ออกซิเตตราไซคลีน (Oxytetracycline)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 2 พฤษภาคม 2564
- Tweet
- บทนำ: คือ ยาอะไร?
- ออกซิเตตราไซคลีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
- ออกซิเตตราไซคลีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ออกซิเตตราไซคลีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ออกซิเตตราไซคลีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ออกซิเตตราไซคลีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ออกซิเตตราไซคลีนอย่างไร?
- ออกซิเตตราไซคลีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาออกซิเตตราไซคลีนอย่างไร?
- ออกซิเตตราไซคลีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- โรคติดเชื้อ ภาวะติดเชื้อ (Infectious disease)
- ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics)
- สิว (Acne)
- ริดสีดวงตา (Trachoma)
- ปอดบวม ปอดอักเสบ (Pneumonia)
- หลอดลมอักเสบ (Bronchitis)
- หนองใน (Gonorrhea)
- ความดันในกะโหลกศีรษะสูง (Increased intracranial pressure)
- ยาเม็ดคุมกำเนิด (Birth control pill)
- ผิวหนังติดเชื้อ (Skin infection)
- ผิวหนังอักเสบ (Dermatitis)
บทนำ: คือ ยาอะไร?
ยาออกซิเตตราไซคลีน (Oxytetracycline) คือ ยาต้านแบคทีเรีย/ยาปฏิชีวนะที่ออกฤทธิ์กว้าง (ครอบคลุมแบคทีเรียได้หลายชนิด) ถือเป็นยาตระกูลเดียวกับยา Tetracycline เพียงแต่มีโครงสร้างทางเคมีแตกต่างกันเล็กน้อย
ทางแพทย์ ได้นำยาออกซิเตตราไซคลีนมาใช้รักษาการติดเชื้อต่างๆ เช่น
- กลุ่มแบคทีเรียที่ชื่อ Chlamydia: ซึ่งเป็นสาเหตุของการติดเชื้อในอวัยวะบริเวณทรวงอก (Psittacosis), การติดเชื้อที่เปลือกตา/หนังตา (Trachoma, โรคริดสีดวงตา), การติดเชื้อในท่อปัสสาวะ (Urethritis, ท่อปัสสาวะอักเสบ)
- กลุ่มแบคทีเรียที่ชื่อ Mycoplasma: อันเป็นสาเหตุของโรคปอดบวม (Pneumonia) เป็นต้น
- กลุ่มแบคทีเรีย Propionibacterium: ที่เป็นสาเหตุของ สิว
- แบคทีเรีย Haemophilus influenza: ซึ่งเป็นสาเหตุของหลอดลมอักเสบ
ทั้งนี้ รูปแบบยาแผนปัจจุบันของยา ที่พบเห็นได้จะเป็น ยาชนิดรับประทาน, ยาใช้ภายนอก (เช่น ยาป้ายตาและยาทาผิวหนัง), ซึ่งขณะที่ยาออกซิเตตราไซคลีนดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด จะมีปริมาณยาประมาณ 20 - 40% ที่เข้าจับกับพลาสมาโปรตีน ยาบางส่วนจะถูกเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมีโดยตับ โดยร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 9 ชั่วโมงเป็นอย่างต่ำเพื่อกำจัดยา 50% ออกจากกระแสเลือดโดยผ่านไปกับปัสสาวะและอุจจาระ
ข้อจำกัดสำคัญของการใช้ยาออกซิเตตราไซคลีน คือ
- ห้ามรับประทานพร้อมกับนม และ
- ควรรับประทานยาตอนกระเพาะอาหารว่าง
นอกจากนี้ยังมีเงื่อนไขของการใช้ยานี้อีกมากมายที่ต้องคำนึงถึง ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค/ผู้ป่วย จึงควรใช้ยาตามคำสั่งของแพทย์ผู้รักษาอย่างเคร่งครัด
ออกซิเตตราไซคลีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
ยาออกซิเตตราไซคลีนมีสรรพคุณรักษา/ข้อบ่งใช้: รักษาโรคติดเชื้อแบคทีเรียที่ตอบสนองต่อตัวยาออกซิเตตราไซคลีน เช่น
- สิวอักเสบ
- โรคโกโนเรีย/โรคหนองใน (Uncomplicated gonorrhea)
- การติดเชื้อแบคทีเรียที่บริเวณเปลือกตา/หนังตา (ริดสีดวงตา)
- การติดเชื้อแบคทีเรียของผิวหนัง(ผิวหนังติดเชื้อ)
ออกซิเตตราไซคลีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาออกซิเตตราไซคลีนคือ ตัวยาจะเข้าจับกับสารพันธุกรรมของ แบคทีเรียที่เรียกว่า ไรโบโซม(เซลล์-เนื้อเยื่อ-อวัยวะ)/(30S และ 50S Ribosome subunits) ส่งผลให้แบคทีเรียหยุดการสังเคราะห์โปรตีนและไม่สามารถแพร่พันธุ์ได้อีก ซึ่งยาออกซิเตตราไซคลีนสามารถออกฤทธิ์ได้ดีกับแบคทีเรียทั้งชนิดแกรมบวกและชนิดแกรมลบ และด้วยกลไกดังกล่าวจึงก่อให้เกิดฤทธิ์รักษาตามสรรพคุณ
ออกซิเตตราไซคลีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาออกซิเตตราไซคลีนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 250 มิลลิกรัม/เม็ด
- ยาแคปซูลชนิดรับประทาน ขนาด 250 มิลลิกรัม/แคปซูล
- ยาผงชนิดน้ำเชื่อม ขนาด 50 กรัม/ผงยา 100 กรัม
- ยาขี้ผึ้งป้ายตาที่ผสมร่วมกับตัวยาอื่นเช่น Oxytetracycline 0.5% + Polymyxin B 10,000 ยูนิต/กรัม
- ยาขี้ผึ้งทาฆ่าเชื้อบริเวณผิวหนังที่ผสมร่วมกับยาอื่นเช่น Oxytetracycline HCl 30 มิลลิ กรัม + Polymyxin B sulfate 10,000 ยูนิต/กรัม
ออกซิเตตราไซคลีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาออกซิเตตราไซคลีนมีขนาดรับประทานสำหรับต่อต้านเชื้อแบคทีเรียที่ตอบสนองต่อยาออกซิเตตราไซคลีน เช่น
- ผู้ใหญ่ และเด็ก (นิยามคำว่าเด็ก)ที่อายุมากกว่า 12 ปีขึ้นไป: รับประทานครั้งละ 250 - 500 มิลลิกรัมวันละ 4 ครั้ง
- เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี: ยังไม่มีข้อมูลชัดเจนถึงผลข้างเคียงของยานี้ในเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี ดังนั้นการใช้ยานี้ในเด็กกลุ่มนี้จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา
*****หมายเหตุ:
- ควรรับประทานยานี้ก่อนอาหาร 1 ชั่วโมงหรือหลังรับประทานอาหารไปแล้ว 2 ชั่วโมง
- ในผู้ป่วยโรคไต แพทย์จะปรับขนาดรับประทานของยานี้ลดลงตามความเหมาะสมของร่างกายผู้ป่วยเป็นรายบุคคลไป
- ขนาดการใช้ยานี้ที่เป็นยาใช้ภายนอกให้ใช้ตามคำแนะนำของแพทย์ผู้รักษา
- ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาออกซิเตตราไซคลีน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และ เภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/ หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาออกซิเตตราไซคลีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาออกซิเตตราไซคลีน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
ออกซิเตตราไซคลีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาออกซิเตตราไซคลีนสามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น
- เบื่ออาหาร
- คลื่นไส้อาเจียน
- ท้องเสีย
- ผิวแพ้แสงแดด
- ลิ้นอักเสบ
- กลืนลำบาก
- หลอดอาหารอักเสบ
- แผลในกระเพาะอาหาร
- เกิดพิษกับไต/ ไตอักเสบ
- ลำไส้อักเสบ
- ปวดหัว
- มีผื่นคันตามผิวหนัง
- ตาพร่า
- ความดันในกะโหลกศีรษะสูง
*อนึ่ง:สำหรับผู้ที่รับประทานยาออกซิเตตราไซคลีนเกินขนาด ควรรีบไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเพื่อป้องกันการได้รับผลข้างเคียงที่มากเกินไปของยานี้ หากเพิ่งรับประทานออกซิเตตราไซคลีนไม่เกิน 1 ชั่วโมง แพทย์อาจล้างท้องหรือให้ผู้ป่วยดื่มนมหรือยาลดกรดเพื่อทำลายพิษของยาออกซิเตตราไซคลีน
มีข้อควรระวังการใช้ออกซิเตตราไซคลีนอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ออกซิเตตราไซคลีน เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้ และกับผู้แพ้ยาในกลุ่มเตตราไซคลีน (Tetracycline)
- ห้ามใช้ยานี้กับเด็กที่อายุต่ำกว่า 12 ปีลงมา
- ห้ามใช้ยานี้กับ สตรีตั้งครรภ์ และ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
- ห้ามรับประทานยานี้พร้อมนม
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้สูงอายุ
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วย โรคตับ โรคไต ผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ผู้ป่วยโรคลูปัส-โรคเอสแอลอี
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาออกซิเตตราไซคลีนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ออกซิเตตราไซคลีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาออกซิเตตราไซคลีน มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้ยาออกซิเตตราไซคลีน ร่วมกับ ยาลดกรด และ ยาวิตามินที่ประกอบด้วย ธาตุเหล็ก, อะลูมิเนียม, แคลเซียม, แมกนีเซียม, และสังกะสี, ด้วยตัวยาเหล่านี้จะก่อกวนและลดการดูดซึมของยาออกซิเตตราไซคลีนจนส่งผลต่อประสิทธิภาพการรักษา จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาทั้ง 2 กลุ่มร่วมกัน
- การใช้ยาออกซิเตตราไซคลีน ร่วมกับ ยาเม็ดคุมกำเนิดอาจทำให้ประสิทธิภาพของยาคุม กำเนิดด้อยลงไป หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันควรใช้วิธีคุมกำเนิดอื่นร่วมด้วยเช่น การใช้ถุงยางอนามัยชาย
- การใช้ยาออกซิเตตราไซคลีน ร่วมกับ ยา Lithium, Digoxin และ Theophylline อาจทำให้เพิ่มระดับความเข้มข้นของยาดังกล่าวในกระแสเลือด หากต้องใช้ร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดรับ ประทานให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
- การใช้ยาออกซิเตตราไซคลีน ร่วมกับ ยาประเภทสาร Ergot alkaloids (สารชนิดหนึ่งที่พบในธรรมชาติที่มีผลต่อการหดตัวของหลอดเลือด) เช่นยา Ergotamine อาจเพิ่มความเสี่ยงของผลข้างเคียงจากกลุ่ม Ergot alkaloids หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
ควรเก็บรักษาออกซิเตตราไซคลีนอย่างไร
ควรเก็บยาออกซิเตตราไซคลีน:
- เก็บยาภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส (Celsius)
- ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และ ความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
ออกซิเตตราไซคลีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาออกซิเตตราไซคลีน มียาชื่อการค้าอื่น และ บริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
O-Tetra (โอ-เตตรา) | P P Lab |
Oxynutra (ออกซินูตรา) | P P Lab |
Oxycide (ออกซิไซด์) | P P Lab |
Oxycline (ออกซิคลีน) | General Drugs House |
Oxytetracycline HCl Chew Brothers (ออกซิเตตราไซคลีน เฮชซีไอ จิว บราเดอร์ส) | Chew Brothers |
Oxytetracycline Asian Union (ออกซิเตตราไซคลีน เอเชียน ยูเนียน) | Asian Union |
Oxylim (ออกซิลิม) | Atlantic Lab |
Terramycin (เทอร์รามายซิน) | Pfizer |
Terramycin Topical (เทอร์รามายซิน ทอปิคอล) | Pfizer |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Oxytetracycline [2021,May1]
- https://www.mims.com/thailand/drug/info/oxytetracycline%20asian%20union [2021,May1]
- https://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=oxytetracycline [2021,May1]
- https://www.drugs.com/cdi/oxytetracycline.html [2021,May1]
- https://www.mims.com/Thailand/drug/info/Terramycin/?type=brief [2021,May1]
- https://www.drugs.com/uk/oxytetracycline-tablets-250mg-leaflet.html [2021,May1]