อะซีโคลฟีแนค (Aceclofenac)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 25 พฤษภาคม 2561
- Tweet
- บทนำ
- อะซีโคลฟีแนคมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- อะซีโคลฟีแนคมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- อะซีโคลฟีแนคมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- อะซีโคลฟีแนคมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- อะซีโคลฟีแนคมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้อะซีโคลฟีแนคอย่างไร?
- อะซีโคลฟีแนคมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาอะซีโคลฟีแนคอย่างไร?
- อะซีโคลฟีแนคมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ยาฆ่าเชื้อ (Antimicrobial drug) ยาแก้อักเสบ (Anti inflammatory drug)
- วัคซีนอีสุกอีใส หรือ วัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใส(Varicella Vaccine)
- ข้อสันหลังอักเสบยึดติด (Ankylosing spondylitis)
- ข้อเสื่อม เข่าเสื่อม (Osteoarthritis)
- โรคข้อรูมาตอยด์ (Rheumatoid arthritis)
- สะตีเวนส์จอห์นสัน (Stevens-Johnson syndrome)
- เลือดออกในทางเดินอาหาร (Gastrointestinal bleeding or GI bleeding)
บทนำ
ยาอะซีโคลฟีแนค (Aceclofenac)เป็นยาแก้ปวดบรรเทาอาการอักเสบ/ยาแก้อักเสบกลุ่มเอนเซดส์ (NSAIDs) ตัวยาจะออกฤทธิ์ปิดกั้นการผลิตสารเคมีที่คล้ายกับฮอร์โมนซึ่งมีชื่อว่า โพรสตาแกลนดิน(Prostaglandin) สารนี้ถูกหลั่งออกมาตรงบริเวณเนื้อเยื่อที่ได้รับบาดเจ็บ และมีบทบาทสำคัญต่อกลไกการตอบสนองการอักเสบของร่างกาย
ทางคลินิกได้นำยาอะซีโคลฟีแนคมาบำบัดอาการปวดด้วยการอักเสบจากสาเหตุต่างๆดังต่อไปนี้ เช่น
- ข้อเสื่อม-เข่าเสื่อม(Osteoarthritis) ซึ่งมักจะเกิดกับผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมีการสูญเสียมวลกระดูกอ่อนที่อยู่ตรงรอยต่อของข้อกระดูก
- โรคข้อรูมาตอยด์ (Rheumatoid arthritis)
- โรคข้อสันหลังอักเสบยึดติด (Ankylosing spondylitis)
รูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยาอะซีโคลฟีแนคเป็นแบบยารับประทาน ตัวยามีการดูดซึมได้อย่างรวดเร็วจากระบบทางเดินอาหาร ระดับยาในกระแสเลือดจะมีความเข้มข้นขึ้นสูงสุดภายใน1–3 ชั่วโมงหลังการรับประทาน ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 4 ชั่วโมงเพื่อขับยานี้ออกจากกระแสเลือดโดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะ
การศึกษาข้อมูลทางคลินิกทำให้ทราบว่า ผู้ป่วยบางกลุ่มไม่เหมาะกับการใช้ยาอะซีโคลฟีแนค เช่น
- ผู้ที่มีประวัติแพ้ยาอะซีโคลฟีแนค หรือผู้ที่แพ้ยากลุ่ม NSAIDs และ Aspirin
- ผู้ป่วยโรคหืด ผู้ที่มีภาวะน้ำมูกไหลหรือคันระคายเคืองในโพรงจมูก
- ผู้ที่มีแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้
- ผู้ป่วยโรคไตขั้นรุนแรง
- ผู้ที่มีประวัติป่วยด้วยโรคหัวใจล้มเหลว
- ผู้ที่มีภาวะตับวายอย่างรุนแรง
- ผู้ที่มีภาวะเลือดออกง่าย
- สตรีมีครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร และเด็ก
ยาอะซีโคลฟีแนคจัดเป็นยาอันตราย ระหว่างที่ใช้ยาชนิดนี้/ยานี้ แพทย์และผู้ป่วยจะต้องคอยตรวจสอบว่า มีภาวะเลือดออกในทางเดินอาหารหรือไม่ ตลอดจนกระทั่งความผิดปกติของการทำงานของอวัยวะสำคัญๆในร่างกาย เช่น หัวใจ ตับ และไต หรือแม้แต่การใช้ยาอะซีโคลฟีแนคร่วมกับยาใดๆก็ตาม จะต้องระวังเรื่องยาตีกัน(ปฏิกิริยาระหว่างยา)ตามมา เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค การใช้ยาชนิดนี้ควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ หรือสามารถสอบถามข้อมูลการใช้ยานี้เพิ่มเติมจากเภสัชกรได้ทั่วไป
อะซีโคลฟีแนคมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาอะซีโคลฟีแนคมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น
- บรรเทาอาการปวดด้วยการอักเสบจาก ข้อเสื่อม โรคข้อรูมาตอยด์ และภาวะข้อสันหลังอักเสบยึดติด
อะซีโคลฟีแนคกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาอะซีโคลฟีแนคมีกลไกการออกฤทธิ์โดย ตัวยาจะยับยั้งเอนไซม์ ชื่อ Cyclooxygenase ที่มีความสำคัญในการผลิตสารโพรสตาแกรนดิน(Prostaglandin)ซึ่งเป็นสาเหตุของกระบวนการอักเสบที่ทำให้มีอาการปวดตามมา การป้องกันการเกิดโพรสตาแกรนดินจึงทำให้อาการปวดด้วยการอักเสบบรรเทาลง
อะซีโคลฟีแนคมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาอะซีโคลฟีแนคมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ยาเม็ดชนิดรับประทาน ที่ประกอบด้วยตัวยา Aceclofenac ขนาด 100 มิลลิกรัม/เม็ด
อะซีโคลฟีแนคมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาอะซีโคลฟีแนคมีขนาดรับประทาน เช่น
- ผู้ใหญ่: รับประทานครั้งละ 100 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น หลังอาหาร
- เด็ก: ทางคลินิก ยังไม่มีข้อมูลด้านความปลอดภัยและขนาดยานี้ในเด็ก
อนึ่ง:
- ควรรับประทานยานี้หลังอาหารทันที ทั้งนี้เพื่อลดอาการข้างเคียงในกระเพาะอาหาร
- ห้ามรับประทานยานี้เกินขนาดที่แพทย์กำหนด
- ห้ามรับประทานยานี้นานเกินคำสั่งแพทย์
- ******กรณีพบอาการ ปวดศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน ปวดท้องใต้ลิ้นปี่ ท้องเสีย ง่วงนอนมาก วิงเวียน ความดันโลหิตต่ำ เป็นลม มีอาการชัก อาจพบภาวะไตวายซึ่งเป็นสัญญาณว่าได้รับยานี้เกินขนาดเข้าแล้ว หากพบอาการเหล่านี้ ต้องรีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาอะซีโคลฟีแนค ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจขัด/ หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาอะซีโคลฟีแนคอาจ ส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆ ที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
กรณีลืมรับประทานยาอะซีโคลฟีแนค สามารถรับประทานทันทีที่นึกขึ้นได้ หากเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ห้ามเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2เท่า ให้รับประทานยาที่ขนาดปกติเท่านั้น
อะซีโคลฟีแนคมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาอะซีโคลฟีแนคสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้ เช่น
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้ เบื่ออาหาร ปวดท้อง ท้องอืด อุจจาระดำ/อุจจาระเป็นเลือด ท้องเสียหรือไม่ก็ท้องผูก กระเพาะอาหารอักเสบ ตับอ่อนอักเสบ กระเพาะอาหาร/ลำไส้ทะลุ
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น ง่วงนอน ปวดศีรษะ วิงเวียน ความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน
- ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น ปัสสาวะไหลไม่รู้ตัว
- ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น เกิดหอบหืด/ หลอดลมหดเกร็งตัว หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก
- ผลต่อไต: เช่น ไตอักเสบ ไตวาย
- ผลต่อระบบเลือด: เช่น ระดับเกล็ดเลือดต่ำ เลือดออกง่าย เม็ดเลือดขาวต่ำ โลหิตจาง
- ผลต่อตับ: เช่น ตับทำงานผิดปกติ/ ตับอักเสบ ดีซ่าน
- ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น มีอาการบวม ความดันโลหิตสูง หัวใจวาย
- ผลต่อผิวหนัง: เช่น มีอาการผื่นคัน ลมพิษ Steven Johnson syndrome
มีข้อควรระวังการใช้อะซีโคลฟีแนคอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาอะซีโคลฟีแนค เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยานี้กับ สตรีมีครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร และเด็ก
- ห้ามดื่มเครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์เมื่อรับประทานยานี้
- ระวังการใช้ยาอะซีโคลฟีแนคในผู้ป่วย โรคตับ โรคไต ผู้ป่วยโรคเบาหวาน
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้มีโรคเกี่ยวกับการไหลเวียนของเลือดไปเลี้ยงสมอง และ ผู้ป่วยด้วยโรคพอร์ฟิเรีย (Porphyria)
- ระวังเรื่องการเจ็บหน้าอกที่เกิดจากภาวะเลือดไปเลี้ยงหัวใจไม่พอ
- ระดับไขมันคอเลสเตอรอล หรือไขมันไตรกลีเซอไรด์ ในเลือดเพิ่มขึ้น
- กรณีได้รับวัคซีนอีสุกอีใส ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยานี้ เพราะอาจจะทำให้มีการติดเชื้อ ทางผิวหนังได้ง่าย
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ที่เพิ่งได้รับการผ่าตัดใหญ่
- การใช้ยานี้กับผู้สูงอายุ แพทย์จะใช้ขนาดยาที่ต่ำสุดแต่สามารถแสดงฤทธิ์การรักษาได้ดี รวมถึงการใช้ยานี้จะมีระยะเวลาสั้นที่สุด
- ปฏิบัติตามคำแนะนำการใช้ยานี้ของ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร อย่างเคร่งครัด
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาอะซีโคลฟีแนคด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
อะซีโคลฟีแนคมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาอะซีโคลฟีแนค มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- ห้ามใช้ยาอะซีโคลฟีแนคร่วมกับ ยาAspirin หรือยา NSAIDs ชนิดอื่นๆ ด้วยจะทำให้ มีภาวะเลือดออกในระบบทางเดินอาหารตามมา
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาอะซีโคลฟีแนคร่วมกับยาต้านการแข็งตัวของเลือด อย่าง Warfarin ด้วยจะทำให้การออกฤทธิ์ของยาต้านการแข็งตัวของเลือดทำงานได้มากขึ้นจน ส่งผลให้เกิดภาวะเลือดออกง่ายมากขึ้นตามมา
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาอะซีโคลฟีแนคร่วมกับยาขับปัสสาวะ เพราะจะเพิ่มความเป็นพิษ(ผลข้างเคียงรุนแรง)ให้กับไตตามมา/ไตอักเสบ หรือ ไตวาย
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาอะซีโคลฟีแนคร่วมกับยารักษาโรคเบาหวาน ด้วยอาจทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำหรือสูงก็ได้
ควรเก็บรักษาอะซีโคลฟีแนคอย่างไร?
ควรเก็บยาอะซีโคลฟีแนคภายใต้อุณหภูมิ 30 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
อะซีโคลฟีแนคมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาอะซีโคลฟีแนค มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Abdal (แอบดอล) | Madhav BioTech |
ACB (เอซีบี) | Vensat |
อะซีแอคท์ | Active HC |
Acebloc (เอซบล็อค) | Biochem |
Aceclo (เอซโคล) | Aristo |
Eifen (ไอเฟน) | Daewoo |
Fenac (ฟีแนค) | Eep co |