อะดีโฟเวียร์ (Adefovir)
- โดย ภก.วิชญ์ภัทร ธรานนท์
- 5 พฤษภาคม 2558
- Tweet
- บทนำ
- ยาอะดีโฟเวียร์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- ยาอะดีโฟเวียร์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ยาอะดีโฟเวียร์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ยาอะดีโฟเวียร์มีขนาดรับประทานหรือวิธีใช้ยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ยาอะดีโฟเวียร์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ยาอะดีโฟเวียร์อย่างไร?
- ยาอะดีโฟเวียร์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษายาอะดีโฟเวียร์อย่างไร?
- ยาอะดีโฟเวียร์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยา(Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- โรคไวรัสตับอักเสบ(Viral hepatitis)
- โรคไวรัสตับอักเสบ บี(Viral hepatitis B)
- โรคตับอักเสบ(Toxic hepatitis หรือ Hepatotoxicity)
- ลามิวูดีน (Lamivudine)
- โรคไตเรื้อรัง(Chronic kidney disease)
- ยาต้านรีโทรไวรัส (Antiretroviral Agent)
บทนำ
ยาอะดีโฟเวียร์ (Adefovir) เป็นยากลุ่มต้านรีโทรไวรัส (Antiretroviral agent) โดยยาจะออกฤทธิ์ยับยั้งกระบวนการเชื่อมต่อดีเอ็นเอ (DNA) ของเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี โดยส่งผลต่อเอน ไซม์รีเวิร์สทรานสคริปเตส (Reverse Transcriptase enzyme) ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่ช่วยเปลี่ยน แปลงสารพันธุกรรมของไวรัสตับอักเสบ บีจากอาร์เอ็นเอ (RNA) ไปเป็นดีเอ็นเอ (DNA) เพื่อให้สามารถอาศัยในโครโมโซม (Chromosome) ของมนุษย์ที่มีสารพันธุกรรมเป็นดีเอ็นเอได้ ส่งผลทำให้กระบวนการสังเคราะห์ดีเอ็นเอ (DNA) ของไวรัสตับอักเสบ บีหยุดชะงัก ทำให้ปริมาณไวรัสตับอักเสบ บีในร่างกายลดลง
อะดีโฟเวียร์ถูกใช้ควบคู่กับยาลามิวูดีน (Lamivudine) เพื่อใช้ในการรักษาผู้ป่วยโรคไวรัสตับอักเสบเรื้อรังชนิดบีที่มีหลักฐานทางการแพทย์ในการดื้อต่อยาลามิวูดีน (Lamivudine) รวม ถึงใช้เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดบีดื้อต่อยาลามิวูดีน ดังนั้นจึงไม่ควรใช้ยาอะดีโฟเวียร์เป็นยาเดี่ยว
ยาอะดีโฟเวียร์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
ยาอะดีโฟเวียร์มีข้อบ่งใช้ในการรักษาโรคไวรัสตับอักเสบบีชนิดเรื้อรังที่มีหลักฐานทางการ แพทย์ว่ามีการแบ่งตัวของเชื้อไวรัสตับอักเสบบี รวมถึงกรณีที่มีหลักฐานทางการแพทย์ถึงการดื้อต่อยาลามิวูดีน (Lamivudine: ยารักษาโรคไวรัสตับอักเสบชนิดบีเรื้อรัง) โดยยานี้มีประสิทธิภาพทั้งในผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบบีแบบเซลล์ตับยังสามารถทำงานชดเชยได้ (Compensated) และแบบที่เซลล์ตับไม่สามารถทำงานชดเชยได้ (Decompensated) และในผู้ป่วยที่ติดเชื้อเอชไอวีร่วมด้วย ก็ยังพบว่ายาสามารถลดการแบ่งตัวของเชื้อไวรัสตับอักเสบ บีชนิดเรื้อรังได้และทำให้การทำงานของตับดีขึ้น
ยาอะดีโฟเวียร์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาอะดีโฟเวียร์เป็นยาต้านรีโทรไวรัส (Antiretroviral agent) กลุ่ม Nucleotide Analog Reverse Transcriptase Inhibitors (NtRTIs) โดยยาจะออกฤทธิ์ยับยั้งการทํางานของเอน ไซม์อะไซคลิก นิวคลีโอไทด์ รีเวิร์สทรานสคริปเตส (Acyclic nucleotide reverse transcrip tase enzyme) ซึ่งเอนไซม์ดังกล่าวมีหน้าที่ช่วยสร้างดีเอ็นเอ (DNA) จากอาร์เอ็นเอ (RNA) ของเชื้อไวรัสตับอักเสบ บีชนิดเรื้อรัง เพื่อให้ไวรัสมีดีเอ็นเอ (DNA) สำหรับเพิ่มจำนวนในเซลล์ของมนุษย์ที่มีสารพันธุกรรมเป็นดีเอ็นเอ (DNA) ได้ ดังนั้นเมื่อได้ยาอะดีโฟเวียร์เข้าสู่ร่างกาย ตัวยาจะถูกเปลี่ยนแปลงภายในร่างกายทำให้มีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์อะไซคลิก นิวคลีโอไทด์รีเวิร์สทราน สคริปเตสของไวรัสตับอักเสบ จึงส่งผลทำให้การเชื่อมต่อดีเอ็นเอของเชื้อไวรัสหยุดชะงัก จึงทำให้เชื้อไวรัสตับอักเสบบีไม่สามารถเพิ่มจำนวนได้
ยาอะดีโฟเวียร์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
รูปแบบทางเภสัชภัณฑ์ของยาอะดีโฟเวียร์ที่มีจำหน่ายในประเทศไทยคือ ยาเม็ดขนาด 10 มิลลิกรัม
ยาอะดีโฟเวียร์มีขนาดรับประทานหรือวิธีใช้ยาอย่างไร?
ยาอะดีโฟเวียร์มีขนาดรับประทานหรือวิธีใช้ยาดังนี้เช่น
- เด็กและวัยรุ่นอายุต่ำกว่า 18 ปี: ยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับความปลอดภัยและประสิทธิภาพในการรักษา หากจำเป็นต้องใช้ยาขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์
- เด็กอายุ 18 ปี - ผู้ใหญ่อายุ 65 ปี: รับประทาน 10 มิลลิกรัมวันละ 1 ครั้ง
- ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป: ไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับความปลอดภัยและประสิทธิภาพในการรักษา หากจำเป็นต้องใช้ยาขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์
- ขนาดยาในผู้ป่วยไตบกพร่อง: เริ่มปรับขนาดยาในผู้ป่วยที่มีการทำงานของไตน้อยกว่า 50 มิลลิลิตร/นาที โดยปรับขนาดยาตามช่วงการทำงานของไตดังนี้เช่น
ก. ค่าการทำงานของไต 30 - 49 มิลลิลิตร/นาที: รับประทาน 10 มิลลิกรัมทุก 48 ชั่วโมง
ข. ค่าการทำงานของไต 10 - 29 มิลลิลิตร/นาที: รับประทาน 10 มิลลิกรัมทุก 72 ชั่วโมง
ค. ค่าการทำงานของไตน้อยกว่า 10 มิลลิลิตร/นาที หรือมีการบำบัดทดแทนไตด้วยการล้างไตทางหลอดเลือดดำสัปดาห์ละ 3 ครั้ง: รับประทาน 10 มิลลิกรัมทุก 7 วัน โดยบริหารยา/รับประ ทานหลังทำการฟอกไต
- ขนาดยาในผู้ป่วยตับบกพร่อง: ไม่จำเป็นต้องปรับขนาดยาในผู้ป่วยที่มีการทำงานของตับบกพร่อง
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมทั้งยาอะดีโฟเวียร์ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด
- มีโรคประจำตัวต่างๆเช่น โรคไวรัสตับอักเสบบีชนิดเรื้อรัง, ผู้ป่วยเอชไอวี รวมทั้งกำลังกินยาอะไรอยู่ เพราะยาอะดีโฟเวียร์อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิ กิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อนแล้ว
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตรอยู่หรือไม่ เนื่อง จากยาอะดีโฟเวียร์ยังไม่มีข้อมูลการศึกษาที่เพียงพอสำหรับความปลอดภัยในการใช้ยานี้ในผู้ ป่วยหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร
*****หมายเหตุ:
- ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
สำหรับการรักษาการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรังด้วยยาอะดีโฟเวียร์นั้น ผู้ป่วยจำเป็น ต้องรับประทานยาให้ตรงเวลาทุกวันอย่างเคร่งครัด โดยรับประทานยาวันละ 1 ครั้ง สามารถรับ ประทานยาเวลาใดก็ได้ เนื่องจากอาหารไม่มีผลต่อการดูดซึมยา แต่เพื่อให้ระดับยาในร่างกายคงที่สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อไวรัสตับอักเสบ บีได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงควรรับ ประทานยาในเวลาเดียวกันของทุกวัน
กรณีลืมรับประทานยาให้รับประทานยาทันทีที่นึกขึ้นได้ แต่หากใกล้กับเวลาที่ต้องรับประ ทานยามื้อถัดไป (วันถัดไป) ให้รอรับประทานยามื้อถัดไปเลย โดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่าเช่น ปกติรับประทานยาเวลา 8.00 น. หากผู้ป่วยนึกขึ้นได้ว่าลืมรับประทานยามื้อ 8.00 น. ตอนเวลา 17.00 น. ก็ให้รับประทานยามื้อ 8.00 น. ทันที แต่หากนึกขึ้นได้ในช่วงที่ใกล้กับช่วง เวลาของยามื้อถัดไป (หมายถึงเกินกว่า 12 ชั่วโมงจากเวลารับประทานยาปกติ) ให้รอรับประ ทานยามื้อถัดไปในขนาดยาปกติ ช่วงเวลาเดิมได้เลยโดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า
อย่างไรก็ตาม การรับประทานยาต้านไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรังที่ไม่สม่ำเสมอจะทำให้ระดับยาในเลือดอยู่ในระดับสูงบ้างต่ำบ้าง ซึ่งช่วงที่ระดับยามีขนาดต่ำเสมือนเป็นการกระตุ้นให้เชื้อไวรัสตับอักเสบ บีเกิดการกลายพันธุ์จนเป็นสาเหตุของการดื้อยาในเวลาต่อมา
ยาอะดีโฟเวียร์ มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
อาการ/ผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง) ของยาอะดีโฟเวียร์ที่พบบ่อยได้แก่ ปวดศีรษะ, คลื่นไส้, อาเจียน, ท้องเสีย, ปวดท้อง, อ่อนเพลีย, อ่อนล้า, ภาวะไวรัสตับอักเสบบีกำเริบ (Hepatitis B exacerbation) หลังหยุดยาอะดีโฟเวียร์ไปแล้ว 12 สัปดาห์ อาการไม่พึงประสงค์อื่นๆของยาอะดีโฟเวียร์ที่อาจพบได้เช่น ผื่นคันตามร่างกาย, ปวดหลัง, มีผลพิษต่อไตอาจส่ง ผลทำให้ค่าการทำงานของไตลดลง (ค่าครีอะทีนีน/Creatinine เพิ่มสูงขึ้นมากกว่า 0.5 มิลลิ กรัม/เดซิลิตร) ซึ่งพบว่าสูงขึ้นได้ในผู้ป่วยที่มีภาวะไตวาย, ผู้ป่วยปลูกถ่ายตับ, หรือผู้ป่วยตับแข็งที่มีภาวะเซลล์ตับไม่สามารถทำงานชดเชยได้ (Decompensated cirrhosis)
นอกจากนี้ ควรระวังการใช้ยาอะดีโฟเวียร์ในผู้ป่วยตับบกพร่อง, ตั้งครรภ์, ผู้ป่วยโรคอ้วน เนื่องจากมีรายงานการเกิดภาวะแลคติกแอซิโดซิส (Lactic acidosis: ภาวะเลือดเป็นกรดจากกรดแลคติก ทำให้เซลล์ร่างกายได้รับออกซิเจนไม่พียงพอ ตัวอย่างอาการเช่น ความดันโลหิตต่ำ หายใจเร็ว สับสน ปริมาณปัสสาวะน้อยลง) ได้ และภาวะตับโตรุนแรงร่วมกับไขมันสะสมในตับ (Severe Hepatomegaly with steatosis)
ควรหยุดยาอะดิโฟเวียร์หากมีอาการทางคลินิกหรือผลทางห้องปฏิบัติการว่า มีภาวะตับอ่อนอักเสบหรือเกิดภาวะแลคติกแอซิโดซิส (Lactic acidosis)
มีข้อควรระวังการใช้ยาอะดีโฟเวียร์อย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาอะดีโฟเวียร์ดังนี้เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ป่วยที่แพ้ยานี้หรือแพ้ส่วนประกอบของยานี้
- หากหยุดยาอะดีโฟเวียร์อาจเกิดภาวะไวรัสตับอักเสบบีกำเริบเฉียบพลัน (Acute exacer bation of hepatitis B virus infection) จึงแนะนำติดตามภาวะดังกล่าวเมื่อหยุดใช้ยาในระยะ เวลาช่วง 12 สัปดาห์หลังหยุดยา
- ก่อนการเริ่มใช้ยาอะดีโฟเวียร์ผู้ป่วยควรได้รับการตรวจสอบการติดเชื้อเอชไอวีก่อน เนื่องจากการใช้ยาอะดีโฟเวียร์เพื่อการรักษาโรคไวรัสตับอักเสบ บีเรื้อรังในผู้ป่วยที่ติดเชื้อเอชไอวีร่วมด้วย อาจเพิ่มความเสี่ยงของเชื้อไวรัสเอชไอวีดื้อยา
- ไม่แนะนำให้ใช้ยาอะดีโฟเวียร์ในหญิงตั้งครรภ์ แนะนำให้ใช้หากมีประโยชน์เหนือความเสี่ยงเท่านั้น เนื่องจากยาสามารถผ่านรกไปสู่ทารกได้ แต่จากการศึกษาไม่พบว่ายาเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดความผิดปกติของทารกขณะใช้ยาในช่วงไตรมาสแรก อย่างไรก็ตามขึ้นกับดุลพิ นิจของแพทย์ผู้รักษา
- ระวังการใช้ยาอะดีโฟเวียร์ในผู้ป่วยที่มีภาวะการทำงานของไตบกพร่อง โดยควรลดขนาดยาลงกรณีผู้ป่วยมีค่าการทำงานของไตน้อยกว่า 50 มิลลิลิตรต่อนาที เนื่องจากยานี้ถูกขจัดออกทางไตลดลง หากไม่ปรับขนาดยายานี้อาจส่งผลเป็นพิษต่อไต
- การรับประทานยาอะดีโฟเวียร์ควรรับประทานให้สม่ำเสมอ ไม่ควรหยุดยาอย่างกะทัน หัน เนื่องจากอาจเกิดความเสี่ยงในการเกิดภาวะไวรัสตับอักเสบ บีกำเริบเฉียบพลันได้
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง:
ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาอะดีโฟเวียร์ด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิดควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ยาอะดีโฟเวียร์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาอะดีโฟเวียร์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นดังนี้เช่น
ระดับยาในเลือดของยาดังต่อไปนี้เช่น ยาทีโนโฟเวียร์ (Tenofovir: ยาต้านรีโทรไวรัส), ยาแกงไซโครเวียร์ (Gangciclovir: ยาต้านไวรัส) หรือ ยาวาวแกงไซโคลเวียร์ (Valganciclo vir: ยาต้านไวรัส) เมื่อใช้ควบคู่กับยาอะดีโฟเวียร์ ผลข้างเคียงของยาเหล่านี้จึงอาจสูงขึ้นได้เมื่อใช้ร่วมกัน
ควรเก็บรักษายาอะดีโฟเวียร์อย่างไร?
แนะนำเก็บยาอะดีโฟเวียร์ที่อุณหภูมิห้อง ไม่เก็บยาในที่อุณหภูมิสูงเกินกว่า 30 องศาเซล เซียส (Celsius) ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น หรือเก็บยาในห้องที่ร้อนจัดหรือมีความชื้นมากเช่น ห้องที่ถูกแสงแดดส่องถึงทั้งวันในรถยนต์ ห้องครัว หรือห้องน้ำ
นอกจากนี้ยังควรเก็บยาในภาชนะบรรจุเดิม เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง เก็บยาให้พ้นจากแสงแดด หรือบริเวณที่มีแสงสว่างส่องถึงตัวยาตลอดเวลา
ยาอะดีโฟเวียร์ มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาอะดีโฟเวียร์ที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นๆและบริษัทผู้ผลิตเช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Hepsera (เฮ็ปเซรา: Adefovir 10 mg) Tablet | GlaxoSmithKline |
บรรณานุกรม
1. Lacy CF. Amstrong LL, Goldman MP, Lance LL. Drug Information handbook. 20th ed. Ohio: Lexi-Comp; 2011-12.
2. Micromedex Healthcare Series, Thomson Micromedex, Greenwood Village, Colorado.
3. Product Information: Hepsera, GlaxoSmithKline, Thailand.
4. Taketomo CK, Hodding, JH, Kraus DM, .Pediatric & Neonatal Dosage Handbook, 19th ed. Hudson, Ohio, Lexi-Comp, Inc.; 2012.
5. TIMS (Thailand). MIMS. 130th ed. Bangkok: UBM Medica ;2013.