อะลิเตรทติโนอิน (Alitretinoin)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 10 มีนาคม 2560
- Tweet
- บทนำ
- อะลิเตรทติโนอินมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- อะลิเตรทติโนอินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- อะลิเตรทติโนอินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- อะลิเตรทติโนอินมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานหรือทายาควรทำอย่างไร?
- อะลิเตรทติโนอินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้อะลิเตรทติโนอินอย่างไร?
- อะลิเตรทติโนอินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาอะลิเตรทติโนอินอย่างไร?
- อะลิเตรทติโนอินมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- เรตินอยด์ (Retinoid)
- Tretinoin
- ผื่นผิวหนังอักเสบ (Eczema)
- มะเร็งคาโปซิ คาโปซิซาร์โคมา (Kaposi’s sarcoma)
- เตตราไซคลีน (Tetracycline)
บทนำ
ยาอะลิเตรทติโนอิน(Alitretinoin หรือ 9-cis-retinoic acid) เป็นยาในกลุ่มเรตินอยด์รุ่นที่ 1(First generation retinoids) และเป็นสารไอโซเมอร์ (Isomer,มีโมเลกุลคล้ายกัน)กับยาTretinoin ยาอะลิเตรทติโนอินมีสูตรเคมีคือ C20H28O2 ถูกนำมาใช้ทางคลินิก ในฐานะยาต้านมะเร็ง(Antineoplastic)ของเนื้อเยื่อต่างๆ อย่างเช่น มะเร็งคาโปซิ (Kaposi’s sarcoma) รวมถึงผื่นผิวหนังอักเสบที่มือชนิดเรื้อรัง (Hand eczema) เราอาจพบเห็นการใช้ตัวยาอะลิเตรทติโนอินในต่างประเทศเสียส่วนมาก โดยมีเภสัชภัณฑ์เป็นลักษณะของ ยาเจลทาผิว และยาชนิดรับประทาน แพทย์จะเลือกใช้ยาอะลิเตรทติโนอินหลังจากการใช้ยาสเตียรอยด์แล้วไม่ได้ผล
กลไกการบำบัดโรคผิวหนังของยาอะลิเตรทติโนอินนั้นไม่ใช่เป็นการรักษาสาเหตุโรค แต่ตัวยานี้จะช่วยปรับการผลัดเซลล์ของผิวหนัง (Skin cell turnover) ซึ่งภายใน ไม่กี่สัปดาห์อาการทางผิวหนังจะดีขึ้น ระยะเวลาของการใช้ยานี้อาจยาวนานถึง 6 เดือนก็เป็นไปได้ โดยขึ้นกับการตอบสนองต่อยาของโรคและดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา
ยาอะลิเตรทติโนอินไม่เหมาะที่จะใช้กับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ ด้วยยานี้สามารถก่อให้เกิดอันตรายกับทารกในครรภ์ เพื่อความปลอดภัยของมารดาและของทารกฯแพทย์จะแนะนำให้หยุดการใช้ยานี้เป็นเวลาอย่างน้อย 5 สัปดาห์ขึ้นไป จึงจะอยู่ในระยะปลอดภัยต่อการที่จะเริ่มตั้งครรภ์
สำหรับอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)ของยาอะลิเตรทติโนอินที่พบเห็นได้บ่อย คือ ทำให้ ผิวหนังแห้ง และรวมถึง ริมฝีปาก-จมูกแห้ง และตาแห้งด้วย ผู้ป่วยบางรายอาจพบภาวะเลือดกำเดาออกบ่อยขณะที่ใช้ยาอะลิเตรทติโนอิน ระหว่างใช้ยานี้ แพทย์ จึงมักแนะนำให้ใช้โลชั่นช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิวหนังมาบำบัดภาวะผิวหนังแห้ง และต้องหลีกเลี่ยงการทำร้าย/การก่อการระคายเคืองต่อผิวหนัง เช่น การขัดผิว การบำบัดผิวหนังด้วยเลเซอร์ การออกแดด หรือแม้แต่การโกนหนวดก็ต้องเพิ่มความระวังอย่างมาก อาการข้างเคียงอื่นที่อาจพบเห็นได้อีก เช่น ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน และมีอาการตาพร่า
ระหว่างการใช้ยาอะลิเตรทติโนอิน ผู้ป่วยควรได้รับการตรวจเลือดตามที่แพทย์สั่ง ทั้งนี้เพราะตัวยาอะลิเตรทติโนอินสามารถกระตุ้นให้เกิดภาวะ/โรคไขมันในเลือดสูง การทำงานของต่อมไทรอยด์ผิดปกติ ทำให้เอนไซม์การทำงานของตับในเลือด เพิ่มสูงขึ้น การทำงานของกล้ามเนื้อและกระดูกผิดปกติ เกิดความดันโลหิตสูง ผลกระทบ/ผลข้างเคียงของยานี้ ยังมีต่อเนื่องไปถึง ภาวะทางอารมณ์และจิตใจของผู้ที่ใช้ยานี้จนอาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรม ซึ่งหากพบอาการข้างเคียงดังกล่าวผู้ป่วยควรรีบปรึกษาแพทย์/ไปโรงพยาบาล เพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
กรณีผู้ป่วยมีการใช้ยาอื่นๆอยู่ก่อนแล้ว ควรแจ้งแพทย์เพื่อป้องกันภาวะยาตีกัน (ปฏิกิริยาระหว่างยา)ด้วยมียาบางประเภทห้ามใช้ร่วมกับยาอะลิเตรทติโนอิน อาทิเช่น ยาปฏิชีวนะกลุ่มเตตราไซคลีน (Tetracycline) ยาเมโธเทรกเซท (Methotrexate) ยาหรืออาหารเสริมวิตามิน เอ ด้วยกลุ่มยาเหล่านี้สามารถทำให้ผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียงของการใช้ยาร่วมกันมากยิ่งขึ้น
จะเห็นได้ว่ายาอะลิเตรทติโนอิน สามารถก่อให้เกิดอันตรายกับผู้ใช้ได้อย่างมากมายหากใช้ไม่ถูกต้อง ดังนั้นผู้ป่วยจะต้องใช้ยานี้ตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัดและไม่ปรับขนาดรับประทาน-ขนาดการทายารวมถึงห้ามซื้อยานี้มาใช้โดยมิได้ขอคำปรึกษาจากแพทย์โดยเด็ดขาด
อะลิเตรทติโนอินมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาอะลิเตรทติโนอินมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น
- บำบัดอาการผื่นผิวหนังอักเสบที่มือ หรือที่เรียกว่า Chronic Hand eczema
- บำบัดอาการมะเร็งคาโปซิ (Kaposi’s sarcoma)
อะลิเตรทติโนอินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาอะลิเตรทติโนอินคือ ตัวยาจะกระตุ้นตัวรับ(receptor)ภายในเซลล์ของรอยโรคที่ถูกเรียกว่า Retinoid receptor ซึ่งจะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงปัจจัยในสารพันธุกรรมที่มีหน้าที่ควบคุมการผลิตเซลล์ฯและการผลัดเซลล์ผิวหนัง/เซลล์รอยโรคให้กลับมาเป็นปกติ จากกลไกนี้ จึงส่งผลให้อาการของผู้ป่วยดีขึ้นเป็นลำดับ
อะลิเตรทติโนอินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาอะลิเตรทติโนอินมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ยารับประทานชนิดแคปซูลนิ่มที่ประกอบด้วย ยา Alitretinoin 10 และ 30 มิลลิกรัม/แคปซูล
- ยาประเภทเจลทาผิวภายนอกที่ประกอบด้วย ยา Alitretinoin เข้มข้น 1%
อะลิเตรทติโนอินมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาอะลิเตรทติโนอิน มีขนาดรับประทาน/การใช้ยา เช่น
ก.สำหรับ Chronic Hand eczema:
- ผู้ใหญ่: เริ่มต้นรับประทานยา 30 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง โดยรับประทานพร้อมอาหาร แพทย์อาจลดขนาดรับประทานลงมาเป็น 10 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง โดยขึ้นกับการตอบสนองต่อยาของผู้ป่วยและ/หรือดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา
ข. สำหรับ Kaposi’s sarcoma:
- ผู้ใหญ่: ทายาเจลบริเวณแผลของมะเร็งคาโปซิ วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น แพทย์อาจเพิ่มขนาดการทายาเป็นวันละ 3-4 ครั้ง ตามการตอบสนองของผู้ป่วยต่อยานี้และดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา
อนึ่ง:
- ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์
- ขนาดรับประทาน 30 มิลลิกรัม/วัน สามารถเร่งประสิทธิภาพการรักษาให้เร็วขึ้นก็จริง แต่แพทย์ต้องพิจารณาถึงผลข้างเคียงประกอบกัน การใช้ยาขนาด 10 มิลลิกรัม/วัน อาจให้ผลการรักษาที่ช้ากว่า แต่สามารถทำให้ผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียงน้อยลง การใช้ยาขนาดใดที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาและใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์เท่านั้น
- เด็ก: ยังไม่มีข้อมูลที่แน่ชัดถึงผลข้างเคียงและความปลอดภัยในการใช้ยานี้ในเด็ก การใช้ยานี้ในเด็ก จึงต้องอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาอะลิเตรทติโนอิน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคเอดส์ โรคหัวใจ โรคตับ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยา หรืออาหารเสริมอะไรอยู่ เพราะยาอะลิเตรทติโนอินอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆ และ/หรือกับอาหารเสริม ที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานหรือทายาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาอะลิเตรทติโนอิน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า
กรณีลืมใช้ยาอะลิเตรทติโนอินชนิดทาผิว ให้ทายาทันทีที่นึกขึ้นได้ หากเวลาใกล้เคียงกับการทายาในครั้งถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดการทายาเป็น 2 เท่า
เพื่อประสิทธิผลของการรักษา ควรรับประทานยา/ใช้ยาอะลิเตรทติโนอิน ตรงเวลา และห้ามปรับขนาดการรับประทาน/การใช้ยาด้วยตนเอง
อะลิเตรทติโนอินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาอะลิเตรทติโนอินสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ท้องเสีย
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น ปวดศีรษะ ความดันในกะโหลกศีรษะสูง
- ผลต่อตับ: เช่น เอนไซม์การทำงานของตับในเลือดสูงขึ้น
- ผลต่อผิวหนัง: เช่น ปาก/คอแห้ง ผิวหนังแห้ง เกิดผื่นคัน
- ผลต่อต่อมไทรอยด์: เช่น การผลิตไทรอยด์ฮอร์โมนน้อยลง
- ผลต่อระบบเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น ไขมันคอเลสเตอรอล และไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง
- ผลต่อกล้ามเนื้อและกระดูก: เช่น ปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อ
- ผลต่อตา: เช่น ตาแห้ง ตาพร่า
- ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น ซึม วิตกกังวล ก้าวร้าว
* อนึ่งกรณีรับประทานยานี้เกินขนาด จะก่อให้เกิดพิษต่อร่างกายที่เรียกว่า Retinoid toxicity โดยมีอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรง ท้องเสีย หน้าแดง ไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง หากพบอาการผิดปกติเหล่านี้ ต้องรีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยทันที/ฉุกเฉิน
มีข้อควรระวังการใช้อะลิเตรทติโนอินอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาอะลิเตรทติโนอิน เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยานี้กับหญิงมีครรภ์ หญิงที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็ก
- ห้ามปรับขนาดการใช้ยานี้ หรือใช้ยานี้นานเกินจากคำสั่งแพทย์
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่อยู่ในภาวะผิวแห้งไหม้จากแสงแดด
- ระวังการใช้ยานี้ชนิดทาภายนอก ร่วมกับสบู่ หรือสารที่มีฤทธิ์ในการกัดผิวหนัง เช่น กรดมะนาว แอลกอฮอล์
- ระหว่างการใช้ยานี้ให้เลี่ยงการโดนแสงแดดหรืออากาศเย็นจัด
- การใช้ยานี้ชนิดรับประทาน ควรต้องเฝ้าระวังความเสียหายต่อตับ/ ตับอักเสบ
- ปฏิบัติตามคำสั่ง แพทย์ พยาบาล เภสัชกร อย่างเคร่งครัด และมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดทุกครั้ง
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาอะลิเตรทติโนอินด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพร ต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
อะลิเตรทติโนอินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาอะลิเตรทติโนอินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- หลีกเลี่ยงการรับประทานยาอะลิเตรทติโนอินร่วมกับยา Ketoconazole ด้วยจะทำให้ระดับยาอะลิเตรทติโนอินในกระแสเลือดเพิ่มสูงจนก่อให้เกิดอาการข้างเคียงต่างๆจากยาอะลิเตรทติโนอินตามมา
- หลีกเลี่ยงการรับประทานยาอะลิเตรทติโนอินร่วมกับยา Simvastatin ด้วยจะทำให้ระดับยา Simvastatin ในกระแสเลือดลดต่ำจนทำให้ประสิทธิภาพการลดไขมันของยา Simvastatin ด้อยตามลงไป
- หลีกเลี่ยงการทายาอะลิเตรทติโนอินร่วมกับยาทาผิวหนังที่ประกอบด้วยกรด ซาลิไซลิก (Salicylic acid) หรือยาทาเฉพาะที่กลุ่มกำมะถัน(Sulfur topical) ด้วยจะทำให้มีอาการระคายเคืองต่อผิวหนังมากยิ่งขึ้น
- หลีกเลี่ยงการทายาอะลิเตรทติโนอินร่วมกับยา Methyl aminolevulinate(ยากระตุ้นให้ผิวหนังไวต่อแสงแดด) ด้วยผิวหนังที่ทายาจะมีอาการผิวไวต่อแสงแดดมากยิ่งขึ้น จนอาจมีอาการ บวม แดง แสบ ระคายเคืองตามมา
ควรเก็บรักษาอะลิเตรทติโนอินอย่างไร
ควรเก็บยายาอะลิเตรทติโนอินชนิดรับประทานภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส (Celsius) เก็บยานี้ประเภทเจลในช่วงอุณหภูมิ 15 – 30 องศาเซลเซียส ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
อะลิเตรทติโนอินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาอะลิเตรทติโนอิน ที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Panretin (แพนเรติน) | Ligand Pharmaceuticals Incorporated |
TOCTINO (ท็อกทิโน) | SwissCaps GmbH |
บรรณานุกรม
- http://www.bad.org.uk/shared/get-file.ashx?id=3659&itemtype=document [2017,Feb18]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Alitretinoin [2017,Feb18]
- http://www.toctino.com/assets/pdf/Israel/Toctino_Prescribing_Information.pdf [2017,Feb18]
- https://www.drugbank.ca/drugs/DB00523 [2017,Feb18]
- http://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/1999/20886lbl.pdf [2017,Feb18]
- https://www.drugs.com/dosage/alitretinoin-topical.html [2017,Feb18]