อะซาตาดีน (Azatadine)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 20 กรกฎาคม 2560
- Tweet
- บทนำ
- อะซาตาดีนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- อะซาตาดีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- อะซาตาดีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- อะซาตาดีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- อะซาตาดีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้อะซาตาดีนอย่างไร?
- อะซาตาดีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาอะซาตาดีนอย่างไร?
- อะซาตาดีนมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ยาแก้แพ้ ยาลดน้ำมูก ยาแอนติฮิสตามีน (Antihistamine drug)
- โรคภูมิแพ้ (Allergy)
- โรคภูมิแพ้หูคอจมูก (ENT and Allergy)
- เอมเอโอไอ (Monoamine oxidase inhibitor: MAOI)
- โรคหวัด (Common cold)
บทนำ
ยาอะซาตาดีน(Azatadine หรือ Azatadine maleate)เป็นยาต่อต้านสารฮีสตามีน/Histamine (ยาแก้แพ้)รุ่นที่ 1 (First-generation antihistamine) ทางคลินิกใช้ยานี้เพื่อบำบัดรักษาอาการแพ้ต่างๆของร่างกาย เช่น คัดจมูก จาม ผื่นคัน ระคายตาจากการแพ้ รวมถึงอาการแพ้จากโรคหวัด
ยาอะซาตาดีนสามารถก่อให้เกิดผลข้างเคียงเหมือนยาต้านฮีสตามีนอีกหลายตัวโดยทำให้มีอาการ ง่วงนอน อ่อนแรง วิงเวียน ปวดศีรษะ ปากแห้ง ผื่นคัน ถึงแม้ยาอะซาตาดีนจัดว่าเป็นยาแก้แพ้ แต่ไม่ได้หมายความว่าผู้บริโภคจะไม่มีโอกาสแพ้ยาชนิดนี้ กรณีที่ใช้ยาอะซาตาดีน แล้วเกิดอาการหายใจไม่ออก/แน่นอึดอัด/หายใจลำบาก ปาก-ลิ้น-คอ-ใบหน้าบวม รวมถึงเกิดอาการผื่นคันตามร่างกาย นั่นเป็นสัญญาณเตือนให้ทราบว่า ผู้ป่วยแพ้ยาอะซาตาดีนเข้าแล้ว หากพบเห็นเหตุการณ์ดังกล่าวต้องหยุดการใช้ยานี้ทันที และรีบพาผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
มีข้อควรระวังเพิ่มเติมเมื่อได้รับยาอะซาตาดีนที่ผู้บริโภค/ผู้ป่วยควรทราบ เช่น
- กรณีพบอาการ วิงเวียน มึนงง หลังใช้ยานี้ ห้ามมิให้ขับขี่ยวดยานพาหนะหรือทำงานที่เกี่ยวข้องกับเครื่องจักรด้วยจะเกิดอันตรายจากเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
- ห้ามดื่มเครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์ขณะที่ใช้ยานี้เพราะจะทำให้มีอาการ วิงเวียนมากยิ่งขึ้น
- ห้ามใช้ยาอะซาตาดีนร่วมกับยาประเภท MAOIs เช่น Isocarboxazid, Phenelzine, หรือ Tranylcypromine ด้วยจะก่อให้เกิดอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)รุนแรง ทางคลินิกแนะนำให้หยุดใช้ยากลุ่ม MAOIs อย่างน้อย 14 วัน จากนั้นจึงเริ่มใช้ยาอะซาตาดีน
- ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวดังต่อไปนี้ ต้องหลีกเลี่ยงการใช้ยาอะซาตาดีน เช่น ต้อหิน ด้วยตัวยาชนิดนี้จะก่อให้เกิดความดันตาสูงเพิ่มขึ้น ผู้ป่วยที่มีแผลในกระเพาะ อาหาร ผู้ที่มีภาวะต่อมลูกหมากโต ผู้ที่มีภาวะปัสสาวะขัด ผู้ป่วยต่อมไทรอยด์เป็นพิษ ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง ผู้ป่วยด้วยโรคหัวใจชนิดต่างๆ ผู้ป่วยด้วยโรคหืด
- การใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร จะต้องผ่านความเห็นของแพทย์เท่านั้น
- การใช้ยานี้กับผู้สูงอายุ จะต้องระมัดระวังอย่างมาก ด้วยผู้ป่วยกลุ่มนี้มีความเสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียงจากยานี้ได้มากกว่าผู้ป่วยกลุ่มอื่น
- รับประทานยานี้ตรงตามขนาดที่แพทย์แนะนำ *หากรับประทานยานี้เกินขนาดให้สังเกตจากอาการดังต่อไปนี้ เช่น ง่วงนอนมาก รู้สึกสับสน อ่อนเพลีย ได้ยินเสียงในหู/หูอื้อ ตาพร่า รูม่านตาขยาย ปากแห้ง ใบหน้าแดง มีไข้ ตัวสั่น นอนไม่หลับ ประสาทหลอน หรืออาจเกิดอาการชัก หากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว ให้รีบมาโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
อนึ่ง การใช้ยาอะซาตาดีนมักจะถูกใช้ตามอาการแพ้ที่เกิดขึ้น การใช้ยานี้เพียงระยะสั้นๆก็เพียงพอต่อการรักษา ซึ่งเราสามารถพบเห็นการจัดจำหน่ายยานี้ในต่าง ประเทศภายใต้ชื่อการค้าว่า “Optimine”
อะซาตาดีนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาอะซาตาดีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น
- บำบัดป้องกันรักษาอาการแพ้ต่างๆ เช่น อาการแพ้จาก โรคหวัด คัดจมูจาม ระคายเคืองตาจากการแพ้ รวมถึงมีผื่นคันตามผิวหนัง
อะซาตาดีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ตัวยาอะซาตาดีน มีกลไกการออกฤทธิ์ต่อต้านสารฮีสตามีน (Antihistamine) รวมถึงแสดงฤทธิ์เป็น Anticholinergic(ต้านสาร Acetylcholine) และ Antiserotonin (ต้านสาร Serotonin) ทำให้ลดการหลั่งสารดังกล่าวที่เป็นสารสื่อประสาทที่กระตุ้นให้เกิดอาการแพ้ของร่างกาย ด้วยกลไกเหล่านี้ จึงทำให้ยาอะซาตาดีนมีสรรพคุณลดอาการแพ้ต่างๆได้ตามสรรพคุณ
อะซาตาดีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาอะซาตาดีนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ยาเม็ดชนิดรับประทาน ที่ประกอบด้วยตัวยา Azatadine ขนาด 1 มิลลิกรัม/เม็ด
อะซาตาดีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาอะซาตาดีนมีขนาดรับประทาน เช่น
- ผู้ใหญ่และเด็กอายุมากกว่า 13ปี: รับประทานยาครั้งละ 1 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น หากจำเป็น แพทย์จะปรับขนาดรับประทานเป็นครั้งละ 2 มิลลิกรัม
- เด็กอายุ 6–12 ปี: รับประทานยาครั้งละ 0.5–1 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น
- เด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี: ห้ามใช้ยานี้
อนึ่ง:
- สามารถรับประทานยานี้ก่อนหรือหลังอาหารก็ได้
- กรณีที่มีอาการไม่สบายในท้องหลังรับประทานยาอะซาตาดีน ให้ปรับเปลี่ยนการรับประทานยานี้เป็นหลังอาหาร หรือรับประทานพร้อมนม เพื่อช่วยบรรเทาอาการไม่สบายในท้องดังกล่าว
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาอะซาตาดีน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น ต้อหิน แผลในกระเพาะอาหาร ต่อมลูกหมากโต ปัสสาวะขัด รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาอะซาตาดีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาอะซาตาดีน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
แต่อย่างไรก็ดี การลืมรับประทานยาอะซาตาดีนอาจก่อให้เกิดอาการถอนยาตามมา
อะซาตาดีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาอะซาตาดีนสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น มีอาการ ท้องเสีย คลื่นไส้ ปวดท้อง ปากแห้ง
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น ง่วงนอน ปวดศีรษะ วิงเวียน ความตื่นตัวน้อยลง/ซึม
- ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น ปัสสาวะไหลช้า ปัสสาวะขัด
- ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น มีเมือก/ เสมหะ ขับออกในหลอดลมมากขึ้น คออักเสบ
- ผลต่อระบบกล้ามเนื้อและกระดูก: เช่น ปวดข้อ
- ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น หิวอาหารบ่อย น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น
- ผลต่อระบบเลือด: เช่น กดการทำงานของไขกระดูก/กดไขกระดูก เม็ดเลือดแดงจาง/โลหิตจาง
- ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น ความดันโลหิตต่ำ หัวใจเต้นเร็ว ชีพจรเต้นผิดปกติ
- ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น กระสับกระส่าย
- ผลต่อตา: เช่น การมองเห็นภาพไม่ชัดเจน
มีข้อควรระวังการใช้อะซาตาดีนอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาอะซาตาดีน เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามปรับขนาดการใช้ยานี้ด้วยตนเอง และต้องใช้ยานี้ตามที่แพทย์แนะนำ
- ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น เม็ดยาแตกหัก สีเม็ดยาเปลี่ยน
- ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร นอกจากมีคำสั่งแพทย์
- กรณีที่ใช้ยานี้แล้วไม่ได้ผล ให้รีบกลับมาปรึกษาแพทย์/มาโรงพยาบาล โดยไม่ต้องรอถึงวันแพทย์นัด
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาอะซาตาดีนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยา ก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
อะซาตาดีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาอะซาตาดีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- ห้ามใช้ยาอะซาตาดีนร่วมกับ ยากลุ่มMAOIs ด้วยจะทำให้เกิดอาการข้างเคียงรุนแรงจากยาทั้ง 2 กลุ่มตามมา
- ห้ามรับประทานยาอะซาตาดีนร่วมกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ ด้วยจะทำให้เกิดอาการวิงเวียนมากขึ้น
- ห้ามใช้ยาอะซาตาดีนร่วมกับ ยาDiphenhydramine ด้วยจะทำให้มีอาการ ง่วงนอน ตาพร่า เหงื่อออกน้อยลง เป็นลมแดดได้ง่าย ใบหน้าแดง ปัสสาวะลำบาก/ปัสสาวะขัด เป็นตะคริวที่ท้อง ท้องผูก ชีพจรเต้นผิดปกติ
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาอะซาตาดีนร่วมกับยาTramadol ด้วยจะทำให้เกิดภาวะวิงเวียน ง่วงนอน รู้สึกสับสน การครองสติทำได้ลำบาก
ควรเก็บรักษาอะซาตาดีนอย่างไร?
ควรเก็บยาอะซาตาดีนภายใต้อุณหภูมิ 2-30 องศาเซลเซียส (Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ และเก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น
อะซาตาดีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาอะซาตาดีน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Optimine (ออฟติมีน) | Schering Plough |
อนึ่ง ยาชื่อการค้าอื่นของยานี้ เช่น Glutazine, Zadine, Zadine-maxi