อัณฑะค้างในท้อง (Undescended testis)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 27 ธันวาคม 2560
- Tweet
- บทนำ
- อัณฑะค้างในท้องมีสาเหตุจากอะไร?
- ใครมีปัจจัยเสี่ยงเกิดอัณฑะค้างในท้อง?
- อัณฑะค้างในท้องมีอาการอย่างไร?
- เมื่อไรควรพบแพทย์?
- แพทย์วินิจฉัยอัณฑะค้างในท้องได้อย่างไร?
- รักษาอัณฑะค้างในท้องอย่างไร?
- ผลข้างเคียงและการพยากรณ์โรคจากอัณฑะค้างเป็นอย่างไร?
- ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อมีอัณฑะค้าง?
- ป้องกันอัณฑะค้างได้อย่างไร?
- บรรณานุกรม
- กายวิภาคและสรีรวิทยาอวัยวะสืบพันธุ์ชาย (Anatomy and physiology of male reproductive organ)
- มะเร็งอัณฑะ (Testicular cancer)
- ภาวะมีบุตรยาก (Infertility)
- เด็ก: โรคเด็ก (Childhood: Childhood diseases)
- อัณฑะอักเสบ (Orchitis)
- ถุงน้ำอัณฑะ ภาวะน้ำขังเฉพาะที่รอบอัณฑะ (Hydrocele testis)
- ก้อนที่อัณฑะ ก้อนในถุงอัณฑะ (Testicular mass หรือ Scrotal mass)
บทนำ
อัณฑะค้างในท้อง หรือ อัณฑะไม่ลงถุง หรือ อัณฑะค้าง หรือ อัณฑะข้างเดียวหรือ ภาษาชาวบ้านเรียกว่า ไข่ข้างเดียว หรือ ทองแดง (Undescended testis หรือ Cryptorchidism) คือ ภาวะที่อัณฑะ อาจข้างเดียว หรือทั้ง 2 ข้างไม่ลงมาอยู่ในถุงอัณฑะ พบได้ประมาณ 1-8%ของทารกชายแรกเกิดทั้งหมด ซึ่งจะพบได้สูงขึ้นในทารกชายแรกเกิดที่คลอดก่อนกำหนด คือ ประมาณ 30-45% ทั้งนี้มีรายงานพบเกิดกับอัณฑะข้างเดียว(77%) สูงกว่าเกิด 2 ข้าง(23%) โดยพบเกิดกับอัณฑะขวา(46%) บ่อยกว่าเกิดกับอัณฑะซ้าย(31%)
ทั้งนี้ภายในระยะเวลา 3 เดือนหลังคลอด ในทารกคลอดครบกำหนด พบว่าประมาณ 75% อัณฑะจะเคลื่อนเองลงมาอยู่ในถุงอัณฑะในตำแหน่งตามปกติ ส่วนในทารกคลอดก่อนกำหนด โอกาสอัณฑะจะเคลื่อนลงมาเองอยู่ในตำแหน่งปกติในถุงอัณฑะจะประมาณ 90% แต่ในเด็กอายุที่มากกว่า 3 เดือนทั้งทารกคลอดครบกำหนด และทารกคลอดก่อนกำหนด โอกาสที่อัณฑะจะเคลื่อนลงมาอยู่ในถุงอัณฑะตามปกติ จะเพียงประมาณ 0.8-1.2% ดังนั้น การวินิจฉัยที่แน่นอนว่า เด็กน่าจะมีอัณฑะค้างในท้อง จะเป็นการวินิจฉัยเมื่อเด็กอายุตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป ซึ่งช่วงเวลานี้ยังใช้เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมในการพิจารณาการรักษาด้วย
อัณฑะค้างในท้องมีสาเหตุจากอะไร?
อัณฑะเมื่อแรกเกิดในช่วงอายุครรภ์ได้ประมาณ 3-6สัปดาห์ จะอยู่ในช่องท้อง ทั้งซ้ายและขวา และเมื่ออายุครรภ์ได้ประมาณ 7-15 สัปดาห์ อัณฑะทั้ง 2ข้างก็จะค่อยๆเคลื่อนลงมาตามช่องที่ติดต่อระหว่างช่องท้องกับถุงอัณฑะ จนอายุครรภ์ประมาณ 35 สัปดาห์ ก็จะลงมาอยู่ในถุงอัณฑะตามปกติ ซึ่งการเคลื่อนของอัณฑะนี้ จะขึ้นกับปัจจัยต่างๆหลายปัจจัย ที่สำคัญคือ อายุครรภ์ การเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ว่าสมบูรณ์หรือไม่ ฮอร์โมนเพศชายที่สร้างจากทารก สุขภาพของมารดา ยาต่างๆที่มารดาบริโภคโดยเฉพาะฮอร์โมนเพศหญิง และพันธุกรรมของทั้งมารดาและบิดา
ดังนั้น ถ้ามีความผิดปกติในปัจจัยต่างๆดังกล่าว ก็เป็นสาเหตุ/ปัจจัยให้เกิดภาวะอัณฑะค้างในท้องได้
ใครมีปัจจัยเสี่ยงเกิดอัณฑะค้างในท้อง?
ทารก หรือผู้มีปัจจัยเสี่ยงเกิดอัณฑะค้างในช่องท้องตั้งแต่แรกเกิด ได้แก่
- อายุครรภ์: ดังได้กล่าวแล้วว่า พบภาวะนี้ได้สูงขึ้นในทารกคลอดก่อนกำหนด
- น้ำหนักตัวแรกคลอด: ทารกแรกคลอดที่มีน้ำหนักตัวต่ำกว่าเกณฑ์ มีโอกาสพบภาวะนี้ได้สูงขึ้น
- พันธุกรรม: พบว่าในครอบครัวที่มีประวัติมีอัณฑะค้างในท้อง ทารกในครอบครัวนี้ มีโอกาสเกิดอัณฑะค้างในท้องประมาณ 23% เมื่อเปรียบเทียบกับทารกที่เกิดจากครอบครัวทั่วไปที่พบภาวะนี้ได้ประมาณ 7.5% และยังพบว่า ถ้าพี่น้องท้องเดียวกันมีภาวะนี้ ทารกมีโอกาสเกิดภาวะนี้ได้สูงกว่าในครอบครัวปกติ ประมาณ 6.8 เท่า ในขณะที่ถ้าบิดามีภาวะนี้ บุตรจะมีโอกาสเกิดภาวะนี้สูงกว่าบุตรคนทั่วไปประมาณ 4.6 เท่า
- สุขภาพของมารดา เช่น มารดาอ้วน สูบบุหรี่/สูบบุหรี่มือสอง ดื่มสุรา เป็นเบาหวาน
- อาจจาก บิดา มารดา อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่สัมผัสกับสารฆ่าแมลงบางชนิด(ยังไม่มีข้อพิสูจน์ที่ชัดเจน)
อัณฑะค้างในท้องมีอาการอย่างไร?
โดยทั่วไป ทารกที่มีอัณฑะค้าง จะมีอาการปกติทุกอย่างที่รวมไปถึง การเจริญเติบโตและสติปัญญา แต่เด็กจะรู้ได้เมื่อโตขึ้น เมื่อเข้าโรงเรียนแล้วเริ่มสังเกตุเห็นความผิดปกติของถุงอัณฑะตนเองกับกลุ่มเพื่อน
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน การคลอดมักเกิดในโรงพยาบาล ซึ่งแพทย์ พยาบาล จะตรวจร่างกายทารกแรกคลอดที่รวมไปถึงการคลำถุงอัณฑะเสมอ จึงทราบได้ตั้งแต่แรกคลอดว่า ทารกมีอัณฑะกี่ข้าง
อนึ่งใน ทารกที่มีอัณฑะค้าง 2 ข้าง มักพบมีความผิดปกติของอวัยวะเพศอื่นร่วมด้วย เช่น ท่อปัสสาวะเปิดผิดที่ หรือมีลักษณะของอวัยวะเพศหญิงในบางส่วนของอวัยวะเพศชาย ซึ่งกรณีเช่นนี้ แพทย์ จะแนะนำวิธีรักษากับบิดามารดาตั้งแต่แรก แต่ในกรณี ไม่มีความผิดปกติของอวัยวะเพศร่วมด้วย ดังกล่าวแล้วว่า อัณฑะมักเคลื่อนลงมาอยู่ในถุงอัณฑะได้เองในช่วงระยะเวลาก่อนทารกอายุ 6 เดือน ดังนั้นแพทย์จึงนัดติดตามตรวจทารกอย่างเนื่อง และจะแนะนำวิธีรักษา ต่อเมื่อทารกอายุตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป
เมื่อไรควรพบแพทย์?
เมื่อมีบุตรชาย บิดามารดาควรสังเกตุอวัยวะเพศของลูก และคลำอัณฑะลูกเสมอ เมื่อพบความผิดปกติ และ/หรือไม่พบอัณฑะในถุงอัณฑะ ควรนำทารกพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเสมอ
แพทย์วินิจฉัยอัณฑะค้างในท้องได้อย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยอัณฑะค้างได้จาก การตรวจดูอวัยวะเพศ และตรวจคลำถุงอัณฑะ นอกจากนั้น คือการสอบถามประวัติทางการคลอด ประวัติการเกิดภาวะนี้ในครอบครัว และประวัติทางการแพทย์อื่นๆ ที่รวมถึงพฤติกรรมการใช้ชีวิตของมารดาโดยเฉพาะช่วงก่อนและระหว่างตั้งครรภ์ และจะนัดตรวจติดตามสม่ำเสมอ จนทารกอายุประมาณ 6 เดือนที่ทำให้แพทย์แน่ใจว่า อัณฑะจะไม่เคลื่อนลงมาเอง จึงจะมีการตรวจสืบค้นเพิ่มเติมเพื่อหาตำแหน่งอัณฑะที่อยู่ในช่องท้อง เพื่อให้การรักษาต่อไป การตรวจสืบค้น อาจเป็นการตรวจช่องท้องด้วยอัลตราซาวด์ และ/หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์
รักษาอัณฑะค้างในท้องอย่างไร?
การรักษาอัณฑะค้างในท้อง ถ้าตำแหน่งอัณฑะในท้องอยู่ต่ำจนแพทย์คลำได้ เช่น ที่บริเวณขาหนีบ แพทย์อาจลองให้ฮอร์โมนเพศชาย ด้วยการฉีดเข้ากล้ามเนื้อทุกสัปดาห์ ประมาณ 4 สัปดาห์ แต่ถ้าผ่านพ้นระยะนี้ไปแล้วอัณฑะยังไม่เคลื่อนลงมา หรือกรณีอัณฑะค้างอยู่สูงในช่องท้อง การรักษาด้วยฮอร์โมนมักไม่ได้ผล การรักษามักเป็นการผ่าตัดเพื่อนำอัณฑะกลับลงมาอยู่ในถุงอัณฑะ ที่เรียกการผ่าตัดนี้ว่า Orchiopexy ที่ให้การรักษาโดยแพทย์เฉพาะทาง ศัลยกรรมทางเดินปัสสาวะ (Urologist)
อนึ่ง โดยทั่วไป แพทย์มักแนะนำการผ่าตัดภายในอายุ 1 ปี ถ้าเด็กมีสุขภาพแข็งแรงพอที่จะผ่าตัดได้ ทั่วไปแพทย์มักแนะนำการผ่าตัดก่อนอายุ18เดือน ทั้งนี้เพื่อรักษาเซลล์เนื้อเยื่ออัณฑะไว้ไม่ให้ฟ่อไปจากภาวะอุณหภูมิที่สูงภายในร่างกาย ซึ่งมีการศึกษาพบว่า ยิ่งอัณฑะอยู่ภายในร่างกายนานเท่าไร โอกาสฟื้นตัวของเซลล์อัณฑะหลังผ่าตัดก็ยิ่งลดลง การที่จะสามารถเก็บเซลล์อัณฑะไว้ได้บ้าง มักเป็นการผ่าตัดก่อนเด็กอายุ 3 ปี
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้หลังอายุ 3 ปีไปแล้ว แพทย์ก็ยังแนะนำการผ่าตัด ถึงแม้จะพบว่า เซลล์อัณฑะฟ่อไปเกือบหมดถึงหมดแล้ว และไม่สามารถลดอัตราการเกิดมะเร็งอัณฑะได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ แต่การผ่าตัดนำอัณฑะมาอยู่ในถุงอัณฑะ จะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถตรวจคลำอัณฑะตนเองได้ ซึ่งจะเป็นการช่วยให้สามารถตรวจพบมะเร็งอัณฑะได้ตั้งแต่ในระยะแรก ที่ผลการรักษาจะดีกว่าการรักษาในโรคมะเร็งอัณฑะระยะลุกลามแพร่กระจาย
ผลข้างเคียงและการพยากรณ์โรคจากอัณฑะค้างเป็นอย่างไร?
ผลข้างเคียงและการพยากรณ์โรค ในกรณีจากการผ่าตัด คือ ประมาณ 8-20% แพทย์มักหาอัณฑะที่ค้างอยู่ไม่พบ ทำให้ผ่าตัดรักษาไม่สาเร็จ ซึ่งผลข้างเคียงจากการผ่าตัด นอกจากหาอัณฑะไม่พบแล้ว ผลข้างเคียงอื่นๆจะเช่นเดียวกับการผ่าตัดทั่วไป เช่น เจ็บแผล แผลเลือดออก แผลติดเชื้อ แผลผ่าตัดไม่ติด หรือ ติดช้า เป็นต้น นอกจากนั้นบางครั้งอาจพบว่า อัณฑะที่อยู่ในท้องนั้น ฝ่อเป็นพังผืด หรือไม่เหลือเซลล์ที่จะสร้างฮอร์โมนเพศ หรือสร้างอสุจิได้อีกแล้ว ซึ่งกรณีเช่นนี้ ก็จะไม่มีการนำอัณฑะมาอยู่ในถุงอัณฑะ แต่จะเป็นการผ่าตัดออกไปเลย
ผลข้างเคียงและการพยากรณ์โรคจากการมีอัณฑะค้าง คือ
- โอกาสเกิดมะเร็งอัณฑะเมื่อทารกโตขึ้น: มะเร็งอัณฑะ เป็นมะเร็งที่พบได้น้อย ดังนั้นโอกาสเกิดมะเร็งอัณฑะกรณีอัณฑะค้างก็พบได้น้อย เพียงแต่พบโอกาสเกิด จะสูงกว่าในคนทั่วไป คือ ประมาณ 3-18% (ชายทั่วไปพบโอกาสเกิดได้ประมาณ 1%) ซึ่งการผ่าตัดนำอัณฑะมาไว้ที่ถุงอัณฑะ สามารถลดอัตราเกิดมะเร็งอัณฑะลงได้บ้าง แต่ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ แต่การผ่าตัดจะช่วยให้การเฝ้าติดตามการเกิดโรค และการวินิจฉัยโรคได้เร็วกว่า ไม่ผ่าตัด เพราะผู้ป่วยและแพทย์สามารถคลำอัณฑะได้จากถุงอัณฑะ จึงส่งผลให้การรักษามีประสิทธิภาพดีกว่า
- การผ่าตัด ช่วยให้เซลล์อัณฑะยังสามารถสร้างฮอร์โมนเพศชาย และอสุจิได้ถึงแม้คุณภาพ และปริมาณจะด้อยกว่าคนปกติ แต่ก็ช่วยให้โอกาสมีลูกได้สูงขึ้น
- ลดโอกาสเกิดลูกอัณฑะบิด/อัณฑะบิดขั้ว อัณฑะที่อยู่ในช่องท้อง มีโอกาสที่จะเกิดการบิดตัว ส่งผลให้อัณฑะขาดเลือด เกิดการปวดท้องอย่างรุนแรง และต้องผ่าตัดแก้ไขฉุกเฉิน แต่การผ่าตัดรักษานำอัณฑะมาไว้ในถุงอัณฑะ จะทำให้อัณฑะมีตัวช่วยพยุง จึงลดโอกาสเกิดการบิดตัวลงได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
- ลดโอกาสเกิดไส้เลื่อน เพราะการผ่าตัดจะเย็บปิดซ่อมแซมทางติดต่อระหว่างช่องท้องกับถุงอัณฑะ จึงลดโอกาสเกิดไส้เลื่อน
- ภาพลักษณ์เหมือนเพื่อนๆ จึงช่วยในด้านสุขภาพจิตของผู้ป่วย
ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อมีอัณฑะค้าง?
การดูแลบุตรเมื่อมีอัณฑะค้าง คือ การนำบุตรพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัด และการแนะนำให้บุตรทราบว่า เขาเกิดโรคอะไร มีปัจจัยเสี่ยง/ผลข้างเคียงจากโรคนี้อย่างไร ซึ่งจะช่วยให้เด็กรู้จักดูแลตนเองเมื่อโตขึ้น โดยเฉพาะการคลำอัณฑะ เพื่อการวินิจฉัยมะเร็งอัณฑะได้แต่เนิ่นๆ
ป้องกันอัณฑะค้างได้อย่างไร?
สาเหตุที่แน่นอนที่ทำให้เกิดอัณฑะค้าง ยังไม่ทราบ ที่ทราบและที่ได้กล่าวไปแล้ว คือ ปัจจัยเสี่ยง ซึ่งการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่หลีกเลี่ยงได้(ดังได้กล่าวแล้วในหัวข้อ ปัจจัยเสี่ยง) ถึงแม้ไม่ช่วยลดโอกาสเกิดภาวะนี้ให้เป็น ศูนย์ แต่ก็ช่วยลดโอกาสเกิดภาวะนี้ลงได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
ดังนั้น มารดาจึงควรดูแลสุขภาพให้แข็งแรง เพื่อลดโอกาสเกิดการเจริญเติบโตที่ผิดปกติของลูก ลดโอกาสเด็กน้ำหนักตัวต่ำกว่าเกณฑ์ และลดโอกาสเกิดการคลอดก่อนกำหนด ซึ่งการดูแลตนเองที่สำคัญของมารดา คือ
- ควรต้องพบแพทย์ตั้งแต่เมื่อประสงค์จะตั้งครรภ์ และฝากครรภ์คลอดตั้งแต่ รู้ว่าตั้งครรภ์
- ควรอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัย ปราศจากสารพิษ ที่รวมถึงสารฆ่าแมลง
- ไม่ดื่มสุรา ไม่สูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงสูบบุหรี่มือสอง
- ควบคุมโรคต่างๆที่เป็นโรคประจำตัว หรือที่เกิดระหว่างตั้งครรภ์ให้ได้ดี และรวมไปถึง
- ใช้ยาต่างๆเฉพาะที่จำเป็นภายใต้การปรึกษาแพทย์เท่านั้น
บรรณานุกรม
- Abaci, A. et al. (2013). J Clin Res Pediatr Endocrinol. http://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3701924/ [2017,Dec9]
- Docimo, S. et al. Am Fam Physician. 2000 Nov 1;62(9):2037-2044
- Niedzielski, J K et al. Arch Med Sci. 2016 Jun 1;12(3):667-77
- Pattersson, A. et al. N Engl J Med 2007; 356:1835-1841.
- Ritzen, E. European Journal of Endocrinology. 2008; 159: S87–S90
- http://emedicine.medscape.com/article/438378-overview#showall [2017,Dec9]