อะนากรีไลด์ (Anagrelide)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 14 กรกฎาคม 2559
- Tweet
- บทนำ
- อะนากรีไลด์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- อะนากรีไลด์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- อะนากรีไลด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- อะนากรีไลด์มีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- อะนากรีไลด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้อะนากรีไลด์อย่างไร?
- อะนากรีไลด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาอะนากรีไลด์อย่างไร?
- อะนากรีไลด์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- โรคเลือด (Blood Diseases)
- ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ (Thrombocytopenia)
- ภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ (Venous thrombosis)
- ยาต้านการแข็งตัวของเลือด: ยากันเลือดแข็งตัว (Anticoagulants)
- ฟอสโฟไดเอสเทอเรส อินฮิบิเตอร์ (Phosphodiesterase inhibitor)
บทนำ
ยาอะนากรีไลด์ (Anagrelide) เป็นยาที่ใช้บำบัดภาวะเกล็ดเลือดในเลือดสูงเกินปกติ (Thrombocythemia) ที่พบในผู้ป่วยที่มีปัญหาจากการทำงานผิดปกติของไขกระดูก โดยตัวยาจะมีกลไกช่วยลดปริมาณเกล็ดเลือดให้กลับลงมาใกล้เคียงกับระดับปกติ การมีเกล็ดเลือดเกินเป็นปริมาณมากนี้จะเกิดความเสี่ยงต่อการอุดตันภายในหลอดเลือดจากภาวะเกิดลิ่มเลือด
ด้วยยาอะนากรีไลด์มีการดูดซึมได้ดีจากระบบทางเดินอาหาร จึงมีรูปแบบยาแผนปัจจุบันเป็นยาชนิดรับประทาน ตัวยาที่กระจายอยู่ในกระแสเลือดยังสามารถซึมผ่านรกและเข้าสู่ตัวทารกได้จึงไม่เหมาะที่จะใช้กับสตรีตั้งครรภ์ ร่างกายจะมีกลไกทำลายยานี้โดยผ่านตับและต้องใช้เวลาประมาณ 1.3 ชั่วโมงขึ้นไปเพื่อกำจัดยาอะนากรีไลด์ออกจากกระแสเลือดโดยขับทิ้งไปกับปัสสาวะและอุจจาระ
ทั้งนี้มีผู้ป่วยบางกลุ่มที่ไม่เหมาะกับการใช้ยาอะนากรีไลด์เช่น
- เป็นผู้ที่มีประวัติแพ้ยาอะนากรีไลด์
- ผู้ป่วยด้วยโรคตับระดับรุนแรง หรือผู้ที่มีระดับเกลือโพแทสเซียมในเลือดต่ำ
- ผู้ที่มีภาวะหัวใจเต้นผิดปกติ
- สตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ จัดเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียงสูงจากการใช้ยาต่างๆทุกชนิดซึ่งรวมยาอะนากรีไลด์ด้วย การใช้ยาต่างๆในผู้ป่วยกลุ่มนี้จึงควรเป็นคำสั่งโดยตรงจากแพทย์ผู้รักษา
- ผู้ป่วยที่มีการใช้ยาบางประเภทที่เกิดปฏิกิริยาระหว่างยา/ยาตีกันกับยาอะนากรีไลด์เป็นผู้ป่วยอีกหนึ่งกลุ่มที่ต้องระวังการเกิดภาวะยาตีกันที่จะส่งผลให้เกิดผลข้างเคียงสูง ยกตัวอย่างเช่นยา Ciprofloxacin, Fluvoxamine, Ondansetron โดยยาเหล่านี้สามารถเพิ่มอาการข้างเคียง (ผลข้างเคียง) ของยาอะนากรีไลด์ได้สูงขึ้น
นอกจากนี้ยังอาจพบเห็นอาการข้างเคียงบางประการจากการใช้ยาอะนากรีไลด์เช่น ปวดศีรษะ ท้องเสีย อ่อนเพลีย ไม่มีแรง/อ่อนล้า รวมไปถึงมีอาการผมร่วง เป็นต้น
สำหรับผู้ที่รับประทานยาอะนากรีไลด์เกินขนาดจะสังเกตได้จากมีอาการความดันโลหิตต่ำ หัวใจเต้นเร็ว (Sinus tachycardia) อาเจียน กรณีเช่นนี้ต้องรีบนำผู้ป่วยส่งสถานพยาบาล/โรงพยาบาลโดยเร็วทันที/ฉุกเฉิน
ยาอะนากรีไลด์เป็นยาลดปริมาณเกล็ดเลือด เลือดจึงออกได้ง่ายและเลือดจะหยุดได้ยาก ผู้ที่ใช้ยานี้จึงควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่อาจจะทำให้เกิดบาดแผลต่างๆตามมา และต้องระวังเรื่องภาวะตกเลือดตามมาโดยสามารถสังเกตจากอุจจาระมีสีดำหรือมีสีคล้ำผิดปกติหรืออุจจาระมีเลือดปน/อุจจาระเป็นเลือด และเคยมีรายงานประวัติผู้ป่วยบางรายหลังจากใช้ยาอะนากรีไลด์ไป 1 สัปดาห์ แล้วพบว่าเกิดภาวะโรคปอดเล่นงาน/ภาวะปอดอักเสบอย่างรุนแรง (Interstitial pneumonitis) ซึ่ง ไม่ว่าจะเป็นภาวะตกเลือดหรืออาการของโรคปอดก็ตาม หากพบอาการดังกล่าวหลังใช้ยานี้ผู้ป่วยควรต้องรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
ระหว่างที่มีการใช้ยาอะนากรีไลด์ผู้ป่วยจะต้องเข้ารับการตรวจร่างกายเป็นระยะๆตามแพทย์ แนะนำทั้งนี้เพื่อแพทย์ควบคุมอาการป่วยได้อย่างใกล้ชิด โดยแพทย์จะขอตรวจระดับเกล็ดเลือดในเลือดรวมถึงตรวจสภาพร่างกายโดยรวมของผู้ป่วยว่ายังเป็นปกติดีหรือไม่
สำหรับประเทศไทยเราโดยคณะกรรมการอาหารและยาได้ระบุให้ยาอะนากรีไลด์อยู่ในกลุ่มยาควบคุมพิเศษ ผู้ป่วยจะต้องได้รับการสั่งจ่ายจากแพทย์ในสถานพยาบาลเท่านั้น
อนึ่งหากมีคำถามเพิ่มเติมเรื่องการใช้ยอะนากรีไลด์า สามารถสอบถามได้จากแพทย์ผู้ทำการรักษาหรือจากเภสัชกรได้โดยทั่วไป
อะนากรีไลด์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
ยาอะนากรีไลด์มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เพื่อช่วยลดปริมาณของเกล็ดเลือดที่มีสูงเกินจากปกติ
อะนากรีไลด์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาอะนากรีไลด์เป็นยาในกลุ่มฟอสโฟไดเอสเทอเรส อินฮิบิเตอร์ (Phosphodiesterase inhibitor หรือ PDE selective inhibitors) โดยมีกลไกการออกฤทธิ์ที่สามารถลดการสร้างเกล็ดเลือดของไขกระดูกจึงทำให้มีจำนวนเกล็ดเลือดลดลงจนใกล้เคียงระดับปกติ จนเป็นที่มาของสรรพคุณ
อะนากรีไลด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาอะนากรีไลด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็นยาแคปซูลชนิดรับประทานขนาด 0.5 และ 1 มิลลิกรัม/แคปซูล
อะนากรีไลด์มีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาอะนากรีไลด์มีขนาดรับประทานเช่น
- ผู้ใหญ่: รับประทานเริ่มต้นครั้งละ 0.5 มิลลิกรัมวันละ 4 ครั้ง หรือรับประทานเริ่มต้นครั้งละ 1 มิลลิกรัมวันละ 2 ครั้ง หลังจากนั้นแพทย์จะค่อยๆปรับเพิ่มขนาดยาโดยดูจากการตอบสนองต่อยาของผู้ป่วย โดยขนาดรับประทานสูงสุดต่อครั้งไม่เกิน 2.5 มิลลิกรัม และห้ามรับประทานยาเกิน 10 มิลลิกรัม/วัน
- เด็ก: เริ่มต้นรับประทานยา 0.5 มิลลิกรัม/วัน และอาจเพิ่มขนาดจนถึง 0.5 มิลลิกรัม/ครั้ง วันละ 4 ครั้งตามดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาโดยดูจากการตอบสนองต่อยานี้ของเด็ก
*อนึ่ง:
- สามารถรับประทานยานี้ก่อนหรือพร้อมอาหารก็ได้
- ระยะเวลาของการใช้ยานี้ต้องเป็นไปตามดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาอะนากรีไลด์ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาอะนากรีไลด์อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาอะนากรีไลด์สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไปไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า
อย่างไรก็ตามเพื่อประสิทธิผลของการรักษาควรรับประทานยาอะนากรีไลด์ตรงเวลา
อะนากรีไลด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาอะนากรีไลด์สามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้เช่น
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น ปวดศีรษะ วิงเวียน รู้สึกปวดตามร่างกาย
- ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น ชีพจรเต้นผิดปกติ เจ็บหน้าอก หัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตต่ำ
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ท้องเสียหรือท้องผูก คลื่นไส้ ปวดท้อง ท้องอืด ร่างกายเกิดภาวะสูญเสียน้ำ/ภาวะขาดน้ำ อาเจียน กระเพาะอาหารอักเสบ คออักเสบ
- ผลต่อระบบเลือด: เช่น เลือดจาง/ภาวะซีด เกล็ดเลือดต่ำ เลือดออกใต้ผิวหนัง/ห้อเลือด ต่อมน้ำเหลืองอักเสบ
- ผลต่อตับ: เช่น ตับทำงานล้มเหลว/ตับวาย เอนไซม์การทำงานของตับในเลือดเพิ่มสูงเช่น เอนไซม์ Aspartate aminotransferase
- ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น ปวดหลัง กล้ามเนื้อขาเป็นตะคริว ปวดกล้ามเนื้อ
- ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น ไอ เยื่อจมูกอักเสบ ไซนัสอักเสบ ปอดบวม หลอดลมอักเสบ ความดันเลือดในปอดเพิ่มสูง หอบหืด
- ผลต่อผิวหนัง: เช่น ผื่นคัน ลมพิษ อาจพบอาการผมร่วง
- ผลต่อการมองเห็น: เช่น มีอาการตาพร่า
- ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น อาจมีภาวะปัสสาวะมีเลือดปน/ปัสสาวะเป็นเลือด หรือปัสสาวะไม่ออก/ปัสสาวะขัด
มีข้อควรระวังการใช้อะนากรีไลด์อย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาอะนากรีไลด์เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
- ห้ามปรับขนาดรับประทานยานี้ด้วยตนเอง
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคตับโรคไตตั้งแต่ระดับความรุนแรงปานกลางไปจนถึงขั้น/ระดับรุนแรงสูง
- ต้องมารับการตรวจเลือดซีบีซี/CBC และการตรวจเลือดดูการทำงานของตับของไต และ ตรวจการทำงานของหัวใจ (เช่น EKG) ตามที่แพทย์นัดทุกครั้ง
- หากมีอาการวิงเวียนหลังรับประทานยานี้ควรงดการขับขี่ยวดยานพาหนะใดๆรวมถึงการทำงานกับเครื่องจักรด้วยจะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
- กรณีพบเห็นภาวะเลือดออกใต้ผิวหนัง (อาการห้อเลือด) หรือเกิดภาวะปอดอักเสบ หรืออาการผิดปกติใดๆหลังใช้ยานี้ ให้ผู้ป่วยรีบกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็วทันที/ฉุกเฉิน
- หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่อาจทำให้เกิดบาดแผลจนเป็นเหตุให้เลือดออกง่าย
- ผู้ป่วยอาจต้องใช้เวลารับประทานยานี้ประมาณ 4 - 12 สัปดาห์จึงจะเห็นประสิทธิผลของการรักษา
- มาพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาอะนากรีไลด์ด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
อะนากรีไลด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาอะนากรีไลด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นเช่น
- การใช้ยาอะนากรีไลด์ร่วมกับยา Warfarin, Clopidogrel, Aspirin, Cilostazol (ยาขยายหลอดเลือดส่วนปลาย/แขน-ขา), Milrinone, ยาในกลุ่ม NSAIDs, ยากลุ่ม SSRIs อาจก่อให้เกิดความเสี่ยง มีภาวะเลือดออกง่าย หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- การใช้ยาอะนากรีไลด์ร่วมกับยา Omeprazole อาจทำให้ประสิทธิภาพในการรักษาของยาอะนากรีไลด์ด้อยลง เพื่อป้องกันภาวะดังกล่าวจึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- การใช้ยาอะนากรีไลด์ร่วมกับยา Chloroquine, Clozapine, Amiodarone, Clarithromycin อาจเกิดความเสี่ยงของภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
ควรเก็บรักษาอะนากรีไลด์อย่างไร?
ควรเก็บยาอะนากรีไลด์ในช่วงอุณหภูมิ 15 - 30 องศาเซลเซียส (Celsius) ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
อะนากรีไลด์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาอะนากรีไลด์ที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าและบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่ายเช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Thromboreductin (ทรอมโบรีดักติน) | Hospira |
Agrylin (อะกรีลิน) | Shire |