ออกซาซีแพม (Oxazepam)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 6 กุมภาพันธ์ 2562
- Tweet
- บทนำ
- ออกซาซีแพมมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- ออกซาซีแพมมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ออกซาซีแพมมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ออกซาซีแพมมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ออกซาซีแพมมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- กรณีรับประทานยาออกซาซีแพมเกินขนาดควรทำอย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ออกซาซีแพมอย่างไร?
- ออกซาซีแพมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาออกซาซีแพมอย่างไร?
- ออกซาซีแพมมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- เบนโซไดอะซีปีน (Benzodiazepine)
- โรควิตกกังวล (Anxiety Disorder)
- โรคซึมเศร้า (Depression): สัญญาณเตือนโรคซึมเศร้า
- ยานอนหลับ (Sleeping pill)
- ยาต้านเศร้า(Antidepressants)
- ยาคลายเครียด
บทนำ
ยาออกซาซีแพม(Oxazepam)เป็นยาในกลุ่มเบนโซไดอะซีปีน (Benzodiazepine) ตัวยามีระยะเวลาการออกฤทธิ์สั้นจนถึงนานปานกลาง ทางคลินิกนำมาบำบัดอาการ วิตกกังวล นอนไม่หลับ นอกจากนี้ยาออกซาซีแพมยังนำมาใช้บำบัดอาการของผู้ติดสุรา อีกด้วย
เพื่อเป็นการป้องกันมิให้ผู้ป่วยติดยาออกซาซีแพม แพทย์จึงแนะนำให้ใช้ยาออกซาซีแพมต่อเนื่องในระยะเวลาไม่เกิน 2–4 สัปดาห์
รูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยาออกซาซีแพม เป็นชนิดเม็ดแบบรับประทาน ตัวยาจะถูกดูดซึมได้ดีจากระบบทางเดินอาหาร และระดับความเข้มข้นของยานี้ในกระแสเลือดจะขึ้นสูงสุดหลังรับประทานยาไปแล้ว 2–3 ชั่วโมง ยาออกซาซีแพมจะโดนเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเคมีเมื่อผ่านไปที่ตับ ร่างกายต้องใช้เวลา 4–15 ชั่วโมงเพื่อกำจัดตัวยานี้โดยผ่านไปกับปัสสาวะ
ข้อห้ามบางประการ ที่ทำให้ผู้ป่วยบางกลุ่มไม่สามารถใช้ยาออกซาซีแพมได้ เช่น
- มีภาวะหายใจขัด/หายใจลำบาก
- เป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง
- มีภาวะโรคตับในระดับรุนแรง
- สตรีในภาวะตั้งครรภ์ช่วงไตรมาสที่สาม รวมถึงสตรีในภาวะให้นมบุตร
- มีภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ (Sleep apnoea)
- ผู้ที่มีสภาพจิตผิดปกติ เช่น เป็นโรคซึมเศร้า
อนึ่ง ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวบางอย่าง เช่น โรคปอด โรคไต โรคต้อหิน หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาออกซาซีแพม แพทย์จะเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษ ด้วยการออกฤทธิ์ของตัวยาชนิดนี้มีความสัมพันธ์และสนับสนุนให้อาการของกลุ่มโรคดังกล่าวมีความรุนแรงขึ้น
*ทั้งนี้ ก่อนการใช้ยาออกซาซีแพม เพื่อความปลอดภัยในการใช้ยาชนิดนี้ ผู้ป่วย/ผู้บริโภคจึงต้องใช้ยาตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด และ ควรให้ความร่วมมือแจ้งให้ แพทย์/พยาบาล/เภสัชกร ทราบว่า
- ตนเองมีโรคประจำตัวอะไร
- อยู่ในภาวะตั้งครรภ์
- ปัจจุบันมีการใช้ยาอะไรอยู่บ้าง เช่น
- ยาคลายเครียด
- ยาแก้ปวด
- ยากันชัก
- ยาปฏิชีวนะ
- ยารักษาความดันโลหิตสูง
ออกซาซีแพมมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาออกซาซีแพมมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น
- ใช้บรรเทาอาการวิตกกังวล
- บำบัดอาการนอนไม่หลับ
- บำบัดอาการผู้ที่ติดสุราเรื้อรัง/โรคพิษสุรา
ออกซาซีแพมมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาออกซาซีแพมมีกลไกออกฤทธิ์โดย ตัวยาจะกดการทำงานของระบบประสาทส่วนกลางในส่วนที่เรียกว่า Limbic system และ Reticular formation โดยเฉพาะบริเวณตัวรับ(Receptor)ที่เรียกว่า GABA receptor ส่งผลให้ภายในเซลล์ประสาทมีปริมาณคลอไรด์ไอออน (Cl-)เพิ่มมากขึ้น การปรับเปลี่ยนสภาพประจุไฟฟ้าดังกล่าวเป็นเหตุให้เกิดภาวะไฮเปอร์โพลาไรเซชัน(Hyperpolarization) ส่งผลให้การตอบสนอง หรือการกระตุ้น ประสาทลดลง และก่อให้เกิดฤทธิ์ของการรักษาตามมา
ออกซาซีแพมมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาออกซาซีแพมมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ยาเม็ดชนิดรับประทาน ที่ประกอบด้วย Oxazepam ขนาด 10, 15, และ 30 มิลลิกรัม/เม็ด
ออกซาซีแพมมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาออกซาซีแพมมีขนาดรับประทาน เช่น
ก. สำหรับบำบัดอาการวิตกกังวล และบำบัดอาการของผู้ที่ติดสุราเรื้อรัง: เช่น
- ผู้ใหญ่: รับประทานยาครั้งละ 15–30 มิลลิกรัม วันละ 3–4 ครั้ง
- ผู้สูงอายุ: เริ่มต้นรับประทานยาครั้งละ 10 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง หากจำเป็นแพทย์อาจปรับขนาดรับประทานเป็นครั้งละ 10–20 มิลลิกรัม วันละ 3–4 ครั้ง
ข.สำหรับบำบัดอาการนอนไม่หลับที่มีภาวะวิตกกังวลร่วมด้วย: เช่น
- ผู้ใหญ่: รับประทานยาครั้งละ 15–25 มิลลิกรัม ก่อนนอน 1 ชั่วโมง หากจำเป็น แพทย์อาจปรับเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 50 มิลลิกรัม
อนึ่ง:
- สามารถรับประทานยานี้ก่อนหรือพร้อมอาหารก็ได้
- เด็ก: การใช้ยานี้ในเด็ก ต้องอยู่ในการดูแลของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น และขนาดยานี้ในเด็กอายุตั้งแต่ 12ปีลงไป ยังไม่มีการศึกษาที่ระบุได้แน่ชัด
*****หมายเหตุ: ขนาดและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาออกซาซีแพม ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้ เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ อาทิ โรคต้อหิน โรคตับ โรคไต รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาออกซาซีแพมอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาออกซาซีแพม สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า ให้รับประทานยาที่ขนาดปกติ
อนึ่ง ผู้บริโภคสามารถขอคำแนะนำได้จาก แพทย์ /เภสัชกร ในการปฏิบัติตัวเมื่อลืมรับประทานยาต่างๆที่รวมถึงยาออกซาซีแพม
ออกซาซีแพมมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
การใช้ยาออกซาซีแพม สามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น ง่วงนอน วิงเวียน ปวดศีรษะ พูดไม่ชัด เดินเซ ตัวสั่น ความจำถดถอย ความจำเสื่อม
- ผลต่อการมองเห็น: เช่น มีอาการตาพร่า
- ผลต่อตับ: เช่น ตับทำงานผิดปกติ
- ผลต่อระบบการหายใจ: เช่น กดการหายใจ
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น อาเจียน
- ผลต่อผิวหนัง: เช่น ผื่นคัน ลมพิษ
กรณีรับประทานยาออกซาซีแพมเกินขนาดควรทำอย่างไร?
กรณีรับประทานยาออกซาซีแพม เกินขนาดจะส่งผลกระทบต่อระบบประสาทส่วนกลาง ตั้งแต่ มีอาการง่วงนอนจนถึงอาการโคม่า ทั้งนี้ ขึ้นกับปริมาณยาที่รับประทานเข้าไป
ในกรณีที่อาการไม่รุนแรง: อาจทำให้รู้สึก ง่วงนอน และมีภาวะสับสนทางจิตเท่านั้น
ในกรณีอาการรุนแรง: จะทำให้ผู้ป่วยมี อุณหภูมิของร่างกายต่ำ เดินเซ ความดันโลหิตต่ำ หายใจลำบาก หรือมีอาการโคม่า
การช่วยเหลือผู้ป่วยเบื้องต้นกรณีรับประทานยานี้ไม่เกิน 1 ชั่วโมง ใช้วิธีทำให้อาเจียน หรือล้างท้องเพื่อเอายาออกจากกระเพาะอาหาร, การใช้ยาถ่านกัมมันต์ (Activated charcoal) จะช่วยลดการดูดซึมตัวยาออกซาซีแพมได้ในระดับหนึ่ง และ*ไม่ควรรีรอที่จะนำผู้ป่วยไปสถานพยาบาลเมื่อพบเหตุการณ์รับประทานยาเกินขนาด แพทย์จะเป็นผู้ที่ประเมินสถานการณ์และให้ความช่วยเหลือได้ดีที่สุด
มีข้อควรระวังการใช้ออกซาซีแพมอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ออกซาซีแพม เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยากับ สตรีมีครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็ก
- ห้ามปรับขนาดรับประทานยานี้ด้วยตนเอง
- ห้ามใช้ยานี้นานเกินคำสั่งแพทย์ ด้วยจะทำให้ติดยา
- การหยุดใช้ยานี้ทันทีอาจเกิดภาวะถอนยาได้
- หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้กับผู้ที่มี ภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรง ผู้ที่มีประวัติทำร้ายตนเอง ผู้ที่มีภาวะทางจิต ผู้ป่วยด้วยโรคต้อหิน
- ปฏิบัติตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัดและมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดทุกครั้ง
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาออกซาซีแพมด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิดและสมุนไพร ต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยา ก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
ออกซาซีแพมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาออกซาซีแพมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้ยาออกซาซีแพมร่วมกับ ยาต้านเศร้า ยาต้านสารฮีสตามีน/ยาแก้แพ้ และยาสงบประสาท/ยาคลายเครียด จะทำให้เกิดอาการง่วงนอนมากขึ้น หากไม่มีความจำเป็นใดๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- ห้ามรับประทานออกซาซีแพมร่วมกับสุรา ด้วยจะทำให้มีภาวะกดการทำงานของ ระบบประสาทมากขึ้น
- ห้ามใช้ยาออกซาซีแพมร่วมกับยาแก้ปวดที่มีฤทธิ์เสพติด ด้วยจะก่อให้เกิดภาวะติดยาได้ง่ายมากยิ่งขึ้น
ควรเก็บรักษาออกซาซีแพมอย่างไร?
ควรเก็บรักษายาออกซาซีแพม เช่น
- สามารถเก็บยาภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส(Celsius)
- ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และความชื้น
- ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ เก็บยาให้พ้นมือเด็ก และสัตว์เลี้ยง
- ไม่เก็บยาที่หมดอายุ
- ไม่ทิ้งยาลงในแม่น้ำคูคลองตามธรรมชาติ
ออกซาซีแพมมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาออกซาซีแพม มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Serax (เซแรกซ์) | Wyeth |
Alepam (อะลีแพม) | Alphapharm |
บรรณานุกรม
- https://www.medicines.org.uk/emc/files/pil.5830.pdf[2019,Jan19]
- https://www.mims.com/india/drug/info/oxazepam/?type=full&mtype=generic#Actions [2019,Jan19]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Oxazepam [2019,Jan19]
- https://reference.medscape.com/drug/serax-oxazepam-342908#10 [2019,Jan19]
- http://www.medicines.org.au/files/afpalepa.pdf [2019,Jan19]