อะไซโคลเวียร์ (Aciclovir)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 2 มีนาคม 2562
- Tweet
- บทนำ
- ยาอะไซโคลเวียร์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- ยาอะไซโคลเวียร์ออกฤทธิ์อย่างไร?
- ยาอะไซโคลเวียร์มีรูปแบบจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ยาอะไซโคลเวียร์มีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งจ่ายยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาอะไซโคลเวียร์ควรทำอย่างไร?
- ยาอะไซโคลเวียร์มีผลไม่พึงประสงค์ไหม?
- ยาอะไซโคลเวียร์มีปฏิกิริยากับยาตัวอื่นไหม?
- มีข้อควรระวังไหมเมื่อกินยาอะไซโคลเวียร์?
- ควรเก็บรักษายาอะไซโคลเวียร์อย่างไร?
- ยาอะไซโคลเวียร์มีชื่ออื่นๆอีกไหม? ผลิตโดยบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- โรคติดเชื้อ ภาวะติดเชื้อ (Infectious disease)
- เริม (Herpes simplex)
- เริมอวัยยวะเพศสตรี
- เชื้อไวรัส โรคติดเชื้อไวรัส (Viral infection)
- งูสวัด (Herpes zoster)
- อีสุกอีใส (Chickenpox)
บทนำ
ยาอะไซโคลเวียร์ (Aciclovir หรือ Acyclovir ย่อว่า ACV) เป็นกลุ่มยาใช้ต้านเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคเริม โรคงูสวัด รวมไปถึงช่วยรักษาโรคอีสุกอีใส ทางเภสัชกรรมยานี้ได้ถูกพัฒนาการใช้ทั้งในรูปแบบของยาเม็ด ยาครีม ยาป้ายตา และยาฉีด สำหรับการบริหารยาแบบรับประทานนั้น ยาสามารถถูกดูดซึมได้ 15 - 30% ดังนั้นหากต้องการระดับความเข้มข้นของยาในกระแสเลือดที่สูงกว่านี้จำเป็นต้องบริหารยาโดยการฉีดเข้าร่างกาย
ยาอะไซโคลเวียร์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
ยาอะไซโคลเวียร์มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น
- ใช้ป้องกันและรักษาเชื้อไวรัสที่ก่อโรคเริม (Herpes simplex) ที่แสดงอาการในบริเวณอวัยวะต่างๆ เช่น ริมฝีปาก อวัยวะเพศ (เริมอวัยวะเพศ) หรือแม้แต่เยื่อหุ้มสมอง(ไวรัสเยื่อหุ้มสมองอักเสบ)
- นอกจากนี้ยังใช้รักษาและบรรเทาอาการของโรคงูสวัด (Herpes zoster) และโรคอีสุกอีใส (Chicken pox) ได้อีกด้วย
ยาอะไซโคลเวียร์ออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาอะไซโคลเวียร์จะออกฤทธิ์เข้าไปยับยั้งการแพร่พันธุ์ของเชื้อไวรัส โดยรบกวนการสร้างและสังเคราะห์สารทางพันธุกรรมดีเอ็นเอ (DNA) ของเชื้อไวรัส และทำให้ไวรัสไม่สามารถแพร่พันธุ์ได้อย่างต่อเนื่องจึงส่งผลให้อาการของโรคบรรเทาลงในที่สุด
ยาอะไซโคลเวียร์มีรูปแบบจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาอะไซโคลเวียร์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายในรูปแบบของ
- ยาเม็ด ขนาด 200, 400 และ 800 มิลลิกรัม
- ยาครีม ขนาดความเข้มข้น 5%
- ยาขี้ผึ้งป้ายตา ขนาดความเข้มข้น 3%
- ยาฉีดเข้าหลอดเลือด ขนาดความเข้มข้น 25 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร
ยาอะไซโคลเวียร์มีขนาดรับประทานอย่างไร?
ขนาดของยาอะไซโคลเวียร์ที่รับประทานในผู้ใหญ่และในเด็กมีขนาดที่ต่างกัน อีกทั้งขึ้น กับชนิดของเชื้อไวรัสที่ก่อโรค สามารถรับประทานยาก่อนหรือหลังอาหารก็ได้ การรับประทานยาหลังอาหารอาจช่วยให้การระคายเคืองของกระเพาะและลำไส้ลดลง
ขนาดรับประทานในปริมาณสูงสุดในผู้ป่วยแต่ละคนยังต้องอาศัยปัจจัยเรื่องการทำงานของไตมาเป็นเงื่อนไขในการบริหารยา จึงไม่ควรซื้อยากินเอง ต้องได้รับคำแนะนำการใช้ยาจากแพทย์เท่านั้น
เมื่อมีการสั่งจ่ายยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมทั้งยาอะไซโคลเวียร์ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกร เช่น
- ประวัติการแพ้ยาทุกชนิดรวมทั้งอาการแพ้ยา เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่น /หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาอะไซโคลเวียร์อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อนแล้วได้
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์หรือไม่ หรือกำลังให้นมบุตรหรือไม่ เพราะยาหลายประเภทอาจจะ/มักผ่านรก หรือผ่านเข้าสู่น้ำนม และเข้าสู่ทารก ก่อผลข้างเคียงต่อทารกได้
หากลืมรับประทานยาอะไซโคลเวียร์ควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาอะไซโคลเวียร์สามารถรับประทานยาเมื่อนึกขึ้นได้ หากลืมรับประ ทานยาใกล้กับมื้อถัดไป ให้รับประทานขนาดปกติโดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า
ยาอะไซโคลเวียร์มีผลไม่พึงประสงค์ไหม?
ผลไม่พึงประสงค์จากยา /ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง จากยาอะไซโคลเวียร์ เช่น
- คลื่นไส้ อาเจียน
- ปวดหัว/ปวดศีรษะ
- ท้องร่วง/ท้องเสีย
- ผื่นคัน
- ตาแดง
สำหรับยานี้ชนิดยาฉีด อาจก่อให้เกิดอาการปวดบริเวณหลอดเลือดดำที่มีการฉีดยา หากมียาบางส่วนไหลออกนอกหลอดเลือด อาจก่อให้เกิดภาวะเป็นแผลในบริเวณเนื้อเยื่อใกล้เคียง
อาจพบว่า ผู้ป่วยบางรายหลังได้รับยานี้แล้วมีอาการไตล้มเหลว แต่เป็นกรณีที่พบได้น้อยมาก
ยาอะไซโคลเวียร์มีปฏิกิริยากับยาตัวอื่นไหม?
ยาอะไซโคลเวียร์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- เมื่อกินร่วมกับยาขยายหลอดลม สามารถส่งเสริมให้ความเข้มข้นของยาที่ใช้ขยายหลอดลมมีความเข้มข้นและอยู่ในร่างกายได้นานขึ้น และอาจมีผลข้างเคียงของยาที่ใช้ขยายหลอดลมเพิ่มมากขึ้น กลุ่มยาที่ใช้ขยายหลอดลม เช่นยา อะมิโนฟิลลีน (Aminophylline), และทีโอฟิลลีน (Theophylline) เป็นต้น
- เมื่อกินร่วมกับยาปฎิชีวนะสามารถส่งผลให้เกิดความเป็นพิษจากยาปฎิชีวนะได้มากยิ่ง ขึ้นเช่น ต่อหู ไต เส้นประสาทต่างๆ ซึ่งกลุ่มยาปฎิชีวนะดังกล่าว เช่นยา อะมิคาซิน (Amikacin),เจนตามัยซิน (Gentamicin)
มีข้อควรระวังไหมเมื่อกินยาอะไซโคลเวียร์?
ข้อควรระวังในการใช้ยาอะไซโคลเวียร์ เช่น
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีการแพ้ยานี้
- ระวังการใช้ยานี้กับ หญิงตั้งครรภ์ หญิงที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร ผู้ที่มีภาวะตับ,ไต ทำงานผิดปกติ
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมถึงยาอะไซโคลเวียร์ด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิดควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด เสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ควรเก็บรักษายาอะไซโคลเวียร์อย่างไร?
ควรเก็บรักษายาอะไซโคลเวียร์ทุกรูปแบบของผลิตภัณฑ์ เช่น
- เก็บยาภายใต้อุณหภูมิ 15 - 25 องศาเซลเซียส (Celsius)
- ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
- เก็บยาให้พ้นแสง/แสงแดด ความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- ห้ามเก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
ยาอะไซโคลเวียร์มีชื่ออื่นๆอีกไหม? ผลิตโดยบริษัทอะไรบ้าง?
ชื่อทางการค้า และบริษัทผู้ผลิตยาอะไซโคลเวียร์ เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
A.C.V. (เอซีวี) | Greater Pharma |
Acyvir (อะไซเวียร์) | Pharmasant Lab |
Azovax (อะโซแวค) | T P Drug |
Clinovir (ไคลโนเวียร์) | Bangkok Lab & Cosmetic |
Clovin (โคลวิน) | Nakornpatana |
Clovira (โคลวิรา) | M & H Manufacturing |
Colsor (โคลเซอร์) | Seng Thai |
Covir (โคเวียร์) | Community Pharm PCL |
Declovir (ดีโคลเวียร์) | HOE Pharmaceuticals |
Entir (เอนเทียร์) | Unison |
Falerm (ฟาเลิร์ม) | Pharmahof |
Vivir (ไวเวียร์) | Unison |
Vizo (ไวโซ) | Farmaline |
Zevin (เซวิน) | Biolab |
Zocovin (โซโควิน) | T. O. Chemicals |
Zovirax (โซวิแรกซ์) | GlaxoSmithKline |
บรรณานุกรม
- Drug Information Handbook 20th edition with Charles Flacy RPh. Ms, Pharm D FCSHP , Lora L.Armstrong RPh, PharmD BCPS , Morton P.Goldman, RPh, PharmD BCPS,FCCP , Leonard L. RPh. BSPharm
- https://en.wikipedia.org/wiki/Aciclovir [2019,Feb9]
- https://www.mims.com/thailand/drug/search?q=acyclovir [2019,Feb9]