช่น กรณีสาเหตุจาก เนื้องอกสมอง หรือเนื้องอกต่อมใต้สมอง
  • การรักษา ควบคุมโรคต่างๆที่เป็นสาเหตุ หรือที่เกิดร่วมกับภาวะโปรแลคตินสูงในเลือด เช่น โรคไต โรคตับ ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน

อาการน้ำนมไหลมีความรุนแรง/การพยากรณ์โรคอย่างไร? มีผลข้างเคียงอย่างไร?

ความรุนแรง/การพยากรณ์โรคของอาการน้ำนมไหลจะขึ้นกับสาเหตุ แต่โดยทั่วไป อาการ/โรคนี้ มีการพยากรณ์โรคที่ดี แพทย์มักรักษาควบคุมอาการได้ และอาการนี้ มักไม่เป็นสาเหตุให้เสียชีวิต

ส่วนผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้จากอาการนี้ จะเป็นผลข้างเคียงที่เกิดจากการมีโปรแลคติตสูงในเลือดเรื้อรัง เช่น

  • โรคกระดูกบาง / โรคกระดูกพรุน
  • ภาวะมีบุตรยาก
  • มีความรู้สึกทางเพศลดลง
  • ประจำเดือนผิดปกติ หรือภาวะขาดประจำเดือน(ในผู้หญิง)
  • นกเขาไม่ขัน(ในผู้ชาย)

ดูแลตนเองอย่างไรเมื่ออาการน้ำนมไหล ?

การดูแลตนเองเมื่อมีอาการน้ำนมไหล ได้แก่

  • ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ
  • กินยาต่างๆที่แพทย์สั่ง ให้ครบถ้วนถูกต้อง ไม่ขาดยา ไม่ลืมกินยาบ่อยๆ ไม่หยุดยาเอง
  • หลีกเลี่ยงการกระตุ้นหัวนม ที่รวมไปถึงเสื้อช้นในที่เสียดสีหัวนมตลอดเวลา
  • ไม่ควรตรวจคลำเต้านม/หัวนมเพื่อการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมบ่อยจนเกินไป เช่น บ่อยกว่า 1 ครั้งต่อวัน/สัปดาห์
  • ไปโรงพยาบาลเพื่อรับการตรวจต่างๆเพื่อดูแลรักษาผลข้างเคียงจากโรคนี้ตามแพทย์นัด เช่น การตรวจความหนาแน่มวลกระดูกที่แพทย์มักให้ตรวจปีละ 1 ครั้ง เป็นต้น
  • พบแพทย/ไปโรงพยาบาลตามแพทย์นัดเสมอ

ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไร?

เมื่อมีอาการน้ำนมไหล ควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัดเมื่อ

  • อาการต่างๆไม่ดีขึ้น หรืออาการเลวลง เช่น น้ำนมไหลมากขึ้น ประจำเดือนมามาก หรือมาบ่อยจนเกิดภาวะ/โรคซีด
  • มีอาการที่ไม่เคยมีมาก่อน เช่น ปวดศีรษะรุนแรง/ ปวดศีรษะร้ายแรง ต่อเนื่อง หรือมีการมองเห็นภาพผิดปกติ
  • มีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่งจนส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น คลื่นไส้-อาเจียนมาก ท้องเสียมาก
  • เมื่อกังวลในอาการ

มีวิธีตรวจคัดกรองให้พบสาเหตุตั้งแต่แรกของอาการน้ำนมไหลไหม?

ปัจจุบัน ยังไม่มีวิธีตรวจคัดกรองหาสาเหตุของอาการน้ำนมไหลตั้งแต่แรกที่ยังไม่มีอาการ ดังนั้นการดูแลตนเองที่ดีที่สุด คือ รีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเมื่อมีอาการดังกล่าวในหัวข้อ “อาการฯ” เพื่อให้ได้รับการรักษาแต่เนิ่นๆ ที่จะส่งผลให้การรักษาควบคุมโรค มีประสิทธิภาพสูงสุด

ป้องกันอาการน้ำนมไหลได้อย่างไร?

อาการน้ำนมไหลที่สามารถป้องกัน/ลดโอกาสเกิดได้ คือ

  • สาเหตุที่เกิดจาก โปรแลคตินสูงในเลือด, ผลข้างเคียงของยา, หรือจากโรคเรื้อรัง เช่น โรคไต, ซึ่งการป้องกันคือ
    • อย่ากินยาพร่ำเพื่อ
    • ไม่ควรซื้อยาต่างๆกินเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อน
    • ที่สำคัญอีกประการคือ ในการรักษาโรคต่างๆ ควรใช้ยารักษาโรคตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น
    • อ่านเพิ่มเติมในเรื่อง สิ่งที่ควรทราบ/ข้อควรระวังเมื่อมีการใช้ยาต่างๆได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง “ยารักษาโรค” และเรื่อง “ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด”
    • ส่วนในการป้องกันโรคเรื้อรังต่างๆ เช่น “โรคไต” หรือ “โรคไตเรื้อรัง” หรือ”ไตวาย” แนะนำให้อ่านเรื่องต่างๆเหล่านั้นเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com

อนึ่ง อาการน้ำนมไหล ที่สาเหตุเกิดจากโปรแลคตินสูงในเลือดจากสาเหตุอื่นๆที่เป็นสาเหตุป้องกันไม่ได้ การดูแลตนเองที่ดีที่สุดคือ รีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเมื่อมีอาการดังกล่าวในหัวข้อ “อาการฯ” เพื่อให้ได้รับการรักษาแต่เนิ่นๆ ที่จะส่งผลให้ การรักษาควบคุมโรคเหล่านั้นมีประสิทธิภาพสูงสุด

บรรณานุกรม

  1. Huang,W., and Molitch, M. Am Fam Physician. 2012;85(11):1073-1080
  2. Leung,A., and Pacaud, D. Am Fam Physician. 2004; 70(3) 543-550
  3. https://www.drugs.com/mcd/galactorrhea [2020,Feb1]
  4. https://en.wikipedia.org/wiki/Galactorrhea [2020,Feb1]
  5. https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/17924-galactorrhea [2020,Feb1]