อะเลมทุซูแมบ (Alemtuzumab)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาอะเลมทุซูแมบ (Alemtuzumab) เป็นยาในกลุ่มโมโนโคลนอล แอนติบอดี (Monoclonal antibody, ยากลุ่มหนึ่งในยารักษามะเร็งกลุ่ม ยารักษาตรงเป้า) ถูกผลิตจากการสังเคราะห์จากเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดบี (B-lymphocyte) เพื่อใช้สำหรับการรักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเรื้อรังชนิดบีเซลล์ลิมโฟไซต์ (B-cell chronic lynphocytic leukemia หรือ B-CLL), โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง/โรคเอมเอส (Multiple sclerosis, MS) และยานี้มีรูปแบบทางเภสัชภัณฑ์เป็นสารละลายปราศจากเชื้อสำหรับบริหาร/ให้ยาทางหลอดเลือดดำ

นอกจากนี้ ยาอะเลมทุซูแมบถือได้ว่าเป็นยาในกลุ่มยาที่ออกฤทธิ์เจาะจงต่อเซลล์มะเร็ง (Targeted Cancer Therapies หรือ Targeted therapy) ชนิดที่กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน(ภูมิคุ้มกันต้านทานโรค)ของร่างกายให้มากำจัดเซลล์มะเร็ง อย่างไรก็ตามยาอะเลมทุซูแมบ มีผลกดการทำงานของไขกระดูกอย่างชัดเจน การใช้ยานี้จึงควรต้องอยู่ภายใต้การดูแลจากแพทย์เฉพาะทางเท่านั้น ผู้ป่วยที่กำลังได้รับยานี้ควรต้องติดตามอย่างใกล้ชิดในอาการไม่พึงประสงค์(ผลข้างเคียง)ที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดการรักษาจากยานี้ด้วยตนเอง และรีบกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที หากมีอาการไม่พึงประสงค์เกิดขึ้นก่อนวันนัด เพื่อความปลอดภัย และเพื่อผลการรักษาที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ยาอะเลมทุซูแมบมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ)อย่างไร?

อะเลมทุซูแมบ

ยาอะเลมทุซูแมบ เป็นยาในกลุ่มโมโนโคลนอล แอนติบอดี (Monoclonal antibody) โดยถูกผลิตจากการสังเคราะห์ขึ้น ใช้สำหรับการรักษา

  • โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเรื้อรังชนิดบีเซลล์ลิมโฟไซต์ (B-cell chronic lynphocytic leukemia หรือ B-CLL)
  • โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็งหรือโรคเอมเอส (multiple sclerosis, MS)

ยาอะเลมทุซูแมบมีมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาอะเลมทุซูแมบเป็นยาที่ใช้สำหรับรักษามะเร็ง โดยเป็นยาในกลุ่มโมโนโคล นอล แอนติบอดี (Monoclonal antibody) ซึ่งถูกสร้างขึ้นจากกลุ่มเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดบี (B-lymphocyte) ซึ่งมีความจำเพาะสูงต่อสิ่งแปลกปลอม/สารก่อภูมิต้านทาน(Antigen)ในร่างกาย

โดยยาอะเลมทุซูแมบมีความจำเพาะสูงต่อสิ่งแปลกปลอมที่มีชื่อว่า ซีดี52 (CD52, Cluster of differentiation 52) ซึ่งเป็นสารโปรตีนแปลกปลอมที่พบได้ในร่างกายบนกลุ่มเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดบีเซลล์ และชนิดทีเซลล์(T-cell) ดังนั้นเมื่อผู้ป่วยได้รับยาอะเลมทุซูแมบแล้ว ยานี้จะเข้าสู่ร่างกายแล้วไปเกาะติดกับสิ่งแปลกปลอมที่มีชื่อว่า ซีดี52 จากนั้นจะทำให้ร่างกายส่งสัญญาณต่อไปเพื่อกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน/ระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกายให้มากำจัดสิ่งแปลกปลอมชนิดที่มีชื่อว่า ซีดี 52 นี้ซึ่งเป็นโปรตีนที่พบได้ในเซลล์ปกติและในเซลล์มะเร็งชนิด B cell หรือชนิด T cell หลังจากที่จับกันแล้ว ตัวยานี้จะกระตุ้นให้เกิดการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายให้มากำจัดเซลล์มะเร็งที่ยาอะเลมทุซูแมบไปเกาะติด อย่างจำเพาะเจาะจง ยาอะเลมทุซูแมบจึงกล่าวได้ว่า เป็นยาในกลุ่มยาที่ออกฤทธิ์เจาะจงต่อเซลล์มะเร็ง (Targeted Cancer Therapies/Targeted therapy) ชนิดที่กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันให้มากำจัดเซลล์มะเร็ง

ยาอะเลมทุซูแมบมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

รูปแบบเภสัชภัณฑ์ที่มีจำหน่ายของยาอะเลมทุซูแมบ คือ สารละลายปราศจากเชื้อสำหรับบริหาร/การให้ยาทางหลอดเลือดดำ (Intravenous solution for injection) บรรจุในภาชนะแก้ว โดยมีความแรง 10 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร ปริมาตร 3 มิลลิลิตร/ขวด

ยาอะเลมทุซูแมบมีวิธีใช้ยา/บริหารยาอย่างไร?

ยาอะเลมทุซูแมบ เป็นยาเคมีบำบัดที่มีรูปแบบยาเป็นสารละลายปราศจากเชื้อสำหรับบริหาร/ให้ยา/ใช้ยาทางหลอดเลือดดำ เป็นยาที่มีใช้เฉพาะในโรงพยาบาลเท่านั้น ดังนั้นไม่สามารถหาซื้อยาอะเลมทุซูแมบได้จากร้านยาทั่วไป ขนาดยาและวิธีการบริหารยาสำหรับเด็กและผู้ใหญ่อยู่ภายใต้การพิจารณาจากแพทย์เฉพาะทางเท่านั้น โดยขนาดยาและระยะเวลาที่จะได้รับยานั้นพิจารณาจากข้อบ่งใช้ของยาต่อโรคหรือภาวะโรคที่ต้องการรักษา ทั้งนี้การปรับขนาดยา แพทย์มีปัจจัยที่ต้องคำนึงถึง เช่น น้ำหนักตัวผู้ป่วย อายุ ค่าความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด(ปริมาณเม็ดเลือดขาว, ปริมาณเม็ดเลือดแดง และปริมาณเกล็ดเลือด ฯลฯ หรือ CBC), ค่าการทำงานของไต และค่าการทำงานของตับ ที่ได้จากการตรวจเลือด รวมถึงยาชนิดอื่นๆที่ผู้ป่วยกำลังได้รับอยู่

หากท่านกำลังได้รับยานี้อยู่ ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร อย่างเคร่งครัดที่เกี่ยวกับการปฏิบัติตนระหว่างได้รับยานี้ และควรต้องสังเกตอาการต่างๆ ซึ่งหากท่านมีอาการไม่พึงประสงค์(ผลข้างเคียง)ที่รุนแรง หรืออาการที่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันเกิดขึ้น ท่านควรต้องรีบไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนกำหนดนัด เพื่อรับการรักษาอาการไม่พึงประสงค์ดังกล่าว

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาอะเลมทุซูแมบ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้ เช่น

  • ประวัติแพ้ยา / แพ้อาหาร / แพ้สารเคมี ทุกชนิด
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะ ยาอะเลมทุซูแมบ อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อนแล้ว
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เนื่องจากยาอะเลมทุซูแมบ อาจมีผลพิษต่อทารกในครรภ์ อาจก่อให้ทารกเกิดความพิการขึ้นได้ อีกทั้งหากอยู่ในช่วงให้นมบุตร แนะนำให้หลีกเลี่ยงการให้นมบุตร เพราะยาอาจถูกขับออกทางน้ำนม จึงอาจก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์(ผลข้างเคียง)รุนแรงแก่บุตรได้

หากลืมรับไปรับยาอะเลมทุซูแมบควรทำอย่างไร?

กรณีผู้ป่วยลืมไปรับยาอะเลมทุซูแมบตามตารางการได้รับยาที่กำหนด ผู้ป่วยควรต้องรีบติดต่อสถานพยาบาลที่เข้ารับการรักษาโดยทันทีที่นึกได้ เพื่อนัดหมายเข้ารับการบริหารยานี้

ยาอะเลมทุซูแมบมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ผลไม่พึงประสงค์(ผลข้างเคียง/อาการไม่พึงประสงค์)ที่อาจพบได้ในช่วงที่ผู้ป่วยกำลังได้รับยา/บริหารยาอะเลมทุซูแมบผ่านทางหลอดเลือดดำ เรียกว่า Infusion-related reaction โดยอาการจะเกิดขึ้นช่วง 30 – 60 นาทีแรกหลังเริ่มให้ ให้ยา และมักเกิดในช่วงสัปดาห์แรกของการรักษา อาการที่เกิดขึ้น เช่น มีไข้ หนาวสั่น คลื่นไส้ อาเจียน อาการคัน หรือมีผื่นขึ้นตามผิวหนัง ปวดศีรษะ ท้องเสีย หายใจไม่อิ่ม หรือความดันตก/ความดันโลหิตต่ำ ซึ่งปกติแล้วสามารถป้องกันอาการไม่พึงประสงค์ดังกล่าวได้ โดยการให้ยาป้องกันอาการดังกล่าวก่อนการเริ่มให้ยาอะเลมทุซูแมบ เรียกว่า Premedication ด้วยาพาราเซตามอล (Paracetamol: ยาลดไข้, ยาแก้ปวด), และยาแก้แพ้ (Antihistamine)

อาการไม่พึงประสงค์ของยาอะเลมทุซูแมบที่พบได้บ่อย เช่น

  • การกดการทำงานของไขกระดูก (Bone Marrow Suppression: ส่งผลทำให้เกิดภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ, โลหิตจาง/ซีด, และเกล็ดเลือดต่ำ จึงเสี่ยงต่อการเกิดการติดเชื้อโรคทั้ง เชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย และเชื้อรา เพื่อป้องกันภาวะติดเชื้อ ผู้ป่วยที่ได้รับยาอะเลมทุซูแมบ อาจได้รับยาป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรีย และเชื้อไวรัสรับประทานในช่วงที่ไขกระดูกทำงานได้ต่ำ, ภาวะซีดทำให้รู้สึกอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย หายใจเหมือนไม่อิ่ม และอาจมีเลือดออกผิดปกติได้ง่าย หรือเมื่อมีเลือดออก เลือดจะออกได้มากกว่าปกติ)
  • อาการของระบบทางเดินอาหาร เช่น คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ท้องเสีย

*หมายเหตุ: หากท่านกำลังใช้ยาอะเลมทุซูแมบอยู่ และเกิดอาการไม่พึงประสงค์ ดังต่อไปนี้ เช่น อาเจียนอย่างหนัก, ปวดท้องอย่างรุนแรง, ท้องเสียหรือถ่ายท้องอย่างมากจนอาจทำให้เกิดภาวะขาดน้ำรุนแรง และมีภาวะสมดุลเกลือแร่ผิดปกติ (อาการที่สังเกตได้ เช่น เหนื่อย สับสน อ่อนเพลีย อ่อนแรง หัวใจเต้นเร็ว) มีอาการเจ็บหน้าอก บวมน้ำ ปวดศีรษะ มีอาการเจ็บริมฝีปาก เจ็บภายในช่องปาก, มีปัญหาภาวะเลือดออก เช่น อุจจาระมีสีดำ ปัสสาวะมีสีแดง มีจ้ำแดงๆ/ห้อเลือดตามผิวหนัง, มีสัญญาณของภาวะติดเชื้อ เช่น มีไข้ (ไข้สูงกว่า 38 องศาเซลเซียส/Celsius) หนาวสั่น ไอ เจ็บคอ หายใจติดขัด/หายใจลำบาก มีอาการปวดหรือร้อนเวลาถ่ายปัสสาวะ ปวด บวม แดง และเจ็บตามร่างกาย ควรต้องรีบไปยังโรงพยาบาลใกล้บ้านที่สะดวกทันที/ฉุกเฉิน ไม่ต้องรอถึงวันนัด

มีข้อควรระวังการใช้ยาอะเลมทุซูแมบย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาอะเลมทุซูแมบ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ป่วยที่แพ้ยานี้หรือแพ้ส่วนประกอบของยานี้ โดยเฉพาะมีประวัติการแพ้ยาที่สังเคราะห์มาจากสารภูมิต้านทาน โมโนโคลนอล แอนติบอดี(Monoclonal antibody)มาก่อน
  • ยานี้อาจทำให้เกิดอันตรายร้ายแรงได้ จึงต้องใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์ เฉพาะทางเท่านั้น
  • ยาอะเลมทุซูแมบเป็นยาที่มีผลต่อภูมิคุ้มกัน/ภูมิต้านทานร่างกาย ดังนั้นเพื่อป้องกันภาวการณ์ติดเชื้อทั้งจากเชื้อแบคทีเรียและจากเชื้อไวรัส ผู้ป่วยควรรับประทานยาป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียและไวรัสที่ได้รับจากแพทย์ระหว่างการรับยาอะเลมทุซูแมบอย่างเคร่งครัด
  • การได้รับวัคซีนต่างๆในช่วงที่กำลังได้รับยาอะเลมทุซูแมบถือเป็นข้อห้าม เนื่องจาก วัคซีนที่ได้รับอาจมีผลกระทบต่อภูมิคุ้มกันร่างกาย อาจเพิ่มโอกาสเกิดภาวะติดเชื้อได้ง่าย
  • การใช้ยาอะเลมทุซูแมบในเด็ก: ยังไม่ได้รับการรับรองให้ใช้ยานี้ได้ในเด็ก/ผู้ที่อายุต่ำกว่า 18 ปี
  • การใช้ยาอะเลมทุซูแมบในผู้สูงอายุ: ยังไม่มีข้อมูลการปรับขนาดยาอะเลมทุซูแมบในผู้ป่วยสูงอายุ ดังนั้นจึงให้แพทย์พิจารณาขนาดยาตามขนาดยาของผู้ป่วยผู้ใหญ่
  • ระมัดระวังการใช้ยาอะเลมทุซูแมบในผู้ป่วยที่มีการทำงานของตับ และ/หรือของไตบกพร่อง เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีการศึกษาวิธีการปรับขนาดยา หรือขนาดยาที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยที่มีการทำงานของตับหรือของไตบกพร่องที่กำลังใช้ยาอะเลมทุซูแมบอยู่
  • ยาอะเลมทุซูแมบมีผลพิษ(ผลข้างเคียง)ต่อระบบเลือด ส่งผลทำให้เกิดปริมาณเม็ดเลือดขาวต่ำ (Neutropenia) หรือเกล็ดเลือดต่ำ (Thrombocytopenia) ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดภาวะติดเชื้อทั้งเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส และ/หรือเชื้อรา แพทย์จึงอาจพิจารณาเลื่อนตารางเวลาการให้ยานี้ของผู้ป่วยออกไป โดยพิจารณาตามความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด(CBC) และสภาวะ/สุขภาพและอาการทางคลินิกของผู้ป่วย
  • การใช้ยาอะเลมทุซูแมบในช่วงกำลังตั้งครรภ์ควรหลีกเลี่ยง เนื่องจาก ยานี้มีผลพิษต่อทารกในครรภ์ อาจก่อให้ทารกเกิดความพิการขึ้นได้ และหากอยู่ในช่วงให้นมบุตร ควรหลีกเลี่ยงการให้นมบุตร เพราะยานี้ถูกขับออกทางน้ำนม จึงอาจก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์รุนแรงแก่บุตรได้ หรืออาจหยุดการใช้ยานี้ในช่วงที่กำลังตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความจำเป็นของมารดาต่อภาวะโรคที่กำลังเป็นอยู่ โดยการใช้ยานี้ควรต้องอยู่ภายใต้ดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น

ยาอะเลมทุซูแมบมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาอะเลมทุซูแมบมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

1. หลีกเลี่ยงการใช้ยาอะเลมทุซูแมบ คู่กับวัคซีนชนิดที่ยังมีชีวิต (Live vaccine หมายถึง วัคซีนเชื้อเป็นที่ถูกผลิตขึ้นโดยใช้เชื้อโรคมาทำให้อ่อนฤทธิ์ลงจนไม่สามารถทำให้เกิดโรค แต่เชื้อยังมีฤทธิ์เพียงพอที่จะกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกายได้ เพื่อให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อโรคนั้นๆ เช่น วัคซีน หัด-หัดเยอรมัน-คางทูม(วัคซีน MMR) วัคซีนอีสุกอีใส วัคซีนโปลิโอชนิดกิน วัคซีนไวรัสโรตา และวัคซีนไข้หวัดใหญ่ชนิดพ่นจมูก เป็นต้น) แก่ผู้ป่วยที่กำลังใช้ยานี้อยู่ เนื่องจากผู้ป่วยมีภูมิคุ้มกันต่ำ การฉีดวัคซีนดังกล่าว จึงอาจได้ผลการกระตุ้นภูมิคุ้มกันน้อยลง และอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดการติดเชื้อจากวัคซีนชนิดเชื้อเป็นเหล่านั้นได้

2. หลีกเลี่ยงการใช้ยาอะเลมทุซูแมบ คู่กับยาที่มีผลกดภูมิคุ้มกันของร่างกายชนิดอื่นๆ เนื่องจากอาจมีผลกดภูมิคุ้มกันมากเกินไป จนอาจเกิดอันตรายแก่ผู้ป่วยได้ เช่น ยาเคมีบำบัดตัวอื่นๆ, ยาในกลุ่มโมโนโครนอล แอนติบอดีอื่นๆ, และ ยาดีเฟอริโพน (Deferiprone: ยารักษาภาวะธาตุเหล็กในร่างกายเกิน)

3. เพื่อความปลอดภัย และประสิทธิภาพในการรักษา กรณีผู้ป่วยกำลังได้รับยานี้อยู่ ควรปรึกษาเภสัชกรเพื่อตรวจสอบรายการยาทั้งหมดที่ผู้ป่วยกำลังได้รับ เพื่อลดโอกาสเกิดปฏิกิริยาระหว่างยานี้กับยาชนิดอื่นๆ

ควรเก็บรักษายาอะเลมทุซูแมบอย่างไร?

แนะนำเก็บยาอะเลมทุซูแมบ ในบรรจุภัณฑ์เดิม เก็บรักษายาในตู้เย็นช่องปกติ (อุณหภูมิ 2 - 8 องศาเซลเซียส/Celsius) เก็บยาให้พ้นจากแสงสว่าง/แสงแดด ห้ามแช่ยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น ระวังวิธีการขนส่งยา ต้องขนส่งด้วยความระมัดระวัง ห้ามเขย่ายาฉีดดังกล่าว เนื่องจากอาจทำให้ยาอะเลมทุซูแมบเกิดการเสียสภาพตัวยา

ภายหลังการเจือจางยาฉีดอะเลมทุซูแมบ เพื่อบริหารยาแก่ผู้ป่วย ยาที่เจือจางแล้ว จะคงสภาพได้ 8 ชั่วโมงที่อุณหภูมิห้อง หากยาฉีดที่เจือจางแล้วมีระยะเวลาเกิน 8 ชั่วโมง ควรทิ้งยาดังกล่าวไป

ยาอะเลมทุซูแมบมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาอะเลมทุซูแมบที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
CampathBayer
LemtradaGenzyme Corporation

อนึ่ง ยาชื่อการค้าของยานี้ในต่างประเทศ เช่น Mabcampath

บรรณานุกรม

  1. Lacy CF. Amstrong LL, Goldman MP, Lance LL. Drug Information handbook. 20th ed. Ohio: Lexi-Comp,Inc.; 2011-12.
  2. Micromedex Healthcare Series, Thomson Micromedex, Greenwood Village, Colorado
  3. OncoLink Team. Alemtuzumab (Campath). https://www.oncolink.org/cancer-treatment/chemotherapy/oncolink-rx/alemtuzumab-campath-r [2016,Oct29]
  4. Chemocare. Campath. http://chemocare.com/chemotherapy/drug-info/campath.aspx [2016,Oct29]
  5. สาขารังสีรักษาและมะเร็งวิทยา ฝ่ายรังสีวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์. การให้ยาเจาะจงเซลล์มะเร็ง (Targeted Cancer Therapies). http://www.chulacancer.net/faq-list-page.php?id=336#target1 [2016,Oct29]