อะซิลซาร์แทน (Azilsartan)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 21 เมษายน 2560
- Tweet
- บทนำ
- อะซิลซาร์แทนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- อะซิลซาร์แทนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- อะซิลซาร์แทนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- อะซิลซาร์แทนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- อะซิลซาร์แทนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้อะซิลซาร์แทนอย่างไร?
- อะซิลซาร์แทนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาอะซิลซาร์แทนอย่างไร?
- อะซิลซาร์แทนมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- แอนจิโอเทนซิน II รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์ (Angiotensin II receptor antagonist)
- ยาลดความดัน ยาลดความดันเลือดสูง ยาลดความดันโลหิตสูง (Antihypertensive drug)
- ยาขับปัสสาวะ (Diuretics Drugs)
- ความดันโลหิตสูง (Hypertension)
- ความดันโลหิตต่ำ (Hypotension)
บทนำ
ยาอะซิลซาร์แทน(Azilsartan หรือ Azilsartan medoxomil) เป็นยาในกลุ่ม Angiotensin II receptor antagonist ทางคลินิกนำมาใช้เป็นยารักษาโรคความดันโลหิตสูง บริษัทยาTakeda ประเทศญี่ปุ่น เป็นผู้พัฒนายานี้ ยาอะซิลซาร์แทนมีรูปแบบเภสัชภัณฑ์เป็นยาชนิดรับประทาน ด้วยโครงสร้างทางโมเลกุลของยานี้ไม่ใช่สารที่ออกฤทธิ์ลดความดันโลหิต คือจะอยู่ในรูปของ Prodrug(สารที่ยังไม่มีฤทธิ์เป็นยา จนกว่าจะได้ผ่านกระบวนการเปลี่ยนแปลงสารนี้ในร่างกาย จึงจะได้เป็นตัวยา) หลังการรับประทานตัวยาจะผ่านกระบวนการเปลี่ยนแปลงสารของร่างกายที่เรียกว่า ไฮโดรไลซ์(Hydrolyzed)ในระบบทางเดินอาหารจนกลายเป็นสารที่ออกฤทธิ์เป็นยา จากนั้นตัวยานี้จึงจะถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดได้ประมาณ 60% ตับจะคอยทำลายโครงสร้างของยานี้ที่ดูดซึมแล้ว โดยใช้เอนไซม์ที่มีชื่อว่า CYP2C9(Cytochrome P450 2C9) และร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 11 ชั่วโมงเป็นอย่างต่ำเพื่อกำจัดยานี้ทิ้งไปกับอุจจาระและปัสสาวะ
มีข้อมูลสำคัญบางประการที่ผู้บริโภค/ผู้ป่วยควรทราบก่อนที่จะใช้ยาอะซิลซาร์แทน เช่น
- ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร ด้วยยาอะซิลซาร์แทนสามารถก่อให้เกิดอันตรายต่อทารก จนถึงขั้นพิการ หรือเสียชีวิตได้
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่กำลังจะเข้ารับการผ่าตัด ด้วยตัวยาอะซิลซาร์แทนอาจเกิด ปฏิกิริยากับพวกยาสลบและส่งผลให้เกิดความดันโลหิตต่ำตามมา
- ห้ามรับประทานยานี้พร้อมเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ เพราะจะทำให้เกิดอาการวิงเวียนตลอดจนเกิดภาวะความดันโลหิตต่ำมากตามมา
- กรณีที่ใช้ยานี้แล้ว มีอาการ ท้องเสียรุนแรง หรือเกิดอาการไตทำงานผิดปกติโดยสังเกตจาก ปัสสาวะไม่ออก ปัสสาวะมีเลือดปน/ปัสสาวะเป็นเลือด ปัสสาวะน้อยลง หรือมีน้ำหนักตัวเพิ่มชึ้น อาการดังกล่าวเป็นผลข้างเคียงของยานี้ที่รุนแรง ให้รีบนำตัวผู้ป่วยมาโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
- ตรวจสอบความดันโลหิตด้วยตนเองอย่างสม่ำเสมอตามแพทย์/เภสัชกร แนะนำ เพื่อดูประสิทธิภาพของการใช้ยาอะซิลซาร์แทน
- โรคประจำตัวบางประเภทสามารถทวีความรุนแรงขึ้นได้หากได้รับยานี้ เช่น โรคไต โรคตับ ผู้ที่มีภาวะเกลือแร่ในร่างกายไม่สมดุล ผู้ป่วยโรคหัวใจล้มเหลว หรือผู้ที่มีภาวะร่างกายเสียน้ำ/ภาวะขาดน้ำมาก ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของผู้ป่วยที่ต้องแจ้งแพทย์ พยาบาล ให้ทราบทุกครั้งที่เข้ารับการรักษาว่า ตนเองมีโรคประจำตัวใดบ้าง
- กรณีที่ใช้ยานี้ตรงตามคำสั่งแพทย์และรับประทานยานี้สม่ำเสมอ แต่กลับพบว่า ความดันโลหิตยังสูงเช่นเดิม ผู้ป่วยสามารถกลับมาขอคำปรึกษาจากแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัดเพื่อแพทย์พิจารณาผลการใช้ยาชนิดนี้ ห้ามหยุดการใช้ยานี้เองอย่างกะทันหันโดยไม่ได้รับคำยืนยันจากแพทย์เพราะอาจส่งผลให้ความดันโลหิตสูงมากยิ่งขึ้น
- หากมีอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)จากยานี้ที่ไม่ค่อยรุนแรง/ไม่กระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ไม่จำเป็นต้องใช้ยาอื่นรักษาผลข้างเคียงนั้นๆแต่อย่างใด
- กรณีที่เกิดอาการข้างเคียงรุนแรงหรืออาการข้างเคียงที่เป็นอุปสรรคต่อการ ดำรงชีวิตประจำวัน ผู้ป่วยควรรีบเข้ามาพบแพทย์/มาโรงพยาบาล เพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
สำหรับผลิตภัณฑ์ของยาอะซิลซาร์แทนซึ่งมีจำหน่ายในประเทศไทย จะมีทั้งสูตรตำรับแบบยาเดี่ยว และสูตรตำรับที่มียาขับปัสสาวะ อย่างเช่นยา Chlorthalidone ผสมร่วมด้วย ซึ่งทางกระทรวงสาธารณสุขไทยได้ระบุให้ผลิตภัณฑ์ทั้ง 2 สูตรตำรับ เป็นยาควบคุมพิเศษ และการใช้ยานี้จะต้องมีใบสั่งยานี้จากแพทย์เท่านั้น ซึ่งทำให้ผู้บริโภคไม่สามารถซื้อหายานี้ได้จากร้านขายยาทั่วไป โดยผู้ป่วยต้องได้รับการตรวจร่างกายจากแพทย์ และได้รับการจ่ายยานี้โดยผ่านทางสถานพยาบาล
หากผู้บริโภค/ผู้ป่วยมีข้อสงสัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับการใช้ยาอะซิลซาร์แทน สามารถสอบถามได้จากแพทย์ผู้ที่ทำการตรวจรักษา หรือจากเภสัชกรได้ทั่วไป
อะซิลซาร์แทนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาอะซิลซาร์แทนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เพื่อ
- ใช้ลดความดันโลหิตสูง สำหรับผู้ใหญ่
อะซิลซาร์แทนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
เมื่อรับประทานตัวยา Azilsartan medoxomil ซึ่งอยู่ในรูปของสารประกอบที่ยังไม่สามารถออกฤทธิ์เป็นยา(Prodrug) ขณะสารนี้ผ่านเข้าในระบบทางเดินอาหาร จะเกิดกระบวนการไฮโดรไลซ์เปลี่ยนแปลงสาร Azilsartan medoxomil ไปเป็นยา Azilsartan ซึ่งเป็นสารที่ออกฤทธิ์เป็นยา และเมื่อยานี้ถูกดูดซึมผ่านเข้าสู่กระแสเลือด จะเริ่มออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของสาร Angiotensin II ทำให้ผนังหลอดเลือดเกิดการขยายตัว ส่งผลให้ลดความดันโลหิตได้ตามสรรพคุณ
อะซิลซาร์แทนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาอะซิลซาร์แทนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ยาเม็ดชนิดรับประทาน ที่ประกอบด้วย Azilsartan medoxomil 40 และ 80 มิลลิกรัม/เม็ด
- ยาเม็ดชนิดรับประทาน ที่ผสมร่วมกับตัวยาอื่น เช่น Azilsartan medoxomil 40 มิลลิกรัม + Chlorthalidone 12.5 มิลลิกรัม/เม็ด, Azilsartan medoxomil 40 มิลลิกรัม + Chlorthalidone 25 มิลลิกรัม/เม็ด
อะซิลซาร์แทนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาอะซิลซาร์แทน มีขนาดรับประทาน เช่น
- ผู้ใหญ่: เริ่มต้นรับประทานยาขนาด 40 มิลลิกรัม วันละ1ครั้ง หากจำเป็น แพทย์อาจเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 80 มิลลิกรัม วันละ1ครั้ง โดยสามารถรับประทานยานี้ ก่อนหรือหลังอาหารก็ได้ และต้องรับประทานยานี้ต่อเนื่องตรงตามเวลาเดียวกันในแต่ละวันตามแพทย์สั่ง
- เด็ก: ห้ามใช้ยานี้กับเด็ก
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาอะซิลซาร์แทน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคไต โรคตับ โรคหัวใจ โรคเบาหวาน รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาอะซิลซาร์แทน อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาอะซิลซาร์แทน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น2 เท่า ให้รับประทานยาขนาดปกติ
แต่อย่างไรก็ดี การรับประทานยาลดความดันโลหิตที่รวมยาอะซิลซาร์แทน ต้องอาศัยความต่อเนื่องสม่ำเสมอ จึงจะได้ประสิทธิผลจากยาอย่างเต็มที่
อะซิลซาร์แทนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาอะซิลซาร์แทนสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ท้องเสีย คลื่นไส้
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น วิงเวียน ปวดศีรษะ
- ผลต่อระบบเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น กรดยูริคในเลือดเพิ่มขึ้น
- ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น มีอาการไอ
- ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดผื่นคัน
- ผลต่อระบบเลือด: เช่น ค่าฮีโมโกลบินต่ำ เกล็ดเลือดต่ำ เม็ดเลือดแดงต่ำ
- ผลต่อไต: เช่น ค่าครีเอตินิน(Creatinine)ในเลือดเพิ่มขึ้น
- ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น ความดันโลหิตต่ำ
มีข้อควรระวังการใช้อะซิลซาร์แทนอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาอะซิลซาร์แทน เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร ด้วยตัวยาสามารถทำอันตรายต่อทารกได้
- ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น เม็ดยาแตกหัก สีเม็ดยาเปลี่ยน
- ห้ามปรับขนาดรับประทาน หรือหยุดการใช้ยานี้ โดยมิได้ขอคำปรึกษาจากแพทย์
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วย โรคหัวใจล้มเหลว ผู้ป่วยโรคตับ โรคไต ผู้ที่มีเส้นเลือดตีบที่บริเวณสมอง(โรคหลอดเลือดสมอง)หรือที่หัวใจ(โรคหลอดเลือดหัวใจ) ผู้ป่วยโรคเบาหวาน
- ตรวจสอบความดันโลหิตเป็นประจำสม่ำเสมอตามแพทย์แนะนำ หากพบว่าความดันโลหิตผิดปกติ ไม่ว่าจะสูงหรือต่ำ ให้รีบกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว ไม่ต้องรอถึงวันแพทย์นัด
- แจ้งแพทย์ทุกครั้งเมื่อเข้ารับการรักษาว่า ตนเองมีโรคประจำตัว และมีการใช้ยาชนิดอื่นๆใดบ้าง
- มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดหมายทุกครั้ง เพื่อเข้ารับการตรวจร่างกาย อย่างเช่น ความดันโลหิต ตรวจการทำงานของหัวใจ/ECG ตรวจเลือดดูการทำงานของตับ ของไต รวมถึงระดับอิเล็กโทรไลต์(Electrolyte)ต่างๆในเลือด
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาอะซิลซาร์แทนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
อะซิลซาร์แทนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาอะซิลซาร์แทนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาอะซิลซาร์แทนร่วมกับยา Accupril , Aliskiren, ด้วยจะทำให้ เกิดอาการความดันโลหิตต่ำ และการทำงานของไตผิดปกติตามมา
- ห้ามรับประทานยาอะซิลซาร์แทนร่วมกับเครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์ ด้วยจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการ วิงเวียน และความดันโลหิตต่ำลง
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาอะซิลซาร์แทนร่วมกับยา Trimethoprim เพราะทำให้มีภาวะเกลือโปแตสเซียม/โพแทสเซียมในเลือดสูงขึ้น
- ห้ามใช้ยาอะซิลซาร์แทนร่วมกับยาประเภทโปแตสเซียมคลอไรด์(Potassium chloride) เพราะจะเกิดความเสี่ยงต่อภาวะโปแตสเซียมในเลือดสูงผิดปกติ จนส่งผลทำให้ไตวาย กล้ามเนื้อเป็นอัมพาต/ กล้ามเนื้ออ่อนแรง หัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือหัวใจหยุดเต้น เป็นต้น
ควรเก็บรักษาอะซิลซาร์แทนอย่างไร?
ควรเก็บยาอะซิลซาร์แทนภายใต้อุณหภูมิห้องที่เย็น ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ และเก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น
อะซิลซาร์แทนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาอะซิลซาร์แทน ที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Edarbi (อีดาร์บิ) | Takeda |
Edarbyclor (อีดาร์บายคลอร์) | Takeda |
บรรณานุกรม
- https://www.drugs.com/ppa/azilsartan.html[2017,April1]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Azilsartan[2017,April1]
- http://reference.medscape.com/drug/edarbi-azilsartan-999625#10[2017,April1]
- https://www.drugs.com/ppa/azilsartan.html[2017,April1]
- http://www.mims.com/thailand/drug/info/edarbi/?type=brief[2017,April1]