อหิวาห์เทียม

อหิวาห์เทียม

นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า จากการลงพื้นที่ของนักระบาดวิทยา 20 คน เพื่อตรวจหาอันตรายจากโรคติดเชื้อต่างๆ ตั้งแต่โรคอาหารเป็นพิษจนถึงโรคติดเชื้อรุนแรง พบข้อมูลที่ได้จากจังหวัดเชียงใหม่ ว่ามีการระบาดของโรคอาหารเป็นพิษ ตั้งแต่เดือน พ.ค.-ก.ย. 57 ที่เกิดจากการรับประทานข้าวมันไก่ถึง 15 เหตุการณ์

และเมื่อทบทวนรายงานการสอบสวนโรคของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) เชียงใหม่ พบเชื้ออหิวาห์เทียม (Vibrio parahaemolyticus) ถึง 13 เหตุการณ์ ซึ่งเกิดจากก้อนเลือดไก่ในข้าวมันไก่ โดยเป็นเลือดไก่ที่มาจากโรงงานผลิตแห่งหนึ่ง ซึ่งขณะนี้ยังพบการระบาดลักษณะนี้อย่างต่อเนื่อง

อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ตั้งแต่เดือน มิ.ย.-ธ.ค.พบรายงานการระบาดของโรคอาหารเป็นพิษที่เกี่ยวข้องกับไก่ และผลิตภัณฑ์จากไก่ในเขตรับผิดชอบของสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 6 ทั้งหมด 20 เหตุการณ์ จำนวน 1,410 ราย กระจายไป 7 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกาฬสินธุ์ ขอนแก่น หนองบัวลำภู อุดรธานี บึงกาฬ มหาสารคาม และร้อยเอ็ด

โดยพบการระบาดมากที่สุดในเดือน พ.ย.และสงสัยว่ามาจากอาหารที่มีเลือดไก่เป็นส่วนประกอบ อาทิ ข้าวมันไก่ ลาบไก่ที่ผสมเลือด ตามลำดับ ซึ่งขณะนี้ได้แจ้งไปยังโรงงานผลิตเลือดไก่เพื่อขอให้ปรับปรุง และกรมควบคุมโรคจะได้เตรียมลงพื้นที่ตรวจสอบซ้ำอีก

เชื้อ Vibrio parahaemolyticus เป็นแบคทีเรียแกรมลบ รูปแท่ง อยู่ในตระกูลเดียวกับอหิวาตกโรค (Cholera และ Vibrio vulnificus) เป็นแบคทีเรียชอบเค็ม (Halophilic) มีแหล่งธรรมชาติในน้ำทะเลและน้ำกร่อยที่มีอุณหภูมิอุ่นหรือในฤดูร้อน พบได้ในกุ้ง หอย ปลา และปูหลายชนิด ก่อให้เกิดโรคอาหารเป็นพิษหรือทางเดินอาหารอักเสบ

เราสามารถติดเชื้อนี้ได้จากการกินอาหารดิบหรือไม่ค่อยสุก โดยเฉพาะหอยนางรม นอกจากนี้เชื้อนี้ยังสามารถก่อให้เกิดการติดเชื้อที่ผิวหนังได้ด้วยเมื่อมีบาดแผลเปิดและไปแช่น้ำทะเลที่อุ่น

เชื้อนี้เป็นสาเหตุทำให้ถ่ายเหลว ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน เป็นไข้ และหนาวสั่น อาการมักเกิดภายใน 24 ชั่วโมงหลังกินอาหาร และมีอาการอยู่ประมาณ 3 วัน มักพบในผู้ที่มีภูมิต้านอ่อนแอ แต่การติดเชื้อรุนแรงมักไม่ค่อยพบ อาการมักหายได้เอง อย่างไรก็ดีผู้ป่วยควรดื่มน้ำให้มากเพื่อชดเชยกับน้ำที่สูญเสียไปจากการถ่ายเหลว

การวิฉัยโรคสามารถทำได้จากการเพาะเชื้อจากอุจจาระ บาดแผล หรือเลือด

ส่วนการป้องกันการติดเชื้อสามารถทำได้โดย

  • นำอาหารทะเลที่ซื้อมาแช่เย็นทันทีหลังซื้อ
  • แยกอาหารดิบออกจากอาหารสุก
  • ควรทำอาหารให้สุกเพื่อลดโอกาสในการติดเชื้อ โดยกรณีที่เป็นหอยควร
  • ต้ม (Boil) ในน้ำเดือดเป็นเวลา 3-5 นาที หลังจากที่ฝาหอยอ้า
  • นึ่ง (Steam) เป็นเวลา 4-9 นาที (สำหรับหอยที่ฝาไม่อ้าควรทิ้งเสีย)
  • ทอด (Fry) เป็นเวลาอย่างน้อย 3 นาที ที่อุณหภูมิ 190ºC (375ºF)
  • อบ (Bake) เป็นเวลาอย่างน้อย 10 นาที ที่อุณหภูมิ 230ºC (450ºF)

แหล่งข้อมูล

  1. พบเชื้ออหิวาเทียมใน'เลือดไก่'ปะปนในข้าวมันไก่-ลาบไก่ http://www.dailynews.co.th/Content/regional/289192/พบเชื้ออหิวาเทียมใน_เลือดไก่_ปะปนในข้าวมันไก่-ลาบไก่ [2015, January 9].
  2. Vibrio parahaemolyticus. http://www.cdc.gov/vibrio/vibriop.html [2015, January 9].
  3. Vibrio parahaemolyticus. http://www.bccdc.ca/dis-cond/a-z/_v/Vibrio/Overview/Vibrio+parahaemolyticus.htm [2015, January 9].