อะซีโตน (Acetone agent)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 19 พฤษภาคม 2559
- Tweet
- บทนำ
- อะซีโตนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- อะซีโตนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- อะซีโตนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- อะซีโตนมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมทายาควรทำอย่างไร?
- อะซีโตนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้อะซีโตนอย่างไร?
- อะซีโตนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาอะซีโตนอย่างไร?
- อะซีโตนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- โรคผิวหนัง (Skin disorder)
- สิว (Acne)
บทนำ
ยาอะซีโตน (Acetone agent หรือ Acetone drug หรืออีกชื่อคือ Propanone) เป็นสารประกอบอินทรีย์ (Organic compound) ที่เป็นของเหลวที่ระเหยได้ ไม่มีสี และติดไฟได้ง่าย ในร่างกายมนุษย์จะพบสารอะซีโตนเล็กน้อยในปัสสาวะ แต่กรณีของผู้ป่วยโรคเบาหวานจะพบปริมาณสารอะซีโตนทั้งในปัสสาวะและในเลือดมากกว่าปกติ
สารอะซีโตนในร่างกายเกิดมาจากกระบวนการสลายไขมันจนได้สารอินทรีย์ที่มีโมเลกุลเล็กลงหรือที่เรียกว่า คีโตน (Ketones) ในโมเลกุลของคีโตนจะมีสารจำพวกอะซีโตนเป็นองค์ประกอบอยู่ ดังนั้นหากร่างกายมีคีโตนเป็นปริมาณมากก็จะมีอะซีโตนมากขึ้นจนเป็นเหตุให้เกิดพิษต่อร่างกายคือ เกิดภาวะเลือดเป็นกรด (Acidosis) หรือที่เรียกกันว่า คีโตอะซิโดซิส (Ketoacidosis)
ในอุตสาหกรรมการผลิตยาจะมีการใช้สารอะซีโตนเป็นตัวยาทำละลายสารต่างๆ หรือในด้านเครื่องสำอางจะใช้อะซีโตนมาเป็นส่วนประกอบของน้ำยาล้างเล็บ ทางคลินิกมีการนำสารอะซีโตนมาใช้ร่วมกับแอลกอฮอล์เพื่อการรักษาสิว โดยใช้หลักการที่ว่าแอลกอฮอล์สามารถฆ่าเชื้อโรคในบริเวณผิวหนังที่เป็นสิวและยาอะซีโตนจะละลายไขมันในบริเวณเดียวกันจึงช่วยลดการเกิดสิว/การเกิดสิวอักเสบได้ แต่ในทางคลินิกอาจเห็นประสิทธิผลการรักษาจากยาอะซีโตนผสมแอลกอฮอล์นี้น้อยจึงยังไม่เป็นที่ยอมรับของแพทย์ผิวหนังสักเท่าใดนัก
สิ่งสำคัญบางประการที่ผู้บริโภคควรรับทราบก่อนการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มียาอะซีโตนเป็นองค์ประกอบเช่น
- ห้าม/หลีกเลี่ยงสูดดมผลิตภัณฑ์ที่มียาอะซีโตนเป็นองค์ประกอบด้วยจะทำให้เกิดพิษต่อร่างกายหากได้รับเป็นปริมาณมาก
- ห้ามทายานี้ตรงผิวหนังที่มีลักษณะเป็นแผลเปิดด้วยจะก่อให้เกิดอาการปวดแสบและตัวยาจะถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดจนอาจเกิดความเป็นพิษต่อร่างกาย
- หลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มียาอะซีโตนและแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบในบริเวณตาหรือห้ามรับประทาน ด้วยเป็นผลิตภัณฑ์ออกแบบมาเพื่อใช้เป็นยาทาเฉพาะที่ที่ใช้ภายนอกเท่านั้น
- ถึงแม้จะยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกที่ชัดเจนในการใช้ยาที่เป็นสารประกอบอะซีโตนในสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ ก็ตาม แต่การใช้ผลิตภัณฑ์นี้กับผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าวถือเป็นข้อห้ามหรือควรหลีกเลี่ยงหากไม่มีคำสั่งการใช้ยานี้จากแพทย์
ปัจจุบันในประเทศไทยอาจพบเห็นการใช้ผลิตภัณฑ์ยาอะซีโตนในการบำบัดรักษาสิวได้น้อย ด้วยมีผลิตภัณฑ์ยาอื่นๆที่เป็นทางเลือกที่เหมาะสมกว่าสำหรับแพทย์และผู้บริโภค
อะซีโตนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
ยาอะซีโตนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เช่น
- รักษาสิว
- เป็นส่วนประกอบของยาแผนปัจจุบันต่างๆโดยใช้เป็นตัวทำละลายในบางสูตรตำรับยาซึ่งจะใช้สารนี้ในปริมาณที่ไม่ก่อให้เกิดอาการพิษต่อร่างกายมนุษย์
- ในทางเครื่องสำอางใช้อะซีโตนมาทำเป็นยาล้างเล็บ
อะซีโตนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
สำหรับบำบัดอาการของสิว ตัวยาอะซีโตนจะมีกลไกการออกฤทธิ์โดยจะเป็นตัวทำละลายไขมันในบริเวณผิวหนัง ด้วยไขมันคือหนึ่งปัจจัยของการเกิดสิว นอกจากนี้แอลกอฮอล์ซึ่งเป็นส่วนประกอบในสูตรตำรับยาจะคอยทำการฆ่าเชื้อโรคซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยของการเกิดสิวเช่นกัน จากกลไกนี้จึงช่วยทำให้ภาวะกระตุ้นการเกิดสิวและการเกิดสิวอักเสบลดน้อยลงจนอาการของสิวดีขึ้น
อะซีโตนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาอะซีโตนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็นสารละลาย/ตัวทำละล่ายที่มีองค์ประกอบของอะซีโตนร่วมกับแอลกอฮอล์
อะซีโตนมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
ยาอะซีโตนมีขนาดการบริหารยา/ใช้ยาเช่น
- ผู้ใหญ่ วัยรุ่น และเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 8 ปีขึ้นไป: ทาผลิตภัณฑ์อะซีโตนในบริเวณที่เป็นสิววันละ 2 - 4 ครั้งตามคำสั่งแพทย์ และหลังทาผลิตภัณฑ์อะซีโตนให้ทิ้งไว้ให้แห้งโดยไม่ต้องล้างออกด้วยน้ำ
- เด็กอายุน้อยกว่า 8 ปี: ยังไม่พบข้อมูลทางคลินิกของการใช้ผลิตภัณฑ์นี้กับเด็กที่มีอายุน้อยกว่า 8 ปีลงมา การใช้ยานี้ในเด็กกลุ่มวัยนี้จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีไป
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาอะซีโตน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาอะซีโตนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่/ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมทายาควรทำอย่างไร?
หากลืมทายาอะซีโตนสามารถทายาเมื่อนึกขึ้นได้ หากเวลาใกล้เคียงกับการทายาในครั้งถัดไปไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณการทายาเป็น 2 เท่า
อะซีโตนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ผลิตภัณฑ์ยาอะซีโตนที่นำมาใช้รักษาสิวอาจก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อา การข้างเคียง) ดังนี้เช่น ทำให้เกิดอาการปวดแสบ เกิดผื่นแดง หรือมีอาการบวมของผิวหนังที่สัมผัสกับตัวผลิตภัณฑ์
มีข้อควรระวังการใช้อะซีโตนอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาอะซีโตนเช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่เคยมีประวัติแพ้ยา/แพ้ผลิตภัณฑ์ที่มียาอะซีโตนเป็นองค์ประกอบ
- ห้ามใช้ผลิตภัณฑ์ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็กอายุต่ำกว่า 8 ปีรวมถึงผู้สูงอายุ โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
- ห้ามรับประทานยานี้และหลีกเลี่ยงการใช้ยานี้ทาบริเวณใกล้ตา
- ห้ามใช้ผลิตภัณฑ์ยานี้ทาในบริเวณที่เป็นแผลเปิดด้วยจะทำให้แผลหายช้าและเกิดการดูดซึมตัวยาอะซีโตนเข้าสู่ร่างกาย
- หลังใช้ผลิตภัณฑ์ยาอะซีโตนแล้วอาการไม่ดีขึ้นควรกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมผลิตภัณฑ์อะซีโตนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
อะซีโตนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ด้วยผลิตภัณฑ์ยาอะซีโตนเป็นยาใช้ทาแต่ภายนอก จึงยังไม่มีรายงานพบปฏิกิริยาระหว่างยานี้กับยารับประทานชนิดใดๆ
ควรเก็บรักษาอะซีโตนอย่างไร?
ควรเก็บผลิตภัณฑ์ยาอะซีโตนในช่วงอุณหภูมิ 15 - 30 องศาเซลเซียส (Celsius) ห้ามเก็บผลิตภัณฑ์นี้ในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บผลิตภัณฑ์นี้ในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บผลิตภัณฑ์นี้ให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่เก็บผลิตภัณฑ์นี้ในห้องน้ำหรือในรถยนต์
อะซีโตนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาอะซีโตนที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าและบริษัทผู้ผลิตเช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Seba-Nil Liquid Cleanser (ซีบา-นิล ลิควิด คลีนเซอร์) | CORIA LABS |
บรรณานุกรม
- http://www.drugs.com/inactive/acetone-180.html [2016,April30]
- http://www.webmd.com/skin-problems-and-treatments/acne/understanding-acne-treatment?page=2 [2016,April30]
- http://www.drugs.com/mmx/alcohol-and-acetone.html [2016,April30]
- http://www.3-rx.com/drugs/detailed/alcohol-and-acetone/proper-use.php [2016,April30]