อะลูมิเนียม ไฮดรอกไซด์ (Aluminium Hydroxide)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 6 มิถุนายน 2557
- Tweet
- บทนำ
- ยาอะลูมิเนียม ไฮดรอกไซด์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- ยาอะลูมิเนียม ไฮดรอกไซด์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ยาอะลูมิเนียม ไฮดรอกไซด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ยาอะลูมิเนียม ไฮดรอกไซด์มีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ยาอะลูมิเนียม ไฮดรอกไซด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ยาอะลูมิเนียม ไฮดรอกไซด์อย่างไร?
- ยาอะลูมิเนียม ไฮดรอกไซด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษายาอะลูมิเนียม ไฮดรอกไซด์อย่างไร?
- ยาอะลูมิเนียม ไฮดรอกไซด์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- โรคแผลเปบติค (Peptic ulcer) / โรคแผลในกระเพาะอาหาร (Gastric ulcer)
- มีแก๊สในท้อง แน่นอึดอัด ท้องอืด ท้องเฟ้อ เรอ ผายลม (Gas,Bloating,Belching,and Flatulence)
- อาหารไม่ย่อย ธาตุพิการ (Indigestion)
- กรดไหลย้อน (Gastroesophageal reflux disease)
บทนำ
อะลูมิเนียม ไฮดรอกไซด์ (Aluminium hydroxide) ถูกนำมาใช้เป็นยาลดกรดในกระ เพาะอาหาร อีกทั้งยังใช้รักษาโรคกรดไหลย้อน รวมถึงภาวะอาหารไม่ย่อย โดยหากใช้เป็นยาเดี่ยว สามารถก่อให้เกิดอาการท้องผูก ในทางเภสัชกรรมจึงมักจะผสมยาลดกรดอีก 1 ตัวลงไป รวมกัน เช่น แมกนีเซียม ไฮดรอกไซด์ (Magnesium hydroxide) หรือ แมกนีเซียม คาร์บอเนต(Magnesium carbonate) ซึ่งแมกนีเซียม ไฮดรอกไซด์จะกระตุ้นให้รู้สึกอยากระบายและช่วยลดผลข้างเคียงเรื่องท้องผูกลงไป
รูปแบบของการจัดจำหน่ายยาอะลูมิเนียม ไฮดรอกไซด์ ในท้องตลาดยาบ้านเรา สามารถพบได้ทั้งในลักษณะยาเม็ดและยาน้ำแขวนตะกอน
ปกติยาอะลูมิเนียม ไฮดรอกไซด์ไม่ละลายน้ำ และไม่ถูกดูดซึมทางลำไส้ แต่เมื่อทำปฏิกิ ริยากับกรดไฮโดรคลอริก (Hydrochloric acid: HCl) ในกระเพาะอาหารจะได้สารประกอบ คือ อะลูมิเนียมคลอไรด์ (Aluminium chloride) ซึ่งสามารถละลายน้ำ และดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ และจะถูกขับออกทางปัสสาวะ ขณะที่อะลูมิเนียม ไฮดรอกไซด์ที่มิได้ทำปฏิกิริยากับกรดในกระ เพาะอาหาร จะถูกขับออกทางลำไส้ผ่านมากับอุจจาระ อย่างไรก็ตาม ก่อนการใช้ยาควรต้องขอคำแนะนำจากแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้ง
อนึ่ง ในบทความนี้จะขอกล่าวแต่เฉพาะยาอะลูมิเนียม ไฮดรอกไซด์ชนิดเม็ดเท่านั้น
ยาอะลูมิเนียม ไฮดรอกไซด์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
อะลูมิเนียม ไฮดรอกไซด์มีสรรพคุณ คือ
- เป็นยาลดกรด ช่วยรักษาแผลในกระเพาะอาหาร
- รักษาภาวะ/โรคกรดไหลย้อน
ยาอะลูมิเนียม ไฮดรอกไซด์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของอะลูมิเนียม ไฮดรอกไซด์ คือยาจะเข้าไปทำปฏิกิริยากับกรดไฮ โดรคลอริกในกระเพาะอาหาร จนกระทั่งมีฤทธิ์เป็นกลาง ทำให้ลดอาการระคายเคืองของแผลในกระเพาะอาหารต่อกรดลงไปได้
ยาอะลูมิเนียม ไฮดรอกไซด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
สูตรตำรับส่วนมาก อะลูมิเนียม ไฮดรอกไซด์จะมีการผสมยาลดกรดตัวอื่นเข้าไปด้วย และจัดจำหน่ายทั้งในรูปแบบของยาเม็ดและยาน้ำแขวนตะกอน
สำหรับยาเม็ด มีขนาดความแรง 120, 200, 230, 250, 300, 325, และ 400 มิลลิกรัม โดยขึ้นกับแต่ละสูตรตำรับของแต่ละบริษัทที่นำไปขึ้นทะเบียนกับคณะกรรมการอาหารและยา
ยาอะลูมิเนียม ไฮดรอกไซด์มีขนาดรับประทานอย่างไร?
ขนาดรับประทานของยาอะลูมิเนียม ไฮดรอกไซด์ คือ
ก. ผู้ใหญ่:
- รักษาแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ และกรดไหลย้อน รับประทาน 500-1,500 มิลลิ กรัม วันละ 4 – 6 ครั้ง โดยขนาดสูงสุดของการรับประทานไม่เกิน 10 กรัมต่อวัน และระยะเวลาในการรับประทานโดยปกติไม่ควรเกิน 2 สัปดาห์ต่อเนื่อง หรือรับประทานตามคำสั่งแพทย์
ข. เด็ก: ขนาดรับประทานขึ้นกับคำแนะนำจากแพทย์เท่านั้น
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาอะลูมิเนียม ไฮดรอกไซด์ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยาอะไรอยู่ เพราะยาอะลูมิเนียม ไฮดรอกไซด์อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาอะลูมิเนียม ไฮดรอกไซด์ สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
ยาอะลูมิเนียม ไฮดรอกไซด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาอะลูมิเนียม ไฮดรอกไซด์สามารถก่อผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง) ได้ ซึ่งที่พบ บ่อย คือ ท้องผูก เบื่ออาหาร นอกจากนี้ อาจพบอาการรู้สึกสับสน เหนื่อย อ่อนเพลีย และ ลำ ไส้อุดตันหากรับประทานเป็นปริมาณมาก
ถ้าใช้ยาอะลูมิเนียม ไฮดรอกไซด์เป็นระยะเวลานานๆ ต้องระวังร่างการขาดฟอสเฟต (Hypophosphatemia: อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ปวดกระดูก อาจชัก และกล้ามเนื้ออ่อนแรง) หากพบอาการข้างเคียงดังกล่าว ควรไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเพื่อขอคำปรึกษาหรือขอเปลี่ยนยา
มีข้อควรระวังการใช้ยาอะลูมิเนียม ไฮดรอกไซด์อย่างไร?
ข้อควรระวังในการใช้ยาอะลูมิเนียม ไฮดรอกไซด์ คือ
- ห้ามใช้ยากับผู้ที่เคยแพ้ยาอะลูมิเนียม ไฮดรอกไซด์
- ระวังการใช้ยาอะลูมิเนียม ไฮดรอกไซด์กับผู้ป่วยด้วยโรคไตเรื้อรัง โรคหัวใจล้มเหลว ผู้ที่มีอาการบวมน้ำ ผู้ที่ต้องควบคุมอาหารรสเค็ม และผู้ที่มีภาวะเลือดออกในเดินอาหาร
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
***** อนึ่ง
ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมถึงยาอะลูมิเนียม ไฮดรอกไซด์ด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้น ฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ยาอะลูมิเนียม ไฮดรอกไซด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาอะลูมิเนียม ไฮดรอกไซด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นๆ ดังนี้
การใช้ยาอะลูมิเนียม ไฮดรอกไซด์ร่วมกับยาต่อไปนี้ สามารถส่งผลลดการดูดซึมของยานั้นๆ เช่น Allopurinol, Tetracyclines, Quinolones, Cephalosporin, Corticosteroids, Cyclo sporin, Isoniazid, Penicillamine, Phenytoin, Trientine, ยาต้านเชื้อรากลุ่ม Imidazole, เกลือ ของธาตุเหล็ก, อาหารเสริมที่มีเกลือแร่ฟอตเฟส (Phosphate) การลดการดูดซึมดังกล่าวสามารถลดประสิทธิภาพของการรักษาของยากลุ่มเหล่านี้ หากมีความจำเป็นต้องรับประทานยาเหล่านี้ร่วมกัน แพทย์/เภสัชกรควรต้องแนะนำให้ผู้ป่วยรับประทานยาต่างเวลากัน โดยรับประทานยาเหล่านี้ก่อนยาอะลูมิเนียม ไฮดรอกไซด์ประมาณ 1 ชั่วโมง หรือรับประทานหลังยาอะลูมิเนียม ไฮดรอกไซด์เป็นเวลาประมาณ 2 ชั่วโมง
ควรเก็บรักษายาอะลูมิเนียม ไฮดรอกไซด์อย่างไร?
สามารถเก็บยาอะลูมิเนียม ไฮดรอกไซด์ที่อุณหภูมิห้อง บรรจุในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดดและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
ยาอะลูมิเนียม ไฮดรอกไซด์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไร?
ยาอะลูมิเนียม ไฮดรอกไซด์ในประเทศไทยมีชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
A.N.H. Mat (เอ.เอ็น.เฮท. แมท) | A N H Products |
Abella (อะเบลลา) | V S Pharma |
Admag-M (แอดแมก-เอ็ม) | T.O. Chemicals |
Almag (อัลแมก) | B L Hua |
Alumag (อะลูแมก) | T.C. Pharma-Chem |
Alupro (อะลูโปร) | Medicine Products |
Amacone (แอมอะคอน) | B L Hua |
Amco (แอมโค) | Polipharm |
Amogin OTC (อะโมจิน โอทีซี) | Millimed |
Antacia (แอนตาเซีย) | The Forty-Two |
Asialum (เอเซียลัม) | Asian Pharm |
Caryopin (คารีโอปิน) | Chinta |
Conmag (คอนแมก) | Pharmasant Lab |
Defomag (เดโฟแมก) | Pharmasant Lab |
Digestin (ไดเจสติน) | Chew Brothers |
Dimedon (ไดเมดอน) | Acdhon |
Gacida (กาซิดา) | sanofi-aventis |
Kenya Gel (เคนยา เจล) | Kenyaku |
L-Dacin (แอล-ดาซิน) | Utopian |
Maalox Tablet (มาลอก แทบเลท) | sanofi-aventis |
Machto (แมชโต) | Nakornpatana |
Mag 77 (แมก 77) | Osotspa |
Magnesium Trisillcate Compound Medicpharma (แมกนีเซียม ไตรซิลลิเคท คอมพาวด์ เมดิกฟาร์มา) | Medicpharma |
New Gel -D (นิว เจล-ดี) | New York Chemical |
Sinlumag (ซินลูแมก) | SSP Laboratories |
Solumag-D (โซลูแมก-ดี) | Chew Brothers |
Venium (เวเนียม) | L. B. S. |
Voragas (โวราแก๊ส) | V S Pharma |
บรรณานุกรม
1. http://en.wikipedia.org/wiki/Aluminium_hydroxide#Production [2014] May15].
2. http://www.mims.com/USA/drug/info/aluminium%20hydroxide/?type=full&mtype=generic#Dosage [2014,May15].
3. http://www.nlm.nih.gov/medlineplus/druginfo/meds/a699048.html#side-effects [2014,May15].
4. https://www.mims.com/THAILAND/Home/GatewaySubscription/?generic=aluminium+hydroxide [2014,May15].
5. http://www.patient.co.uk/doctor/Hypophosphataemia.htm [2014,May15].