อะพรีมิลาส (Apremilast)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาอะพรีมิลาส (Apremilast) เป็นยาใช้รักษาโรคข้อที่อักเสบสาเหตุจากโรคสะเก็ดเงินที่เรียกว่า ข้ออักเสบสะเก็ดเงิน (Psoriatic arthritis) ยานี้ได้รับการรับรองจากคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาเมื่อปี ค.ศ. 2014/พ.ศ. 2557 แต่ยานี้ปัจจุบันยังไม่มีรายงานการขึ้นทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา/อย. ของไทย ซึ่งยานี้มีรูปแบบยาแผนปัจจุบันเป็นยารับประทาน

ตัวยาอะพรีมิลาสมีกลไกออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ชื่อ ฟอสโฟไดเอสเทอเรส 4 (Phosphodiesterase 4/PDE 4, เอนไซม์ทำลายสารชีวเคมีที่ชื่อย่อว่า CAMP) ไม่ให้ไปทำลายสารชีวเคมีที่เป็นตัวส่งสาร/ตัวส่งข้อมูลการทำงานระหว่างเซลล์ (Messenger) ที่ชื่อไซคลิก อะดีโนซีนโมโนฟอสเฟต (Cyclic adenosine monophosphate/cAMP หรือ CAMP) ที่ใช้ในกระบวนการทำ งานปกติทางชีวภาพ/ชีวเคมีของร่างกาย จึงมีผลให้ลดการอักเสบของข้อต่างๆที่เกิดจากโรคสะเก็ดเงินได้

หลังรับประทานยาอะพรีมิลาสตัวยาจะถูกดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารและกระจายตัวเข้าสู่กระแสเลือดประมาณ 73% ตับจะเป็นอวัยวะที่คอยทำลายโครงสร้างโมเลกุลของยานี้อย่างต่อเนื่อง ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 6 - 9 ชั่วโมงเพื่อกำจัดยานี้ออกจากกระแสเลือดโดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะและอุจจาระ

ขนาดการรับประทานยาอะพรีมิลาสในปัจจุบันจะมีแต่เฉพาะในผู้ใหญ่เท่านั้น ส่วนการใช้กับเด็กยังคงต้องอาศัยการศึกษาประสิทธิภาพและความปลอดภัยของการใช้ยานี้มาประกอบกัน ดังนั้นการใช้ยานี้ในเด็กจึงต้องอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป

ก่อนการใช้ยาอะพรีมิลาส แพทย์มักจะสอบถามประวัติผู้ป่วยว่าเคยแพ้ยาใดๆหรือแพ้ยาอะพรีมิลาสมาก่อนหรือไม่ และถ้าผู้ป่วยมีการใช้ยาบางตัวอยู่ก่อนอย่างเช่น Carbamazepine, Phenobar bital, Phenytoin หรือ Rifampin จะต้องแจ้งให้แพทย์ทราบ ด้วยกลุ่มยาดังกล่าวสามารถรบกวนประสิทธิภาพของยาอะพรีมิลาสหากใช้ยาร่วมกัน

ช่วงแรกของการรับประทานยาอะพรีมิลาสจะมีแบบแผนที่ซับซ้อนเล็กน้อย (อ่านเพิ่มเติมในบทความนี้หัวข้อ “ขนาดยา”) โดยผู้ป่วยสามารถรับประทานยาอะพรีมิลาสทั้งก่อนหรือพร้อมอาหารก็ได้โดยกลืนยาพร้อมน้ำดื่มสะอาดอย่างพอเพียง ห้ามหัก บด หรือกัดยานี้

ในระหว่างที่รับประทานยานี้ ยาอะพรีมิลาสอาจเป็นเหตุให้เกิดภาวะซึมเศร้า ทำให้น้ำหนักตัวลด หรือการจะใช้ยากับสตรีตั้งครรภ์และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตรจะต้องอยู่ภายใต้ความดูแลของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น

ผู้ที่ใช้ยาอะพรีมิลาสอาจได้รับอาการข้างเคียง (ผลข้างเคียง) ซึ่งที่พบได้บ่อยเช่น ท้องเสีย ปวดศีรษะ คลื่นไส้ และน้ำหนักตัวลด ผู้บริโภค/ผู้ป่วยที่มีคำถามเกี่ยวกับการใช้ยานี้สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้จากแพทย์ผู้รักษาหรือเภสัชกรได้โดยทั่วไป

อะพรีมิลาสมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

อะพรีมิลาส

ยาอะพรีมิลาสมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เพื่อบำบัดรักษาอาการโรคข้ออักเสบสาเหตุจากโรคสะเก็ดเงิน/โรคข้ออักเสบสะเก็ดเงิน (Psoriatic Arthritis)

อะพรีมิลาสมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาอะพรีมิลาสมีกลไกการออกฤทธิ์โดยตัวยาจะยับยั้งการทำงานของเอนไซน์ชื่อว่า ฟอสโฟไดเอสเทอเรส 4 (Phosphodiesterase 4) จึงส่งผลต่อการทำงานของสารชีวเคมีที่เป็นตัวส่งสาร/ส่งข้อมูล (Messenger) ระหว่างเซลล์ที่มีชื่อว่า ไซคลิก อะดีโนซีนโมโนฟอสเฟต (cAMP) จนก่อให้เกิดผลต่อเนื่องในกระบวนการทางชีวภาพและทำให้อาการเจ็บป่วยของโรคข้ออักเสบสะเก็ดเงิน(อาการปวดข้อต่างๆเช่น ข้อกระดูกสันหลัง ข้อนิ้วมือ ข้อนิ้วเท้า) ทุเลาลงและดีขึ้นเป็นลำดับ

อะพรีมิลาสมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาอะพรีมิลาสมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็นยาเม็ดชนิดรับประทานขนาด 10, 20 และ 30 มิลลิกรัม/เม็ด

อะพรีมิลาสมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาอะพรีมิลาสมีขนาดรับประทานเช่น

ก. ผู้ใหญ่อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป:

  • วันที่ 1, รับประทานยา 10 มิลลิกรัมครั้งเดียวในช่วงเช้า
  • วันที่ 2, รับประทานยาครั้งละ 10 มิลลิกรัมวันละ 2 ครั้งเช้า - เย็น
  • วันที่ 3, รับประทานยา 10 มิลลิกรัมในช่วงเช้าและ 20 มิลลิกรัมในช่วงเย็น
  • วันที่ 4, รับประทานยาครั้งละ 20 มิลลิกรัมวันละ 2 ครั้งเช้า - เย็น
  • วันที่ 5, รับประทานยา 20 มิลลิกรัมในช่วงเช้าและ 30 มิลลิกรัมในช่วงเย็น
  • วันที่ 6 และวันต่อไป, รับประทานยาครั้งละ 30 มิลิลิกรัมวันละ 2 ครั้งเช้า - เย็น

ทั้งนี้ขนาดรับประทานที่คงระดับการรักษาอยู่ที่ 30 มิลลิกรัมวันละ 2 ครั้งเช้า - เย็น และ สามารถรับประทานยานี้ได้ทั้งก่อนหรือพร้อมอาหาร

ข. เด็กและผู้อายุต่ำกว่า 18 ปีลงมา: ห้ามใช้ยานี้

*อนึ่ง:

  • ระยะเวลาในการใช้ยานี้ต้องเป็นไปตามความเห็นของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น
  • ผู้ป่วยโรคไตที่อาการรุนแรงแพทย์อาจต้องปรับลดขนาดรับประทานลงมา

*****หมายเหตุ: ขนาดและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้นไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาอะพรีมิลาส ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาอะพรีมิลาสอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

กรณีลืมรับประทานยาอะพรีมิลาสสามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า

อย่างไรก็ตามเพื่อประสิทธิผลของการรักษาควรรับประทานยาอะพรีมิลาสตรงเวลา นอกจากนั้นการหยุดใช้ยานี้เองสามารถส่งผลทำให้การรักษาไม่ได้ผล

อะพรีมิลาสมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาอะพรีมิลาสสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้เช่น

  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องอืด อาจมีภาวะกรดไหลย้อน
  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น เกิดการติดเชื้อในช่องทางเดินหายใจส่วนต้น (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง โรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ) และอาจพบอาการไอได้ด้วย
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดผื่นคัน
  • ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น น้ำหนักตัวลด และเบื่ออาหาร
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น ปวดศีรษะ อาจมีอาการไมเกรน

มีข้อควรระวังการใช้อะพรีมิลาสอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาอะพรีมิลาสเช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาอะพรีมิลาส
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานหรือหยุดการใช้ยานี้โดยที่ไม่ปรึกษาแพทย์
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ โดยไม่มีคำสั่งแพทย์ผู้รักษา
  • ห้ามใช้ยาที่มีสภาพที่เปลี่ยนไปจากเดิม
  • ห้ามใช้ยานี้ร่วมกับยา Carbamazepine, Phenobarbitol, Phenytoin และ Rifampin ด้วยยาเหล่านี้จะทำให้ประสิทธิภาพการรักษาของยาอะพรีมิลาสลดลง
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคไต แพทย์อาจต้องปรับขนาดรับประทานลดลงมา
  • หากพบอาการซึมเศร้าหรือน้ำหนักตัวลดลงมาก ควรกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนแพทย์นัดเพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
  • กรณีผู้ป่วยรับประทานยานี้เกินขนาด (มีอาการต่างๆที่กล่าวในหัวข้อ ผลไม่พึงประสงค์อย่างรุนแรง) ให้รีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
  • ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัดและมาโรงพยาบาลตามที่แพทย์นัดทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาอะพรีมิลาสด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

อะพรีมิลาสมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาอะพรีมิลาสมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นเช่น ยาหลายรายการที่ใช้ร่วมกับยาอะพรีมิลาส อาจส่งผลให้ระดับยาอะพรีมิลาสในกระแสเลือดลดลงจนส่งผลต่อการรักษาโรคข้ออักเสบสะเก็ดเงิน หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีไป ยากลุ่มดังกล่าวเช่น Bosentan (ยาลดความดันโลหิตสูงในปอด), Butalbital (ยารักษาทางจิตเวช), Dabrafe nib (ยารักษาตรงเป้า), Deferasirox, Dexamethasone, Enzalutimide (ยารักษามะเร็งต่อมลูกหมาก), Etravirine (ยาโรคเอดส์), Felbamate (ยากันชัก), Rufinamide (ยากันชัก) และยาอื่นๆอีกหลากหลายรายการ

ควรเก็บรักษาอะพรีมิลาสอย่างไร?

ควรเก็บยาอะพรีมิลาสภายใต้อุณหภูมิ 30 องศาเซลเซียส (Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

อะพรีมิลาสมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาอะพรีมิลาสที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าและบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่ายเช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
OTEZLA (โอเทซลา)Celgene Corporation

บรรณานุกรม

  1. http://www.otezla.com/otezla-prescribing-information.pdf [2016,June18]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Apremilast#Medical_use [2016,June18]
  3. http://www.drugs.com/ppa/apremilast.html [2016,June18]
  4. http://www.drugs.com/cdi/apremilast.html [2016,June18]
  5. http://www.drugs.com/dosage/apremilast.html [2016,June18]