อะแมนตาดีน (Amantadine)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 4 พฤศจิกายน 2558
- Tweet
- บทนำ
- อะแมนตาดีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- อะแมนตาดีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- อะแมนตาดีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- อะแมนตาดีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- อะแมนตาดีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้อะแมนตาดีนอย่างไร?
- อะแมนตาดีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาอะแมนตาดีนอย่างไร?
- อะแมนตาดีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- โรคพาร์กินสัน (Parkinson’s disease)
- ยาโรคจิต ยารักษาโรคจิต (Neuroleptics or Antipsychotics or Major tranquilizers)
- ไข้หวัดใหญ่ (Influenza)
- ยาคลอเฟนิรามีน (Chlorpheniramine)
- ยารักษาทางจิตเวช ยาจิตเวช (Psychotropics drugs)
บทนำ
ยาอะแมนตาดีน (Amantadine) เป็นยาในกลุ่ม NMDA receptor antagonist ถูกนำมาใช้ รักษาอาการของโรคพาร์กินสัน โดยสามารถใช้ยาอะแมนตาดีนเป็นยาเดี่ยวหรือจะใช้ร่วมกับยาชนิดอื่นเพื่อการรักษาโรคพาร์กินสันก็ได้
ยาอะแมนตาดีนจะทำให้กล้ามเนื้อส่วนต่างๆของร่างกายเคลื่อนไหวได้เหมือนปกติ นอกจากนี้ยังเคยนำมาใช้บำบัดและป้องกันการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ชนิด เอ แต่ยานี้ไม่สามารถรักษาอาการโรคหวัดทั่วไปหรือไข้หวัดใหญ่ชนิดอื่นได้ แต่ปัจจุบันพบว่าไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิด เอ ก็สามารถต่อต้านยานี้ได้เช่นเดียวกัน
ก่อนการใช้ยานี้แพทย์จะพิจารณาเงื่อนไขบางประการว่าสมควรจะใช้ยานี้กับผู้ป่วยหรือไม่ เช่น
- ผู้ป่วยเคยมีอาการแพ้ยาอะแมนตาดีนมาก่อนหรือไม่
- หากเป็นสตรีอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรืออยู่ในภาวการณ์ให้นมบุตรหรือไม่
- มีประวัติเป็นโรคหัวใจเช่น หัวใจล้มเหลวหรือไม่
- มีความคิดอยากฆ่าตัวตายหรือไม่
- เป็นโรคลมชัก เป็นต้อหิน โรคความดันโลหิตต่ำ มีภาวะโรคตับ โรคไตหรือไม่
- มีการใช้ยาอื่นอยู่ก่อนหน้านี้หรือไม่เช่น Thioridazine (ยารักษาทางจิตเวช) เพราะการใช้ยาร่วมกันในผู้ป่วยพาร์กินสันจะทำให้อาการป่วยทรุดลงมากกว่าเดิม
ยาอะแมนตาดีนมีรูปแบบยาแผนปัจจุบันจะเป็นยารับประทาน ยาอะแมนตาดีนสามารถถูกดูด ซึมจากระบบทางเดินอาหารและกระจายตัวเข้าสู่ร่างกายได้ประมาณ 86 - 90% จากนั้นตัวยาจะเข้ารวมตัวกับพลาสมาโปรตีนประมาณ 67% ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 10 - 31 ชั่วโมงเพื่อกำจัดยาออกจากกระแสเลือด 50% โดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะ
การใช้ยาอะแมนตาดีนในขนาดรักษาที่เหมาะสมกับอาการป่วยนั้นต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น และห้ามไม่ให้ผู้ป่วยปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
อะแมนตาดีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
ยาอะแมนตาดีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เช่น
- บำบัดอาการของผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน
- รักษาและป้องกันการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ชนิด เอ เช่น ชนิด H3N2
อะแมนตาดีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาอะแมนตาดีนคือ ตัวยาจะแสดงฤทธิ์ที่สมองทำให้เกิดการหลั่งสารสื่อประสาทเช่น โดพามีน (Dopamine), นอร์เอพิเนฟริน (Norepinephrine) จากปลายประสาทส่งผลเกิดฤทธิ์ที่เรียกว่า Antimuscarinic นอกจากนี้อะแมนตาดีนยังแสดงฤทธิ์เป็น NMDA receptor antagonist ในระดับต่ำๆอีกด้วย จากกลไกดังกล่าวจะเกิดการปรับสมดุลของสารสื่อประสาทตัวอื่นติดตามมาเช่น Glutamate ทำให้ลดอาการปวดและมีผลต่อการทำงานของกล้ามเนื้อจึงช่วยลดอาการของโรคพาร์กินสัน
นอกจากนี้ยาอะแมนตาดีนยังออกฤทธิ์ยับยั้งการสร้างสารพันธุกรรมของไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิด เอ ได้ด้วยเช่นกัน จึงใช้ในการบำบัดและป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ได้ แต่ปัจจุบันไวรัสก็พัฒนาให้ตัวมันทนต่อยาอะแมนตาดีนได้เช่นกัน
อะแมนตาดีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาอะแมนตาดีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเช่น
- ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 100 มิลลิกรัม/เม็ด
- ยาแคปซูลชนิดรับประทาน ขนาด 100 มิลลิกรัม/แคปซูล
อะแมนตาดีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาอะแมนตาดีนมีขนาดรับประทานเช่น
ก. สำหรับรักษาอาการพาร์กินสัน:
- กรณีใช้เป็นยาเดี่ยว: ผู้ใหญ่, รับประทานครั้งละ 100 มิลลิกรัมวันละ 2 ครั้ง
- กรณีใช้ร่วมกับยาอื่น: ผู้ใหญ่, รับประทานครั้งละ 100 มิลลิกรัมวันละ 1 ครั้ง แต่กรณีที่มีอาการรุนแรงแพทย์อาจปรับเพิ่มขนาดรับประทานเป็นครั้งละ 100 มิลลิกรัมวันละ 2 ครั้ง
- เด็ก: โดยทั่วไปโรคพาร์กินสันเป็นโรคของผู้ใหญ่จึงยังไม่มีข้อมูลการใช้ยานี้ในเด็ก
ข. สำหรับป้องกันไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิด เอ:
- ผู้ใหญ่: รับประทานครั้งละ 100 - 200 มิลลิกรัม/วันขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา
ค. สำหรับรักษาการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิด เอ:
- ผู้ใหญ่: รับประทานครั้งละ 100 - 200 มิลลิกรัม/วันขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา
ง. สำหรับป้องกันและรักษาไข้หวัดใหญ่ชนิด เอในเด็ก:
- เด็กอายุ 1 - 9 ปี: รับประทาน 4.4 - 8.8 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วันแบ่งรับประทานเป็นวันละ 2 ครั้ง และห้ามใช้ยาเกิน 150 มิลลิกรัม/วัน
- เด็กอายุ 10 - 12 ปี: รับประทานครั้งละ 100 มิลลิกรัมวันละ 1 - 2 ครั้งขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา
- เด็กอายุต่ำกว่า 1 ปี: ยังไม่มีข้อมูลแน่ชัดในการใช้ยานี้ในเด็กอายุต่ำกว่า 1 ปี
- เด็กอายุมากกว่า 12 ปี: ขนาดยานี้เช่นเดียวกับในผู้ใหญ่
*อนึ่ง:
- สามารถรับประทานยานี้ก่อนหรือพร้อมอาหารก็ได้
*****หมายเหตุ:
- ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาอะแมนตาดีน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยาอะไรอยู่ เพราะยาอะแมนตาดีนอาจส่งผลให้อา การของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาอะแมนตาดีนสามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า
อย่างไรก็ตามเพื่อประสิทธิผลของการรักษาควรรับประทานยาอะแมนตาดีนให้ตรงเวลา
อะแมนตาดีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาอะแมนตาดีนสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ดังนี้เช่น
ก. อาการข้างเคียงที่พบได้บ่อย: เช่น มีภาวะวิตกกังวล หงุดหงิด การครองสติทำได้ยาก ปวดศีรษะ เบื่ออาหาร คลื่นไส้ นอนไม่หลับ และฝันร้าย
ข. อาการข้างเคียงที่พบได้น้อย: เช่น ท้องผูก สมรรถภาพทางเพศถดถอย ท้องเสีย ง่วงนอน ปากแห้ง อาเจียน อ่อนเพลีย
*อนึ่งอาการข้างเคียงดังกล่าวอาจจะเกิดหรือไม่เกิดขึ้นก็ได้ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการตอบสนองของร่างกายผู้ป่วยแต่ละบุคคล
มีข้อควรระวังการใช้อะแมนตาดีนอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาอะแมนตาดีนเช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามปรับขนาดการรับประทานด้วยตนเอง
- ห้ามดื่มสุราร่วมกับการรับประทานยาอะแมนตาดีนด้วยจะทำให้เกิดอาการวิงเวียนหรือเป็นลมติดตามมา
- หลีกเลี่ยงการขับขี่ยวดยานพาหนะขณะใช้ยานี้ด้วยผลข้างเคียงบางประการเช่น ก่อให้เกิดอาการวิงเวียน
- แนะนำผู้ป่วยพาร์กินสันที่มีการใช้ยานี้ให้ระวังในการเคลื่อนที่ - เคลื่อนไหวของร่างกายเพื่อหลีกเลี่ยงอันตรายจากการสะดุดล้ม กระแทก
- ยานี้อาจทำให้เกิดรอยจุดสีม่วงแดงของผิวหนังโดยเฉพาะกับเพศหญิง หลังหยุดการใช้ยา 2 - 12 สัปดาห์จุดเหล่านี้จะค่อยๆเลือนหายไปเอง
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคลมชัก ผู้ที่มีภาวะหัวใจเต้นผิดปกติ ผู้ที่มีไข้สูง ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตต่ำหรือโรคความดันโลหิตสูงด้วยยาอะแมนตาดีนอาจทำให้อาการป่วยดังกล่าวทวีความรุนแรงมากขึ้น
- กรณีโรคพาร์กินสันหลังใช้ยานี้แล้ว 2 - 3 วัน หากอาการไม่ดีขึ้นควรต้องกลับไปปรึกษาแพทย์/ไปโรงพยาบาลอีกครั้งเพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง:
ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาอะแมนตาดีนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่ม เติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
อะแมนตาดีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาอะแมนตาดีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นเช่น
- การใช้ยาอะแมนตาดีนร่วมกับยา Bupropion, Tramadol อาจทำให้ผู้ป่วยมีความเสี่ยงการเกิดอาการลมชักได้มากขึ้น หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- การใช้ยาอะแมนตาดีนร่วมกับยา Chlorpheniramine, Atropine, Dicyclomine, Diphenhydramine, อาจทำให้มีอาการข้างเคียงต่างๆเช่น ปากแห้ง ท้องผูก ปัสสาวะขัด สับสน ตาพร่า หรือถึงขั้นประสาทหลอน หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
ควรเก็บรักษาอะแมนตาดีนอย่างไร?
ควรเก็บยาอะแมนตาดีนในอุณหภูมิห้องที่เย็น ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
อะแมนตาดีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาอะแมนตาดีนที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิตเช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Amantadine hydrochloride (อะแมนตาดีน ไฮโดรคลอไรด์) | Upsher-Smith Laboratories, Inc |
Symmetrel (ซีมเมเทรล) | Chanelle Medical |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Amantadine#Medical_uses [2015,Oct17]
- http://www.mayoclinic.org/drugs-supplements/amantadine-oral-route/precautions/drg-20061695 [2015,Oct17]
- http://www.drugs.com/cdi/amantadine.html [2015,Oct17]
- http://www.drugs.com/drug-interactions/amantadine.html [2015,Oct17]
- http://www.mims.com/THAILAND/Home/GatewaySubscription/?generic=Amantadine [2015,Oct17]
- https://www.medicines.org.uk/emc/PIL.3195.latest.pdf [2015,Oct17]
- http://www.drugs.com/dosage/amantadine.html [2015,Oct17]