อหิวาต์เทียม (Vibrio parahaemolyticus)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 2 พฤษภาคม 2563
- Tweet
- บทนำ
- โรคอหิวาต์เทียมเกิดได้อย่างไร?
- ใครมีปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคอหิวาต์เทียม ?
- โรคอหิวาต์เทียมมีอาการอย่างไร?
- เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?
- แพทย์วินิจฉัยโรคอหิวาต์เทียมได้อย่างไร?
- รักษาโรคอหิวาต์เทียมได้อย่างไร?
- โรคอหิวาต์เทียมก่อผลข้างเคียงอย่างไร?
- โรคอหิวาต์เทียมมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
- ดูแลตนเองอย่างไร?
- พบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?
- ป้องกันโรคอหิวาต์เทียมได้อย่างไร?
- บรรณานุกรม
- โรคติดเชื้อ ภาวะติดเชื้อ(Infectious disease)
- แบคทีเรีย(Bacterial infection)
- อาหารเป็นพิษ (Food poisoning)
- อหิวาตกโรค(Cholera)
- โออาร์เอส (ORS: Oral rehydration salt)
- วิธีกินผงละลายเกลือแร่ในเด็ก(โออาร์เอส)
- ท้องเสีย (Diarrhea)
- ท้องเสียในเด็ก(Acute diarrhea in children)
- ภาวะขาดน้ำ(Dehydration)
- โรคท้องร่วงจากไวรัสโรตา (Rotavirus infection)
บทนำ
โรคอหิวาต์เทียม (Vibrio parahaemolyticus) คือ โรคที่เกิดจากร่างกายติดเชื้อ แบคทีเรียชนิดแกรมลบที่ชื่อว่า “Vibrio parahaemolyticus” โดยที่เป็นการติดเชื้อระบบทางเดินอาหารอย่างเฉียบพลัน
เชื้อก่ออหิวาต์เทียมนี้เป็นเชื้อแบคทีเรียในวงศ์ (Family) เดียวกับเชื้ออหิวาตกโรค (Vibrio cholera) คือวงศ์ Vibriomaceae เชื้อนี้สามารถก่อการระบาดจากติดเชื้อในระบบทาง เดินอาหารได้เป็นครั้งคราวตลอดปี ซึ่งเชื้อนี้รายงานครั้งแรกจากประเทศญี่ปุ่นในปี ค.ศ. 1950 (พ.ศ. 2493)
เชื้อ Vibrio parahaemolyticus พบทั่วโลก โดยมีสัตว์ทะเลและสัตว์น้ำกร่อยทุกชนิดเป็นแหล่งรังโรค เช่น ปลา หอย หอยนางรม กุ้ง กั้ง หมึก ปู และมีคน และสัตว์ทะเล และสัตว์น้ำกร่อยเหล่านั้นเป็นโฮสต์ด้วย เชื้อนี้จึงได้ชื่อว่าเป็นเชื้อ “Seafood - borne pathogen” ทั้งนี้ เป็นเชื้อที่เจริญได้ดีในภาวะที่มีความเค็ม จึงเจริญได้ดีในสัตว์ทะเลและในสัตว์น้ำกร่อย
เชื้อ Vibrio parahaemolyticus ทนความเย็นได้ดี และเจริญเติบโตได้ดีในช่วงอุณหภูมิน้ำทะเลอบอุ่นที่ไม่ต่ำกว่า 15 องศาเซลเซียส (Celsius) แต่จะตายด้วยความร้อนที่อุณหภูมิ ประมาณตั้งแต่ 60 องศาเซลเซียสขึ้นไปในระยะเวลาประมาณ 5 นาที และยังฆ่าตายได้ด้วย 70%แอลกอฮอล์ และด้วยสารฟอร์มัลดีฮายด์ (Formaldehyde) นอกจากนั้นเชื้อนี้จะตาย(ไม่สามารถมีชีวิตได้)ในที่แห้ง ไม่มีความชื้น/ไม่มีน้ำ
อนึ่ง มีรายงานพบเชื้อ Vibrio parahaemolyticus ได้ในสาหร่ายทะเล และในสัตว์ทะเลตัวเล็กๆที่ลอยอยู่ในกระแสน้ำทะเลที่เรียกว่า แพลงก์ตอน (Plankton) และยังมีรายงานว่า คนบางคนสามารถเป็นพาหะโรคของเชื้อนี้ได้ซึ่งจะส่งผลให้พบเชื้อนี้ในอุจจาระคนๆนั้นได้
ในประเทศไทยช่วงปลาย พ.ศ. 2557 ถึงต้น พ.ศ. 2558 มีรายงานพบเชื้อนี้ในเลือดไก่ในเมนูข้าวมันไก่ที่จังหวัดเชียงใหม่และที่หลายจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ได้ก่อให้เกิดอาหารเป็นพิษกับผู้บริโภคจำนวนมาก ซึ่งได้มีการชี้แจงว่า อาจเกิดจากเลือดไก่ปนเปื้อนเชื้อนี้จากโรงงานผลิตเลือดไก่ จากสัมผัสกับอาหารทะเลที่มีเชื้อนี้อยู่ในกระบวนการผลิตแปรรูปเลือดไก่ หรือจากกระบวนการขนส่งเลือดไก่ที่แปรรูปแล้ว ซึ่งทุกสถานที่ที่เกิดโรคครั้งนี้ ร้านข้าวมันไก่รับเลือดไก่มาจากโรงงานผลิตแหล่งเดียวกัน
โรคอหิวาต์เทียม เป็นโรคติดเชื้อจากการกินอาหารที่มีเชื้อโรค จึงเรียกว่าเป็นการติดเชื้อแบบ Food - borne disease หรือ Food - borne illness โดยเกิดจากกินอาหารทะเลดิบหรือปรุงสุกๆดิบๆ โรคนี้พบทั่วโลกไม่ขึ้นกับเชื้อชาติ พบบ่อยในประเทศที่คนชอบกินอาหารทะเลดิบหรือปรุงสุกๆดิบๆที่รวมถึงในประเทศไทยด้วย พบโรคได้ในทุกเพศและในทุกวัยที่กินเชื้อนี้เข้าไป และยังพบว่าโรคนี้มีการระบาดได้เป็นครั้งคราวเสมอตลอดปี แต่จากการที่เชื้อนี้เจริญได้ดีในอุณหภูมิที่น้ำทะเลอบอุ่น โรคนี้จึงมีความสัมพันธ์กับฤดูกาล โดยจะพบโรคได้สูงขึ้นหรือมีการระบาดได้ง่ายขึ้นในช่วงปลายฤดูใบไม้ผลิ ในฤดูร้อน ไปจนถึงต้นฤดูใบไม้ร่วง
โรคอหิวาต์เทียมเกิดได้อย่างไร?
อหิวาต์เทียม เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียชื่อ ‘Vibrio parahaemolyticus’ ซึ่งคนติดเชื้อนี้ได้ใน 3 รูปแบบคือ การติดเชื้อที่กระเพาะอาหารและลำไส้/การติดเชื้อระบบทางเดินอาหารที่เรียกว่า โรคอหิวาต์เทียม, การติดเชื้อนี้ที่ผิวหนังและ/หรือเยื่อเมือก, และการติดเชื้อนี้ในกระแสโลหิต (ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ/ ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด)
ก. การติดเชื้อที่กระเพาะอาหารและลำไส้/การติดเชื้อระบบทางเดินอาหารที่เรียกว่า โรคอหิวาต์เทียม จะโดยการกินอาหารทะเลและ/หรืออาหารจากแหล่งน้ำกร่อยที่ปรุงดิบหรือปรุงสุกๆดิบๆ หรือจากอาหารที่กินสัมผัส/ปนเปื้อนเชื้อนี้จากอาหารทะเล เช่น จากกระบวนการปรุงอาหาร เก็บอาหาร หรือขนส่งอาหาร ซึ่งการติดเชื้อที่กระเพาะอาหารและลำไส้จะส่งผลให้เกิดกระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบที่เรียกว่า “โรคอหิวาต์เทียม” ที่จัดอยู่ในกลุ่ม “โรคอาหารเป็นพิษ” โดยการติดเชื้อในทางเดินอาหารนี้พบเป็นประมาณ 60 - 80% ของผู้ติดเชื้อชนิดนี้ทั้งหมด
ข. การติดเชื้อที่ผิวหนังและ/หรือที่เยื่อเมือก: เกิดจากผิวหนังที่มีแผลหรือเยื่อเมือก (เช่น เยื่อตา)สัมผัสเชื้อนี้โดยตรง เช่น จากการดำน้ำทะเล หรือจากแผลสัมผัสเชื้อในขบวนการขนส่งอาหารทะเลและ/หรือสัตว์น้ำกร่อย ซึ่งการติดเชื้อลักษณะนี้พบเป็นประมาณ 20 - 30% ของผู้ติดเชื้อชนิดนี้ทั้งหมด
ค. การติดเชื้อทางกระแสโลหิต: พบได้น้อยเพียงประมาณ 5% ของผู้ติดเชื้อนี้ทั้ง หมด โดยมักพบในกลุ่มคนที่ได้รับเชื้อนี้ที่เป็นสายพันธุ์ย่อยที่รุนแรงในปริมาณมาก และ/หรือ เป็นผู้ป่วยกลุ่มที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ (มักเรียกว่า ผู้ป่วย “กลุ่มเสี่ยง”) เช่น มีโรคประจำ ตัวต่างๆ เช่น ผู้ป่วยมะเร็ง ผู้ป่วยเบาหวานที่ควบคุมโรคได้ไม่ดี ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยที่กินยา สเตียรอยด์
อนึ่ง:
- เชื้อ Vibrio parahaemolyticus ที่ก่อโรคอหิวาต์เทียมมักเป็นสายพันธุ์ย่อยที่รุนแรงคือ ที่สามารถสร้างสารพิษต่อเนื้อเยื่อได้ที่เรียกว่าสาร Hemolysin (สารโปรตีนที่ก่อให้เกิดการอักเสบของเนื้อเยื่อและเกิดการสลายตัวของเม็ดเลือดแดง) เช่น สาร Thermostable direct hemolysin (ย่อว่า TDH) และ/หรือ สาร TDH-related hemolysin
- โรคอหิวาเทียม/เชื้อ Vibrio parahaemolyticus ไม่ติดต่อระหว่างคนต่อคน
ใครมีปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคอหิวาต์เทียม?
ผู้ที่ปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคอหิวาต์เทียม คือ
- ผู้ที่กินอาหารทะเล/อาหารจากแหล่งน้ำกร่อยดิบ หรือปรุงสุกๆดิบๆ
- รวมไปถึงกินอาหารที่สัมผัสกับอาหารทะเล/อาหารจากแหล่งน้ำกร่อยที่มีเชื้อ Vibrio parahaemolyticus ปนอยู่
โรคอหิวาต์เทียมมีอาการอย่างไร?
อาการของโรคอหิวาต์เทียมที่พบได้บ่อยที่สุดในผู้ป่วยทุกรายคือ
- ปวดท้องและท้องเสียเป็นน้ำเฉียบพลัน ซึ่งมักมีระยะฟักตัวของโรคหรืออาการแรกที่เกิดหลังกินอาหารที่มีเชื้อ Vibrio parahaemolyticus โดยเฉพาะอาหารทะเล ซึ่งทั่วไประยะฟักตัวนี้จะประมาณ 15 ชั่วโมง โดยอยู่ในช่วง 3 - 96 ชั่วโมงซึ่งขึ้นกับปริมาณเชื้อที่ได้รับ
- อาการอื่นๆที่อาจพบได้ที่ไม่จำเป็นต้องมีในทุกคนได้แก่
- ปวดท้องทั่วๆไป ไม่จำเป็นต้องปวดเฉพาะที่ และมักปวดแบบปวดบีบ/ปวดเกร็ง
- คลื่นไส้ อาเจียน
- ไข้ อาจเป็นได้ทั้งไข้ต่ำหรือไข้สูง
- หนาวสั่น
- ปวดหัว
- ปวดเนื้อตัว /ปวดกล้ามเนื้อ
- ปวดข้อ
- อาจอุจจาระเป็นเลือด
เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?
เมื่อมีอาการท้องเสียที่อาการไม่ดีขึ้นใน 1-2 วัน หรืออาการเลวลงหลังการดูแลตนเอง ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเสมอ โดยเฉพาะในบุคคลกลุ่มเสี่ยง (ดังกล่าวแล้วใน ‘หัวข้อ อาการฯ’) ไม่ควรจะรอจนถึง 3 วัน
แพทย์วินิจฉัยโรคอหิวาต์เทียมได้อย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยโรคอหิวาต์เทียมได้จาก
- การซักถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ที่สำคัญ เช่น อาการ ประวัติกินอาหาร โดยเฉพาะอาหารทะเล หรืออาหารปรุงไม่สะอาด
- การตรวจร่างกาย
- อาจมีการตรวจอื่นๆเพื่อการสืบค้นเพิ่มเติม เช่น
- ตรวจเลือด ซีบีซี/CBC
- การตรวจอุจจาระ
- การตรวจย้อมเชื้อ และ/หรือการเพาะเชื้อจากอุจจาระ
- การย้อมเชื้อจากเลือดกรณีมีไข้สูง
- ในกรณีเกิดมีผู้ป่วยหลายคนพร้อมกัน อาจมีการตรวจย้อมเชื้อและเพาะเชื้อจากอาหารและ/หรือจากแหล่งอาหารที่บริโภค
รักษาโรคอหิวาต์เทียมได้อย่างไร?
แนวทางในการรักษาโรคอหิวาต์เทียมคือ
- การรักษาและป้องกันภาวะขาดน้ำด้วยการดื่มยาผงเกลือแร่โออาร์เอส (ORS) และการดื่มน้ำสะอาดมากๆให้พอเพียงกับน้ำที่ถ่ายออกทางอุจจาระและทางอาเจียน ซึ้งถ้าดื่มได้น้อยอาจจำเป็นต้องให้สารน้ำ/น้ำเกลือทางหลอดเลือดดำร่วมด้วย
นอกจากนั้น คือ
- การรักษาตามอาการ เช่น การให้ยาที่รักษาตามอาการต่างๆ เช่น ยาแก้ปวด, ยาลดไข้ ทั้งนี้ไม่จำเป็นต้องใช้ยา/กินยาปฏิชีวนะรักษาโรคนี้ เพราะจากการศึกษาพบว่า การใช้ยาปฏิชีวนะไม่ได้ประโยชน์และไม่ช่วยให้โรคนี้หายเร็วขึ้น
*อนึ่ง :
- โรคนี้มักมีอาการอยู่ประมาณ 3 วัน ผู้ป่วยก็จะมีอาการดีขึ้นเองเรียกว่าเป็น ‘Self - limited disease’
- ถ้าผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับสารน้ำทางหลอดเลือดดำ แพทย์จะรับไว้รักษาในโรงพยาบาล แต่ถ้าผู้ป่วยไม่มีอาการของภาวะขาดน้ำและอาการท้องเสียไม่มาก แพทย์มักแนะนำดูแลรักษาตัวที่บ้าน
- การติดเชื้อ Vibrio parahaemolyticus ที่ผิวหนัง การรักษาจะเช่นเดียวกับการรักษาแผลติดเชื้อคือ การทำความสะอาดแผลทุกวันวันละ 2 ครั้ง และการให้ยาปฏิชีวนะ
- การติดเชื้อ Vibrio parahaemolyticus ในกระแสเลือด/กระแสโลหิต แนวทางการรักษาเหมือนกับการรักษาภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดจากแบคทีเรียชนิดอื่นๆ อ่านเพิ่ม เติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ‘ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด’ ซึ่งการรักษาหลักคือ ยาปฏิชีวนะ
- ยาปฏิชีวนะที่ใช้รักษาควบคุมเชื้อนี้ที่ผิวหนังหรือในภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดได้อย่างมีประสิทธิภาพมีได้หลายชนิด เช่นยา Doxycycline, Ciprofloxacin, Tetracycline, Chloramphenicol, Ofloxacin, Nitrofurantoin
โรคอหิวาต์เทียมก่อผลข้างเคียงอย่างไร?
โรคอหิวาต์เทียม โดยทั่วไปมักไม่พบก่อผลข้างเคียง โรคมักหายได้ในระยะเวลา ประมาณ 1 สัปดาห์ แต่น้อยราย มีรายงานว่าอาจมีอาการปวดข้อเรื้อรังตามมาได้
โรคอหิวาต์เทียมมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
โรคอหิวาต์เทียม โดยทั่วไปเป็นโรคมีการพยากรณ์โรคที่ดี ส่วนใหญ่ผู้ป่วยหายได้เองภายในเวลาประมาณ 3 - 7 วัน น้อยรายประมาณ 10 วัน แต่เมื่อเป็นการติดเชื้อใน “กลุ่มเสี่ยง” (ดังกล่าวแล้วใน’หัวข้อ สาเหตุฯ’) อาการอาจรุนแรงจนถึงขั้นติดเชื้อในกระแสเลือดจนอาจเป็นสาเหตุการตายได้
อย่างไรก็ตาม โรคนี้เมื่อรักษาหายแล้ว ถ้ากลับไปได้รับเชื้อใหม่ก็จะเกิดการติดโรคซ้ำใหม่ได้เสมอในทุกครั้งที่ได้รับเชื้อครั้งใหม่
ดูแลตนเองอย่างไร?
การดูแลตนเองเมื่อเกิดอาการท้องเสียที่รวมถึงจากอหิวาต์เทียม คือ การดูแลรักษาเพื่อไม่ให้เกิดภาวะขาดน้ำ ได้แก่
- การดื่มน้ำเกลือแร่ (ORS) และ
- การดื่มน้ำสะอาดมากๆ ให้เพียงพอชดเชยกับปริมาณน้ำที่เสียไปจากอุจจาระและจากอาเจียน
ในส่วนกรณีพบแพทย์แล้วและได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นท้องเสีย/อาหารเป็นพิษจากอหิวาต์เทียม การดูแลตนเองที่บ้านคือ
- ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ
- กินยา/ใช้ยาที่แพทย์สั่งให้ครบถ้วนถูกต้องไม่ขาดยา และไม่หยุดยาเอง
- ดื่มน้ำสะอาดให้ได้มากๆอย่างน้อยวันละ 8 - 10แก้ว
- กินอาหารอ่อน (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ประเภทอาหารทางการแพทย์) จนกว่าอาการต่างๆจะกลับปกติ
- พักผ่อนให้เพียงพอ
- รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ)
- พบแพทย์/ไปโรงพยาบาลตามนัดเสมอ
พบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?
เมื่อมีอาการท้องเสีย อาหารเป็นพิษ หรือเป็นโรคอหิวาต์เทียม ที่พบแพทย์แล้ว และกลับมาดูแลตนเองที่บ้าน ควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัดเมื่อ
- อาการต่างๆเลวลงโดยเฉพาะอาการท้องเสียที่ไม่ดีขึ้น
- มีอาการใหม่เกิดขึ้นเช่น มีไข้สูง หรืออุจจาระเป็นเลือด
- อาการต่างๆที่รักษาหายแล้วกลับมาเป็นใหม่อีกเช่น ท้องเสีย หรือคลื่นไส้-อาเจียน
- เมื่อกังวลในอาการ
ป้องกันโรคอหิวาต์เทียมได้อย่างไร?
ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนหรือยาที่ใช้ป้องกันโรคอหิวาต์เทียม แต่อย่างไรก็ตาม การป้องกันโรคอหิวาต์เทียมที่สำคัญที่สุดคือ
- การไม่กินอาหารทะเลหรืออาหารจากแหล่งน้ำกร่อยที่ปรุงดิบ หรือดิบๆสุกๆ หรือที่ปรุงค้างคืน
- อาหารฯปรุงสุกทั่วถึงทั้งภายนอกและภายในของชิ้นอาหารที่ฆ่าเชื้อ Vibrio parahaemolyticus ได้คือ ใช้ความร้อนตั้งแต่ 60 องศาเซลเซียสขึ้นไป ปรุงนานอย่างน้อย 5 นาที
อนึ่ง หอยเป็นแหล่งอาหารทะเลที่มีเชื้อแบคทีเรียชนิดต่างๆที่รวมถึงเชื้ออหิวาต์เทียม สะสมมากที่สุด ดังนั้นเพื่อกินหอยได้อย่างปลอดภัย หน่วยงานที่ดูแลในเรื่องสุขภาพของสหรัฐ อเมริกา (U.S. Department of Health & Human Services) จึงแนะนำวิธีกินหอยอย่างปลอด ภัยจากเชื้อแบคทีเรียดังนี้ เช่น หลังจากล้างหอยให้สะอาดแล้ว
1. ถ้าพบหอยเปลือกอ้าก่อนการนำมาปรุงอาหาร ให้ทิ้งหอยนั้นไป
2. ในการปรุงเมื่อเปลือกหอยเปิดอ้าออกแล้ว ต้องปรุงให้สุกต่อไปอีกอย่างน้อย 3 - 5 นาที และ
3. หลังปรุงแล้วต้องทิ้งหอยที่ฝาหอยไม่เปิด ห้ามนำมารับประทาน
นอกจากนั้น วิธีอื่นๆที่จะช่วยป้องกันโรคนี้ ได้แก่
- ในการเก็บอาหาร ต้องแยกเก็บระหว่างอาหารปรุงสุกกับอาหารสด
- ในกลุ่มอาหารสดต้องแยกเก็บในภาชนะที่สะอาด มิดชิด ไม่ปะปนกันระหว่างอาหารสดชนิดต่างๆ และต้องเก็บอาหารสดในอุณหภูมิที่เย็นจัดเพื่อลดการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย
- รักษาความสะอาดในการปรุงอาหารทุกขั้นตอน รวมถึงกับเครื่องมือเครื่องใช้เพื่อป้องกันการปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรียในอาหาร เช่น เขียง มีด
- ล้างมือให้สะอาดเสมอในการปรุงอาหาร
บรรณานุกรม
1. Ansaruzzaman, M. et al.(2005). J Clin Microbiol. 43,2559-2562
2. Mclaughlin, J. et al. (2005). N Engl J Med. 353, 1463-1470
3. http://nih.dmsc.moph.go.th/data/data/fact_sheet/4_58.pdf [2020,April 25]
4. https://www.canada.ca/en/public-health/services/laboratory-biosafety-biosecurity/pathogen-safety-data-sheets-risk-assessment/vibrio-parahaemolyticus.html [2020,April 25]
5. https://en.wikipedia.org/wiki/Vibrio_parahaemolyticus [2020,April 25]
6. https://www.foodsafety.gov/food-poisoning/bacteria-and-viruses#vibrio-infections [2020,April 25]
7. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK459164/ [2020,April 25]
8. http://www.bccdc.ca/health-info/diseases-conditions/vibrio-parahaemolyticus [2020,April 25]
9. https://emedicine.medscape.com/article/232038-overview#showall [2020,April 25]