ออร์มิโลซิฟีน (Ormiloxifene)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาออร์มีโลซิฟีน (Ormeloxifene หรือ Ormeloxifene hydrochloride หรือ Ormeloxifene HCL) หรือจะเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า เซนต์โครแมน(Centchroman) เป็นยาในกลุ่ม Selective estrogen receptor modulators หรือ SERMs ยานี้จะออกฤทธิ์บริเวณตัวรับ(Receptor)ที่เรียกว่า Estrogen receptor และถูกใช้ในฐานะยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดหนึ่ง โครงสร้างของยาออร์มีโลซิฟีนไม่เหมือนสาร สเตียรอยด์ฮอร์โมนใดๆ(Nonsteroidal oral contraceptive) การรับประทานยานี้ 1–2 ครั้ง/สัปดาห์ก็เพียงพอต่อการคุมกำเนิดแล้ว นอกจากนั้น ยาชนิดนี้/ยานี้ยังช่วยบำบัดอาการมีเลือดประจำเดือนมาผิดปกติ(ประจำเดือนผิดปกติ) และสามารถใช้กับผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะลุกลาม(Advanced Breast Cancer)ได้

ขอเปรียบเทียบความแตกต่างและความเหมือนของยาออร์มีโลซิฟีนกับกลุ่มยาฮอร์โมนเพศอย่าง เอสโตรเจน ได้ดังนี้

1. ยาออร์มีโลซิฟีนไม่ใช่ยาประเภท Steroid hormone ในขณะที่ Estrogen เป็น Steroid hormone

2. ยาออร์มีโลซิฟีน และเอสโตรเจน จะออกฤทธิ์ที่ตัวรับเดียวกันคือ Estrogen receptor

3. เอสโตรเจนจะทำงานแบบส่งเสริมและสนับสนุนการกระตุ้นร่างกาย เช่น ช่วยสะสมมวลกระดูก ช่วยทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัวขึ้นและส่งผลต่อการตกไข่ของแต่ละรอบเดือน(ประจำเดือน)ในวันที่ใกล้เคียงกัน ขณะที่ออร์มีโลซิฟีนสามารถสนับสนุนให้เกิดการสะสมมวลกระดูได้เช่นเดียวกัน แต่กลับส่งผลต่อเวลาของการตกไข่เร็วกว่าปกติ พร้อมกับทำให้การหนาตัวของโพรงมดลูกเกิดขึ้นอย่างช้าๆซึ่งกลไกนี้ไม่เอื้อต่อการฝังตัวของไข่สักเท่าใดนัก จึงอาจจะกล่าวได้ว่า ยาออร์มีโลซิฟีน เป็นยาที่มีฤทธิ์ต่อต้านเอสโตรเจน(Antiestrogenic drug)

นอกจากจะใช้ยาออร์มีโลซิฟีนเป็นยาคุมกำเนิดแล้ว ยังสามารถนำยาออร์มีโลซิฟีนมารักษาอาการมีเลือดประจำเดือนซึมออกมาอย่างผิดปกติแบบที่ตรวจแล้วไม่พบว่ามีสาเหตุจากอะไร(Dysfunctional uterine bleeding)

รูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยาออร์มีโลซิฟีนเป็นยาชนิดรับประทาน ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 7 วันเป็นอย่างต่ำเพื่อกำจัดยาออร์มีโลซิฟีนออกจากกระแสเลือด ด้วยยาออร์มีโลซิฟีนสามารถอยู่ในร่างกายได้หลายวัน จึงสามารถรับประทานยานี้เพียงสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง จึงเหมาะกับสตรีที่มีข้อขัดข้องไม่สะดวกต่อการรับประทานยาคุมเม็ดกำเนิดทุกวัน อย่างไรก็ตามการใช้ยานี้ควรอยู่ภายใต้คำสั่งของแพทย์และผู้ที่ใช้ยานี้ต้องมารับการตรวจร่างกายตามที่แพทย์นัดหมายเป็นระยะๆไป

อนึ่ง ประเทศไทย จะยังไม่พบเห็นการใช้ยาออร์มีโลซิฟีน ด้วยยาชนิดนี้มีการใช้อยู่ในประเทศอินเดียเท่านั้น

ออร์มีโลซิฟีนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

ออร์มิโลซิฟีน

ยาออร์มีโลซิฟีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • ใช้เป็นยาเม็ดคุมกำเนิด(Contraceptive)
  • บำบัดเลือดประจำเดือนผิดปกติ ที่เรียกว่า Dysfunctional uterine bleeding(DUB)

ออร์มีโลซิฟีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาออร์มีโลซิฟีนมีกลไกการออกฤทธิ์โดย เป็นยาที่สามารถเข้าจับกับตัวรับของเอสโตเจน(Estrogen receptor) ซึ่งมีอยู่หลายตำแหน่งตามร่างกายมนุษย์ จากนั้น จะมีผลทั้งกระตุ้นและยับยั้งเอสโตเจนในเวลาเดียวกัน โดยขึ้นอยู่กับว่า ยาออร์มีโลซิฟีนเข้ารวมตัวกับ Estrogen receptor ในบริเวณอวัยวะใด เช่น ถ้ารวมตัวกับตัวรับบริเวณกระดูกจะกระตุ้นให้มีการสะสมมวลกระดูก แต่ถ้ายาชนิดนี้รวมตัวกับตัวรับบริเวณมดลูกก็จะชะลอการก่อตัวของเยื่อบุโพรงมดลูก ทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกขาดความสมบูรณ์ในการรองรับการตกไข่ ยาออร์มีโลซิฟีนยังเร่งการตกไข่ที่ได้รับการปฏิสนธิให้เกิดเร็วกว่าปกติ ด้วยการเจริญของผนังโพรงมดลูกที่ช้าและมีการตกไข่ที่เร็วเกินไป จึงส่งผลให้ป้องกันการตั้งครรภ์ หรือป้องกันภาวะมีเลือดประจำเดือนออกมาผิดปกติได้ตามสรรพคุณ

ออร์มีโลซิฟีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ออร์มีโลซิฟีนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาเม็ดชนิดรับประทาน ที่มีส่วนประกอบของ Ormeloxifene ขนาด 30 และ 60 มิลลิกรัม/เม็ด

ออร์มิโลซิฟีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาออร์มิโลซิฟีน มีขนาดรับประทาน เช่น

ก. กรณีมีเลือดประจำเดือนมาผิดปกติและตรวจไม่พบความผิดปกติของมดลูก

  • ผู้ใหญ่: ในช่วง 12 สัปดาห์แรก รับประทานยาขนาด 60 มิลลิกรัม สัปดาห์ละ 2 ครั้ง จากนั้นรับประทานยาขนาด 60 มิลลิกรัม สัปดาห์ละ1ครั้ง และแพทย์อาจต้องให้รับประทานต่ออีก 12 สัปดาห์

ข. สำหรับเป็นยาเม็ดคุมกำเนิด:

  • ผู้ใหญ่: รับประทานยาขนาด 30 มิลลิกรัม สัปดาห์ละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 12 สัปดาห์ จากนั้นรับประทานยาต่ออีก 30 มิลลิกรัม สัปดาห์ละ 1 ครั้งต่อเนื่อง โดยการรับประทานยาเม็ดแรกให้เริ่มในวันที่มีรอบเดือนวันแรก

อนึ่ง:

  • เด็ก: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกที่แน่ชัดถึง ขนาดยานี้ ผลข้างเคียง และความปลอดภัยในการใช้ยานี้ในเด็ก การใช้ยานี้ในเด็ก จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป

*****หมายเหตุ: ขนาดและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาออร์มิโลซิฟีน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาออร์มีโลซิฟีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับ ยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาออร์มิโลซิฟีน สามารถรับประทานทันทีเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2เท่า ให้รับประทานยาที่ขนาดปกติ

ออร์มิโลซิฟีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาออร์มิโลซิฟีนมีผลไม่พึงประสงค์จากยา(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)เพียงทำให้มีอาการประจำเดือนมาช้ากว่าปกติเท่านั้น

มีข้อควรระวังการใช้ออร์มีโลซิฟีนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาออร์มีโลซิฟีน เช่น

  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่เป็นซีสต์(Cyst)ของรังไข่(ถุงน้ำรังไข่) เนื้องอก มดลูก ผู้ที่มีภาวะดีซ่าน ผู้ป่วยด้วยวัณโรค และผู้ป่วยโรคไต
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ และสตรีในช่วงให้นมบุตร
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
  • กรณีพบอาการแพ้ยา เช่น มีผื่นคัน ผิวหนังบวมแดง ผิวหนังลอก แน่นหน้าอก หายใจขัด ใบหน้า-ปาก-คอมีอาการบวม ซึ่งเป็นอาการแพ้ยานี้ ต้องหยุดใช้ยานี้ทันที แล้วรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
  • มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อแพทย์ตรวจร่างกาย ตามแพทย์นัดหมายทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาออร์มิโลซิฟีนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

ออร์มิโลซิฟีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ข้อมูลภาวะยาตีกันกับยาอื่น(ปฏิกิริยาระหว่างยา)ของยาออร์มิโลซิฟีนยังไม่มีรายงาน ทางคลินิกอย่างชัดเจน อย่างไรก็ตาม การใช้ยาออร์มิโลซิฟีนร่วมกับยาชนิดอื่นควรเป็นไปตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น

ควรเก็บรักษาออร์มิโลซิฟีนอย่างไร?

ควรเก็บยาออร์มิโลซิฟีนตามคำแนะนำในเอกสารกำกับยา ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

ออร์มิโลซิฟีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาออร์มิโลซิฟีน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
CENTRON (เซนทรอน)Torrent
NOVEX (โนเวกซ์)HLL Lifecare
SEVISTA (เซวิสตา)Torrent (Prima)

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Ormeloxifene#Adverse_effects [2018,Jan13]
  2. http://www.euro-drugs.biz/meds/Ormeloxifene.html [2018,Jan13]
  3. https://www.mims.com/india/drug/info/ormeloxifene/?type=brief&mtype=generic [2018,Jan13]