อะบาโลพาราไทด์ (Abaloparatide)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 28 พฤศจิกายน 2561
- Tweet
- บทนำ
- อะบาโลพาราไทด์มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- อะบาโลพาราไทด์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- อะบาโลพาราไทด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- อะบาโลพาราไทด์มีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมมารับการฉีดยาควรทำอย่างไร?
- อะบาโลพาราไทด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้อะบาโลพาราไทด์อย่างไร?
- อะบาโลพาราไทด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาอะบาโลพาราไทด์อย่างไร?
- อะบาโลพาราไทด์มีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- โรคกระดูกพรุน โรคกระดูกบาง (Osteoporosis and Osteopenia)
- ฮอร์โมนจากต่อมพาราไทรอยด์ (Hormones secreted by parathyroid gland)
- กระดูกหัก (Bone fracture)
- วัยหมดประจำเดือน (Menopause)
- วิตามินดี (Vitamin D)
- แคลเซียม เกลือแร่แคลเซียม (Calcium)
บทนำ
ยาอะบาโลพาราไทด์ (Abaloparatide) เป็นยาที่มีโครงสร้างของสายโปรตีนมาเรียงต่อกันทำให้มีลักษณะคล้ายกับ’พาราไทรอยด์ฮอร์โมนของมนุษย์(Human parathyroid hormone related peptide analog)’ ทางคลินิกนำมาใช้เป็นยารักษาโรคกระดูกพรุนในหญิงวัยหมดประจำเดือน ตัวยามีกลไกการออกฤทธิ์กระตุ้นให้เกิดการเสริมสร้างมวลกระดูกและช่วยลดความเสียงต่อภาวะกระดูกหักง่าย
รูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยาอะบาโลพาราไทด์เป็นแบบยาฉีดเข้าใต้ผิวหนังบริเวณรอบสะดือ ตัวยาจะมีการดูดซึมและกระจายตัวเข้าสู่ร่างกายได้ประมาณ 36% ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 1.7 ชั่วโมง ในการทำลายตัวยาและกำจัดออกโดยผ่านไปทางปัสสาวะ
แพทย์มักใช้ยาอะบาโลพาราไทด์ร่วมกับยาเสริมเกลือแร่ประเภทแคลเซียมและวิตามินดี หลังจากได้รับการฉีดยาอะบาโลพาราไทด์ อาจเกิดอาการข้างเคียงบางประการ เช่น เกิดอาการบวมแดงบริเวณผิวหนังที่ได้รับการฉีดยา รองลงมาได้แก่การมีภาวะแคลเซียมในเลือดสูงเพิ่มขึ้น รวมถึงมีอาการวิงเวียนและปวดศีรษะ
ตัวยาอะบาโลพาราไทด์ ไม่เหมาะที่จะนำไปใช้กับสตรีมีครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร เด็ก ผู้ป่วยที่ไม่สามารถทนต่อผลกระทบจากอาการข้างเคียงของยานี้ รวมถึงผู้ป่วยที่มีระดับแคลเซียมในเลือดสูงเกินมาตรฐาน
ทั้งนี้ ทางการแพทย์มีข้อห้ามใช้ยาอะบาโลพาราไทด์ติดต่อกันเกิน 2 ปี โดย อาจเป็นด้วยเหตุผลที่ว่ายาอะบาโลพาราไทด์สามารถก่อให้เกิดความเสี่ยงเป็นมะเร็งกระดูกชนิดที่เรียกว่า ออสทีโอซาร์โคมา (Osteosarcoma)
ยาอะบาโลพาราไทด์ จัดว่าเป็นยาใหม่ที่เพิ่งได้รับการขึ้นทะเบียนเมื่อต้นปี ค.ศ.2017(พ.ศ.2560) และมีการใช้ในวงการแพทย์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยยานี้ถูกวางจำหน่ายภายใต้ชื่อการค้าว่า ‘Tymlos’
อะบาโลพาราไทด์มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาอะบาโลพาราไทด์มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น
- ใช้บำบัดภาวะกระดูกพรุนในสตรีที่เข้าสู่วัยหมดประจำเดือน (Postmenopausal women with osteoporosis)
อะบาโลพาราไทด์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาอะบาโลพาราไทด์เป็นยาที่เกิดจากการจัดเรียงของกรดอะมิโน/สารโปรตีนจนเกิดโครงสร้างคล้ายกับพาราไทรอยด์ฮอร์โมน ส่งผลให้ยาชนิดเข้าจับกับตัวรับ(Receptor)ในร่างกาย 2 ชนิดคือ Parathyroid hormone 1 receptor และ G protein-coupled receptor ทำให้เกิดการกระตุ้นเซลล์ของกระดูกที่มีชื่อว่า Osteoblasts และ Osteocytes ให้มีการทำงานเสริมสร้างมวลกระดูกของร่างกาย และด้วยกลไกนี้เองจึงเกิดเป็นที่มาของสรรพคุณ
อะบาโลพาราไทด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาอะบาโลพาราไทด์มีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ยาฉีดที่เป็นสารละลายใสปราศจากเชื้อที่ประกอบด้วยตัวยา Abaloparatide ขนาด 2,000 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร
อะบาโลพาราไทด์มีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
ยาอะบาโลพาราไทด์มีขนาดการบริหารยา/ใช้ยาใน สตรีวัยหมดประจำเดือน (อายุ 49 – 86 ปี) เช่น
- ฉีดยานี้เข้าใต้ผิวหนังบริเวณรอบสะดือขนาด 80 ไมโครกรัม วันละ1ครั้ง เป็นเวลาต่อเนื่อง 18 เดือน หรือตามคำสั่งแพทย์
อนึ่ง:
- ควรเปลี่ยนตำแหน่งการฉีดยาเข้าใต้ผิวหนังทุกครั้งเมื่อต้องรับการฉีดยาในครั้ง ถัดไป
- ห้ามฉีดยานี้เข้าหลอดเลือดดำหรือฉีดเข้ากล้ามเนื้อ
- แพทย์อาจใช้ยาจำพวกวิตามินดีและแคลเซียมร่วมในการรักษาภาวะกระดูกพรุน
- ผู้ที่ได้รับยาชนิดนี้/ยานี้เกินขนาด มักจะพบเห็นอาการ อ่อนแรง ปวดศีรษะ คลื่นไส้ วิงเวียน หัวใจเต้นช้า ความดันโลหิตต่ำ และอาจมีภาวะแคลเซียมในเลือดสูง การเยียวยารักษาภาวะนี้คือ แพทย์จะสั่งให้หยุดการใช้ยาอะบาโลพาราไทด์ และคอยควบคุมระดับแคลเซียมและฟอสฟอรัสในเลือดให้กลับมาเป็นปกติ อาจต้องให้สารละลายบางชนิดเข้าในหลอดเลือดของผู้ป่วย และเฝ้าติดตามสัญญาณชีพจนอาการกลับมาเป็นปกติ
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่ เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาอะบาโลพาราไทด์ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคความดันโลหิตต่ำ โรคไต รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาอะบาโลพาราไทด์ อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมมารับการฉีดยาควรทำอย่างไร?
กรณีที่ลืมมารับการฉีดยาอะบาโลพาราไทด์ ควรรีบติดต่อแพทย์ผู้ที่รักษาตนเอง/พยาบาล/เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง พร้อมกับทำการนัดหมายให้มาฉีดยาครั้งใหม่โดยเร็ว
อะบาโลพาราไทด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาอะบาโลพาราไทด์สามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้ เช่น
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้ ปวดท้อง
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น ปวดศีรษะ วิงเวียน อ่อนแรง
- ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น เกิดนิ่วในกระเพาปัสสาวะ
- ผลต่อระบบเลือด: เช่น ระดับแคลเซียมในเลือดสูง
- ผลต่อหัวใจ: เช่น ความดันโลหิตต่ำ ชีพจรเต้นผิดปกติ
- ผลต่อผิวหนัง: เช่น มีอาการ ปวด บวม บริเวณที่ฉีดยา
มีข้อควรระวังการใช้อะบาโลพาราไทด์อย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาอะบาโลพาราไทด์ เช่น
- ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคมะเร็งกระดูกชนิด ออสทีโอซาร์โคมา (Osteosarcoma)
- ห้ามใช้ยากับสตรีมีครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร เด็ก รวมถึงผู้ที่มีระดับ แคลเซียมในเลือดสูงเกินปกติ
- ห้ามใช้ยาที่หมดอายุแล้ว สังเกตจากสารละลายยามีตะกอนหรือเกิดสภาพขุ่น หรือมีสีขาวเกิดขึ้น
- หลังจากได้รับยานี้ไปแล้วประมาณ 4 ชั่วโมง ผู้ป่วยอาจมีอาการความดันโลหิตต่ำลง โดยสังเกตจาก อาการวิงเวียน ชีพจรเต้นผิดปกติ หรือรู้สึกเหมือนหัวใจเต้นเร็ว อาจมีอาการคลื่นไส้ กรณีนี้แนะนำให้ผู้ป่วยนอนหงายในท่าที่สบาย อาการจะค่อยๆดีขึ้นเอง
- ปฏิบัติตัวตามคำสั่ง แพทย์ พยาบาล เภสัชกร อย่างเคร่งครัด และมารับการฉีดยาตามที่แพทย์นัดหมายทุกครั้ง
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาอะบาโลพาราไทด์ด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.comบทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
อะบาโลพาราไทด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาอะบาโลพาราไทด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาอะบาโลพาราไทด์ร่วมกับ ยาDigitoxin ด้วยอะบาโลพาราไทด์อาจทำให้ระดับแคลเซียมในเลือดสูงเพิ่มขึ้น แคลเซียมดังกล่าวจะออกฤทธิ์สนับสนุน การเกิดพิษของ Digitoxin ตามมา
- การใช้ยาอะบาโลพาราไทด์ร่วมกับยาทาผิวหนังอย่างเช่นยา Calcitriol และ Calcipotriene สามารถกระตุ้นให้ระดับแคลเซียมในกระแสเลือดเพิ่มสูงขึ้นจนอาจเป็นอันตรายต่อร่างกาย หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
ควรเก็บรักษาอะบาโลพาราไทด์อย่างไร?
ควรเก็บรักษาอะบาโลพาราไทด์ ดังนี้ เช่น
- เก็บยานี้ภายใต้อุณหภูมิ 2 – 8 องศาเซลเซียส (Celsius)
- ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- ไม่เก็บยาที่หมดอายุ
- ไม่ทิ้งยาลงในแม่น้ำคูคลองตามธรรมชาติ
อะบาโลพาราไทด์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาอะบาโลพาราไทด์ มียาชื่อการค้าและบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Tymlos (ทิมลอส) | Radius Health, Inc |