อัลเฟนทานิล (Alfentanil)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 24 สิงหาคม 2560
- Tweet
- บทนำ
- อัลเฟนทานิลมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- อัลเฟนทานิลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- อัลเฟนทานิลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- อัลเฟนทานิลมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- อัลเฟนทานิลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้อัลเฟนทานิลอย่างไร?
- อัลเฟนทานิลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาอัลเฟนทานิลอย่างไร?
- อัลเฟนทานิลมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- โอปิออยด์ (Opioid)
- ยาเฟนทานิล (Fentanyl)
- กลุ่มยาแก้ปวดและยาพาราเซตามอล (Analgesics and Paracetamol)
- รูปแบบยาเตรียม (Pharmaceutical Dosage Forms)
- อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (Adverse Drug Reaction)
บทนำ
ยาอัลเฟนทานิล(Alfentanil หรือ Alfentanil hydrochloride, Alfentanil HCl ) เป็นสารเคมีสังเคราะห์ประเภทโอปิออยด์ (Synthetic opioid) ถูกค้นพบเมื่อปี ค.ศ.1976 (พ.ศ.2519) ทางคลินิกนำมาใช้รักษาอาการปวดกับผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการผ่าตัด หลังได้รับยานี้ผ่านหลอดเลือดดำนานประมาณ 10 นาทีขึ้นไปตัวยานี้ก็จะเริ่มออกฤทธิ์ ด้วยเป็นยาที่ออกฤทธิ์สั้นเพียงประมาณ 15 นาทีก็จะเริ่มหมดฤทธิ์ระงับความเจ็บปวด ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 90–111 นาทีเพื่อขับยานี้ทิ้งออกจากกระแสเลือดโดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะ
ในด้านการระงับอาการปวด หากนำยาอัลเฟนทานิลมาเปรียบเทียบกับยา Fentanylซึ่งเป็นยานิยมใช้ระงับอาการปวดในผู้เข้ารับการผ่าตัด จะได้ข้อสรุปดังนี้
- ยาอัลเฟนทานิลมีความแรงเพียง 1/4 - 1/10 ของ Fentanyl
- ระยะเวลาออกฤทธิ์ของอัลเฟนทานิลประมาณ 1/3 ของ Fentanyl
- ยาอัลเฟนทานิลออกฤทธิ์ระงับอาการปวดได้เร็วกว่า Fentanyl 4 เท่า
สำหรับข้อจำกัดการใช้อัลเฟนทานิลที่ผู้บริโภคควรทราบมีดังนี้
- ห้ามใช้ในการผ่าตัดคลอดบุตรด้วยมีฤทธิ์กดการหายใจของมนุษย์
- ห้ามใช้กับผู้ที่มีภาวะหายใจขัดหรือทางเดินหายใจอุดตัน
- ห้ามใช้กับผู้ที่ติดสุรา ผู้ป่วยที่เป็นโรคลมชัก ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บทางศีรษะ
- ห้ามใช้กับผู้ที่มีภาวะความดันในกะโหลกศีรษะสูง
การได้รับยานี้เกินขนาดจะเกิดภาวะกดการหายใจซึ่งถือเป็นอาการเด่น แพทย์จะช่วยเหลือผู้ป่วยโดยใช้เครื่องช่วยหายใจร่วมกับการให้น้ำเกลือและยาที่ช่วยกระตุ้นการทำงานของหลอดเลือด ประกอบกับต้องเฝ้าระวังดูแลควบคุมสัญญาณชีพของผู้ป่วยให้เป็นปกติตลอดเวลา เช่น อัตราการเต้นของหัวใจ ความดันโลหิตและการหายใจของผู้ป่วย เป็นต้น การใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคตับ-ไต อาจต้องปรับลดขนาดการใช้ยาลงมาตามความรุนแรงของโรคไต-โรคตับ ดังกล่าว ด้วยอวัยวะทั้งสอง ช่วยทำลายและขับตัวยานี้ออกจากร่างกาย
ผู้บริโภค/ผู้ป่วยสามารถพบเห็นการใช้ยาอัลเฟนทานิล แต่ในสถานพยาบาลเท่านั้นและในตลาดยาแผนปัจจุบัน ยาอัลเฟนทานิลจะถูกจัดจำหน่ายภายใต้ชื่อการค้าว่า Alfenta
อัลเฟนทานิลมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาอัลเฟนทานิลมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น
- ใช้เป็นยาระงับปวดระหว่างเข้ารับการผ่าตัด
- ใช้เป็นยาบรรเทาอาการเจ็บและระคายเคืองของหลอดอาหารขณะผู้ป่วย ต้องได้รับการส่องกล้องตรวจกระเพาะอาหาร
- บรรเทาอาการเจ็บและระคายเคืองระหว่างสอดท่อช่วยหายใจเข้าสู่ท่อลม
อัลเฟนทานิลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาอัลเฟนทานิลมีกลไกการออกฤทธิ์กับตัวรับ(Receptor)ที่มี่ชื่อว่า Mu opioid receptors ย่อว่า MOR ที่มีอยู่ในร่างกาย ที่สมองเป็นส่วนใหญ่ เป็นส่วนน้อยที่ไขสันหลัง และที่ระบบทางเดินอาหาร ทำให้ร่างกายมีความรู้สึกและตอบสนองต่อความเจ็บปวดลดลง ด้วยกลไกนี้จึงก่อให้เกิดฤทธิ์ของการรักษาตามสรรพคุณ
อัลเฟนทานิลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาอัลเฟนทานิลมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ยาฉีดที่ประกอบด้วยตัวยา Alfentanil ขนาด 1 มิลลิกรัม/2 มิลลิลิตร และ 5 มิลลิกรัม/10 มิลลิลิตร
อัลเฟนทานิลมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
ยาอัลเฟนทานิล มีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา เช่น กรณีสำหรับใช้ระงับอาการปวดระหว่างหัตถการผ่าตัดรักษาโรค เช่น
- ผู้ใหญ่: ฉีดยา 0.015 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม กรณีต้องเพิ่มระยะเวลาการออกฤทธิ์ขณะผ่าตัด แพทย์อาจเจือจางยานี้ลงใน 0.9% Sodium chloride หรือใน 5.0% Glucose injection หรือในสารละลาย Ringer lactate โดยปฏิบัติตามขั้นตอนในเอกสารกำกับยา
อนึ่ง ห้ามใช้ยานี้ระงับอาการปวดขณะผ่าตัดทำคลอด
- เด็ก: การใช้ยานี้ในเด็ก อยู่ในดุลพินิจของแพทย์เป็นกรณีๆไป
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียง ตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาอัลเฟนทานิล ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ เช่น โรคหืด โรคตับ โรคไต รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาอัลเฟนทานิลอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
อัลเฟนทานิลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาอัลเฟนทานิลสามารถก่อให้เกิด ผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น
- ผลต่อระบบการหายใจ: เช่น กดการทำงานของระบบทางเดินหายใจ/กดการหายใจ หายใจขัด/หายใจลำบาก
- ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น หัวใจเต้นช้า ความดันโลหิตต่ำ
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น วิงเวียน ปวดศีรษะ
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องผูก
- ผลต่อระบบกล้ามเนื้อ: เช่น ทำให้กล้ามเนื้อหดตัวจนแข็งเกร็ง
- ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดผื่นคัน ลมพิษ
- ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น ปัสสาวะขัด
- ผลต่อตา: เช่น ตาพร่า
มีข้อควรระวังการใช้อัลเฟนทานิลอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาอัลเฟนทานิล เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีปัญหาทางระบบทางเดินหายใจผิดปกติ/โรคระบบทางเดินหายใจด้วยจะส่งผลให้อาการโรคเลวลง และกับผู้ที่ได้รับเครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์ ด้วยจะส่งผลให้ผลข้างเคียงจากยานี้รุนแรงขึ้น
- ห้ามใช้กับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร และเด็ก นอกจากจะมีคำสั่งแพทย์
- ห้ามใช้ยาที่มีสิ่งปนเปื้อนลงในตัวยา เช่น เศษผง
- กรณีได้รับยานี้แล้วยังมีความรู้สึกสัมผัสได้ หรือยังรับรู้การเจ็บปวด ต้องรีบแจ้งให้ แพทย์/พยาบาล ทราบทันที โดยแพทย์อาจตั้งข้อสันนิษฐานว่าตัวยาเพิ่งเริ่มออกฤทธิ์และต้องรอสังเกตอาการผู้ป่วยต่ออีกสักระยะเพื่อให้แพทย์ตัดสินใจว่า สมควรต้องเพิ่มขนาดการใช้ยานี้กับผู้ป่วยหรือไม่
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาอัลเฟนทานิลด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้าน ขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
อัลเฟนทานิลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาอัลเฟนทานิลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- ห้ามใช้ยาอัลเฟนทานิลร่วมกับยา Butalbital ด้วยจะก่อให้เกิดภาวะกดการหายใจ จนถึงเข้าขั้นโคม่า และอาจเสียชีวิตในที่สุด
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาอัลเฟนทานิลร่วมกับยา Tramadol ด้วยอาจกระตุ้นให้ผู้ป่วยมีอาการชักเกิดขึ้น
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาอัลเฟนทานิลร่วมกับยา Amprenavir เพราะจะทำให้เกิดฤทธิ์ สงบประสาท/กดสมองอย่างรุนแรง มีอาการหายใจขัด/หายใจลำบาก ทำให้ความดันโลหิตต่ำ และหัวใจเต้นผิดปกติตามมา
- ห้ามใช้ยาอัลเฟนทานิลร่วมกับยา Lorazepam ด้วยจะเพิ่มภาวะกดการทำงานของสมอง/กดสมองจนทำให้ได้รับอาการข้างเคียงอย่างรุนแรง เช่น หายใจขัด เกิดภาวะโคม่าและอาจถึงขั้นเสียชีวิตในที่สุด
ควรเก็บรักษาอัลเฟนทานิลอย่างไร?
ควรเก็บยาอัลเฟนทานิล ในช่วงอุณหภูมิ 20–25 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น
อนึ่ง สำหรับยาเตรียมก่อนฉีดให้ผู้ป่วย ที่ผสมร่วมกับน้ำเกลือ/สารละลาย ต้องจัดเก็บที่อุณหภูมิ 2–8 องศาเซลเซียส และให้ใช้ยาเตรียมนั้นภายใน 24 ชั่วโมงหลังการเตรียมยานั้น
อัลเฟนทานิลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาอัลเฟนทานิล มียาชื่อการค้า และบิษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Alfenta (อัลเฟนตา) | Janssen Pharmaceuticals |
RAPIFEN (ราพิเฟน) | Janssen Pharmaceuticals |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Alfentanil[2017,Aug5]
- https://www.drugs.com/cons/alfentanil-intravenous.html[2017,Aug5]
- https://www.drugs.com/pro/alfenta.html[2017,Aug5]
- https://www.drugs.com/sfx/alfenta-side-effects.html[2017,Aug5]
- http://www.mims.com/thailand/drug/info/alfentanil/?type=brief&mtype=generic[2017,Aug5]
- http://www.janssen.com/australia/sites/www_janssen_com_australia/files/prod_files/live/rapifen_pi.pdf[2017,Aug5]
- https://www.drugs.com/drug-interactions/alfentanil,alfenta-index.html?filter=3&generic_only=[2017,Aug5]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Opioid_receptor[2017,Aug5]