ออกซิโทซิน รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์ (Oxytocin receptor antagonist)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยา/สารออกซิโทซิน (Oxytocin) เป็นสารประเภทฮอร์โมนที่พบในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ผลิตจากสมองส่วนไฮโปทารามัส(Hypothalamus) มีความสำคัญสำหรับมนุษย์โดยเป็นฮอร์โมนที่ทำให้เกิดการเร่งคลอดในหญิงตั้งครรภ์ ทำให้กระบวนการคลอดเป็นไปได้ง่าย อีกทั้งยังกระตุ้นให้เกิดการหลั่งน้ำนมของมารดาอีกด้วย

ยาออกซิโทซิน รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์ (Oxytocin receptor antagonist ย่อว่า ORA)จัดเป็นกลุ่มยาที่มีฤทธิ์ตรงกันข้ามหรือมีฤทธิ์ต่อต้านการทำงานของฮอร์โมนออกซิโทซิน และอยู่ในหมวดยาโทโคไลติก (Tocolytic drug) ยากลุ่มนี้จะช่วยชะลอการคลอดของคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ออกไปได้ระยะหนึ่ง วัตถุประสงค์ทางคลินิกใช้ป้องกันการคลอดก่อนกำหนด เพื่อช่วยให้ทารกในครรภ์มีเวลาในการพัฒนาร่างกาย เช่น ปอด ตับ หัวใจ และอวัยวะอื่นๆได้อย่างสมบูรณ์ขึ้น

อาจ จำแนกยาออกซิโทซิน รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์ที่พบเห็นในปัจจุบันได้เป็นชนิดต่างๆ ดังนี้ เช่น

1. Atosiban: เป็นยาที่ออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของฮอร์โมน 2 ตัว คือ ออกซิโทซิน กับวาโซเพรสซิน(Vasopressin, ฮอร์โมนจากต่อมใต้สมองเพื่อคงสมดุลของน้ำในร่างกาย) มีรูปแบบเป็นยาฉีดเข้าหลอดเลือดดำ ยานี้มีฤทธิ์ควบคุมการหดตัวของมดลูก ชะลอการคลอด และช่วยให้หัวใจของทารกเต้นเป็นปกติ อายุครรภ์ที่พบเห็นการใช้ยานี้อยู่ในช่วง 24 – 30 สัปดาห์ และมีรายงานทางคลินิกว่า การใช้ยา Atosiban ร่วมกับยา Nifedipine สามารถชะลอการคลอดก่อนกำหนดได้ยาวนานถึง 7 วัน ในประเทศไทยพบเห็นการใช้ยานี้แต่ในสถานพยาบาล โดยยา Atosiban ถูกจัดอยู่ในหมวดยาอันตรายที่ต้องใช้ภายใต้คำสั่งแพทย์เท่านั้น และจัดจำหน่ายภายใต้ชื่อการค้าว่า “Tractocile”

2. Epelsiban: เป็นยาประเภทออกซิโทซิน รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์ ชนิดรับประทานที่แตกต่างจากยา Atosiban กล่าวคือใช้ในกระบวนการฝากฝังตัวอ่อนหรือไข่ที่ได้รับการปฏิสนธิแล้วลงในผนังมดลูก หรือทำให้มดลูกไม่ปฏิเสธตัวอ่อนที่ถูกนำมาฝากฝังนั่นเอง ยานี้ยังถูกใช้กับบุรุษเพื่อบำบัดภาวะหลั่งอสุจิเร็วด้วยเช่นกัน ยานี้ถูกพัฒนาโดยบริษัทยา GlaxoSmithKline และไม่พบเห็นยาชื่อการค้าใดในประเทศไทย

3. Retosiban: เป็นยาชนิดรับประทาน ที่จากผลการทดลองทางคลินิก ยานี้ช่วยลดและชะลอการคลอดได้นานกว่า 1 สัปดาห์ ถูกพัฒนาโดยบริษัทยา GlaxoSmithKline ยังไม่พบเห็นยาชื่อการค้าใดในประเทศไทยเช่นกัน

4. Barusiban: มีฤทธิ์เป็นยาออกซิโทซิน รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์ อีกตัวหนึ่งที่ถูกนำมาทดลองใช้ในเชิงคลินิกเพื่อป้องกันการคลอดก่อนกำหนด แต่พบว่าประสิทธิภาพในการบำบัดรักษาล้มเหลว จึงยังไม่พบเห็นการใช้ยานี้ในปัจจุบัน

ยังมีตัวยาอื่นของกลุ่มยาออกซิโทซิน รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์ที่มีฤทธิ์ยับยั้งการหดตัวของมดลูกที่กำลังอยู่ในระหว่างการศึกษาวิจัย ซึ่งคงต้องติดตามผลและการประกาศยืนยันเป็นที่ยอมรับในการนำมาใช้ทางคลินิกในอนาคต

ออกซิโทซิน รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร

ออกซิโทซินรีเซพเตอร์แอนตาโกนิสต์

ยาออกซิโทซิน รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เพื่อ ป้องกัน หรือชะลอการคลอดก่อนกำหนด โดยช่วยยืดระยะเวลาการคลอด เพื่อให้อวัยวะของทารกในครรภ์มีการพัฒนาได้อย่างเต็มที่

ออกซิโทซิน รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยากลุ่มออกซิโทซิน รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์ มีกลไกการออกฤทธิ์กับตัวรับ(Receptor) ที่อยู่ในบริเวณผนังมดลูกที่มีชื่อว่า Oxytocin receptor ส่งผลยับยั้งการบีบตัวของมดลูก ทำให้มดลูกผ่อนคลาย จึงช่วยชะลอการคลอดได้ระดับหนึ่ง จนเป็นที่มาของการรักษาตามสรรพคุณ

ออกซิโทซิน รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาออกซิโทซิน รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์มีรูปแบบการจัดจำหน่าย เป็น

  • ยาฉีด และ
  • ยาชนิดรับประทาน

ออกซิโทซิน รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์มีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ขอยกตัวอย่างการบริหารยา/ใช้ยาเพื่อชะลอการคลอดก่อนกำหนดโดย ยากลุ่มออกซิโทซิน รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์ จากรายการยาที่มีจำหน่ายในประเทศไทยดังนี้ คือ “ยา Atosiban”

  • ผู้ตั้งครรภ์อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป: เริ่มต้นฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำขนาด 6.75 มิลลิกรัม ตามด้วยการหยดยาเข้าหลอดเลือดทันที โดยคำนวณขนาดการให้ยาที่ 300 ไมโครกรัม/นาที เป็นเวลา 3 ชั่วโมง จากนั้นแพทย์จะปรับขนาดการให้ยาเป็น 100 ไมโครกรัม/นาทีเป็นเวลาได้ถึง 45 ชั่วโมง โดยเวลาที่ผู้ป่วยได้รับยาต้องไม่เกิน 48 ชั่วโมงและขนาดการใช้ยาสูงสุดต้องไม่เกิน 330 มิลลิกรัม
  • ผู้ตั้งครรภ์ที่อายุต่ำกว่า 18 ปี: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกด้านความปลอดภัยและด้านขนาดการใช้ยานี้ การใช้ยานี้ในสตรีกลุ่มวัยนี้ จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียง ตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาออกซิโทซิน รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน รวมถึงกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยากลุ่มออกซิโทซิน รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์ อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมใช้ยาควรทำอย่างไร?

การใช้ยากลุ่มออกซิโทซิน รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์ มักจะเกิดแต่ในสถานพยาบาล โอกาสการลืมใช้ยาจึงเป็นไปได้น้อยมาก

ออกซิโทซิน รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาออกซิโทซิน รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์สามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อการทำงานของระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้ อาเจียน
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น วิงเวียน ปวดศีรษะ มีไข้
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น หัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตต่ำ ใบหน้าแดง
  • ผลต่อการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูง
  • ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น นอนไม่หลับ
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดผื่นคัน

มีข้อควรระวังการใช้ออกซิโทซิน รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์อย่างไร?

มีข้อห้ามของการใช้ยากลุ่มออกซิโทซิน รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์ ระบุไว้เพื่อป้องกันการใช้อย่างผิดวัตถุประสงค์ เช่น

  • ห้ามใช้ในผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้ในภาวะตั้งครรภ์ ที่จะก่ออันตรายต่อทั้งแม่ และ/หรือต่อทารกในครรภ์ เช่น ภาวะชักด้วยครรภ์เป็นพิษ ภาวะรกเกาะต่ำ หรือรกลอกตัวก่อนกำหนด ทารกตายในครรภ์ ภาวะตกเลือดก่อนคลอด ภาวะที่ทารกในครรภ์มีอัตราการเต้นหัวใจผิดปกติ ภาวะถุงน้ำคร่ำแตกก่อนเจ็บครรภ์คลอด
  • ห้ามใช้ยานี้กับอายุครรภ์ที่ต่ำกว่า 24 สัปดาห์ลงมา หรืออายุครรภ์ที่มากกว่า 30 สัปดาห์ขึ้นไป
  • ห้ามใช้ยานี้เมื่อปากมดลูกเปิด 1 – 3 เซนติเมตร และปากมดลูกมีความบางตัวมากกว่า 50%ขึ้นไป
  • หากพบอาการแพ้ยานี้ เช่น แน่นหน้าอก หายใจลำบาก มีผื่นคันเต็มตัว ตัวบวม ต้องหยุดการใช้ยานี้ทันที แล้วรายงานแพทย์ทันที
  • ขณะใช้ยานี้ ให้เฝ้าระวังสัญญาณชีพของผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาออกซิโทซิน รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์ด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

ออกซิโทซิน รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

การศึกษาภาวะยาตีกัน(ปฏิกิริยาระหว่างยา)ของกลุ่มยาออกซิโทซิน รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์กับยาอื่นๆ มีข้อมูลทางคลินิกที่จะนำมาสนับสนุนการใช้ยานี้ร่วมกับยาชนิดอื่นน้อยมาก แต่อย่างไรก็ตาม หากพบเห็นการใช้ยาชนิดอื่นร่วมกับยากลุ่มออกซิโทซิน รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์แล้วผู้ป่วยเกิดอาการผิดปกติ เช่น มีผื่นขึ้นตามร่างกาย ใบหน้า-คอ-ปากบวม อึดอัด/หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก ต้องหยุดการใช้ยาเหล่านั้นรวมถึงยาออกซิโทซิน รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์ ทันที แล้วรีบแจ้งแพทย์ทันที

ควรเก็บรักษาออกซิโทซิน รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์อย่างไร?

ควรเก็บยาออกซิโทซิน รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์ ตามข้อกำหนดในเอกสารกำกับยา ห้ามเก็บในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บผลิตภัณฑ์ยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงสว่าง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ออกซิโทซิน รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาออกซิโทซิน รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์ที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Tractocile (แทรกโทซิล) Ferring

บรรณานุกรม

  1. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmedhealth/PMH0012803/ [2016,Nov5]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Oxytocin_receptor [2016,Nov5]
  3. http://www.mims.com/thailand/drug/info/tractocile/?type=brief [2016,Nov5]
  4. https://en.wikipedia.org/wiki/Epelsiban [2016,Nov5]
  5. https://en.wikipedia.org/wiki/Retosiban [2016,Nov5]
  6. https://www.drugs.com/uk/atosiban-37-5-mg-5-ml-concentrate-for-solution-for-infusion-leaflet.html [2016,Nov5]
  7. https://www.medicines.org.uk/emc/medicine/4297 [2016,Nov5]
  8. https://www.old.health.gov.il/units/pharmacy/trufot/alonim/atosiban_dr_1329380162642.pdf [2016,Nov5]