อะมิโอดาโรน (Amiodarone)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาอะมิโอดาโรน (Amiodarone) เป็นยารักษาหัวใจเต้นผิดจังหวะ ซึ่งมีทั้งหัวใจห้องบนเต้นผิดจังหวะและหัวใจห้องล่างเต้นผิดจังหวะ ยานี้ถูกค้นพบในปี ค.ศ. 1961 (พ.ศ. 2504) ประเทศแถบยุโรปจะใช้ยานี้ในการรักษาโรคหัวใจขาดเลือด (Angina pectoris) ด้วย

จากการศึกษาคุณสมบัติด้านเภสัชจลนศาสตร์ (Pharmacokinetic, การศึกษาถึงความเป็นไปของยาเมื่อยาเข้าสู่ร่างกาย) พบว่า ยาอะมิโอดาโรนถูกดูดซึมจากทางเดินอาหารได้ 20 - 55% และจับกับพลาสมาโปรตีนได้ถึงประมาณ 96% จากนั้นจะถูกส่งไปที่ตับเพื่อเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมี ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 50 วันในการกำจัดยาออกจากกระแสเลือด 50% โดยผ่านไปกับอุจจาระและปัสสาวะ การกำจัดยาออกจากร่างกายต้องใช้เวลานานมาก อาจมีสาเหตุจากยาอะมิโอดาโรนละลายได้ดีในไขมัน และสามารถกระจายเข้าสู่เนื้อเยื่อในส่วนต่างๆของร่างกายรวมถึงเซลล์กล้ามเนื้อลายอีกด้วย

ยาอะมิโอดาโรนนี้ได้ถูกบรรจุลงในบัญชียาหลักแห่งชาติแผนปัจจุบันของไทย และจัดอยู่ในหมวดยาอันตราย การใช้ยานี้ต้องมีข้อบ่งใช้ที่ถูกต้อง ชัดเจน ทั้งต้องคำนึงถึงประสิทธิภาพในการรักษาคนไข้ ดังนั้นการใช้ยานี้ต้องอยู่ภายใต้คำสั่งแพทย์เท่านั้น

ยาอะมิโอดาโรนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

อะมิโอดาโรน

ยาอะมิโอดาโรนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • รักษาภาวะหัวใจห้องล่างเต้นผิดจังหวะ (Ventricular arrhythmias)
  • รักษาภาวะหัวใจห้องล่างเต้นผิดจังหวะชนิด Life - threatening ventricular arrhythmias

(แนะนำอ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ‘หัวใจ กายวิภาคหัวใจ’)

ยาอะมิโอดาโรนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาอะมิโอดาโรนคือ ตัวยาจะออกฤทธิ์ยับยั้งการกระตุ้นและเพิ่มระยะ เวลาการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจ อีกทั้งยังไปลดกระบวนการของ Sinus node (Sinuatrial node /SA node, เนื้อเยื่อที่ก่อให้เกิดกระแสประสาทที่กระตุ้นการเต้นของหัวใจ) เป็นเหตุให้หัวใจเต้นช้าลง ด้วยกลไกที่ซับซ้อนเหล่านี้ จึงทำให้เกิดฤทธิ์/สรรพคุณในการรักษา

ยาอะมิโอดาโรนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาอะมิโอดาโรนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาเม็ด ขนาด 200 มิลลิกรัม/เม็ด
  • ยาฉีด ขนาด 150 มิลลิกรัมในปริมาณสารละลาย 3 มิลลิลิตร

ยาอะมิโอดาโรนมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาอะมิโอดาโรนมีขนาดรับประทาน เช่น

ก. สำหรับหัวใจห้องล่างเต้นผิดจังหวะ (Ventricular arrhythmias): เช่น

  • ผู้ใหญ่: รับประทาน 800 – 1,600 มิลลิกรัม/วัน โดยแบ่งรับประทานวันละ 1 - 2 ครั้งเป็นเวลา 1 - 3 สัปดาห์ เมื่ออาการดีขึ้นให้ลดขนาดรับประทานเป็น 600 - 800 มิลลิกรัม/วัน โดยแบ่งรับประ ทาน 1 - 2 ครั้ง/วันเป็นเวลา 1 เดือน

ข. สำหรับหัวใจห้องล่างเต้นผิดจังหวะชนิด Life – threatening ventricular arrhythmias: เช่น

  • ผู้ใหญ่: รับประทาน 1 กรัมที่ 24 ชั่วโมงแรก การให้ยาจะให้เป็น 3 ระยะต่อเนื่อง และมีการใช้ยาฉีดเข้าร่วมในการรักษาตามขนาดที่เหมาะสม โดยอยู่ภายใต้คำสั่งของแพทย์

อนึ่ง:

  • เด็ก: เนื่องจากภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะพบได้น้อยในเด็ก การศึกษาถึงขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาจึงมีข้อจำกัด ซึ่งต้องอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ต่อผู้ป่วยเด็กเป็นรายๆไป โดยขึ้นกับ อายุของเด็ก น้ำหนักตัว ความรุนแรงของอาการ และการตอบสนองต่อการใช้ยา
  • สามารถรับประทานยานี้ก่อนหรือพร้อมอาหารก็ได้

*****หมายเหตุ: ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษา แพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาอะมิโอดาโรน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาอะมิโอดาโรนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาอะมิโอดาโรน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

ยาอะมิโอดาโรนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาอะมิโอดาโรนอาจก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น

  • ทำให้ผิวหนังไว (Sensitive) ต่อแสงแดด (เช่น เกิดผื่นหรือเกิดผิวคล้ำหรือผิวไหม้ได้ง่าย)
  • มีอาการทางปลายประสาท (เช่น ชา)
  • สั่น
  • คลื่นไส้-อาเจียน
  • การรับรสชาติผิดปกติ
  • มีภาวะฮอร์โมนจากต่อมไทรอยด์ต่ำ(ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน) หรือไทรอยด์ฮอร์โมนสูง (ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ หรือ ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน) ก็ได้
  • นอนไม่หลับ
  • รู้สึกร้อนวูบวาบ
  • เหงื่อออกมาก
  • หัวใจหยุดเต้น
  • หัวใจเต้นช้า
  • ตับเป็นพิษ/ตับอักเสบ
  • ภาวะหัวใจล้มเหลว

มีข้อควรระวังการใช้ยาอะมิโอดาโรนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาอะมิโอดาโรน เช่น

  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่แพ้ยาอะมิโอดาโรน หรือแพ้เกลือแร่ไอโอดีน
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีโรคหัวใจรุนแรงจาก SA node
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยด้วยภาวะหัวใจหยุดเต้นในระยะที่โรครุนแรง
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีภาวะช็อกที่มีสาเหตุจากโรคหัวใจ
  • ห้ามใช้ยานี้กับหญิงตั้งครรภ์ และหญิงให้นมบุตร
  • ระวังภาวะหัวใจเต้นช้า และความดันโลหิตต่ำ ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้จากยานี้
  • อาจทำให้ตับเป็นพิษ/ตับอักเสบ
  • อาจทำให้การมองเห็นภาพผิดปกติ
  • อาจทำให้ ปอดอักเสบ เกิดอาการไอ หายใจลำบาก
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาอะมิโอดาโรนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด เสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ยาอะมิโอดาโรนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาอะมิโอดาโรนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยาอะมิโอดาโรนร่วมกับยารักษาหัวใจเต้นผิดจังหวะตัวอื่น เช่นยา Quinidine จะทำ ให้ผู้ป่วยได้รับผลกระทบหรือผลข้างเคียงมากกว่าปกติ จึงต้องใช้ยาด้วยความระมัดระวัง
  • การใช้ยาอะมิโอดาโรนร่วมกับยาสลบ อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงที่ผู้ป่วยจะได้รับผลข้างเคียงของยาอะมิโอดาโรนเพิ่มมากขึ้น หากไม่จำเป็น ควรเลี่ยงการใช้ร่วมกัน
  • การใช้ยาอะมิโอดาโรนร่วมกับยาลดกรด เช่นยา Cimetidine อาจทำให้ยาอะมิโอดาโรนในร่างกายเพิ่มมากขึ้น หากมีความจำเป็นต้องใช้ร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมต่อคนไข้เป็นรายบุคคลไป
  • การใช้ยาอะมิโอดาโรนร่วมกับยาวัณโรค เช่นยา Rifampin จะทำให้ยาอะมิโอดาโรนในกระแสเลือดลดต่ำลง อาจส่งผลต่อฤทธิ์ในการรักษา แพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมต่อผู้ป่วยเป็นรายบุคคลไป

ควรเก็บรักษายาอะมิโอดาโรนอย่างไร?

ควรเก็บยาอะมิโอดาโรน เช่น

  • เก็บยาที่อุณหภูมิ 15 - 25 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • และไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำ

ยาอะมิโอดาโรนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาอะมิโอดาโรน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Aldarone (อัลดาโรน) Cadila
Amidarone 200 (อะมิดาโรน 200) T. O. Chemicals
Amidarone Aguettant (อะมิดาโรน อะกีแทน) Aguettant
Cardilor (คาร์ดิลอร์) Remedica
Cordarone (คอร์ดาโรน) sanofi-aventis

บรรณานุกรม

1 http://en.wikipedia.org/wiki/Amiodarone [2014,Oct11]
2 http://www.mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fwww.mims.com%2fUSA%2fdrug%2finfo%2famiodarone%2famiodarone%3ftype%3dfull [2020,April 11]
3 http://www.mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fwww.mims.com%2fUSA%2fdrug%2finfo%2famiodarone%2famiodarone%3ftype%3dfull [2020,April 11]