อัมพาตเหตุโพแทสเซียมต่ำ กล้ามเนื้ออ่อนแรงเหตุโพแทสเซียมต่ำ (โรคเอชพีพี) (Hypokalemic Periodic Paralysis:HPP

สารบัญ

บทนำ

หลายคนคงเคยได้เห็นผู้ป่วยมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงเป็นๆ หายๆ ครั้งละ 1-2 วัน อา การผิดปกตินี้เรียกว่า “อาการอัมพาตเป็นระยะเหตุโพแทสเซียมต่ำ หรือ โรคอัมพาตเหตุโพ แทสเซียมต่ำ หรือ โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงเหตุโพแทสเซียมต่ำ ซึ่งเรียกย่อว่า โรคเอชพีพี หรือ ไฮโปเคพีพี (Hypokalemic periodic paralysis หรือย่อว่า HPP หรือ HypoKPP)” ซึ่งคือโรคอะไร มีสาเหตุจากอะไร และทำไมถึงเป็นๆ หายๆ จะเป็นอัมพาตถาวรเลยหรือไม่ บทความนี้จะคลายความสงสัยแก่ท่านได้ ต้องติดตามครับ

โรคอัมพาตเหตุโพแทสเซียมต่ำคืออะไร? มีอาการอย่างไร?

อัมพาตเหตุโพแทสเซียมต่ำ

โรคอัมพาตเหตุโพแทสเซียมต่ำ คือ โรคที่ก่อให้เกิดอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง คล้ายอัม พาต เป็นๆ หายๆ โดยอาการอ่อนแรงเกิดขึ้นค่อนข้างรวดเร็ว รุนแรง จนเคลื่อนไหวแขนขาลำ บาก หรือเคลื่อนไหวไม่ได้ ต่อมาอาการก็หายได้เอง ถึงแม้จะไม่ได้รักษาใดๆ อาการอ่อนแรงนั้นจะเป็นลักษณะของแขนขา 2 ข้างอ่อนแรง โดยไม่มีอาการชา และไม่มีอาการปากเบี้ยว หรือหลับตาไม่สนิท เหมือนอาการของอัมพาตจากโรคหลอดเลือดสมอง ทั้งนี้อาการมักเกิดภาย หลังทานอาหารมื้อใหญ่ เช่น งานเลี้ยง ทานอาหารรสเค็มจัด หรือการทำงานหนัก อาการมักเกิดขึ้นหลังตื่นนอนตอนเช้า จะลุกขึ้นไม่ได้ แต่เมื่อนอนพักประมาณ 12-24 ชั่วโมง อาการก็ค่อยๆดีขึ้น หายเป็นปกติได้เอง

โรคอัมพาตเหตุโพแทสเซียมต่ำนี้พบได้ประมาณ 1 รายต่อประชากร 100,000 คน เป็นโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมแบบยีน/จีนเด่น (Autosomal dominant ไม่ว่าพ่อหรือแม่คนใดคนหนึ่งเป็นโรคนี้ ลูกก็มีโอกาสเป็นโรคนี้ได้) และพบบ่อยในวัยแรงงานถึงวัยกลางคน

โรคอัมพาตเหตุโพแทสเซียมต่ำเกิดได้อย่างไร?

สาเหตุของความผิดปกติที่ทำให้เกิดโรคอัมพาตเหตุโพแทสเซียมในเลือดต่ำเกิดขึ้นในระดับเซลล์ที่เรียกว่า ไอออนแชนแนล (Ion channel) ซึ่งมีกลไกการแลกเปลี่ยนเกลือแร่โพ แทสเซียมระหว่างภายในและภายนอก (เลือด) เซลล์กล้ามเนื้อ เพื่อให้เกิดสมดุลของโพแทส เซียมในเลือด แต่เมื่อเกิดความผิดปกติที่กลไกนี้ จะส่งผลให้โพแทสเซียมในเลือดลดต่ำลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้กล้ามเนื้อเกิดการอ่อนแรง แต่ในที่สุดร่างกายจะสามารถปรับตัวได้เอง จนเกิดสมดุลตามปกติของเกลือแร่โพแทสเซียม กล้ามเนื้อก็จะหายอ่อนแรง กลับมาทำงานได้ตามปกติ หรือตามเดิม

อย่างไรก็ตาม ถ้าผู้ป่วยมีสาเหตุหรือปัจจัยกระตุ้นที่ไม่ได้รักษาแก้ไข หรือถ้าอาการเกิดบ่อย ก็มีโอกาสที่โรคไม่หายเอง และ/หรือมีโอกาสเกิดกล้ามเนื้ออ่อนแรงถาวรได้

ใครมีปัจจัยเสี่ยง/โอกาสที่จะเป็นโรคอัมพาตเหตุโพแทสเซียมต่ำ?

ผู้มีปัจจัยเสี่ยง/โอกาสเป็นโรคนี้ คือ

  • คนถิ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย จากการที่คนในถิ่นนี้ มีความผิดปกติทางพันธุกรรมที่สัมพันธ์กับโรคนี้
  • คนที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคนี้
  • ผู้ใช้แรงงาน
  • ผู้ป่วยโรคไต
  • ผู้ป่วยโรคไทรอยด์เป็นพิษ

อะไรเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดอาการ?

ปัจจัยกระตุ้นที่ทำให้เกิดโพแทสเซียมในเลือดต่ำจนเกิดอาการอัมพาตของกล้ามเนื้อ/กล้ามเนื้ออ่อนแรง ที่พบบ่อย คือ

  • การทานอาหารมื้อใหญ่ มีปริมาณแป้งมาก รสเค็มจัด
  • การทำงาน/ใช้แรงงานหนัก

ควรพบแพทย์เมื่อไหร่?

ผู้ป่วยที่มีอาการดังกล่าวในหัวข้อ อาการ ควรรีบไปพบแพทย์ทันทีที่เริ่มมีอาการกล้าม เนื้ออ่อนแรง เพราะสาเหตุของอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงนั้นมีสาเหตุมากมาย และบางสาเหตุนั้นต้องรีบให้การรักษา เช่น สาเหตุจากโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งอาการอ่อนแรงแต่ละครั้งนั้น เราไม่สามารถบอกได้แน่นอน (จากอาการเพียงอย่างเดียว) ว่าเป็นอาการอ่อนแรงจากโพแทส เซียมในเลือดต่ำ ถึงแม้ว่าสาเหตุการอ่อนแรงของแต่ละสาเหตุจะมีลักษณะที่แตกต่างกันอยู่บ้างก็ตาม แต่ก็เป็นการยากที่ผู้ป่วยจะสามารถให้การดูแลตนเองได้อย่างถูกต้อง ดังนั้นจึงไม่แนะนำให้สังเกตอาการตนเองก่อนว่าจะหายดีหรือไม่ เพราะถ้าไปพบแพทย์ช้า การรักษาที่ถูกต้องก็จะได้รับล่าช้าไปด้วย

อย่างไรก็ตาม กรณีที่ผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยที่แน่นอนแล้วว่า มีสาเหตุจากโพแทสเซียมในเลือดต่ำ และมีความคุ้นเคยกับอาการนี้เป็นอย่างดี บางครั้งแพทย์ก็อาจแนะนำให้ผู้ป่วยพิจารณาการรักษาตนเองเบื้องต้นได้ว่า ถ้ามีอาการอ่อนแรงลักษณะแบบเดิมอีก ก็สามารถที่จะทานยาโพแทสเซียมที่แพทย์เตรียมไว้ให้ที่บ้านได้ แต่ถ้าหลังจากทานยาโพแทสเซียมแล้ว อา การก็ยังไม่ดีขึ้นนั้น ควรรีบไปโรงพยาบาลทันที

แพทย์วินิจฉัยโรคอัมพาตเหตุโพแทสเซียมต่ำได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยโรคอัมพาตเหตุโพแทสเซียมต่ำได้ โดยพิจารณาจากลักษณะอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อแขนขา การไม่มีอาการชา ปากเบี้ยว หรือหลับตาไม่สนิท และเมื่อแพทย์ตรวจรีเฟล็กซ์จะพบว่าลดลง (เมื่อใช้ค้อนยางเคาะบริเวณเอ็นหัวเข่า เอ็นร้อยหวาย และ แขน ไม่พบการกระตุกของ ขา เท้า และแขน ตามลำดับ) ผู้ป่วยมีประวัติเคยมีอาการนี้มาก่อน และ/หรือ มีประวัติครอบครัวเป็นโรคนี้ ร่วมกับผลการตรวจเลือดพบระดับโพแทสเซียมในเลือดต่ำกว่าปกติ

โรคอัมพาตเหตุโพแทสเซียมต่ำมีภาวะแทรกซ้อนหรือไม่?

กรณีที่ระดับโพแทสเซียมในเลือดต่ำมาก ผู้ป่วยโรคนี้ อาจเกิดภาวะแทรกซ้อน (ผลข้าง เคียง) จากปัญหากล้ามเนื้อการหายใจ และกล้ามเนื้อหัวใจ อ่อนแรง และหัวใจหยุดเต้น เป็นเหตุให้เสียชีวิตได้

รักษาโรคอัมพาตเหตุโพแทสเซียมต่ำอย่างไร? มีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

โรคนี้ถึงแม้จะหายได้เอง แต่ก็มีโอกาสเกิดซ้ำๆได้ ถ้าไม่รักษาที่สาเหตุและให้การป้อง กัน ผู้ป่วยอาจเสียชีวิตจากหัวใจหยุดเต้นได้ ดังนั้น แพทย์ต้องหาสาเหตุของการเกิดระดับโพ แทสเซียมในเลือดต่ำ เช่น โรคนิ่วในไต โรคไทรอยด์เป็นพิษ เพื่อรักษาต้นเหตุ/สาเหตุ แต่กรณีที่ไม่มีต้นเหตุที่แน่ชัด แพทย์ก็ให้การรักษาโดยให้หลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นที่ได้กล่าวแล้วในหัว ข้อ ปัจจัยกระตุ้น

อนึ่ง กรณีผู้ป่วยที่มีอาการเป็นประจำ และไม่พบสาเหตุที่แน่ชัด แพทย์อาจให้ทานยาโพ แทสเซียม (เช่น Potassium chloride) เพื่อรักษาอาการได้ แต่การที่จะมียาดังกล่าวที่บ้านเพื่อทานยานี้เองทุกครั้งที่มีอาการนั้น ค่อนข้างอันตราย เพราะอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงทุกครั้งที่เกิดขึ้น อาจไม่ได้เกิดจากระดับโพแทสเซียมในเลือดต่ำเสมอไป เช่น อาจเกิดจากโรคหลอดเลือดสมอง และการทานยานี้เข้าไปในร่างกายจะส่งผลให้เกิดภาวะโพแทสเซียมสูงในเลือด ก็เกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นเสียชีวิตได้เช่นกัน ดังนั้น ไม่แนะนำให้ทานยานี้เองโดยไม่พบแพทย์

เมื่อเป็นโรคอัมพาตเหตุโพแทสเซียมต่ำควรดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไร?

ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ ควรพยายามหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้น (ดังกล่าวแล้วในหัวข้อ ปัจจัยกระ ตุ้น) ที่จะทำให้เกิดโพแทสเซียมลดต่ำลง เช่น การทานอาหารมื้อใหญ่ที่มีคาร์โบไฮเดรตเป็นปริ มาณมาก หรืออาหารรสเค็ม การออกกำลังกายอย่างหนัก การใช้แรงงานอย่างหนัก และ/หรือการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิในสิ่งแวดล้อมอย่างรวดเร็ว

ผู้ป่วยโรคนี้ ควรไปพบแพทย์ก่อนนัดถ้ามีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงเกิดขึ้นอีก หรือเกิดซ้ำ ๆ บ่อยขึ้น หรือมีอาการผิดปกติอื่นๆที่ไม่เคยมีอาการนั้นมาก่อน เช่น ตะคริวที่รุนแรง การหด การคลายของกล้ามเนื้อ ไม่สามารถทำได้ตามปกติ หรือปวดกล้ามเนื้ออย่างรุนแรง

ป้องกันโรคอัมพาตเหตุโพแทสเซียมต่ำได้อย่างไร?

โรคนี้ไม่สามารถป้องกันให้เกิดอาการได้ทั้งหมด เพราะส่วนหนึ่งมีสาเหตุจากทางพันธุ กรรม แต่บางสาเหตุที่เกิดจากโรคไตนั้น สามารถป้องกันได้ โดยการรักษาสาเหตุของการเกิดโรคไต (อ่านเพิ่มเติมในบทความเรื่อง โรคไต โรคนิ่วในไต และโรคไตเรื้อรัง) และป้องกันไม่ให้เกิดอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงได้ โดยการหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นดังที่กล่าวแล้วในหัวข้อ ปัจจัยกระตุ้น

สรุป

อาการอัมพาตเหตุโพแทสเซียมในเลือดต่ำ เป็นภาวะที่ท่านไม่ควรประมาท เพราะอาจทำให้เสียชีวิตได้ก่อนถึงวัยอันควร